Posted: 28 May 2018 05:28 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachathai.com)
มุมมองผู้บริหาร 'วอยซ์ทีวี' ต่อ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 บรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการทีวิดิจิทัล พร้อมโจทย์ที่ว่าหากไม่ได้รับการบรรเทาฯ จะเตรียมการอย่างไร
จากเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2561 ที่ออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล พร้อมอนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์หาโฆษณาได้เท่าที่จำเป็น ซ่อนเงื่อนที่ต้องจับตา เมื่อคำสั่งดังกล่าวได้วางเงื่อนไขของผู้ที่จะได้รับการบรรเทากระทบ ไว้เปิดทางให้ กสทช. เข้ามาใช้อำนาจพิจารณาเนื้อหาโดยละเอียดซ้ำได้อีก ก่อนจะพิจารณาผ่อนผันการชำระหนี้และช่วยเหลือค่าเช่าโครงข่าย
สำหรับ คำสั่งหนัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 นั้น มีสาระสำคัญ 3 ข้อ คือ
- "พักชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ" โดยให้กําหนดระยะเวลาการพักชําระค่าธรรมเนียม ไม่เกิน 3 ปี พร้อมกับมีเงื่อนไขว่า ผู้รับใบอนุญาตยังคงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นตามคําสั่งที่ 76/2559
- สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ให้กับผู้รับใบอนุญาตฯ เป็นจํานวนเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าเช่าใช้โครงข่ายฯ เป็นระยะเวลา 24 เดือน นับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
- อนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จําเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการ ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศกําหนด
อย่างไรก็ตาม การพักชำระค่าธรรมเนียมฯ และรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าโครงข่ายนั้น มาพร้อมเงื่อนไขสำคัญที่ปรากฏอยู่ในข้อ 9 ของคำสั่งฯ และ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ให้สัมภาษณ์ย้ำคือ
“ใครที่ทำผิดเงื่อนไข ดำเนินการใดๆ ทีผิดเงื่อนไขต่างๆ สำนักงาน กสทช. เองจะเป็นผู้พิจารณษงว่าจะให้เป็นผู้พักชำระหนี้ในระยะเวลา 3 ปี และได้รับค่าสนับสนุนในการเช่าโครงข่ายหรือไม่ เดี๋ยวจะมีหนังสือแจ้งตอบ เมื่อมีหนังสือแจ้งตอบ จะมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคมเป็นต้นไป แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิดเงื่อนไขบ่อยหรือมีเหตุอื่นในการดำเนินการ เราจะมีหนังสือแจ้งตอบไปว่าไม่ให้ดำเนินการดังกล่าว จะต้องนำเงินมาชำระพร้อมอัตราดอกเบี้ย”
และ
“ในส่วนที่สอง เมื่อได้รับการพักชำระหนี้ไปแล้ว หากสำนักงาน กสทช. ยังตรวจพบภายหลังว่าการจัดทำผังรายการต่างๆ หรือการดำเนินการประกอบกิจการ ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนและมีสาระสำคัญต่างๆ ทางสำนักงานฯ มีสิทธิที่จะประกาศยกเลิกการพักชำระหนี้ และการสนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายดังกล่าวได้ในภายหลังอีก”
ทีวีที่น่าจับตาคือ วอยซ์ทีวี ซึ่งเป็นสถานีที่ถูกเรียกเพื่อตักเตือนและลงโทษ ปิดรายงาน และปิดทั้งสถานีแล้วรวม 8 ครั้ง โดยถูกระงับการเผยแพร่ออกอากาศหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อปี 2557 เป็นเวลา 26 วัน ระหว่างวันที่ 20 พ.ค. - 14 มิ.ย.2557
และอีกครั้งถูก กสทช. สั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานีเป็นเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 27 มี.ค. – 3 เม.ย. 2560
นอกเหนือจากการปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ได้แก่ คำสั่งที่ 14/2557 และ 18 /2557 และ 97/2557 กับ 103/2557 ตามลำดับ วอยซ์ทีวียังถูกควบคุมด้วยข้อตกลงร่วม – MOU กับ คสช. ด้วย
การบังคับใช้และตีความของ กสทช. ทีผ่านมาได้ก้าวเข้ามาตรวจสอบเนื้อหาของวอยซ์ทีวีอย่างละเอียดชนิดคำต่อคำ ประโยคต่อประโยค ขณะเดียวกัน ดุลพิจิจและคำสั่งของ กสทช. ถือเป็นที่สุด หากจะอุทธรณ์ต้องขออุทธรณ์ต่อศาลเท่านั้น อีกทั้ง กสทช. ก็ได้รับความคุ้มครองจาก ม. 44 ให้ กสทช. ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญาจากการทำหน้าที่ดังกล่าว
นี่จึงเป็นข้อที่น่าห่วงกังวลว่า ครั้งนี้ กสทช. ก็อาจจะตีความอย่างเข้มงวดว่า การที่วอยซ์ถูกเรียกชี้แจง และถูกลงโทษหลายครั้ง เข้าข่ายที่จะไม่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการที่ คสช. ออกคำสั่งมา
- ม.44 ช่วยทีวีดิจิตอลประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
- 'พีซทีวี' ยื่นขอ กสทช. เป็นธรรม หลังถูกสั่งปิด 30 วัน ยันไม่มีเนื้อหายุยงปลุกปั่น
ถ้าวอยซ์ทีวีไม่ได้รับการบรรเทาผลกระทบดังที่ช่องดิจิทัลอื่นๆ ได้รับ จะเตรียมการอย่างไร
เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.วอยซ์ทีวี จำกัด ระบุว่า “ในทางเศรษฐกิจนั้นเสียหายแน่ อย่างไรก็ตาม วอยซ์ทีวีได้เตรียมวางแผนในแง่ของธุรกิจซึ่งเราชื่อมั่นว่าเราจะดำเนินการต่อไปได้ เราจะทำธุรกิจได้ แต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของช่องซึ่งขึ้นอยู่ที่การตีความและขอบเขตอำนาจที่กว้างขวางของ กสทช. นั้นทำให้ลูกค้าเสียความเชื่อมั่น”
“เราจะปรับ ให้ความร่วมมือในกรอบที่ปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าปิดรายการหรือปิดช่อง จะเดินหน้าสู่ศาลปกครองเพื่อให้เกิดการวินิจฉัยและวางหลักในการคุ้มครองเสรีภาพสื่อและผู้ประกอบการธุรกิจสื่อต่อไป”
เมฆินทร์ ระบุด้วยว่า กรณีผ่อนผันนี้ไม่ใช่ทีวีดิจิทัลเอาเปรียบรัฐ เพราะเวลาที่พักหนี้ผู้ประกอบการก็จ่ายดอกเบี้ย ส่วนค่ามักซ์นั้นโครงข่ายมีปัญหามาแต่ต้น ฉะนั้นมันเป็นมาตรการกึ่งช่วยเหลือกึ่งคืนความเป็นธรรม ที่รัฐเองก็ได้ประโยชน์ จะเอามาต่อรองเพื่อเลือกปฏิบัติไม่ได้
ประการที่สอง มาตรการลงโทษต่างๆ กสทช.มีอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องการปฏิบัติตามหลักหรือการพิจารณาเนื้อหาที่ช่องฯ นำเสนอไม่ควรเอามาปนกับมาตรการนี้
ประการทีสาม สิ่งที่ ฐากร พูดเกินเลยยิ่งกว่าคำสั่งข้อ 9 และมีนัยขยายอำนาจ กสทช. และการทำเช่นนี้ไม่ใช่กระทบแค่ Voice แต่จะทำให้ทุกช่องหวาดกลัวไม่กล้าวิจารณ์หรือไม่กล้าเสนอข่าวแง่ลบ
แสดงความคิดเห็น