Posted: 26 May 2018 10:23 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

แอมเนสตีเปิดเผยว่ามีหลักฐานกรณีที่กองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรืออาร์ซา (ARSA) ก่อเหตุสังหารหมู่และลักพาตัวคนในหมู่บ้านชาวฮินดูในช่วงปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตทั้งชาย หญิง และเด็ก ซึ่งตัวแทนของแอมเนสตีบอกว่าถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเหี้ยมโหด

องค์กรแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลเปิดเผยว่าพวกเขาพบหลักฐานเรื่องที่กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรืออาร์ซา (ARSA) ทำการสังหารหมู่ประชาชนชาวฮินดูไป 99 ราย ทั้งชาย หญิง และเด็ก รวมถึงการลักพาตัวชาวฮินดูจากหมู่บ้านในช่วงเดือน ส.ค. 2560

แอมเนสตีเปิดเผยว่าพวกเขามีหลักฐานทั้งจากรูปถ่ายที่ได้รับการวิเคราะห์จากนักนิติพยาธิวิทยาและการสอบปากคำผู้คนทั้งในพื้นที่รัฐยะไข่และข้ามฝั่งไปยังประเทศบังกลาเทศ ทิรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการฝฝ่ายรับมือวิกฤตการณ์ ของแอมเนสตีกล่าวว่าการสืบสวนในครั้งนี้เปิดเผยให้เห็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มติดอาวุธอาร์ซา ฮัสซันระบุอีกว่าเรื่องการก่อเหตุอย่างโหดเหี้ยมของอาร์ซามีความสำคัญมากพอๆ กับประเด็นเรื่องอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กองทัพเมียนมาร์ก่อไว้ในรัฐยะไข่

หนึ่งในเหตุสังหารหมู่ดังกล่าวเกิดขึ้นที่หมู่บ้าน Ah Nauk Kha Maung Seik ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีชาวฮินดูอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ โดยพวกเขาเหล่านี้อาศัยอยู่ใกล้กับหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อีกทั้งในบริเวณเดียวกันยังมีหมู่บ้านระขิ่นซึ่งมีชาวพุทธอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่

เหตุในหมู่บ้าน Ah Nauk Kha Maung Seik เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 25 ส.ค. 2560 มีคนติดอาวุธสวมชุดดำกับชาวบ้านโรฮิงญาในพื้นที่นั้นช่วยกันกวาดต้อนชาวฮินดูทั้งชาย หญิงและเด็ก มีการปล้นทรัพย์ จับมัด และปิดตาพวกเขาออกไปที่เขตรอบนอกของหมู่บ้าน จากนั้นจึงมีการแยกผู้ชายออกจากหญิงและเด็ก หลายชั่วโมงต่อมาก็มีการสังหารคน 58 คนในแบบจ่อยิงโดยไม่ให้ขัดขืน (execution-style) โดยเริ่มจากสังหารผู้ชายก่อน มีการไว้ชีวิตหญิง 8 คน กับเด็กอีก 8 คน ซึ่งถูกลักพาตัวไป กลุ่มอาร์ซาบังคับให้ผู้หญิง "เปลี่ยนศาสนา" เป็นอิสลาม ผู้รอดชีวิตถูกบีบให้ต้องหนีไปยังบังกลาเทศอีกหลายวันหลังจากนั้น ก่อนที่จะได้รับการส่งตัวกลับภูมิลำเนาในเดือน ต.ค. 2560 จากการสนับสนุนของรัฐบาลบังกลาเทศและเมียนมาร์

บินา บาลา หญิงอายุ 22 ปี ที่รอดชีวิตบอกเรื่องที่เกิดขึ้นต่อแอมเนสตีว่ามีชายถือมีดและไม้พลองเหล็กยาวๆ จับเธอมัดมือแล้วก็ปิดตาพวกเธอ พอถามว่าจะทำอะไรมีคนหนึ่งบอกว่าพวกเขากับชาวระขิ่นมีศาสนาต่างจากพวกเขา ไม่ควรจะอยู่ที่นั่น จากนั้นคนติดอาวุธจึงเรียกเอาทรัพย์สินที่พวกเธอมี แล้วก็ทุบตีพวกเธอ พวกเธอให้เงินกับทองพวกเขาไปในที่สุด

ผู้รอดชีวิตรายอื่นๆ เล่าว่าพวกเธอถูกสั่งไม่ให้มองตอนที่กลุ่มติดอาวุธเหล่านั้นสังหารหมู่ผู้ชายที่เป็นญาติของพวกเธอ ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งเล่าว่าตอนที่เธอกำลังถูกต้อนไปที่อื่นเธอแอบหันไปมองเห็นกลุ่มติดอาวุธกำลังจับปาดคอผู้หญิงและเด็กรายอื่นๆ ในกลุ่มเด็กที่เสียชีวิตมีเด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี ถึง 14 ราย

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่หมู่บ้าน Ye Bauk Kyar มีชาวฮินดูทั้งชาย หญิง และเด็ก จำนวน 46 คน หายตัวไปในวันเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ใน Ah Nauk Kha Maung Seik โดยถึงแม้ว่าจะมีการขุดพบหลุมฝังศพหมู่ของชาว Ah Nauk Kha Maung Seik รวม 45 รายแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครค้นพบผู้หายตัวไปจากหมู่บ้าน Ye Bauk Kyar

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันคือวันที่ 26 ส.ค. 2560 ในพื้นที่ใกล้กับหมู่บ้าน Myo Thu Gyi มีลุ่มติดอาวุธอาร์ซาสังหารชาวฮินดู 6 ราย เป็นเด็ก 3 รายรวมถึงทำให้หญิงรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ หญิงที่รอดชีวิตเล่าว่าสามีและลูกสาวอายุ 5 ปี ของเธอถูกสังหารโดยคนที่สวมชุดดำทำให้ไม่เห็นใบหน้ามองเห็นแต่ดวงตาเขา ตัวเธอก็ถูกยิงที่หน้าอกด้วยแต่รอดชีวิตมาได้

มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่ใกล้กับเหตุการณ์กลุ่มอาร์ซาบุกทำลายด่านตรวจของทางการเมียนมาร์ 30 แห่ง ทำให้พลเรือนชาวโรฮิงญาถูกสังหารหมู่และเผาทำลายหมู่บ้านจากทางการเมียนมาร์เป็นการโต้ตอบ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงเช่นกัน ฮัสซันเรียกร้องให้กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ควรถูกประณามทั้งสองฝ่าย "การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ถือเป็นการให้ความชอบธรรมต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มอื่นๆ" ฮัสซันกล่าว

ฮัสซันกล่าวอีกว่า ครอบครัวของผู้รอดชีวิตทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรม ได้รับทราบความจริง และได้รับการชดเชยเยียวยาจากความเสียหายที่พวกเขาได้รับ อีกทั้งฮัสซันยังประณามสิ่งที่กลุ่มอาร์ซาทำว่าเป็นการก่ออาชญากรรมที่โหดร้าย สมควรนำตัวผู้กระผิดมารับผิดชอบ


เรียบเรียงจาก

Myanmar: New evidence reveals Rohingya armed group massacred scores in Rakhine State, Amnesty, 22-05-2018
https://www.amnesty.org/en/latest/news/2018/05/myanmar-new-evidence-reveals-rohingya-armed-group-massacred-scores-in-rakhine-state/

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.