Posted: 27 May 2018 01:19 AM PDT

ก.แรงงาน จับมือโฮมโปร อัพมัลติสกิล 'ช่างไฟฟ้า-ก่อสร้าง'

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่ กพร. กระทรวงแรงงาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาฝีมือแรงงานกลุ่มช่างไฟฟ้าแ ละช่างก่อสร้าง ร่วมกับบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาช่างและบุคลากรของบริษัทให้มีความรู้ ความสามารถ และฝึกทักษะสำหรับการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงาน (skilled labour) ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สามารถนำทักษะดังกล่าวไปใช้ในการให้บริการประชาชนด้วยความรวดเร็วถูกต้อง สร้างความเชื่อมั่น ความประทับใจให้แก่ผู้ที่มาใช้บริการมากขึ้น และรองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต ตามนโยบายเร่งด่วนของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน

นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ปี 2560 กพร. มีผลการดำเนินการฝึกทักษะ ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และประเมินความรู้ความสามารถ สาขาช่างปูกระเบื้อง ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างติดตั้งเครื่องไฟฟ้า ช่างบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้า และช่างไฟฟ้าภายในอาคาร มีผู้ผ่านจำนวน 1,467 คน ซึ่งในปี 2561 มีเป้าหมาย 1,550 คน ดำเนินฝึกโดยหน่วยงานในสังกัดของ กพร. ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั้งนี้ กพร. ยังได้ร่วมกับภาคเอกชน เช่น บริษัทโฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) พัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มช่างไฟฟ้า และช่างก่อสร้าง เช่น ช่างปูกระเบื้อง ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ช่างบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้า และช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ทั้งนี้จะฝึกอบรมให้กับครูฝึกของ กพร. เพื่อให้เป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงานใหม่ และแรงงานในสถานประกอบกิจการ ช่างฝีมือช่างชุมชน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการให้แรงงานในสาขาดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานอีกด้วย

"การฝึกอบรมดังกล่าว จะพัฒนาให้แรงงานมีความรู้และทักษะเพิ่มขึ้น ตลอดจนเพื่อสร้างมาตรฐานด้านการบริการแก่ลูกค้า โดยจัดฝึกอบรมในหลักสูตรยกระดับฝีมือ ให้กับกลุ่มช่างและพนักงานให้บริการของแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า และช่างก่อสร้าง จำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะ เทคนิค และความชำนาญต่างๆ ในการทำงานเนื่องจากเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานด้วย จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติทั้ง 2 สาขาแล้วมาสมัครเป็นช่าง หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือ 0 2030 0300 9 ต่อ 1209 ติดต่อคุณบุญเรือง หรือคุณเมธาวี" อธิบดี กพร. กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 27/5/2561

สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย อยากขอความชัดเจนรูปแบบการจ้างพนักงานรัฐ

26 พ.ค. 2561 จากกรณีกระทรวงการคลังออกระเบียบหลักเกณฑ์การจ้างงานพนักงานกระทรวงและลูกจ้าง โดยใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่จะกระทบลูกจ้างในหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย ทำให้สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทยออกมาคัดค้าน

นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กล่าวว่าจับตาระเบียบกระทรวงคลังและเตรียมจะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเคลียร์ปัญหาในเรื่องนี้เพราะว่าระเบียบดังกล่าวจะกระทบต่อลูกจ้างประมาณ 2 แสนคนที่จะตกงาน นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยที่ทางรัฐบาลให้ลูกจ้างไม่ได้สิทธิสวัสดิการใดๆ และต้องการสิทธิประกันสังคมให้ไปจ่ายสมทบเพิ่มเติม เพราะรูปแบบการจ้างเป็นปีต่อปีมีการเซ็นชื่อเข้างานเช้าออกงานเย็น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหัวหน้างานเหมือนลูกจ้างส่วนราชการทั่วไป จึงอยากขอความชัดเจน

ส่วนชมรมแพทย์ชนบทได้ประกาศนัดชุมนุมวันที่ 1 มิ.ย. เพื่อค้านระเบียบคลัง แม้ว่ากระทรวงการคลังจะออกมายืนยันว่าไม่ประทบกับการจ้างงานแต่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้กลุ่มโรงพยาบาลต่างๆ ยังออกมาคัดค้านทั้งขึ้นป้ายหน้า รพ. แต่งชุดดำ ผูกริบบิ้นดำ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานที่มีความจำเป็นส่งผลต่อการบริหารและกระจายอำนาจ แม้ว่าแม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรมบัญชีกลางจะชี้แจงว่าระเบียบดังกล่าวไม่กระทบต่อการจ้างงานบุคลากรสาธารณสุข แต่ระเบียบนี้ก็ต้องให้ขออนุญาตจ้างงานจากกระทรวงการคลังอยู่ดี ทำให้ลูกจ้างโรงพยาบาลยังคงคัดค้านและต้องการให้ยกเลิกระเบียบดังกล่าว นอกจากนี้ลูกจ้างโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็ไม่เห็นด้วยและเตรียมแต่งชุดดำเพื่อประท้วงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ออกมายืนยันอีกครั้งว่า พนักงานของหน่วยงานราชการไม่ต้องออกมาประท้วง เพราะระเบียบกระทรงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้เงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ว่าไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อพนักงานและลูกจ้างของราชการ เพราะรัฐต้องการแค่จัดระเบียบข้อมูลพนักงานและลูกจ้างนอกงบว่ากี่คน ใช้เงินงบประมาณเท่าไร

โดยเฉพาะของกระทรวงสาธารณสุขยิ่งไม่ได้รับผลกระทบใหญ่ เพราะเมื่อเดือนเม.ย.ได้แจ้งคลังมาแล้วว่าจะจ้างพนักงานและลูกจ้างนอกเงินงบประมาณแบบ 1 ปี 7,900 อัตรา และแบบ 4 ปี 31,000 อัตรา ซึ่งน่าจะได้รับอนุมัติทั้งหมด อีกทั้งยังมีระเบียบการใช้เงินบำรุงซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณของตัวเองกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากความเข้าใจ การสื่อสารที่ไม่ตรงกันระหว่างคนเขียนกฎหมาย และคนที่อ่านกฎหมายทำให้เกิดการสื่อความที่คลาดเคลื่อนกัน ทั้งที่จริงแล้วหากทำความเข้าใจกันได้ ระเบียบนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร

สำหรับระเบียบกระทรวงการคลัง ได้กำหนดการว่าจ้างพนักงานและลูกจ้างแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ หน่วยงานที่ได้ทำการตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบแล้ว เช่น กระทรวงสาธารณสุข ก็ให้ดำเนินการตามข้อตกลง อีกแบบถ้าหน่วยงานใดที่ยังไม่ตกลงกับกระทรวงการคลัง แต่มีการว่าจ้างพนักงานและลูกจ้างไปแล้ว ก็ให้ว่าจ้างลูกจ้างดังกล่าวต่อไปจนสิ้นสุดสัญญา แต่หากจะต่อสัญญาใหม่ก็ต้องทำเรื่องเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาก่อนซึ่งโดยปกติแล้วหากอัตรากำลังมีความเหมาะสมกับเนื้องานก็จะพิจารณาให้แต่ถ้าหน่วยงานไหนไม่พอใจก็สามารถขอทบทวนได้

ที่มา: TNN24, 26/5/2561

เครือข่ายพยาบาลขอหารือเคลื่อนไหวปมจ้างงานหรือไม่

รศ.สมจิต แดนสีแก้ว กรรมการสภาการพยาบาล และ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ในการออกกฎระเบียบของกระทรวงการคลังนั้น สภาการพยาบาล และ สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คือการที่กระทรวงสาธารณสุขจะมีการจ้างงานลูกจ้างชั่วคราวหรือพนักงานกระทรวงสาธารณสุขจากเงินบำรุงโดยต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อนนั้น ตนมองต่างว่า เป็นการดีที่กระทรวงการคลังจะเข้ามาร่วมตรวจสอบว่าเงินที่ใช้จ่ายนั้นเอามาใช้อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะเป็นการตรึงราคาหรือประเมินให้มีการจ้างงานในจำนวนเท่าๆกันทุกโรงพยาบาล อีกทั้งเป็นการตรวจสอบการคอรัปชั่นว่ามีการจ่ายจริงหรือไม่อีกด้วย แต่ในส่วนที่ไม่เห็นด้วยคือ ส่วนที่จะไม่มีการขึ้นเงินเดือนให้กับลูกจ้าง เพราะกลุ่มนี้แม้ว่าจะได้เงินเดือนเพียง 12,000 บาท หรือน้อยกว่าเงินเดือนปริญญาตรี แต่ก็ยอมด้วยความหวังว่าจะได้เป็นข้าราชการ ซึ่งไม่มีความมั่นคงดังนั้นอย่างน้อยก็ควรมีสวัสดิการการจ้างงานให้เท่ากับเงินเดือนข้าราชการหรือ 1.2 เท่าของโรงพยาบาลก็ยังดี ส่วนในเรื่องการเคลื่อนไหวนั้นก็มีการเชิญให้เข้าไปร่วมจากเครือข่ายลูกจ้างอื่นๆเช่นกัน และทางน้องๆที่เข้ามาใหม่ก็มีความกังวลและสอบถามเข้ามาว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ แต่เราก็ยังไม่มีสัญญาณว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ขอประเมินสถานการณ์ก่อน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 26/5/2561

รัฐบาลมีแผนดูแลผู้สูงอายุ เล็งเพิ่มเบี้ยยังชีพ - เตรียมความพร้อมแรงงานสูงอายุกลับเข้าตลาด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า ปัจจุบันนี้รัฐบาลมีมาตรการที่ครอบคลุมเพื่อดูแลและสนับสนุนการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ โดยมีแผนงานระยะยาวในการดูแลสุขภาพและพัฒนาทักษะผู้สูงอายุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิแผนจัดหางานให้ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2560 – 2564 และแผนสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ขณะเดียวกันในด้านสวัสดิการ รัฐบาลมีการอุดหนุนเงินยังชีพของผู้สูงอายุ เดือนละ 600 – 1,000 บาท อย่างต่อเนื่อง โดยดูแลให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี

"รัฐบาลมีการอุดหนุนเงินยังชีพของผู้สูงอายุ เดือนละ 600 – 1,000 บาท อย่างต่อเนื่อง และเพื่อดูแลให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ปัจจุบัน เรามีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน รัฐบาลได้เตรียมเดินหน้าผลักดันการเพิ่มเงินยังชีพผู้สูงอายุ ให้เพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นรายละ 1,200 บาท ถึง 1,500 บาท อีกด้วย อย่างไรก็ตามเราต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของงบประมาณไว้ด้วย"

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาแรงงานผู้สูงอายุ ในกรณีที่ประสงค์จะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยได้ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุมีงานทำเพิ่ม 39,000 อัตรา โดยเฉพาะในชนบทผ่านวิสาหกิจชุมชน พร้อมมาตรการจูงใจให้องค์กรต่างๆ เข้าร่วมสนับสนุนด้วย รวมทั้ง การเพิ่มจำนวนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ ถือเป็นการดูแลผู้สูงอายุอย่างครอบคลุมในทุกมิติดังนั้น จะเห็นว่าการปฏิรูปในภาพรวมของประเทศนี้ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ดิจิทัล กฎหมายและข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data)มีส่วนสำคัญต่อการกระจายความเจริญและรายได้สู่ท้องถิ่นทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่องแต่อาจต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้าน

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 26/5/2561

ทลายแหล่งพักพิงแรงงานเถื่อนชานเมืองหาดใหญ่รอส่งมาเลเซีย

ตำรวจสภ.หาดใหญ่บุกทลายแหล่งพักพิงแรงงานเถื่อนชาวเมียนมา 2 จุดชานเมืองหาดใหญ่ ตะลึงพบมีการนำแรงงานชาวเมียนมาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายมาพักไว้ในสภาพที่แออัดจำนวน 66 คน ทั้งชายและหญิง รอส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย เผยเป็นการจับกุมแรงงานเถื่อนชุดใหญ่ในรอบปีนี้เร่งขยายผลไปยังเครือข่ายค้าแรงงานเถื่อนกลุ่มนี้

พ.ต.อ.กิตติชัย สังขถาวร ผู้กำกับการสภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และพ.ต.ท.รณน สุระวิทย์ รองผู้กำกับการปราบปราม นำกำลังตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปรามสภ.หาดใหญ่ เข้าตรวจค้นแหล่งที่พักพิงแรงงานเถื่อนชาวเมียนมาที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดหมาย 2 จุด ในพื้นที่ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากได้รับรายงานว่ามีขบวนการค้าแรงงานเถื่อนลักลอบมาพักไว้เป็นจำนวนมาก

โดยจุดแรกเข้าตรวจค้นภายในบ้านเลขที่ 148/23 หมู่ 2 ต.ควนลังอ.หาดใหญ่ภายในซอยบางแฟบ-ลพบุรีราเมศวร์ซอย 10 ซึ่งเป็นบ้านเช่าชั้นครึ่งพบแรงงานชาวเมียนมาจำนวน 34 คน เป็นชาย 22 คน และหญิง 12 คน ซึ่งเป็นแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองทั้งหมดไม่มีเอกสารใดๆ อยู่ในห้องพักทั้งชั้นบนและชั้นล่างในสภาพที่แออัดและทึบพร้อมกระเป๋าสัมภาระ เตรียมพร้อมเดินทางได้ตลอดเวลา รวมทั้งร่องรอยของเศษอาหารซึ่งน่าจะถูกนำมาพักไว้หลายวัน แต่ไม่พบนายหน้าหรือผู้นำพา ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเรียกตัวเจ้าของบ้านเช่าหลังนี้มาสอบสวนอีกครั้งหนึ่งว่าใครเป็นผู้เช่าเพื่อสาวไปถึงตัวการค้าแรงงานเถื่อนกลุ่มนี้

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ขยายผลเข้าตรวจค้นบ้านเช่าอีก1หลังตั้งอยู่เลขที่ 36 หมู่ 3 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นบ้านห้องแถวชั้นเดียวและมีการล๊อคประตูรั้วหน้าบ้านหนาแน่นต้องใช้วิธีพังประตูเข้าไป พบแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาอีก 32 คน เป็นชาย 29 คนและหญิง 3 คน ถูกแยกเป็น 3 กลุ่มทั้งอยู่ในห้องครัว ห้องนอน และห้องรับแขกหน้าบ้าน ซึ่งมีสภาพไม่ต่างกับบ้านเช่าหลังแรกมีสัมภาระและของกินง่ายๆพร้อมเดินทางได้ตลอดเวลาและหลบหนีเข้าเมืองทั้งหมดเช่นกัน

ตรวจสอบพบว่าบ้านหลังนี้ มีนาย MOUNG WIN ชาวเมียนมาเป็นผู้ทำสัญญาเช่าจาก นางอาอีฉ๊ะ หมาด ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน โดยเช่ามาตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม แต่ขณะเข้าจับกุมทั้งสองคนไม่อยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดตามตัวมาสอบสวนอีกครั้ง โดยเฉพาะ MOUNG WIN ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นนายหน้าหรือตัวการใหญ่ที่นำพาแรงงานเถื่อนเหล่านี้เข้ามาพักไว้ที่บ้านเช่าทั้งสองหลัง

จากการสอบสวนแรงงานต่างด้าวที่พอจะพูดไทยได้ เปิดเผยว่า เดินทางมาจากเมียนมาเข้ามาทางจ.ระนอง และถูกนำมาพักไว้ที่บ้านเช่า เพื่อรอเดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซีย แต่จะทยอยเดินทางเข้ามาพักที่บ้านเช่าทั้งสองหลังทีละกลุ่มและมีการกับชับให้อยู่แต่ในบ้านห้ามออกไปไหนห้ามเสียงดัง และอดมื้อกินมื้อหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะเร่งสืบสวนขยายผลไปยังเครือข่ายค้าแรงงานเถื่อนกลุ่มนี้เป็นการด่วนเพราะเชื่อว่าเป็นกลุ่มใหญ่และมีผู้ร่วมขบวนการหลายคนทั้งชาวเมียนมาและคนไทย

ส่วนแรงงานเถื่อนชาวเมียนมาที่จับกุมได้ทั้ง 66 คน ได้ประสานไปยังตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสะเดาเพื่อรับตัวไปควบคุมและดำเนินการทางกฏหมายทั้งที่เกี่ยวกับหลบหนีเข้าเมืองและการค้ามนุษย์และเป็นการจับกุมแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองชุดใหญ่ในรอบปีนี้

ที่มา: เนชั่นทีวี, 24/5/2561

แม่สาวไทยถูกหลอก ขายแรงงานมาเลย์ เข้า กทม.รับศพลูก

ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศมาเลเซีย ได้บุกเข้าช่วยเหลือหญิงไทยจำนวน 3 คน ที่ถูกหลอกไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ผ่านทางเฟซบุ๊คซึ่งระบุว่าจะพาไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ พร้อมเสนอเงินเดือนให้ประมาณ 7 หมื่นบาท แต่ปลายทางกลับไม่ใช่ประเทศเกาหลีใต้ แต่เป็นเกาะชิบู ประเทศมาเลเชีย และอยู่ในช่วงระหว่างการรอการสืบสวนสอบสวนของตำรวจมาเลเซีย ปรากฏว่า 1 ใน 3 แรงงานไทย ได้ใช้เชือกผูกคอตาย ทราบชื่อคือ น.ส.ธัณญา กองพิระ อายุ 26 ปี หรือเปิ้ล ชาวบ้านโนนชัย เขตเทศบาลนครขอนแก่น

ล่าสุดนางจันดี บุญบ้านดง มารดาของน้องเปิ้ล เปิดเผยว่า ได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานงานเพื่อขอรับศพลูกสาวกลับมาบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด และได้รับแจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ ( 25 พ.ค.2561 ) ศพของลูกสาวก็จะกลับถึงประเทศไทย ซึ่งวันนี้ตนและญาติจะเดินทางเข้า กทม. เพื่อรอรับศพลูก โดยทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งว่า เมื่อศพกลับมาถึงเมืองไทยก็จะต้องผ่านกระบวนการตรวจพิสูจน์ เพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างละเอียดอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลา 1 ถึง 2 วัน จากนั้นจึงจะสามารถนำศพลูกสาวกลับมาบำเพ็ญกุศลตามประเพณีที่บ้านเกิดได้

ในเรื่องนี้ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการประสานเรื่องดังกล่าวจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ทราบว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศได้รับการประสานงานจากเพจอีจัน และกองกํากับการ 6 กองบังคับ การปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ว่า หญิงสาว 3 คนในมาเลเซียร้องขอความช่วยเหลือ โดยได้ให้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจํากรุงกัวลาลัมเปอร์ ประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือหญิงสาว 3 คน ได้แก่ น.ส. ธัณญา กองพิระ น.ส.สวรส สาระทนงค์ และ น.ส.ระวีวรรณ อินทิยา ซึ่งตํารวจมาเลเซียได้ให้ความช่วยเหลือ และพักอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉิน Kota Kinabalu รัฐ Sabah ต่อมาสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับแจ้งจากตํารวจมาเลเซียว่า น.ส. ธัณญาฯ ผูก คอตายภายในห้องพัก ศพอยู่ที่ รพ. Queen Elizabeth Hospital เมืองโกตากินานบาล

ทางกรมการกงสุลได้ติดต่อมายังนางจันดี บุญบ้านดง มารดาของ น.ส.ธัณญาโดยมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ได้ให้ความช่วยเหลือโดยออกเงินให้มารดา น.ส.ธัณญา เดินทางมามอบอํานาจให้กรมการกงสุลนําศพกลับและออกเงินให้สําหรับค่าใช้จ่ายในการส่งศพกลับประเทศไทยแล้ว โดยศพจะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยยังสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 25 พ.ค. โดยสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เวลา 13.25 น. ซึ่งมูลนิธิปอเต็กตึ๊งได้กรุณาจัดเตรียมรถรับศพเพื่อเดินทางกลับภูมิลําเนาที่ จ.ขอนแก่นด้วยแล้ว

สําหรับสาเหตุการเสียชีวิต กรมการกงสุลกำลังอยู่ระหว่างขอข้อมูลการชันสูตรศพจากทางการมาเลเซีย ซึ่งคงจะได้รับแจ้งให้ทราบต่อไป และหลังจากรับร่างน้องเปิ้ลมาถึง จ.ขอนแก่น ทางจังหวัดได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลครอบครัวแล้ว เพื่อจะได้ให้การช่วยเหลือต่อไป

ที่มา: NEW18, 24/5/2561

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลหารือกรมบัญชีกลาง ไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างลูกจ้าง สธ. ขอให้เจ้าหน้าที่อย่ากังวลและทำงานตามปกติ

วันที่ 23 พ.ค. 2561 ที่กระทรวงการคลัง กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือร่วมกับนางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ถึงระเบียบกระทรวงการคลัง เรื่องการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ว่า กระทรวงการคลังได้ออกระเบียบดังกล่าว ตามมติครม. เพื่อจัดระบบการจ้างลูกจ้างในหน่วยงานราชการที่ใช้เงินนอกงบประมาณ

ผลจากการหารือในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ได้รับการยืนยันจากอธิบดีกรมบัญชีกลางว่า ระเบียบของกระทรวงการคลังที่ออกมานี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจ้างลูกจ้างฯของกระทรวงสาธารณสุขแต่อย่างใด เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ทำความตกลงและได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีระเบียบการจ้างด้วยเงินบำรุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2561 ซึ่งลงนามและประกาศใช้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561ก่อนที่ระเบียบดังกล่าวจะออกมา ลูกจ้างฯยังคงปฏิบัติงานตามปกติเหมือนเดิม โดยกระทรวงการคลังจะทำหนังสือทำความเข้าใจเพิ่มเติมมายังกระทรวงสาธารณสุข จึงขอความร่วมมือให้ผู้บริหารได้สื่อสารทำความเข้าใจกับลูกจ้างในหน่วยงานต่อไปด้วยนายแพทย์ธวัช กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 24/5/2561

ชมรมแต่งผมเสริมสวย ร่วมคัดค้านรัฐ เปิดให้ต่างด้าวทำอาชีพเสริมสวยได้เสรี

24 พ.ค. 2561 ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารศาลากลางจังหวัดสกลนคร นางจันทร์ธิพา ขวัญวัฒนา ประธานชมรมแต่งผมเสริมสวยจังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยผู้ประกอบการช่างแต่งผมเสริมสวยเมืองสกลนคร ชาย-หญิง กว่า 40 คน เดินทางเข้าพบนายสุริยะ วิริยะสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เพื่อยื่นหนังสือผ่าน นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครถึงนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

แสดงการคัดค้านการเปิดให้แรงงานต่างด้าวทำอาชีพตัดผมเสริมสวยได้อย่างเสรี หลังจากที่ทราบว่ารัฐบาลเล็งเปิดอาชีพตัดผมเสริมสวยให้เพื่อนบ้านทำอย่างเสรี ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทยเท่านั้น โดยมีการอ่านแถลงการณ์จดหมายข้อเรียกร้องในที่ประชุม ก่อนจะยื่นหนังสือต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครเพื่อดำเนินการต่อไป

โดยระหว่างการประชุมยื่นหนังสือข้อเรียกร้องมีทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เข้าสังเกตการณ์ความเรียบร้อย ซึ่งสถานการณ์ก็เป็นไปตามปกติ และทั้งหมดได้แยกย้ายกันกลับหลังจากที่ยื่นหนังสือเรียบร้อยแล้ว

นางจันทร์ธิพา ขวัญวัฒนา ประธานชมรมแต่งผมเสริมสวยจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า แม้ขณะนี้ยังไม่มีการระบุว่าจะเปิดอาชีพตัดผมเสริมสวยให้เพื่อนบ้านทำอย่างเสรี แต่เราเชื่อมั่นว่าอาจมีการเปิดเสรีก็เป็นได้ หากมีการออกกฎหมายเปิดเสรีจริง อาชีพเราจะแย่งงานกัน และจะมีนายทุนเข้ามาลงทุนผูกขาดอาชีพนี้

เราเป็นห่วงคนทำอาชีพนี้ด้วยกันเพราะเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน แต่หากมีคนอื่นมาแย่งงานเราก็จะลำบาก เราไม่ได้กีดกัน แต่อยากให้มองว่า รัฐบาลควรไปเปิดเสรีอาชีพอื่นที่ต้องการแรงงานต่างด้าวจำนวนมากจะดีกว่า เพราะอาชีพนี้ลำพังคนมาใช้บริการก็น้อยอยู่แล้ว เราจึงไม่เห็นด้วย วันนี้เราจึงมาแสดงตัวเรียกร้องผ่านจังหวัดสกลนครเพื่อส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี

ที่มา: sanook.com, 24/5/2561

ลูกจ้างเมียนมาโวยนายจ้างไทยให้ทำงานเกินเวลาแต่ไม่ยอมจ่ายโอทีแถมยังทำบัตรปลอมจ่ายราคาแพงลิ่ว

พ.ต.อ.ทนงศักดิ์ ใจหลวง ผกก.ตม.สมุทรปราการ นำกำลังเข้าตรวจสอบ นโรงน้ำแข็ง บจก.ชัยกิตติวัฒน์ น้ำแข็งหลอดและซอง ตั้งอยู่เลขที่ 325 / 9 หมู่ 9 ริมถนนบางนาตราด หลักกิโลเมตรที่ 19 ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ หลังได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ว่ามีแรงงานต่างด้าวกว่า 10 คนรวมตัวกันเข้ามาร้องขอความเป็นธรรมกรณีนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาหรือโอที ผลตรวจสอบพบว่ามีแรงงาน17คนจากทั้งหมด48 คนพกบัตรปลอมจึงคุมตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายนายเยไน อูซาน หนึ่งในแรงงานเมียนมา เล่าว่า ลักลอบเข้าในไทย โดยจ่ายค่าหัวคนละ 7 พันถึง 1 หมื่นบาทมาทำงานที่โรงน้ำแข็งได้ค่าแรงวันละ 340 บาทคนของนายจ้างมาถ่ายรูปทำบัตรให้ ต้องจ่ายเงินค่าทำบัตรอีกใบละ 12,000 บาทโดยไม่ทราบเลยว่าบัตรดังกล่าวเป็นบัตรปลอม 1 วันต้องทำงานวันละ 11 ชั่วโมงแต่กลับไม่ได้ค่าโอทีแถมนายจ้างขู่ว่าหากวันไหนใครไม่ทำงานก็ให้ออกไป

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อแรงงานต่างด้าวทั้ง 17 คนว่า มีและใช้เอกสารทางราชการปลอม และเป็นบุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และเชิญตัวนายจ้างมาสอบสวนข้อเท็จจริงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 24/5/2561

แรงงานพม่าร้องเรียนถูกนายจ้างยึดพาสปอร์ตกันหนี ด้านองค์กรแรงงานชี้ผิดกฎหมาย มีสิทธิ์ติดคุก 6 เดือน ปรับ 100,000 บาท

องค์กร Aid Alliance Committee (AAC) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ออกมาเปิดเผยว่า มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าเป็นจำนวนมากได้ร้องเรียนและขอให้ทางองค์กรดังกล่าวช่วยเหลือ กรณีที่ถูกนายจ้างคนไทยยึดเอกสารหนังสือเดินทางเอาไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันแรงงานหลบหนีหรือไปทำงานที่ใหม่ โดยทางองค์กร AAC เปิดเผยว่า มีแรงงานร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมากจนไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ทั้งหมด ส่วนที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสถานทูตพม่าเผย นายจ้างที่ยึดเอกสารลูกจ้างถือว่าเป็นความผิด โดยมีบทลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายโกเยมิน จากองค์กร Aid Alliance Committee (AAC) เผยว่า ขณะนี้มีแรงงานจำนวน 20 คน ที่ถูกนายจ้างยึดเอกสารไว้มาอาศัยอยู่ที่ศูนย์ของ AAC เพื่อรอคำพิพากษาจากศาล รวมถึงกรณีที่พวกเขาไม่ได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยหลังจากที่โรงงานที่พวกเขาเคยทำงานต้องปิดตัวลง นายโกเยมินเปิดเผยว่า มีนายจ้างบางส่วนได้ยึดเอกสารของแรงงานไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างหนีไปทำงานที่อืื่น ด้านนายโกจ่อเมียวอู หนึ่งในแรงงานชาวพม่าเปิดเผยว่า เอกสารของเขาถูกนายจ้างยึดทันทีที่เดินทางมาทำงานกับนายจ้าง โดยเขาเคยทำงานในโรงงานไม้แห่งหนึ่งทางภาคใต้ของไทยเป็นเวลา 6 เดือน

นายอูอ่องเมียวตั้น ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสถานทูตพม่าประจำประเทศไทยเผยว่า การยึดหนังสือเดินทางเอกสารประจำตัวของแรงงานยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่โดยปกติแล้ว นายจ้างมักจะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ การที่นายจ้างยึดเอกสารของแรงานก็เพราะป้องกันไม่ให้แรงงานหนีไปทำงานที่อื่นที่จ่ายค่าแรงเยอะกว่า รวมถึงมีกรณีที่นายจ้างกลัวลูกจ้างไม่ยอมจ่ายเงินกู้คืน ในกรณีที่มีการกู้ยืมเงินกัน จึงยึดเอกสารไว้ ทั้งนี้จึงต้องพิจารณาในส่วนของลูกจ้างและนายจ้างด้วย อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายของไทยแล้วห้ามไม่ให้นายจ้างยึดเอกสารของลูกจ้างไว้ โดยหากฝ่าฝืนจะถูกจำคุก 6 เดือนและปรับ 100,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในขณะที่แรงงานข้ามชาติเองจะต้องเก็บเอกสารสำคัญไว้กับตัว เพราะหากถูกเรียกตรวจจากเจ้าหน้าที่แต่ไม่สามารถนำเอกสารมาแสดงได้จะถูกปรับเป็นเงิน 5,000 บาทด้วยเช่นกัน องค์กร AAC เผยว่า แรงงานสามารถร้องเรียนไปยังกระทรวงแรงงานหากถูกนายจ้างยึดเอกสารไว้ ขณะที่มีแรงงานข้ามชาติจากพม่ามากกว่า 3 ล้านคนทำงานอยู่ในประเทศไทย

ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ, 22/5/2561

5 หน่วยงานรัฐทำข้อตกลง Mou ฝึกอาชีพผู้ต้องขัง

ที่ห้องประชุมอาคารฝ่ายการศึกษา เรือนจำจังหวัดสตูล นายศักดา วิทยาศิริกุล ปลัดจังหวัดสตูล เป็นประธานการประชุมตามโครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง ครั้งที่ 1/2561 และทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ(Mou) ระหว่างสำนักงานจัดหางานจังหวัดสตูล สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล เรือนจำจังหวัดสตูล สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล และสภาหอการค้าจังหวัดสตูล ทั้งนี้ทางหน่วยงานที่ร่วมทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวนั้น มีหน้าที่ประสานงาน และให้คำแนะนำแก่สถานประกอบการหรือนายจ้างในการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดสตูล และการรับผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมราชทัณฑ์กำหนด เข้าฝึกอาชีพในสถานกระกอบการส่งเสริมการมีงานทำโดยการจัดสาธิตการฝึกทักษะอาชีพอิสระระยะสั้นแก่ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ จัดวิทยากรบรรยายให้ความรู้ แนะแนวอาชีพ ให้ข้อมูลข่าวสาร ตลาดแรงงาน ให้คำปรึกษาแนะนำการประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่ การหาทำเล การคำนวณต้นทุน การหาตลาด การหาแหล่งเงินทุน และการบริหารจัดการ และอื่นๆ เป็นต้น สำหรับหรับผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดสตูล มีทั้งสิ้นรวม 1,084 คน แยกเป็นชาย 977 คน หญิง 107 คน ปัจจุบันมีการฝึกอาชีพเป็นช่างไม้ ช่างจักรสาร ช่างเชื่อง ช่างสี ช่างก่อสร้าง แรงงานรับจ้างเช่น รับจ้างเย็บอวน ส่วนผู้ต้องขังหญิงมีการฝึกอาชีพ ช่างเสริมสวย และซักรีด

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 23/5/2561

แรงงานเมียนมาประท้วงโรงงาน ระเบียบเข้มเกิน ห้ามเบรคกินน้ำ-เข้าส้วม ถ้าไม่ทำตามถูกตัด OT

สมุทรปราการ-มีแรงงานชาวพม่าเกือบพันคนออกมาชุมนุมและหยุดงานเพื่อประท้วงบริษัท ไทยมาสเตอร์แพค จำกัด ในอำเภอพระประแดง เจ้าหน้าที่ต้องลงพื้นที่กระจายกำลังควบคุมสถานการณ์เพื่อความสงบเรียบร้อย

สาเหตุเนื่องจากแรงงานชาวพม่าออกมาประท้วงเรื่องกฏระเบียบของทางบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทผลิตถุงบิ๊กแบ็ก โดยมีการทำงาน 24 ชม.โดยมีข้อเรียกร้องเบื้องต้นมี 2 ข้อ เช่น เวลาพักทำงาน ที่ทางบริษัทกำหนดให้พักแบบช่วงเช้ามีเวลา 15 นาที ตอนพักเที่ยง 12.00 น.ถึง 12.30 น. ช่วงบ่ายมีเวลาให้เบรคอีก 15 นาที และเรื่องทำงานโอที ทางบริษัทไม่ยอมให้แรงงานเบรคกินน้ำ เข้าห้องน้ำ ถ้าไม่ทำตามจะถูกตัดเงินค่าโอที จึงทำให้แรงงานไม่พอใจก็เลยนัดรวมกลุ่มแรงงานชุมนุมหยุดงานประท้วงเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมและบังคับมากจนเกินไป

แต่ขณะนี้ทางกลุ่มผู้ประท้วงยังไม่ยอมมาเจรจาหรือส่งตัวแทนมาเจรจาอ้างรอตัวแทนจาก AAC ซี่งเป็นมูลนิธิแรงงานของชาวพม่า กับสถานทูตเข้าไปเจรจากับบริษัทถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

เบื้องต้นทางผู้จัดการโรงงาน พร้อมล่ามภาษาพม่าออกไปเจรจาแล้วแต่ไม่เป็นผล ทางผู้ชุมนมขอรอคนที่ทางแรงงานไว้ใจมาเสียก่อนถึงจะไปเจรจาด้วย อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมใช้เวลา นานเกือบ 5 ชั่วโมงถึงจะยอมแยกย้ายกันกลับที่พักซึ่งทางโรงงานดังกล่าวยอมรับข้อเสนอเป็นเหตุให้ผู้ใช้แรงงานพม่าพอใจและสลายการชุมนุมในที่สุด

ที่มา: news.bectero.com, 23/5/2561

รมว.แรงงาน สั่งเร่งช่วยเหลือคนงานไทยกลับจากแอฟริกาใต้ให้ได้รับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งเร่งช่วยเหลือคนงานไทยที่กลับจากแอฟริกาใต้แต่ยังไม่ได้รับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืนให้ได้รับเงินคืนโดยเร็วและครบเต็มจำนวนตามสิทธิประโยชน์ที่จะต้องได้รับ หลังคนงานไทยเข้าร้องทุกข์ต่อกระทรวงแรงงานขอคืนเงินกองทุนฯ ขณะที่มีแรงงานบางส่วนได้รับเงินคืนแล้ว 708 คน จาก 1,185 คน รวมเป็นเงิน 64,992,919.95 บาท

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการรับเรื่องร้องทุกข์จากคนงานไทยกรณีกลับจากทำงานที่สาธารณรัฐแอฟริกาใต้แล้วแต่ยังยังไม่ได้รับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คืน ว่าคนงานไทยดังกล่าวประสงค์จะทราบระยะเวลาและจำนวนเงินสะสมที่จะได้รับคืน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทราบเรื่องแล้วและได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือให้ได้รับเงินคืนครบเต็มจำนวนตามสิทธิประโยชน์ที่จะต้องได้รับ ซึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมการจัดหางาน และกรมการกงสุล ได้เชิญคนงานไทยเข้าร่วมประชุมรับฟังการชี้แจง พร้อมด้วยนายจ้างที่แอฟริกาใต้ และผู้แทนบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานให้กับนายจ้างที่แอฟริกาใต้ โดยบริษัทจัดหางานฯ ได้ชี้แจงรายละเอียด ขั้นตอนและระยะเวลาการคืนเงินดังกล่าว และได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการร่วมกับนายจ้างยื่นขอคืนเงินให้คนงานทุกคนรวม 1,185 คน ซึ่งจะทะยอยได้รับจนครบทุกคนภายในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2561) ทั้งนี้สาเหตุที่ล่าช้า นายจ้างแจ้งว่าเนื่องจากในระยะแรกนายจ้างได้ว่าจ้างบริษัท Outsource เป็นผู้ดำเนินการคืนเงินสะสมให้คนงาน แต่หลังจากนายจ้างมาดำเนินการเองสามารถคืนเงินสะสมให้คนงานได้แล้ว จำนวน 708 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 29,542,236.34 แรนด์ (อัตราแลกเปลี่ยน 1 แรนด์ = 2.2 บาท โดยประมาณ หรือประมาณ 64,992,919.95 บาท)

สำหรับหลักเกณฑ์การส่งเงินสะสมนั้น ลูกจ้างและนายจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนตามจำนวนที่หน่วยงาน Metal Industries Benefits Funds (MIBFA) กำหนดในแต่ละปี ลูกจ้างจะขอคืนได้เมื่อพ้นสภาพของการเป็นลูกจ้างคือ เลิกจ้าง ลาออก เป็นต้น โดยขั้นตอนและระยะเวลาการขอคืนเงินตั้งแต่การเตรียมเอกสารของนายจ้าง การตรวจสอบเอกสารของ MIBFA จนถึงการอนุมัติและคืนเงิน ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน

นายอนุรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงินน่าจะติดตามได้ไม่ยาก เพราะทุกอย่างต้องมีเอกสารหลักฐาน ต้องโปร่งใส สิทธิประโยชน์ที่คนงานไทยจะได้รับต้องเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะท่านรัฐมนตรีให้ความสำคัญและติดตามทุกวัน ซึ่งกรมการจัดหางานจะได้เร่งดำเนินการติดตามผลให้โดยเร็ว และแจ้งให้คนงานทราบต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 22/5/2561

‘คลัง’ เตรียมชะลอระเบียบจ้างลูกจ้างเงินนอกงบประมาณ หลัง ‘หมอปิยะสกล’ สายตรงถึง รมช.คลัง

23 พ.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกระทรวงการคลังออกระเบียบว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ระบุให้ส่วนราชการหลีกเลี่ยงการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ หากจำเป็นต้องจ้างต้องขออนุญาตคลังก่อน และจ้างได้ไม่เกินปีงบประมาณ และอัตราค่าจ้างไม่เกินค่าจ้างขั้นต่ำของตำแหน่ง-วุฒิ และไม่มีการเลื่อนขั้นค่าจ้าง ซึ่งได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวางในกลุ่มบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับการทำงานให้บริการประชาชน และเตรียมที่จะประท้วงระเบียบดังกล่าว

ล่าสุด มีรายงานว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้ไปร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 71 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ได้ต่อสายตรงถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เนื่องจากกังวลในขั้นตอนปฏิบัติและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ รพ.ในการให้บริการรักษาพยาบาลประชาชน เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า ทางกระทรวงการคลังจะให้กรมบัญชีกลางชะลอการบังคับใช้ประกาศนี้ไว้ก่อน และให้เชิญกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาหารือร่วมกัน

ทั้งนี้ช่วงบ่ายวันนี้ (23 พ.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะหารือกับกรมบัญชีกลางในเรื่องดังกล่าวเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ที่มา: hfocus, 23/5/2561

'คลัง' ให้ส่วนราชการหลีกเลี่ยงจ้างลูกจ้างด้วยเงินนอกงบประมาณ หากจำเป็นต้องขออนุญาตก่อน

กระทรวงการคลังออกระเบียบการจ้างลูกจ้างโดยใช้เงินนอกงบประมาณ ระบุให้ส่วนราชการหลีกเลี่ยงการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ หากจำเป็นต้องจ้างต้องขออนุญาตคลังก่อน และจ้างได้ไม่เกินปีงบประมาณ และอัตราค่าจ้างไม่เกินค่าจ้างขั้นต่ำของตำแหน่ง-วุฒิ และไม่มีการเลื่อนขั้นค่าจ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ลงนามในหนังสือถึง ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ผู้บัญชาการ อธิการบดี เรื่องระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยระบุว่า

ด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 อนุมัติการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้มีระเบียบเกี่ยวกับการนำเงินนอกงบประมาณไปใช้ในการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานในหน่วยงาน

กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ขอเรียนว่า เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังคนส่วนราชการที่ใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 จึงยกเลิกหนังสือกระทรวงการคลัง ที กค 0527.6/ว 31 ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 และ ที่ กค 0415/ว 23 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2546 และให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2562

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 กระทรวงการคลังออกระเบียบว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยมีสาระสำคัญในข้อ 4 ที่ระบุว่า “ให้ส่วนราชการหลีกเลี่ยงการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ

กรณีได้ดำเนินการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณก่อนระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งมิใช่กรณีที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังไว้เป็นการเฉพาะ ให้ส่วนราชการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างต่อไปได้ตามกำหนดระยะเวลาเดิม และเมื่อพนักงานหรือลูกจ้างลาออกหรือส่วนราชการหมดความจำเป็นในการจ้างให้ยุบเลิกตำแหน่งพนักงานหรือลูกจ้างนั้น

ข้อ 5 ในกรณีส่วนราชการมีความจำเป็นต้องจ้างพนักงานหรือลูกจ้างให้ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อน โดยต้องแสดงเหตุผล ความจำเป็น เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

ข้อ 6 ระยะเวลาการจ้าง ให้จ้างได้ไม่เกินปีงบประมาณ หรือตามระยะเวลาที่กระทรวงการคลังอนุญาต สำหรับอัตราค่าจ้าง ให้จ้างได้ไม่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของตำแหน่งและวุฒิ และไม่มีการเลื่อนขั้นค่าจ้าง

ข้อ 7 ให้ส่วนราชการรายงานการจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง ทั้งจำนวนอัตราและจำนวนงินค่าจ้างให้กรมบัญชีกลางทราบทุกสิ้นปีงบประมาณ หรือสิ้นระยะเวลาการจ้างที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง โดยให้รายงานภายใน 30 วัน นับจากสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว”

ทั้งนี้ระเบียบดังกล่าวนี้ ได้กำหนดว่า “เงินนอกงบประมาณ” หมายความว่า บรรดาเงินทั้งปวงที่ส่วนราชการจัดเก็บหรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือจากนิติกรรมหรือนิติเหตุ หรือกรณีอื่นใดที่ต้องนำส่งคลัง แต่มีกฎหมายอนุญาตให้สามารถเก็บไว้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำสั่งคลัง

และกำหนดว่า “พนักงานหรือลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายคาบ พนักงานกระทรวงสาธารณสุขหรือพนักงานของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีลักษณะเดียวกัน

ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

ที่มา: hfocus, 22/5/2561

สปส.อัดฉีดหมื่นล้านเพื่อการจ้างงาน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เปิดเผย ว่า คณะกรรมการประกันสังคม และ ที่ปรึกษาชุดที่ 13 มีมติอนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานวงเงิน ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมกู้เงินกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการนำไปเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่อง ให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพที่จะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่แรงงาน และสามารถ รักษาหรือเพิ่มอัตราการจ้างงานได้ ที่สำคัญ ทำให้ผู้ประกันตนมีงานทำต่อเนื่องและอยู่ในระบบประกันสังคมที่มีสวัสดิการคุ้มครองอย่างมั่นคงยั่งยืนด้วย

สำหรับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน จำนวน 10,000 ล้านบาท จะแบ่งเป็น 1.วงเงิน 6,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบการ ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย 2.วงเงิน 3,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 51-200 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อราย และ 3.วงเงิน 1,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบที่มีลูกจ้างเกิน 200 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย

ซึ่งขณะนี้สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างประสานธนาคารที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ต่อไป และคาดว่าจะเปิดให้สถานประกอบการสามารถยื่นขอรับสินเชื่อ โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2561 นี้ สำหรับ ข้อกำหนดของสถานประกอบการที่จะเข้า ร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน ประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อย กว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุโครงการ 3 ปี ทั้งนี้ เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้ธนาคารที่ร่วมโครงการแล้วจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป

ที่มา: แนวหน้า, 22/5/2561

แรงงานไต้หวันกินหอย จนพยาธิขึ้นสมองกลายเป็น “เจ้าชายนินทรา” กลับถึงอุดรฯ แล้ว

กรณีนายฉัตรชัย ขุริดี อายุ 33 ปี ชาว อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี แรงงานโรงงานขวดน้ำหอมในไต้หวันป่วย “โคม่า” เนื่องจากไปเก็บหอยในคลอง มาทำ “ก้อยหอย”กิน ทำให้มีพยาธิเข้าร่างกาย เข้าสู่สมองจนทำให้เป็น “เจ้าชายนิทรา” นอนไม่รู้สึกตัว แพทย์ที่ไต้หวันบอกโอกาสฟื้นไม่มี พ่อแม่และเมีย วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ใจบุญร่วมบริจาคเงิน เพื่อที่จะได้นำตัวคนป่วยกลับประเทศไทย ดูแลในวาระสุดท้าย เรื่องนี้ทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน สั่งการให้หาทางช่วยเหลือนำตัวกลับประเทศไทย ต่อมาทางไต้หวันส่งตัว นายฉัตรชัย กลับถึงประเทศไทย และนำตัวส่งมายังโรงพยาบาลบ้านผือ เพื่อรักษาตัว และทางจังหวัดได้เปิดบัญชีรับบริจาคช่วยเหลือจากผู้ใจบุญเพื่อช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง

ความคืบหน้าเรื่องนี้วันที่ 20 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากโรงพยาบาลบ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานีว่า ที่หอผู้ป่วยชาย ชั้น 3 ของโรงพยาบาลบ้านผือ นายประยงค์ ขุริดี อายุ 59 ปี นางทองวัน ขุริดี อายุ 55 ปี น.ส.อภิญญา เยาวลักษณ์ อายุ 39 ปี พ่อแม่และภรรยาของ นายฉัตรชัย ที่มาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด หลังจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ,จ.อุดรธานี และผู้มีจิตศรัทธา ให้ความช่วยเหลือ นำตัว นายฉัตรชัย ส่งกลับรักษาตัวที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยหลังเดินทางถึง ได้นำตัวนายฉัตรชัย เข้ารักษาตัวพักฟื้นจากการเดินทาง และดูอาการที่โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ ก่อนส่งตัวมายังโรงพยาบาลบ้านผือ เพื่อรักษาตัวต่อ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา

นางทองวัน และ น.ส.อภิญญา แม่และภรรยา ของนายฉัตรชัย เปิดเผยว่า หลังจากนำตัวนายฉัตรชัย ส่งกลับมาถึงโรงพยาบาลบ้านผือ รู้สึกดีใจมาก ที่ได้ตัวนายฉัตรชัย กลับมาถึงบ้าน ขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ให้ความช่วยเหลือ ทั้ง รมว.แรงงาน ผวจ.อุดรธานี นายอำเภอบ้านผือ โดยเฉพาะสื่อมวลชน ที่เสนอข่าวออกไป จนนายฉัตรชัย ได้กลับบ้าน ซึ่งอาการของนายฉัตรชัย ตอนนี้รู้สึกตัวบ้าง มีอาการตอบสนองเวลาเรียก ที่สามารถกระพริบตาได้ โดยทางครอบครัวคาดว่า อาการน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 21 พ.ค. 2561 เวลา 17.00 น. นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.อุดรธานี และหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ใน จ.อุดรธานี จะเดินทางมามอบเงินที่ทาง จ.อุดรธานี เปิดบัญชีรับบริจาคช่วยเหลือ นายฉัตรชัย ที่โรงพยาบาลบ้านผือ โดนจะมอบให้กับทางครอบครัวของนายฉัตรชัยฯ เพื่อใช้ในการรักษาตัว

ที่มา: ข่าวสด, 21/5/2561

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.