ภาพรถถังที่ออกมารัฐประหารในตุรกีแต่ประสบความล้มเหลว (ที่มา: Flickr/Eser Karadağ)

Posted: 23 May 2018 04:27 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

สื่อรัฐบาลตุรกีรายงาน ศาลจำคุกตลอดชีวิตผู้มีเอี่ยวรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2559 จำนวน 104 คน อีก 51 คนโดน 7-20 ปี ฐานช่วยลอบสังหารประธานาธิบดี-เป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย ย้อนดูรัฐประหารที่ประชาชนไม่ซื้อ แต่สุดท้ายผู้นำกลับกำเริบเสิบสานขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อ 22 พ.ค. 2561 สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์อ้างอิงรายงานของสื่อรัฐบาลตุรกีว่า ศาลประเทศตุรกีตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในความพยายามก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือน ก.ค. 2559 จำนวน 104 คน

เหล่าอดีตนายทหารถูกศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตเมื่อวันจันทร์ โดยสื่ออนาโดลูของรัฐบาลตุรกีระบุว่า นายทหารที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจาก “ความพยายามโค่นล้มระเบียบตามรัฐธรรมนูญ” ทั้งนี้ โทษจำคุกตลอดชีวิตที่ถูกใช้แทนที่การประหารชีวิตจะมีคุณภาพชีวิตลำบากกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตปกติ โดยนายทหารที่ต้องขึ้นศาลไต่สวนในกรณีการยึดอำนาจไม่สำเร็จมีทั้งสิ้น 280 คน ในกลุ่มผู้ถูกจำคุกตลอดชีวิตนั้นมีอดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศ พลโทฮัสซัน ฮุสซีอิน เดมิราสลาน และอดีตหัวหน้าคณะเสนาธิการหน่วยทหารบกอีเจียน พลตรีเมมดูห์ ฮักบิเลน

ศาลตัดสินผู้ต้องสงสัย 21 คนให้จำคุก 20 ปีโทษฐาน “ช่วยเหลือการลอบสังหารประธานาธิบดี” ที่สันนิษฐานว่ามีขึ้นในคืนเดียวกันกับความพยายามในการรัฐประหาร ในขณะที่อีก 31 คนถูกตัดสินจำคุกระหว่างเจ็ดปีหกเดือน ไปจนถึงสิบปีหกเดือนโทษฐานเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้ก่อการร้ายติดอาวุธ
ย้อนดูรัฐประหารที่ประชาชนไม่ซื้อ แต่สุดท้ายผู้นำกลับกำเริบเสิบสานขึ้นเรื่อยๆ

ความพยายามยึดอำนาจที่ตุรกีในวันที่ 15 ก.ค. 2559 เริ่มต้นเมื่อทหารตุรกีกลุ่มหนึ่งดำเนินปฏิบัติการร่วมในเมืองใหญ่หลายเมืองเพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลและนำประธานาธิบดีเออร์โดกันลงจากอำนาจ

ในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกีและนครอิสตันบูลซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญเต็มไปด้วยทหาร รถถังและเสียงระเบิดที่ดังขึ้นหลายครั้ง เครื่องบินเจ็ตของตุรกีได้ทิ้งระเบิดลงที่อาคารรัฐสภา หัวหน้าคณะเสนาธิการร่วม ฮูลูซี อะการ์ ถูกลักพาตัวโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของตนเอง

เหตุการณ์ดำเนินไปหลายชั่วโมงจนดูเหมือนว่าตุรกีกำลังจะเผชิญกับการรัฐประหารครั้งที่สี่ในประวัติศาสตร์การเมือง 95 ปีของประเทศ แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อประชาชนนับพันทราบข่าวความพยายามยึดอำนาจผ่านจากสื่อโซเชียลได้ออกมารวมตัวกันบนท้องถนนและจัตุรัสเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจ โดยไม่มีอาวุธอะไรติดตัวมากไปกว่าอุปกรณ์ทำครัว

ฝูงชนต่อต้านการยิงจากรถถังและระเบิดจากเครื่องบิน และได้รับการช่วยเหลือจากตำรวจและทหารของฝั่งรัฐบาลจนกระทั่งสามารถเอาชนะกลุ่มที่จะยึดอำนาจได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นรัฐบาลรีบออกมาประกาศชัยชนะ ต่อมาทหารที่เข้าร่วมการรัฐประหารจำนวนมากตัดสินใจยอมแพ้ที่สะพานบอสฟอรัสในนครอิสตันบูล ความพยายามยึดอำนาจครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 240 คน จำนวนนี้ไม่ได้รวมยอดจากฝ่ายรัฐประหาร นอกจากนั้นยังมีประชาชนมากกว่า 2,000 คนบาดเจ็บ


ทำไมรัฐประหารในตุรกีถึงล้มเหลว?: บทเรียนและคำถามสำคัญ

Vox คุยกับนักวิชาการผู้ศึกษา 'รัฐประหาร' เหตุใดรัฐประหารในตุรกีถึงล้มเหลว

ภายใต้ประกาศภาวะฉุกเฉินที่ถูกประกาศหลังความพยายามรัฐประหารจบลงเพียงวันเดียว ประชาชนจำนวนหลักหมื่นถูกจับกุม เจ้าหน้าที่รัฐหลายพันคนถูกไล่ออกหรือพักงานด้วยข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มนักรบชาวเคิร์ดหรือไม่ก็เฟตุลเลาะห์ กูเลน อดีตครูสอนศาสนา นักเขียน และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวตุรกีที่เป็นผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนาชื่อว่า ฮิซเมต (Hizmet) ที่ได้ลี้ภัยตัวเองไปอยู่ในเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ ผู้ถูกเออร์โดกันกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งดังกล่าว

กูเลนเคยให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวไม่กี่คน ณ ที่อยู่ของเขาในเมืองเซย์เลอร์สเบิร์กเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2559 โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาของเออร์โดกันที่อ้างว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพยายามก่อรัฐประหาร กูเลนบอกอีกว่ามีความเป็นไปได้ที่การพยายามรัฐประหารในครั้งนี้อาจจะเป็นการจัดฉากของฝ่ายรัฐบาลเพื่อกล่าวหากูเลนและผู้ติดตามของเขา


ฟังความอีกด้าน เฟตุลเลาะห์ กูเลน อัดรัฐบาลตุรกีจัดฉากรัฐประหาร

เจ้าหน้าที่ทหาร ทหารอากาศ ตำรวจ ข้าราชการ นักวิชาการ แม้กระทั่งครูนับพันถูกไล่ออกจากงานจากข้อหาว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายและกูเลน มีการปิดสื่อหลายสิบหัวจากข้อสงสัยว่าสื่อเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มฮิซเมตของกูเลนซึ่งเป็นเจ้าของมูลนิธิ สมาคม สื่อ และโรงเรียนหลายแห่งในตุรกีและต่างประเทศ

นอกจากนั้น อำนาจในการเลือกอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในตุรกีถูกโอนไปที่ตัวเออร์โดกาน จากเดิมที่มหาวิทยาลัยสามารถเลือกอธิการบดีได้เอง รัฐบาลตุรกีกล่าวว่าการกวาดล้างดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็นในการที่จะ “ถอนรากถอนโคนกลุ่มผู้สนับสนุนการรัฐประหารจากกลไกรัฐ”

เสรีภาพสื่อในตุรกีถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง ทางการตุรกีได้ฟ้องร้องเหล่านักข่าว สำนักข่าวและผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียฐานดูหมิ่นเออร์โดกานและผู้นำตุรกีคนอื่นๆ รวมไปถึงการดูหมิ่น “ความเป็นตุรกี” อีกด้วย หนังสือพิมพ์รายวัน Cumhuriyet ของตุรกี นำเสนอข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรม เรื่องจำนวนคดีดูหมิ่นสารพัด ตั้งแต่ตัวประธานาธิบดี ชาติและสาธารณรัฐตุรกี รัฐสภา รัฐบาล สถาบันยุติธรรมต่างๆ ที่เข้าสู่ชั้นศาลในปี 2559 มีจำนวนถึง 46,193 คดี

เมื่อปี 2561 คณะกรรมการเพื่อปกป้องนักข่าว (Committee to Protect Journalism - CPJ) ขนานนามตุรกีว่าเป็นคุกคุมขังสื่อที่ย่ำแย่ที่สุด ซีพีเจนับจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกจำคุกล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2560 มีจำนวนอย่างน้อย 73 คน โดยผู้สื่อข่าวที่ถูกจำคุกเพราะการทำงานในตุรกีกำลังถูกสอบสวน และถูกกล่าวหาในข้อหากระทำอาชญากรรมต่อต้านรัฐ ข้อกล่าวหาส่วนมากระบุว่าจำเลยให้การช่วยเหลือ จัดทำโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรผู้ก่อการร้าย


องค์กรพิทักษ์สื่อจัดอันดับผู้นำจอมกดขี่เสรีภาพ 5 สาขา 'อองซานซูจี' ชนะสาขาถอยหลังเข้าคลอง

จากความพยายามในการเช็คบิลย้อนหลังของรัฐบาลตุรกี ทำให้ประเทศพันธมิตรจากตะวันตกและกลุ่มนักกิจกรรมวิพากษ์วิจารณ์ตุรกีอย่างหนัก และขอให้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินเสียที

17 เม.ย. 2560 ตุรกีมีการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการมีรัฐสภาและถูกมองว่าเป็นการเพิ่มอำนาจประธานาธิบดี โดยฝ่ายโหวต "เยส" ชนะประชามติ ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 51.3

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้โดยนอกจากจะมีการยกเลิกรัฐสภาในแบบเดิมเปลี่ยนเป็นระบบการบริหารผ่านประธานาธิบดี (executive presidency) แล้วยังมีการให้อำนาจประธานาธิบดีในการแต่งตั้งและปลดรัฐมนตรีออก อีกทั้งยังสั่งปลดหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวมถึงเจ้าหน้าที่ศาลได้ นอกจากนี้ยังให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้ 5 ปี และยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองไปในเวลาเดียวกันได้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการให้อำนาจประธานาธิบดีมากเกินไป ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลตุรกีอ้างว่าพวกเขาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อทำให้ตุรกีเข้มแข็งขึ้น โดยนอกจากที่กล่าวถึงข้างต้นแล้วพรรครัฐบาลยังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งยุบสภา ออกบัญญัติบริหารพิเศษ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้


ชาวตุรกีหลายแสนประท้วงรัฐบาลอำนาจนิยม เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง

ฝ่ายโหวต 'Yes' ประกาศชัยชนะอย่างไม่เป็นทางการ ในประชามติเพิ่มอำนาจประธานาธิบดีตุรกี

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 ประชาชนนับแสนคนเดินขบวนเป็นระยะทาง 250 ไมล์เข้าสู่กรุงอังการาหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการนัดเดินขบวนในนาม "การเดินขบวนเพื่อความยุติธรรม" เป็นเวลา 25 วัน ผู้ที่จัดการชุมนุมในครั้งนี้เป็นนักการเมืองฝ่ายค้านจากพรรคซีเอชพีที่ชื่อ เคมาล คิริกดาโรกลู เริ่มเดินขบวนกับนักการเมืองคนอื่นๆ เพื่อประท้วงรัฐบาลอำนาจนิยมของเออร์โดกัน

สื่อคอมมอนดรีมส์ระบุว่าเออร์โดกันจากพรรคเอเคพีเริ่มมีลักษณะการนำแบบเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการพยายามปิดปากสื่อและการสั่งถอดถอนผู้พิพากษาศาลสูงสุดเพื่อพยายามควบคุมอำนาจตุลาการ นอกจากนี้หลังจากการพยายามก่อรัฐประหารที่ไม่สำเร็จในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมาทำให้เออร์โดกันเริ่มกวาดล้างคนที่ต่อต้านเขาหนักขึ้นทั้งนักข่าว ข้าราชการ และคนทำงานสายอื่นๆ หลายหมื่นคนต่างก็ถูกจับกุมหรือถูกขับออกจากงาน การกวาดล้างในครั้งนี้ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสหภาพยุโรปและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

สิ่งที่ทำให้น่าเป็นห่วงว่าเออร์โดกันจะพยายามยึดกุมอำนาจในประเทศมากขึ้นไปอีกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ให้ยุบระบบรัฐสภาทิ้งและให้อำนาจประธานาธิบดีในการควบคุมรัฐบาลได้แม้จะมีผู้เห็นด้วยอ้างว่ามันจะนำประเทศพัฒนาได้เร็วขึ้นแต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์มองว่ามันจะกลายเป็นการทำให้ตุรกีดิ่งลงสู่การปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยม

แปลและเรียบเรียงจาก

Turkey coup trial: Court sentences 104 army 'plotters' to life, Aljazeera, May 23, 2018

Turkey's failed coup attempt: All you need to know, Aljazeera, Jul 15, 2017[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.