Posted: 23 May 2018 05:36 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ และอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ ตอบโจทย์หลัง 4 ปี คสช. พรรคการเมืองจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะเอาอย่างไรกับมรดก คสช. จะแก้ไข รธน.60 หรือไม่ โดยปิยบุตรเสนอแก้มาตรา 279 เปิดทางให้แก้ได้ทั้งฉบับ อรรถวิชช์เสนอลองใช้ก่อน ถ้าใช้แล้วไม่ดียังไงก็แก้ได้ ออกตัวเป็นพลเรือนไม่ถนัดฉีก ด้านปิยบุตรตอบกลับแก้ รธน.ได้ไม่ต้องฉีก ที่ผ่านมาสังคมไทยเคยผลักดัน รธน.ฉบับประชาชนเมื่อปี 40 มาแล้ว

ส่วนหนึ่งของเสวนาสาธารณะ “The Move We Decide ก้าวที่เลือกได้” ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ชวนตัวแทน 4 พรรคการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ โดยช่วงหนึ่งปิยบุตร แสงกนกกุล จากพรรคอนาคตใหม่ และอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคประชาธิปัตย์ตอบคำถามเรื่อง "หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะสร้างความแตกต่างจาก 4 ปีที่ผ่านมาได้อย่างไร ในเมื่อมีตัวล็อกทั้งแผนปฏิรูปต่างๆ และยุทธศาสตร์ชาติ?"

ทั้งนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากพรรคอนาคตใหม่ เสนอให้จัดการสิ่งที่เรียกว่า "มรดก คสช." ทิ้งทั้งหมด ทั้งคำสั่ง ประกาศ คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฯลฯ ยกเว้นในบางคำสั่งที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารราชการแผ่นดินและในชีวิตประจำวัน ที่มีผู้ได้ประโยชน์โดยสุจริต อาจให้อยู่ต่อ แต่เปลี่ยนรูปมาเป็นพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายลำดับศักดิ์รองๆ

และให้ผู้ได้รับความเสียหายจากคำสั่ง คสช. ผู้ถูกดำเนินคดีจับกุมคุมขังหลังรัฐประหาร 2557 ต้องยุติการดำเนินคดี ต้องได้รับการนิรโทษกรรม รวมทั้งต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเริ่มต้นได้เลยที่การยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ต้องยกเลิกทันที เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลต่างๆ ได้โต้แย้งประกาศคำสั่ง คสช. และเปิดทางให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านการประชามติ

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีประชาธิปไตย 80 กว่าปี เราเสียเวลาร่างรัฐธรรมนูญ แก้รัฐธรรมนูญ มากกว่าเวลาใช้มัน รัฐธรรมนูญมี 20 ฉบับแก้อีกนับไม่ถ้วน เรากำลังครุ่นคิดอยู่กับรัฐธรรมนูญแบบใหม่ แบบนี้ไม่ดี ทหารมา ฉีกทิ้ง แล้วก็เอาใหม่ หรือของทหารไม่ดี ฉีกทิ้ง แล้วก็เอาใหม่ มันจะสาละวนอยู่กับเรื่องนี้

"ผมอยากชวนคิดแบบนี้ถ้าเราเห็นว่าอยากแก้ ต้องแก้ได้ ต่อให้เขียนให้แก้ยากสุดๆ ผมว่าก็แก้ได้ ยุทธศาสตร์ชาติบอกแก้ไม่ได้ ก็ไม่จริง ถ้าดูให้ดีในรัฐธรรมนูญ มันเป็นข้อแนะนำ เขาว่า "รัฐพึง" เสมอ รัฐพึงทำอะไร ไม่ทำอะไร ไม่ใช่หน้าที่ ก็แก้ได้อีก มันอยู่ที่ว่าเราคิดแล้วตกผลึกร่วมกันว่าอะไรคือจุดโหว่ของมัน นี่คือหัวใจของเรื่อง เพราะฉะนั้นผมไม่ติดยึดว่ารัฐธรรมนูญ เมื่อเข้ามาแล้วต้องฉีกทิ้ง เพราะผมเป็นพลเรือนไม่ถนัดฉีกรัฐธรรมนูญ ขอคิดไปแบบนี้ก่อนว่า อย่าเพิ่งไปรังเกียจมัน รัฐธรรมนูญ 2560 มองอีกมุมหนึ่ง เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเสียงการประชามติ 15.5 ล้านเสียง เยอะเหมือนกัน ผมว่าเราลองใช้ แต่ถ้าไม่ดีแก้แน่ แล้วยืนยันว่าไม่มีอะไรแก้ไม่ได้"

ส่วนกรณีที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้น ตอนหนึ่งอรรถวิชช์นำเสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแปลกประหลาดคือว่าตอนทำประชามติมีคำถามพ่วงผ่านมาด้วยว่าให้ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะฉะนั้นเกิดอาการหวยล็อกคือทางทหารไม่จำเป็นต้องมีพรรคการเมือง เพราะมี ส.ว.แต่งตั้งมาร่วมเลือกอยู่แล้ว

ทำให้เกิดนายกรัฐมนตรีได้ 2 เรื่องคือมีนายกรัฐมนตรีคนใน กับนายกรัฐมนตรีคนนอก นายกรัฐมนตรีคนในหมายความว่าเป็นชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา 3 คน แล้วพรรคการเมืองนั้นต้องได้เสียง 25 เสียง คือกรณีพรรคการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้น เขาต้องได้ ส.ส. ในมือ 25 เสียง ไม่อย่างนั้นเขาไม่มีสิทธิเสนอ 3 รายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี นี่คือบริบทนายกรัฐมนตรีคนใน จึงเห็นอาการดูดมหาศาล เหล้าเก่าเข้าขวดใหม่ เพื่อต้องการเสียงให้ครบ

"ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีคนนอกคือแบบนี้ ยกตัวอย่างว่าเกิดว่าใน ส.ส. จากการเลือกตั้ง 500 คน สมมติว่าพรรคฝั่ง A ไปรวบรวม ส.ส. ได้มาเกินครึ่ง รัฐธรรมนูญปกติตั้งรัฐบาลได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งไม่ได้ จะต้องได้เสียง ส.ว. อีก 250 เสียงมาใส่ในนี้ด้วย เพราะไม่ได้เอาเสียง ส.ส. ตั้ง ต้องเอา ส.ว. มารวม ทำให้เป้าคือต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป เพราะฉะนั้นท่านจะเห็นว่ากลไกแบบนี้มีโอกาสเดดล็อกกลางอากาศ เลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย จับขั้วได้เรียบร้อย ได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะ ส.ว. รับฟังคำสั่งจาก คสช. ถ้าเดดล็อกแบบนี้บ้านเมืองจะวุ่นวาย"

"เพราะฉะนั้นผมยืนยันว่าหนทางการเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ไม่รับเด็ดขาด ยืนยัน"

"แต่ว่าผมชวนคิดอีกครับ ในทางกลับกันถ้าทหาร ไม่รู้ว่าเขาใช้วิธีการดูดหรือคิดสะระตะมาแบบไหนก็แล้วแต่ เขาใช้สิทธิในความเป็นพลเรือนของเขา ที่เขาจะเข้าสู่การเมืองได้ ผมว่าไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจถ้าทหารจะอยู่ในการเมืองไทย เพราะก่อนหน้านี้ทหารก็ชนะเลือกตั้งมา ผมไม่ได้หมายถึงองค์กร ผมหมายถึงพวกพลเอก พลโทต่างๆ ท่านมีสิทธิด้วยความเท่าเทียมกัน ถ้าเปิดโอกาสว่าประชาชนไม่ระแวงทหาร ทหารไม่ระแวงประชาชน แบบนี้โอกาสเลือกตั้งมีสูง"

"ผมชวนคิดแบบนี้ก่อนว่า รัฐธรรมนูญ กฎ กติกาต่างๆ ไม่จำเป็นต้องฉีกทิ้ง พวกเราไม่ชำนาญเรื่องฉีกทิ้ง ไม่ใช่หน้าที่พลเรือน เราลองใช้มันดู ถ้ามันไม่ดี ไม่มีอะไรขวางได้ ไม่ว่ากติกาจะยากขนาดไหน คิดว่าแก้ได้" อรรถวิชช์กล่าว

ทั้งนี้ปิยบุตร ตอบอรรถวิชช์ด้วยว่า วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญเสมอไป และที่ผ่านมาสังคมไทยเคยมีรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยผ่านฉันทามติของทั้งสังคมอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ 2540[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.