Posted: 29 May 2018 08:58 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
วริตตา ศรีรัตนา
หากท่านผู้อ่านบทความรู้จัก โอลกา โตการ์ชุก นักเขียนชาวโปลิชที่เพิ่งได้รับรางวัล Man Booker International Prize ไปสด ๆ ร้อน ๆ ผู้เขียนบทความนี้ขอแสดงความยินดีด้วยที่คุณเป็นหนึ่งในเปอร์เซ็นต์อันน้อยนิดในกลุ่มนักอ่านชาวไทย (ผู้คุ้นเคยกับวรรณกรรมภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาอื่น) ที่รู้จักนักเขียนท่านนี้ ผู้อ่านบทความนี้บางท่านคงเคยเห็นชื่อนักเขียนท่านนี้ผ่านตามาบ้างหากติดตามรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม อันเป็นรางวัลที่เธอได้รับเสนอชื่อในปี 2012 แต่กระนั้น หากไม่เคยได้ยินชื่อ โอลกา โตการ์ชุก มาก่อนเลย ก็หาใช่เหตุที่เราต้องจิกทึ้งผมด้วยความรู้สึกละอายไม่ ด้วยหนังสือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษของนักเขียนท่านนี้ มีเพียง 3 เล่มหลักเท่านั้น (ขอลิสต์มา ณ ที่นี้ ด้วยหวังว่านักอ่านและนักแปลภาษาไทยจะสนใจ) ได้แก่
1. ผลงานที่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ขายดิบขายดี และสร้างชื่อให้นักเขียน คือ House of Day, House of Night (Dom dzienny, dom nocny), trans. Antonia Lloyd-Jones. London: Granta Books, 2002. เท่าที่ทราบ ฉบับแปลเล่มนี้ตีพิมพ์สองครั้ง ครั้งที่สองตีพิมพ์โดย Northwestern University Press ในปีถัดมาคือ 2003 เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าดีอย่างไร
primeval-and-other-times
2. ผลงานที่นักวิจารณ์ยอมรับว่าเป็นผลงานชิ้นเอกในเชิงการวิพากษ์ประวัติศาสตร์ยุโรปกลาง Primeval and Other Times (Prawiek i inne czasy), trans. Antonia Lloyd-Jones. Prague: Twisted Spoon Press, 2010. สำหรับแฟนวรรณกรรมยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกฉบับแปลภาษาอังกฤษ Twisted Spoon Press ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งเมื่อค.ศ. 1992 ในบรรยากาศแห่งความหวังหลังยุคมืดแห่งการเซ็นเซอร์ใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ในเชโกสโลวะเกีย เป็นสำนักพิมพ์อิสระที่เผยแพร่และส่งเสริมงานวรรณกรรมของภูมิภาคดังกล่าวชนิดที่การเรียนการสอนยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกศึกษาในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักนั้นจะขาดเสียไม่ได้ สำนักพิมพ์นี้เรียกได้ว่าเป็นสถาบันในตัวของมันเอง
3. ผลงานน่าอ่านเล่มล่าสุดที่ทำให้เธอได้รับรางวัลในปีนี้ นั่นคือ Flights หนังสือรวมตัวบทเกี่ยวกับการเดินทาง เดี๋ยวจะรีวิวให้ท่านอ่านกัน
แต่ก่อนที่จะรีวิวเนื้อหา ท่านสังเกตเห็นอะไรจากชื่อเรื่องของหนังสือเล่มหลัก ๆ ที่ลิสต์มาหรือไม่? ชื่อเรื่องที่สะท้อนธีมบ้าน ธีมบรรพกาล และธีมการเดินทาง – ดูท่านักเขียนท่านนี้เป็นนักเขียนที่มีสำนึกตระหนักรู้เกี่ยวกับภูมิทัศน์และความเคลื่อนไหวสูงยิ่ง แน่สิ ก็โอลกา โตการ์ชุก เป็นนักเขียนที่มาจากยุโรปกลาง ภูมิภาคจินตกรรม… ที่มีอยู่จริง? ยุโรปกลางคืออะไร ทำไมต้องจับมาเป็นประเด็น
ยุโรปกลาง – ภูมิภาคจินตกรรม... แห่งชีวิตจริง
นักเขียนชาวเช็กคนหนึ่งนามมิลาน คุนเดรา ได้นิยามคำว่า “ยุโรปกลาง” ไว้ดังนี้
ยุโรปกลาง. ศตวรรษที่ 17: พลังอิทธิพลแห่งบารอกเข้ามาอยู่เหนือวัฒนธรรมอันเป็นเอกภาพบางอย่างในภูมิภาคนี้ อันเป็นภูมิภาคที่ประกอบด้วยหลายชาติและจึงมีศูนย์กลางมากมายหลายที่ด้วยพรมแดนต่าง ๆ เปลี่ยนไปมา ยากยิ่งจะกำหนดขอบเขต
(ดู The Art of the Novel)
ความลื่นไหลและความเปลี่ยนแปลงของพรมแดนของภูมิภาคยุโรปกลางที่คุนเดราบรรยายนั้น เอริก ฮอบส์บอมดูจะเห็นพ้องเนื่องจากได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ไม่มีที่ใดในภูมิศาสตร์ที่ภูมิประเทศจะเป็นหนึ่งเดียวกับอุดมการณ์และการเมือง (แยกออกจากกันมิได้) อย่างยุโรปกลางอีกแล้ว” (ดู Fractured Times: Culture and Society in the Twentieth Century) เมื่อภูมิทัศน์ ภูมิศาสตร์เป็นหนึ่งเดียวกับระบอบการเมือง แน่นอน ภูมิภาคที่ผ่านระบอบการปกครองหลัก ๆ ทุกรูปแบบที่เรารู้จัก—ลองไล่ดูสิ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เผด็จการนาซี เผด็จการคอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตย เรื่อยมาจนประชาธิปไตยที่ออกตัวอย่างไม่อายว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เสรี—อย่างยุโรปกลางนั้น พื้นที่และอัตลักษณ์ย่อมแปรเปลี่ยนไปปตามอำนาจที่เปลี่ยนมือเป็นนิตย์ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในอดีต (แม้กระทั่งภาษา ที่ระบอบหนึ่งถูกยกให้เป็นเอก อีกระบอบหนึ่งแบนเสียแทบไม่เหลือร่องรอย) ล้วนเป็น phantasmagoria -- ภาพหลอนที่เปลี่ยนแปลงไปตามจิตใจและสังคมของผู้ฝันและถูกหลอกหลอน ส่งผลให้อัตลักษณ์และพื้นที่ยุโรปกลางประกอบด้วยพื้นที่ทับซ้อนแห่งภูมิปัญญา ประสบการณ์ และอัตลักษณ์หลากมิติ แต่ละมิติก็ย้อนแย้งและขัดแย้งกันอย่างไม่น่าเชื่อ นี้เอง—ผู้เขียนบทความเชื่อและสัมผัสได้จากประสบการณ์—เป็นปัจจัยที่ดึงดูดความสนใจของผู้ศึกษาวรรณกรรมจากภูมิภาคนี้
ตกลงยุโรปกลางคืออะไร อยู่ที่ไหน?
คำว่า “ยุโรปกลาง” ที่เรารู้จักกัน แปลเป็นไทยจากรูปภาษาอังกฤษคือ “Central Europe” ซึ่งแปลจากคำภาษาเยอรมัน “Mitteleuropa” ซึ่งเป็นคำที่ใช้โดยแพร่หลายหลังจากที่ฟรีดริช นาวมานน์ (ค.ศ. 1860-1919) เขียนหนังสือชื่อ Mitteleuropa ซึ่งตีพิมพ์เมื่อค.ศ. 1915 เนื้อหาของหนังสือนั้นเกี่ยวกับแผนการที่จะทำให้ภูมิภาคยุโรปกลางเป็นเยอรมันโดยรวมอำนาจเบ็ดเสร็จที่ศูนย์กลางคือปรัสเซีย จึงไม่น่าแปลกใจที่ในกาลต่อมาระบอบนาซีได้ยึดแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเลเบนสเราม์ (Lebensraum) ซึ่งมุ่งขยายเขตแดนอำนาจนาซีในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก แต่กระนั้น แม้คำว่า “ยุโรปกลาง” จะใช้กันแพร่หลายเพราะนโยบายดังกล่าว แต่ความเป็น “ยุโรปกลาง” แห่งอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้คนหลากหลายทางวัฒนธรรมอาศัยอยู่นั้นมีมาก่อนค.ศ. 1915 จึงกล่าวได้ว่ายุโรปกลางนั้นมีนัยสำคัญสองประการที่ย้อนแย้ง ประการแรก ยุโรปกลางอันเป็นเครื่องหมายแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี ประเด็นนี้ แอนนา พอร์เตอร์ ได้เขียนบรรยายไว้ดังนี้: “อาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีปกครองชนชาติ ภาษา ขนบธรรมเนียม ความสุดโต่งอันหลากหลาย—นับเป็นความแตกต่างหลากหลายที่ศตวรรษที่ 21 ให้คุณค่าและยกย่องให้เป็นนิมิตหมายแห่งยุคสมัยอันเที่ยงธรรม” (ดู The Ghosts of Europe: Central Europe's Past and Uncertain Future) และประการที่สอง ยุโรปกลางแห่งการยึดครองและรวมศูนย์อำนาจของปรัสเซียหรือแม้กระทั่งระบอบนาซีที่ต่อต้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมตามที่ผู้เขียนได้อธิบายแล้ว
ความย้อนแย้งและซับซ้อนของภูมิภาคยุโรปกลางยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ คำถามที่ชวนให้ใครหลายคนต้องปวดหัวคือคำถามที่ว่า แล้วมันอยู่ที่ไหน? ขอข้อมูลพิกัดและอาณาบริเวณด้วย
แหล่งภาพ: https://www.kaidee.com/product-135098250
หากเราพินิจโฆษณาของการบินไทยที่ขนานนามให้ออสเตรียเป็น “เมืองโรแมนติกแห่งยุโรปตะวันออก” แล้วเชื่อตามนั้น ก็คงจะไม่มีพื้นที่ในหัวสมองของเราที่จะรองรับยุโรปกลางได้เลย การที่ชาวไทยหลายคนจะเรียกฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรียว่ายุโรปตะวันตกและเรียกภูมิภาคฝั่งตะวันออกของออสเตรียว่ายุโรปตะวันออกไปทั้งหมดนั้นไม่แปลกหรอก ด้วยเป็นการรับเอาภาษาแห่งการแบ่งขั้วแบ่งข้างโลกเป็นสองฝ่ายสมัยสงครามเย็น (โดยอาจไม่ทันคิด หรือ –สำหรับผู้ที่เข้าใจไปว่าตนอิงภูมิศาสตร์ที่ตั้งประเทศและเมืองหลวงโดยบริสุทธิ์ใจ – ไม่ตะหนักข้อชวนคิดที่ว่าปรากอยู่เยื้องไปทางตะวันตกมากกว่าเวียนนาเสียอีก ลองหาแผนที่ดูได้ เหตุใดในความรู้สึกของเรา เราไม่มองว่าปรากเป็นยุโรปตะวันตกเล่า) แต่การเรียกเวียนนาว่ายุโรปตะวันออกถือว่าแปลกประหลาด และทำให้ผู้สนใจยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกศึกษางงเป็นไก่ตาแตกไปตาม ๆ กันว่าคำเรียกขานนี้มีที่มาปริศนาจากแห่งหนใด
พรมแดนของยุโรปกลางเปลี่ยนไปมาตามระบอบปกครองฉันใด อาณาบริเวณนั้นก็เปลี่ยนไปมาตามมุมมองของผู้ที่มองภูมิภาคนี้ฉันนั้น บางตำราว่ายุโรปกลางกินบริเวณที่เรียกว่า Pannonia อันเป็นที่ตั้งจังหวัดโบราณแห่งหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน ตอนเหนือและตะวันออกมีแม่น้ำดานูบเป็นเขตแดน Pannonia ในปัจจุบันคือบางส่วนของออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐสโลวัก ฮังการี โครเอเชีย เซอร์เบีย สโลวีเนีย และโรมาเนีย เรื่อยไปจนติดขอบชายแดนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาและยูเครน ดูจะนิยามได้ง่ายดาย แต่บางคนไม่นับว่าโรมาเนียเป็นยุโรปกลาง และบางตำรากำหนดเขตแดนเช่นแผนที่ด้านล่างนี้ โดยเฉพาะตำราที่อ้างอิงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของยุโรปกลาง (เช่นเดียวกับพื้นที่ชุมชนจินตกรรมอื่น ๆ ในโลก ยุโรปกลางก็ถูกโยงถูกโหนเป็นเครื่องมือทางการเมืองชาตินิยมและภูมิภาคนิยมได้) แผนที่ด้านล่างมาจากเพจงานสัมมนาทางวิชาการหัวข้อ “Central Europe, from the Collapse of the Monarchy to Eastern Expansion of the European Union to the Challenges Facing Europe Today” ที่จัดโดย The Central European Association Club Pannonia ณ หอสมุดบัณฑิตยสภาแห่งฮังการี ที่เพิ่งจัดไปเมื่อ 17 พฤษภาคม ปีนี้
ใช่และไม่ใช่ เข้าใจง่ายและไม่ง่ายในเวลาเดียวกัน ทางเดียวที่อาจช่วยให้เข้าใจเศษเสี้ยวของภูมิภาคจินตกรรมแห่งชีวิตจริงนี้ คือต้องเดินทางไปประสบวัฒนธรรมของผู้คนด้วยตัวคุณเอง แต่แม้คุณจะพยายามปักปันเขตแดนยุโรปกลางในหัวของคุณเองมากเพียงไร คุณต้องลบและ edit มันอีกครั้งซ้ำและซ้ำเล่าทุกทีไป นี่กระมังคือข้อที่ผลักดันให้ผู้เขียนบทความเพียรพยายามเดินทางค้นหาและเก็บสะสมจิกซอว์ประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิภาคที่จริงและไม่จริงนี้ (ที่เมื่อเอาชิ้นส่วนลองมาปะติดปะต่อแล้วไม่ได้ภาพที่สมบูรณ์ หากได้ภาพเค้าหน้าแสยะยิ้มโหว่ ๆ ของฟรันซ์ คาฟกาแทน) และค้นพบว่าที่เพียรค้นหาสำรวจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่ใช่ยุโรปกลางไปเสียทั้งหมดหรอก แต่ตัวผู้เขียนบทความเองด้วยต่างหาก
โอลกา โตการ์ชุก เกิดเมื่อค.ศ. 1962 ที่เมือง ซุเลฮุฟ ภาคตะวันออกของสาธารณรัฐโปแลนด์ในปัจจุบัน หรือในภูมิภาคทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไซลีเซียตอนล่าง (หมายเหตุ: นอกจากชื่อเมืองต่าง ๆ ในยุโรปกลางจะมีหลายชื่อหลายภาษาตามอำนาจระบอบปกครอง เช่น ชื่อเก่าของ บราติสลาวา เมืองหลวงของสาธารณรัฐสโลวัก ภาษาเยอรมันคือ เพรสบูวร์ก ภาษาฮังการี คือ ปอซอญ พื้นที่ในภูมิภาคยุโรปกลางนั้นจะมีทั้งชื่อเรียกที่เป็นทางการและชื่อทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เช่น โมราเวีย) เมืองเกิดของโอลกา คือ ซุเลฮุฟ (ชื่อภาษาเยอรมัน Züllichau) นั้นเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรแห่งพวกโปลันส์ (ชื่อเรียกชาวสลาฟตะวันตกในดินแดนอาณาเขตส่วนหนึ่งของโปแลนด์ในปัจจุบัน) ภายใต้กษัตริย์เมียชโกที่ 1 ในสมัยศตวรรษที่ 10 ต่อมาถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของไซลีเซียในสมัยศตวรรษที่ 12 เคยเป็นส่วนหนึ่งของปรัสเซียเมื่อต้นศตวรรษที่ 18 เมืองนี้ถูกทำลายหนักมากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เมือง Züllichau สมัยต้นศตวรรษที่ 20
แหล่งภาพ: http://klub-aa.blogspot.com/2017/06/
ที่ผู้เขียนบทความดูจะบรรยายเรื่องภูมิศาสตร์เจ้าปัญหาของยุโรปกลางและประวัติเมืองซุเลฮุฟ อันเป็นเมืองเกิดของ โอลกา โตการ์ชุก อย่างหมกมุ่นนั้นมีเหตุผลของมัน นั่นคือ หากเราหยิบหนังสือเรื่อง Primeval and Other Times (1996) อันเป็นที่รู้จักในวงการผู้สนใจวรรณกรรมยุโรปกลางในฐานะงานเขียนที่เล่นกับตำนาน เทพปกรณัม และประวัติศาสตร์โปแลนด์และยุโรปกลางอย่างพิเศษสุด โอลกาได้สร้างหมู่บ้านจินตกรรม (ที่มีอยู่จริง?) มาแห่งหนึ่งชื่อ ปราเวียก (Prawiek) ซี่งแปลว่า “บรรพกาล” หมู่บ้านบรรพกาลในเรื่องตั้งอยู่ใจกลางโปแลนด์ แต่ผิดกับความสมจริงและเสมือนจริงในความพยายามจำลองภาพชุมชนสังคมของตน – ยกตัวอย่าง ที่เราเห็นใน Wessex ของ ทอมัส ฮาร์ดี (เจ้าตัวบรรยายไว้ว่า Wessex เป็น ความฝันอันสมจริง) หรือ Yoknapatawpha ของวิลเลียม ฟอล์คเนอร์ หรือแม้กระทั่ง Malgudi ของ อาร์ เค นารายัน ที่สร้างบนฐาน ”ความเป็นอินเดีย” ที่หลายคนนิยามไม่ได้ ทว่ารู้สึกคุ้นเคยเสียเหลือเกิน – ปราเวียก ของ โอลกา โตการ์ชุก เป็นที่อยู่อาศัยของทั้งพระเจ้า (ท่านจะพบทั้งแม่พระและพระผู้เป็นเจ้า—จริง ๆ –ผู้เขียนมิอาจหาญล้อท่านเล่น) เทวดา และมวลมนุษย์ ผู้เล่าเรื่องหาใช่มนุษย์แต่อย่างใด หากเป็นเทวทูตทั้งสี่ที่พิทักษ์อารักขาหมู่บ้านแห่งนี้ (อ่านแล้วเหมือนนำ Paradise Lost ของจอห์น มิลตันมาปั่นรวมกับภาพยนตร์เรื่อง Inglourious Basterds แต่ไม่มีทั้งอดัมและแบรด พิตต์) ในส่วนของมนุษย์ (ที่เล่าผ่านสายตาของเทวดา) นั้น เราจะพบเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ชื่อครอบครัว เนียเบียสกี (Niebieski – ผู้รู้ภาษาโปลิชหรือภาษาตระกูลสลาวิกจะพบความหมายเชิงสัญลักษณ์เต็มไปหมด อย่างคำว่า เนียเบีย แปลว่า ท้องฟ้าหรือสรวงสวรรค์ เนียเบียสกี หมายถึง ผู้ที่มาจากท้องฟ้าหรือสรวงสวรรค์ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ divine/celestial) โดยจะเห็นความเป็นไปของสมาชิกครอบครัวนี้ตั้งแต่ปี 1914 ถึงต้น 1980 อันเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเคลื่อนไหวโซลิดาร์นอช อันเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของกรรมกรที่กลายมาเป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนล้มระบอบคอมมิวนิสต์ ตัวละครพยายามอ่าน ตีความ และถอดรหัสปริศนาธรรมแห่งชีวิตอีกทั้งพยายามมองโลกแบบเทพกรณัม กล่าวคือ พยายามยึดและสถาปนาความเข้าใจโลกตามแบบแนวคิดแม่แบบ (Archetype) และจิตไร้สำนึกร่วม (Collective Unconscious) ของคาร์ล ยุง ซึ่งไม่น่าแปลกใจหากท่านทราบเกร็ดประวัติของโอลกาที่สำคัญและน่าสนใจมาก นั่นคือ ก่อนที่จะเริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจัง โอลกานั้นร่ำเรียนมาด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอร์ซอ ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น โอลกาได้ทำงานเป็นอาสาสมัครในสถานที่บำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่นที่บกพร่องทางพฤติกรรมแห่งหนึ่ง เมื่อจบการศึกษาในค.ศ. 1985 โอลกาย้ายไปทำงานเป็นนักบำบัดที่เมืองวรอตสวัฟ เมืองหลวงโบราณอันเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ของไซลีเซีย และเมืองเวาบชึค อันเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนสาธารณรัฐเช็ก นักเขียนท่านนี้ออกตัวเลยว่าเป็นสาวกของคาร์ล ยุง และยึดคาร์ล ยุงเป็นแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานวรรณกรรม ใน Primeval and Other Times ซึ่งผู้เขียนบทความจะเรียกว่าเป็นมหากาพย์แห่งห้วงเวลานั้น เราจะเห็นว่าหมู่บ้านและชีวิตคนจากรุ่นสู่รุ่นล้วนเป็นพื้นที่รองรับความเย็นชาและเศร้าโศกอันเป็นผลของการทำลายล้างธรรมชาติและศีลธรรมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์—เช่นเดียวกับยุโรปกลาง เช่นเดียวโปแลนด์ อันเป็นประเทศที่ถูกลบออกจากแผนที่ ถูกแบ่งแยก ถูกทรยศ สับเป็นชิ้นส่วนเป็นเค้กแบ่งให้ประเทศที่มีอำนาจมากกว่า—เป็นที่รองรับการล่วงละเมิดทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหรือการเข่นฆ่าและกวาดล้างทางการเมือง แต่กระนั้น พื้นที่เดียวกันก็ยังรองรับความงดงามและความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ของชีวิตปัจเจกผู้สามารถหาหนทางมีความสุขทั้งที่รู้ว่าไม่มีอะไรที่จีรัง ท่ามกลางความรุนแรงและความประสงค์ร้าย ความดีงามยังบังเกิด เบ่งบาน และสิ้นสุดเพื่อบังเกิดใหม่เหมือนที่เคยเป็นมาและดำเนินต่อไปตั้งแต่ครั้งบรรพกาล
ต่อไปนี้ผู้เขียนจะทำตามสัญญา... และใช้เวลาอีกไม่นานเกินรอด้วย
ในภาพการ์ตูนล้อเลียนการเมืองฝีมือ David Low นี้ เราเห็นฮิตเลอร์และสตาลิน
แลกเปลี่ยนของขวัญคริสต์มาสในคราที่เผด็จการทั้งสองตกลงแบ่งแยก
ดินแดนโปแลนด์อย่างลับ ๆ ซึ่งรวมอยู่ในกติกาสัญญา
โมโลตอฟ–ริบเบนทรอพ (Molotov–Ribbentrop Pact) (Pic: ©Solo Syndication)
%20The%20cartoonist%20who%20angered%20the%20dictators
หนังสือเล่มต่อไปที่จะรีวิวคือ House of Day, House of Night (Dom dzienny, dom nocny) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ 1998 เล่มนี้โด่งดังมากในโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก (ผู้เขียนได้อ่านเรื่องนี้เพราะมิตรสหายชาวเช็กกล่าวขานกันว่าดี เมื่อราวห้าหกปีที่แล้ว) ส่วนฉบับแปลก็ได้สร้างชื่อเสียงไม่แพ้กัน โดยฉบับแปลภาษาเยอรมันได้รับรางวัลวรรณกรรมยุโรปกลางและตะวันออกร่วมสมัยที่มีสำนวนแปลภาษาเยอรมันยอดเยี่ยมเมื่อปี 2002 ส่วนสำนวนแปลภาษาอังกฤษก็ยังได้รับรางวัล Günter Grass Prize ทั้งหมดนี้ได้ทำให้โอลกาเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
เช่นเดียวกับเรื่อง Primeval and Other Times (1996) ฉากและสถานที่เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักเขียนจากภูมิภาคจินตกรรมแห่งชีวิตจริงอย่างยุโรปกลาง มาเล่มนี้ เมืองเล็ก ๆ ในไซลีเซียที่เธอเลือกเป็นฉากในเรื่องนั้นมีอยู่จริง เมืองนั้นชื่อเมืองโนวา รูดา (Nowa Ruda) แปลตรงตัวว่า “สินแร่ใหม่” (โนวา แปลว่า ใหม่ ส่วนรูดา แปลว่า สินแร่) ชื่อนี้มีที่มาจากสภาพทางกายภาพโดยภูมิภาคนี้ขึ้นชื่อว่าอุดมไปด้วยแร่ จนการทำเหมืองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชุมชนและประวัติศาสตร์ ผู้เล่าเรื่องในหนังสือเล่มนี้ย้ายไปอยู่เมืองโนวา รูดาซึ่งอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีและเชโกสโลวะเกีย ผูกมิตรกับเพื่อนบ้านที่ชื่อมาร์ตา ซึ่งเป็นบุคคลลึกลับซับซ้อน เมื่อฟังการนินทาในชุมชนและสัมผัสชีวิตของผู้คนรอบตัวเหมือนทำเหมือนขุดสินแร่ของเรื่องเล่า ผู้เล่าเรื่องตระหนักว่าทุกคนมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเองที่ลึกลับซับซ้อนไม่แพ้เพื่อนบ้าน ไม่มีใครสามารถเหมารวมว่าทุกคนมาจากแม่แบบเดียวกันได้ เรื่องราวชวนหัวที่ผู้เขียนบทความโปรดปรานคือเรื่องของชายคนหนึ่งที่แทบจะก่อความขัดแย้งระดับชาติเมื่อเขาดันเสียชีวิตระหว่างที่ข้ามพรมแดน ขาข้างหนึ่งอยู่ฝั่งโปแลนด์ อีกข้างหนึ่งอยู่ฝั่งเช็ก ทุกคนทะเลาะกัน ตกลงไม่ได้ว่าเขาตายที่ไหนกันแน่ คน ๆ นี้เป็นชาวอะไรกันแน่ อันเป็นคำถามคลาสสิกที่เราพบเมื่อชาติต่าง ๆ ในยุโรปกลางแย่งชิงกันเคลมบุคคลสำคัญของภูมิภาค ปัญหาคือบุคคลสำคัญเหล่านั้นเกิดและใช้ชีวิตเมื่อพรมแดนไม่มีหรือไม่ได้กำหนดชัดเจนอย่างปัจจุบัน ประวัติศาสตร์สำหรับยุโรปกลางก็เป็นเช่นนั้น แย่งชิงและยื้อประวัติศาสตร์กันไปมาจนขาแทบขาด บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์คนเดียวกันมีรูปปั้นและอนุสรณ์สถานทุกประเทศ ถูกเคลมเสมอกันทุกประเทศ ไม่ว่าจะตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ตาม ในขณะที่เรื่องราวแห่งหมู่บ้านบรรพกาลเป็นมหากาพย์แห่งเวลาในสเกลที่ใหญ่ เรื่องHouse of Day, House of Night เป็นมหากาพย์แห่งเรื่องบ้าน ๆ ในสเกลที่เล็ก ในเรื่องที่ดูไม่สลักสำคัญอะไร (มีบรรยายสูตรประกอบอาหารใส่เห็ดมีพิษด้วย ผู้ที่เคยดู Phantom Thread จะเห็นว่าไอเดียในภาพยนตร์ไม่ใหม่แต่อย่างใด ชาวยุโรปกลางนิยมชมชอบการเก็บและรับประทานเห็ดพอ ๆ กับชาวอังกฤษ จะเลือกที่มีพิษหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง) แต่กลับเผยให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างชีวิต วัฒนธรรม ชาตินิยม และเพศสภาพ (ประเด็นเรื่องเพศสภาพเป็นเรื่องน่าเสียดายเมื่อเรามานั่งอ่านฉบับแปลภาษาอังกฤษ ด้วยฉบับภาษาโปลิชได้เล่นและล้อเลียนกับเพศของคำต่าง ๆ อันสะท้อนถึงสังคมชายเป็นใหญ่ของโปแลนด์ ข้อนี้ขาดหายไปในภาษาอังกฤษ หากผู้ใดต้องการแปลเป็นภาษาไทย โปรดคำนึงถึงมิติเรื่องเพศนี้ด้วย)
เมืองโนวา รูดาในปี 2014
และแล้วเราก็เดินทางมาถึงหนังสือเล่มสุดท้าย (ที่จะรีวิวโดยไม่สปอยล์) ซึ่งเป็นเล่มที่ทำให้เธอโด่งดังในปี 2018 และเป็นเล่มที่ผู้เขียนบทความจะไม่ปล่อยให้ชื่อเธอเลือนหายหรือนิรนามในหมู่ผู้อ่านชาวไทยอีกต่อไป นั่นคือเรื่อง Flights (2007) พิจารณาจากชื่อเรื่อง ท่านผู้อ่านคงคาดหวังว่าเป็นหนังสือบันทึกการนั่งเครื่องบินหรือการเดินทาง—ไม่เชิง—เมื่อพินิจดูดี ๆ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมบทความ เรื่องเล่า บันทึก และเศษเสี้ยวตัวบทต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับจิตวิทยาแห่งการเดินทาง โอลกาเขียนวิเคราะห์การเดินทางในฐานะปรากฎการณ์ที่สำคัญ แต่กระนั้น จะแนะนำผลงานชิ้นนี้ให้ดีและถูกต้อง ผู้เขียนบทความคงต้องย้อนกลับไปหาตัวบทภาษาโปลิช โดยเฉพาะชื่อเรื่องคือ เบียกุนี Bieguni ซี่งแปลว่า บรรดาผู้พเนจร (wanderers) หรือบรรดาผู้หลีกลี้ (runners/refugees) เป็นชื่อของนิกายหนึ่งของรัสเซียออร์โธดอกซ์สมัยศตวรรษที่ 18 ที่ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่าการอยู่นิ่ง ไม่ยอมเดินทางไปไหน ทำให้มารเข้ามาผจญได้ง่ายกว่าการเคลื่อนไหวเดินทางเป็นนิตย์ การพเนจรหลีกลี้ความชั่วร้ายซึ่งมาในรูปของการอยู่นิ่งนับว่าเป็นการไถ่บาปวิธีสำคัญ ในระดับของตัวละครแต่ละตัว นัยที่มากับชื่อเรื่องหนังสือเล่มนี้ของโอลกาได้แปร/แปลมาเป็นความหวังและความปรารถนาที่จะเป็นอิสระจากทั้งกำแพงและพรมแดนกายภาพที่จับต้องได้ และกำแพงและพรมแดนแห่งมโนคติวัฒนธรรมเดียวผูกขาด มายาคติแห่งชาตินิยม หรือแม้กระทั่งอคติทางเพศที่ขัดขวางไม่ให้มนุษย์เห็นความสำคัญของความลื่นไหลของตัวตน การผสมผสานของวัฒนธรรมที่ต่างกัน และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความลื่นไหลและอิสระทางความคิดดังกล่าวล้วนจะได้มาจากการเคลื่อนที่ออกจาก comfort zone เพื่อผจญโลกโดยเสรี ในหนังสือเล่มนี้ท่านจะได้พบกับเรื่องราวการเดินทางในมิติและห้วงเวลาที่ต่างกัน จากเรื่องราวของการขนย้ายหัวใจของ เฟรเดริก โชแปง ผู้เป็นคีตกวีเอกของโลก (หัวใจจริง ๆ ใช่อุปมา) มายังโปแลนด์บ้านเกิด จนถึงเรื่องราวของนักวิจัยชาวออสเตรเลียที่เดินทางกลับไปโปแลนด์อีกครั้งเพื่อเยี่ยมเพื่อนที่ป่วยใกล้เสียชีวิตหลังจากที่ตนเดินทางจากประเทศนั้นไปนานหลายปี Flights แสดงให้เห็นว่ามีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลในระดับใกล้เคียงกับบาปและความชั่วร้ายที่นิกายเบียกุนีพยายามหลีกหนีในวาทกรรมเกลียดกลัวผู้จำต้อง “พเนจร” หลีกลี้ความรุนแรงและภัยสงครามที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ หรือความพยายามของผู้นำประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบันที่จะสร้างกำแพงกั้นมนุษย์ด้วยกันอย่างที่เห็นในท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ หรือความพยายามที่จะรณรงค์ให้ประเทศหนึ่งตัดจากประเทศหนึ่งหรือกลุ่มประเทศหนึ่งโดยชักจูงให้ประชาชนมโนประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงอย่าง Brexit ตามที่ทิโมธี สไนเดอร์เคยวิเคราะห์ไว้อย่างน่าคิด: “เหล่าผู้สนับสนุน Brexit หรือการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป จะจินตนาการถึงรัฐชาติอังกฤษ ทั้ง ๆ ที่มันไม่เคยมีอยู่เลย ครั้งหนึ่งเคยมีจักรวรรดิอังกฤษ จากนั้นจึงมีสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป การเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปดังกล่าวนั้นไม่ใช่การเดินถอยหลังไปยังฐานที่มั่นแต่อย่างใด หากเป็นการก้าวกระโจนไปสู่ภาวะที่ไม่อาจล่วงรู้ได้ เป็นที่น่าประหลาดใจยิ่ง” (ดู On Tyranny: Twenty Lessons from the Twentieth Century)
ผลงานของโอลกา โตการ์ชุกที่น่าสนใจไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ผู้รักภาพยนตร์ทั้งหลายอาจสนใจอยากอ่านงานเขียนเรื่อง โปรวัจ ซวุย ปวุก พเชรซ กอชตซิ อุมาร์วิค Prowadź swój pług przez kości umarłych ซึ่งแปลว่า “ดันคันไถทับผ่านซากกระดูก” ตีพิมพ์เมื่อปี 2009 อันว่าด้วยเรื่องราวฆาตกรรมปริศนา—เมื่อพรานผู้ล่าสัตว์และมนุษย์ที่ทรมานสัตว์อย่างทารุณถูกสังหารหมู่และกลายเป็นสัตว์ที่ถูกล่าอย่างโหดร้ายทารุณไปเสียเอง ใครเป็นคนฆ่า? เป็นไปได้มั้ยว่าวิญญาณของสัตว์ที่ถูกล่านั้นกลับมาแก้แค้นเอาคืนโดยยึดวิญญาณชีวิตของผู้ล่าไปครอบครอง?—เหตุเกิดบนภูเขาที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคจินตกรรมที่มีอยู่จริงอย่างไซลีเซีย (อีกแล้ว!) ทำไมแฟนภาพยนตร์จะสนใจน่ะหรือ ก็เพราะหนังสือเล่มนี้ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยผู้กำกับที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างอักเนียชกา ฮอลลันด์ เมื่อปี 2017 ภาพยนตร์เรื่อง โปกต Pokot ซึ่งแปลว่า ซากสัตว์ที่ถูกล่าแล้วนำมาเรียงต่อ ๆ กัน (ภาษาโปลิช คล้ายภาษาเช็กตรงที่คลังคำรุ่มรวยเหนือจริง จะเทียบหาคำในภาษาอังกฤษมาแปลนั้นยากเหลือ – อย่างชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ Spoor หมายถึงเพียงรอยเท้า ร่องรอย หรือแม้กระทั่งกลิ่นของสัตว์ป่าในบริบทของการล่าสัตว์) ภาพยนตร์อันน่าสะพรึงที่ชวนให้เราฉุกคิดเรื่องการล่วงละเมิดสิทธิสัตว์ ตระหนักถึงประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม และเห็นประวัติศาสตร์การเข่นฆ่าระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองสะท้อนในความโหดร้ายของฆาตกรรมเรื่องนี้ ได้รับรางวัลหมีเงินในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน
แหล่งภาพ: https://www.imdb.com/title/tt5328350/mediaviewer/rm2022389760
คลิกดูตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=x-ZVKpsYOqU
งานเขียนของ โอลกา โตการ์ชุก (Olga Tokarczuk) นักพเนจรในภูมิภาคจินตกรรมแห่งยุโรปกลาง—อันเป็นพื้นที่ที่ชีวิตจริงจะต้องดิ้นรนกับ phantasmagoria ภาพหลอนแห่งอดีตเช่นที่แฮมเล็ตในบทละครของเชคสเปียร์ต้องต่อสู้กับตัวเองเมื่อประสบพบ(แวมไพร์?) วิญญาณของบิดาที่ถูกสังหารในการแย่งชิงอำนาจ—นั้นสำคัญยิ่ง และทวีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในโลกที่อำนาจตั้งอยู่บนฐานแห่งขั้วที่ดูตรงข้ามสองขั้ว (แต่ส่งผลร้ายเสมอกัน) อันได้แก่ การเหมารวมและมองว่าโลกเป็นของตายตัว ผู้นำมีสูตรสำเร็จสำหรับทุกสิ่ง (สำหรับผู้นำอย่างทรัมป์และใครหลายคน สูตรสำเร็จที่จะแก้ปัญหาของประเทศคือ “กูเอง”) และการโหนบวกโหยหาอดีตที่ไม่มีจริงอย่าง Brexit (และอื่น ๆ – ลองมองไปรอบตัวท่าน) อีกทั้งยึดโยงภูมิภาคแห่งจินตกรรมอันจอมปลอมและไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงที่เราเห็นตั้งแต่การชำระประวัติศาสตร์ชาตินิยมอันเทียมเท็จเพื่อสร้างความชอบธรรมให้นโยบายชาตินิยม หรือการปกปักรักษาเขตแดนทางกายภาพ สร้างกำแพง และพร้อมยอมตายหรือทำให้ผู้อื่นตายเพื่อพรมแดนแห่งมายาคติต่าง ๆ เช่น มายาคติที่ตั้งอยู่บนฐานของการเหยียดศาสนา เหยียดเพศ และเหยียดเชื้อชาติ
การอ่านวรรณกรรมยุโรปกลางคือการเดินทางออกจาก comfort zone ของโลกที่นับวันต้องการให้เรามองทุกสิ่งเป็นสูตรสำเร็จ แต่การอ่านวรรณกรรมยุโรปกลางด้วยอคติและโดยปราศจากสำนึกทางประวัติศาสตร์ ก็เหมือนการเดินทางที่สักแต่ซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อไปถ่ายรูปเซลฟีกับสถานที่ท่องเที่ยวโพสต์ลงโซเชียลมีเดียโดยไม่คิดที่จะเปิดโลกเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม สังคม การเมือง หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่เสียเวลานั่งสบตาและพูดคุยกับผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจริง แม้การเดินทางจะเป็นบุญลาภสไตล์เบียกุนี แต่ขออภัย! สำหรับโอลกา โตการ์ชุก การเดินทางนั้นมีหลายระดับและประเภท นักเขียนท่านนี้เคยกล่าวว่าอนารยชนป่าเถื่อนไม่รู้จักการเดินทางหรอกนะ พวกนี้รู้จักแต่การมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายเพื่อปล้นสะดมเท่านั้น ซึ่งบาปและชั่วร้ายพอ ๆ กับการอยู่นิ่ง ไม่ยอมออกไปไหนและไม่เปิดรับความคิดใหม่ ๆ ด้วยคิดว่าตนหรือชาติของตนเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล
ตราบใดที่เลือกเส้นทางชีวิตนักพเนจรผู้หลีกลี้การมองโลกแบบสูตรสำเร็จเหมารวม จุดหมายไม่สำคัญเท่าข้อที่ว่าท่านจะเลือกเป็นนักอ่าน/นักเดินทางแบบใด เลือกมองโลกและตัวท่านเองเป็นภูมิภาคจินตกรรมแห่งชีวิตจริง หรือเป็นภูมิภาคจริงแห่งจินตนาการ
งานเขียนของ โอลกา โตการ์ชุก เน้นย้ำว่าชีวิต การอ่าน และการเดินทาง ไม่จำเป็นต้องอาศัยแผนที่ใด ๆ เส้นทางการเดินทางและทางเลือกที่ว่ามาทั้งหมดนี้… ขึ้นอยู่กับตัวท่านเอง
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมและศิลปวัฒนธรรมยุโรปกลางในเดือนมิถุนายน มีทั้งหมด 2 งาน ได้แก่
1. วันที่ 1 มิถุนายน: วรรณกรรมยุโรปกลางร่วมสมัยในประเทศไทย
หากท่านต้องการเปิดโลกและสัมผัสวรรณกรรมยุโรปกลางและหากท่านยังไม่รู้สึกเต็มอิ่มไปกับบทความเรื่องโอลกา โตการ์ชุกที่เพิ่งอ่านจบไป งานเสวนาและเปิดตัวหนังสือนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะลองเป็นเบียกุนีกันอีกสักครั้ง
หน่วยยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกศึกษา ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกกลุ่มวิเชกราด 4 ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตฮังการี สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็ก สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสโลวัก ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมงานเสวนาด้านวรรณคดีศึกษาและการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการแปล หัวข้อ "วรรณกรรมยุโรปกลางในประเทศไทย" ในวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2561 เวลา 16.00-19.30 น. ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กิจกรรมทางวิชาการครั้งนี้ยังเป็นการเปิดตัวหนังสือรวมตัวบทวรรณกรรมยุโรปกลางคัดสรรฉบับแปลภาษาไทย (โดยรวบรวมและตีพิมพ์สำนวนแปลภาษาไทยที่ชนะการประกวดทั้งหมด) ซึ่งนับว่าเป็นเล่มแรกในประเทศไทย
**ลงทะเบียนหน้างานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ**
คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/events/426141717854097/
2. ว้นที่ 11 มิถุนายน: ค่ำคืนแห่งการแสดงทางวัฒนธรรมเช็กและสโลวัก
ผู้ที่เป็นแฟนของโบฮุมิล ฮราบัล และ มิลาน คุนเดรา—นักเขียนผู้ผลิตงานที่อบอวลด้วยดนตรีพื้นบ้านและภูมิภาคบ้านเกิดอันโด่งดังเรื่องดนตรีและศิลปวัฒนธรรมอย่างโมราเวีย (อันเป็นภูมิภาคจินตกรรม…แต่มีอยู่จริง สไตล์ยุโรปกลาง) —ห้ามพลาดงานนี้ด้วยประการทั้งปวง
ในวาระเฉลิมฉลอง 100 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐเชโกสโลวะเกีย (Republic of Czechoslovakia) ค.ศ. 1918 หน่วยยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกศึกษา ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสโลวัก ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมงาน "ศตวรรษแห่งชาวเช็กและสโลวัก: ค่ำคืนแห่งการแสดงทางวัฒนธรรม" และขอเชิญชวนทุกท่านร่วมชมนิทรรศการทั้งหมด 3 ชุด ได้แก่ นิทรรศการเกี่ยวกับการสถาปนาสาธารณรัฐเชโกสโลวะเกีย ค.ศ. 1918 นิทรรศการเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของ Tomáš Garrigue Masaryk ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเชโกสโลวะเกีย และนิทรรศการเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของ Tomáš Baťa นักธุรกิจชาวเชโกสโลวักผู้ก่อตั้งบริษัทรองเท้าบาจา ในวันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2561 เวลา 18.00-21.00 น. ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
**สแกน QR Code เพื่อลงทะเบียนร่วมงานออนไลน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ**
เดี่ยวกับผู้เขียน: ผศ.ดร.วริตตา ศรีรัตนา เป็นประธานหลักสูตร PhD in European Studies (PEUS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย verita.s@chula.ac.th
[full-post]
แสดงความคิดเห็น