Posted: 26 May 2018 08:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์
กระแสการทวงคืน ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเลียมรายใหญ่ของประเทศไทย ปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสการนำ ปตท. กลับมาเป็นของรัฐในรอบล่าสุดเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้นในรอบ 4 ปี ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล คสช. กระแสในโลกออนไลน์ทั้งการส่งข้อความผ่านไลน์และการแชร์ข้อความต่อผ่านเฟสบุ๊ค อาทิ การตั้งคำถามถึงราคาน้ำมันในประเทศที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การตั้งคำถามกับการบริหารจัดการแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในประเทศ ไปจนถึงการรณรงค์ไม่ให้ใช้บริการในกิจการของ ปตท. ในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่สนับสนุนแนวคิดในกลุ่มแรก ได้ออกมานำเสนอให้เห็นว่า การบริหารจัดการพลังงานภายในประเทศไม่สามารถแยกขาดจากสถานการณ์พลังงานในตลาดโลกได้ การบริหารจัดการพลังงานของไทยดำเนินไปบนบรรทัดฐานสากลอันเป็นที่ยอมรับ และการต่อต้าน ปตท. ไม่ใช่การต่อต้านราคาน้ำมันที่แพงขึ้น หากแต่เป็นการต่อต้านเครือข่ายทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น อันได้แก่ ผู้ค้าน้ำมันและพนักงานในปั้มน้ำมัน ปตท.
การทวงคืน ปตท. ไม่ใช่เพียงแค่วิวาทะของการนำ ปตท. กลับมาเป็นของรัฐหรือนำ ปตท. ออกจากตลาดหุ้น เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง ภายใต้วาทกรรม“ทวงคืน ปตท.” นี้ ได้ซ่อนชุดอุดมการณ์ความคิดและความสัมพันธ์ทางการเมืองที่น่าสนใจไว้หลายชุด หากจะเริ่มต้นพิจารณาวาทกรรมทวงคืน ปตท.ผ่านการประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดคงต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นที่ ปี 2547 และต่อเนื่องถึงปี 2549 การทวงคืน ปตท. ในห้วงเวลาดังกล่าว วางอยู่บนการประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดใน 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกเรื่องการทุจริต อาทิ ข้อกล่าวหาเรื่องการกระจายหุ้น การขัดกันของประโยชน์ในกระบวนการแปรรูป ประเด็นที่สอง อุดมการณ์ชาตินิยมทางพลังงาน กล่าวคือ การมองว่า ปตท. เป็นสมบัติและมรดกทางทรัพยากรของชาติ ที่จะพรากความเป็นเจ้าของจากรัฐไปให้เอกชนและต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ การแปรรูป ปตท. จึงเป็นการขายมรดกของชาติที่จะนำไปสู่การสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางพลังงาน (พิจารณา ผู้จัดการออนไลน์, ไล่บี้ฟ้องศาลทวงคืน ปตท. ทับซ้อนชินฯ, วันที่ 31 มีนาคม 2549, https://mgronline.com/daily/detail/ 9490000043225)
กระแสการทวงคืน ปตท. ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในสังคมอีกครั้งราวกลางปี 2554 การประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดเพื่อสนับสนุนการทวงคืน ปตท. ในห่วงเวลานี้ อิงอยู่กับความสลับซับซ้อนในกระบวนการการกระจายหุ้น และหนึ่งในวิธีการกระจายหุ้นนั้นส่อไปในทางฉ้อฉล จนสะท้อนให้เห็นปัญหาที่ถูกเรียกว่า “ธรรมาภิบาลทางพลังงาน” การทวงคืน ปตท. จึงเป็นการทวงคืนสาธารณะสมบัติกลับมาเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลทางพลังงาน (พิจารณา ผู้จัดการออนไลน์, ฟ้อง ปตท.ฉ้อฉล ปล้นประชาชน-สมบัติแผ่นดินกลางแดด, วันที่ 4 สิงหาคม 2554, https://m.mgronline.com/specialscoop/detail/9540000096705)
การประกอบสร้างชุดความคิดเพื่อทวงคืน ปตท. รอบล่าสุด (พฤษภาคม 2561) ดูเหมือนว่าจะอิงอยู่กับความคิดเชิงเปรียบเทียบในระดับราคาพลังงาน (ทั้งราคาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ) กล่าวคือ เพราะการแปรรูป ปตท. เป็นเหตุ ทำให้ระดับราคาพลังงานภายในประเทศสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเปรียบเทียบ การส่งออกพลังงานที่ผลิตได้ในแผ่นดินไทยไปขายให้กับต่างชาติ จึงเป็นกระบวนหนึ่งเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้แก่ ปตท. และผู้ถือหุ้น (พิจารณาเฟสบุ๊คกลุ่มทวงคืน ปตท., https://www.facebook.com/groups/ptt.gb/)
การประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดเพื่อทวงคืน ปตท. นับตั้งแต่ การทุจริต ชาตินิยมทางพลังงาน ธรรมาภิบาลทางพลังงาน และโครงสร้างราคาเชิงเปรียบเทียบ จะดูเบาให้เป็นเพียงแค่ความคิดที่ถูกบิดเบือน หรือความเข้าใจผิดของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ คำถามที่น่าสนใจและน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านคือ ทำไมการประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดเพื่อทวงคืน ปตท. จึงดำรงอยู่ได้ ทำไมจึงยังมีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งในสังคมที่สมาทานความเชื่อเหล่านี้อยู่ อุดมการณ์ทวงคืน ปตท.ถูกประกอบสร้างภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไร เพื่อจะสื่อสารและส่งสารทางการเมืองออกไป ผู้เขียนขอตอบคำถามเหล่านี้โดยพิจารณาจากการประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดเพื่อทวงคืน ปตท. ใน 3 ช่วงเวลาดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนี้
ประการแรก การแปรรูป ปตท. ในฐานะการเมืองของการต่อต้านระบอบทักษิณ คงต้องยอมรับว่าภาพการแปรรูป ปตท. ถูกโยงอย่างแยกไม่ขาดไปจากภาพของรัฐบาลอดีตนายกทักษิณ กล่าวอย่างถึงที่สุด การแปรรูป ปตท. ถูกวาดภาพให้เป็นมรดกทางการเมืองของรัฐบาลทักษิณ ดังนั้นตราบใดที่ระบอบทักษิณยังถูกผลิตซ้ำในฐานะอาวุธที่ทรงอานุภาพในสมรภูมิทางการเมือง ตราบนั้นการทวงคืน ปตท. ก็ยังคงเป็นการทำงานทางความคิดเพื่อให้ระบอบทักษิณยังคงความน่าหวาดกลัวอยู่
ประการที่สอง การทวงคืน ปตท. ในฐานะภาษาเพื่อประกอบสร้างเครือข่าย กิจการของ ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติมีผลผูกพันต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และกิจกรรมของผู้คน ตั้งแต่การหุงต้มในห้องครัว ไปจนถึงการเดินทาง ขนส่ง ต้นทุนสินค้าและบริการ การทวงคืน ปตท. จึงเป็นไวยากรณ์ที่สำคัญเพื่อกำกับโครงสร้างทางภาษาและการสื่อสารของกลุ่มบุคคลที่อาจไม่พอใจต่อการบริหารงานและการจัดการด้านพลังงานของ ปตท. ไวยากรณ์และภาษาชุดนี้เองที่สามารถระดมคน เพื่อประกอบสร้างเครือข่าย และดำรงรักษาเครือข่ายของผู้ที่ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย และไม่เชื่อมั่นต่อตัว ปตท.
ประการที่สาม การทวงคืน ปตท. ในฐานะเครื่องมือตอกย้ำความเปราะบางของรัฐบาล หากพิจารณาการจุดกระแสการทวงคืน ปตท. ใน 3 ช่วงเวลาดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น พร้อมกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองร่วมสมัยที่ผ่านมา เราจะพบว่า การประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดเพื่อทวงคืน ปตท. เกิดขึ้นไปพร้อมกับสภาวะที่ถูกเรียกว่า “ขาลงของรัฐบาล” หรือภาวะที่รัฐบาลพึ่งจะเข้าสู่อำนาจได้ไม่นาน ดังจะเห็นได้ว่า การจุดกระแสทวงคืน ปตท. ในช่วงแรก (2547-2549) เกิดขึ้นไปพร้อมกับขาลงของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเกิดการประท้วงที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง กระแสการทวงคืน ปตท. ในช่วงที่ 2 (2554) เกิดขึ้นพร้อมกับการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพียง 1- 2 เดือน และกระแสการทวงคืน ปตท. รอบล่าสุด ซึ่งเกิดในช่วงเวลานี้ (พฤษภาคม 2561) ก็เกิดขึ้นภายใต้การเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อส่งสารที่มีความหมายทางการเมืองไปยังรัฐบาล คสช.
ในท้ายที่สุด เราจะมีท่าทีต่อการประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดเพื่อทวงคืน ปตท. อย่างไร การประเมินอุดมการณ์ความคิดที่ต้องการทวงคืน ปตท. ให้มีค่าเพียงแค่ขั้วตรงข้าม เป็นความบิดเบือน เป็นความเชื่อที่ผิด อาจเป็นท่าทีที่ง่ายและสะดวกที่จะแสดงออก แต่ไม่ใช่ท่าทีที่ระแวดระวัง กล่าวคือ ไม่นำไปสู่การสำรวจตรวจสอบว่าที่ผ่านมาทำไม ปตท. จึงประสบความสำเร็จน้อยในการสื่อสารกับสังคมในประเด็นเหล่านี้ ไม่นำไปสู่การพิจารณาโครงสร้างของนโยบายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการดำเนินงานของ ปตท. ไม่นำไปสู่การพิจารณาทบทวนแนวทางการปฏิรูปพลังงานที่พึ่งจัดทำแล้วเสร็จในช่วงก่อนหน้านี้ โจทย์ใหญ่เหล่านี้จึงต้องพิจารณาการทวงคืน ปตท. ในฐานะชุดความสัมพันธ์ทางการเมืองที่สลับซับซ้อน มีนัยที่เป็นอาวุธทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็เป็นสำนวนภาษาที่ใช้ประกอบสร้างเครือข่ายทางการเมือง และมีข้อความทางการเมืองที่แฝงฝังความหมายอยู่
แสดงความคิดเห็น