Posted: 27 May 2018 02:26 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

อารยา ฟ้ารุ่งสาง

ในสังคมไทยบทบาทในการเรียกร้องประชาธิปไตยส่วนใหญ่แล้วมักจะตกอยู่ที่ประชาชนผู้ชุมนุมประท้วง แต่กลับกันภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองมักมีนักการเมืองที่ไม่ดี ซึ่งในความจริงแล้วการนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย พรรคการเมืองเป็นสิ่งสำคัญและมีความใกล้ชิดประชาชน มีฐานเสียง ฐานผู้สนับสนุนค่อนข้างชัดเจน มีบทบาทสำคัญในแง่ของการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตย ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังเกิดกระแสการเลือกตั้งอีกครั้ง ทำให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแค่พรรคการเมืองใหญ่กลุ่มเดิมเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นสีสันทางการเมืองไทยที่คึกคักในรอบหลายปีตั้งแต่ถูกกดทับจากระบอบเผด็จการทหารภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน จึงเป็นการดีที่เกิดพรรคการเมืองในไทยส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นและเกิดการผลักดันพื้นที่ทางประชาธิปไตยมากขึ้น

พรรคการเมืองที่น่าจับตามองในขณะนี้คือ “พรรคอนาคตใหม่” นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ท่ามกลางกระแสข่าวและความคิดเห็นที่มีทั้งเสียงเชียร์และเสียงต้านตามสื่อและโลกโซเชียลนั้น สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองเกี่ยวกับการตั้งพรรคดังกล่าวคือ พลังคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสังคมไทยก้าวพ้นเผด็จการและมุ่งไปสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ตามหลักของแนวคิดของอันโตนิโอ กรัมชี เจ้าของทฤษฎีการครองอำนาจนำ (hegemony) และการสร้างสามัญสำนึก (common sense) การตั้งพรรคใหม่ของฝ่ายก้าวหน้าอย่างพรรคอนาคตใหม่ คือ ความพยายามท้าทายกลุ่มชนชั้นนำด้วยการสร้างวิธีมองโลกแบบใหม่ขึ้นมา ให้คนตั้งคำถามกับกลุ่มชนชั้นนำที่มักสร้างสามัญสำนึก แล้วทลายวิธีมองโลกแบบเก่าๆให้สังคมฉุกคิดเข้ามาท้าทายรัฐ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่สร้างอัตลักษณ์ผู้นำรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดที่ฉีกจากพรรคเดิมๆ ที่สามารถประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเกี่ยวกับด้านกระแสตอบรับและกลายเป็นที่รู้จัก และที่น่าสนใจเป็นคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นนักการเมืองที่เคยลงสู่สนามเลือกตั้งและมีฐานเสียงเดียวกัน

จุดเด่นของพรรคนี้คือ มุ่งสร้างการเมืองแบบใหม่ที่ใกล้ชิดประชาชน มีคนรุ่นใหม่ระดมความคิด และเข้าถึงสื่ออิทธิพลของพลังทางโซเชียลมิเดียที่ปรับตัวได้กับการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ดีกว่านักการเมืองรุ่นเก่า โดยมีตัวอย่างความคิดที่น่าสนใจกับสื่อสมัยใหม่ เช่น เห็นความสำคัญการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมว่ามีพลังมหาศาลกับด้านเศรษฐกิจจึงต้องการสนับสนุน เพื่อสร้างพื้นฐานรองรับให้เด็กคุ้นเคยกับเทคโนโลยี และมองเห็นปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังมีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น จึงต้องการผลักดันอินเทอร์เน็ตให้เป็นสวัสดิการบนพื้นฐานเดียวกับสาธารณูปโภค (Voicetv, 2561) อีกทั้งการสร้างภาพลักษณ์ของผู้นำคนรุ่นใหม่เป็นที่สอดคล้องกับกระแสของโลกด้วย การเลือกตั้งในหลายประเทศที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่แล้วมีผู้นำที่อายุน้อยทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น หัวหน้าพรรคแรงงานของนิวซีแลนด์ โดยมีจาซินดา อาร์เดิร์น เป็นหัวหน้าพรรคได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของประเทศในรอบ 150 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลกด้วยวัยเพียง 37 ปี หรือก่อนหน้านั้นไม่นาน เซบาสเตียน คัวซ์ วัย 31 ปี หัวหน้าพรรคประชาชน (OVP) เตรียมขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของออสเตรียด้วยเช่นกันซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในโลก (โพสต์ทูเดย์, 2560)

แต่อย่างไรก็ตามพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคอื่นๆที่กำลังเกิดใหม่ต่างต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างและการช่วงชิงอำนาจนำที่ต้องเปลี่ยนแปลงทิศทางประเทศไทยได้ในเวลาอันสั้น โดยต้องทำอย่างไรให้เกิดการก้าวข้ามการเมืองของการไม่รักษากติกาของประเทศไทยเพื่อเปลี่ยนแปลงวงจรเผด็จการแบบเดิมๆ ซึ่งสภาวการณ์ในขณะนี้ดูเหมือนไม่ค่อยจะเอื้ออำนวยแก่การเล่นการเมือง จากคำสัมภาษณ์ของ ประจักษ์ ก้อง กีรติ ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า “ยังมีความเสี่ยงสูงทำให้คนดีและเก่งจำนวนมากไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง การที่การเมืองมีความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงนอกกติกาเยอะและกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความเข้มงวดมากไป อ่านกฎหมายพรรคการเมืองจะพบว่าการตั้งพรรคการเมืองในยุคปัจจุบันตั้งยากมาก ในขณะเดียวกันถูกยุบได้ง่าย ต้องยอมรับว่าใครที่ตัดสินใจมาเล่นการเมืองในยุคนี้มีความกล้ามากและต้องยกย่องไม่ว่าอุดมการณ์ใด” (มติชนสุดสัปดาห์, 2561)

ในรัฐธรรมนูญฉบับของมีชัย ฤชุพันธุ์ ปี 2560 เปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่ คือ จัดสรรปันส่วนผสม แม้สามารถเบิกช่องทางให้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ซึ่งจากเดิมที่พรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่แทบจะไม่มีโอกาสได้ที่นั่งเพราะว่าในระบบเขตมักมีตัวแทนประจำจังหวัด ส่วนปาร์ตี้ลิสต์เดิมคนไทยจะเน้นเลือกพรรคใหญ่ 80 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ (มติชนสุดสัปดาห์, 2561) แต่แอบแฝงไปด้วยสภาพ “รัฐซ้อนรัฐ” (Deep State) โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้งใบเดียวที่เพิ่มความเสี่ยงให้แต่ละเขตเลือกตั้งต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ทำให้ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนว่า ส.ส.ในระบบเขตที่ใกล้ชิดกับประชาชนจะเป็นตัวเลือกอันดับแรกมากกว่าพรรคที่ไม่เคยมีฐานเสียงมาก่อน อาจจะเป็นไปได้ที่ยังมีพรรคเดิมๆวนเวียนอยู่ อีกทั้งบทเฉพาะกาล 5 ปี ยังกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คนมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. และกำหนดให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมดเป็น ส.ว. โดยตำแหน่งอีกด้วย (โลกวันนี้, 2560) จึงเปรียบเสมือนอำนาจซ้อนอำนาจในรัฐธรรมนูญซึ่งไม่มีความหมายหากรัฐบาลทหารและ คสช. ยังใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์แฝงอยู่ ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะก้าวพ้นเผด็จการและวงจรทางการเมืองที่ไม่เคลื่อนไปไหน

ปัญหาอีกประการ คือ ตำแหน่งจากประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญทางสนามการเมืองที่ยังไม่คุ้นเคยนัก ซึ่งอาจจะไม่สามารถเข้าถึงคนที่เคยถือตนเป็นคนของพรรคเดิมได้ แต่เมื่อต้องเข้าถึงคนทุกกลุ่มก็อาจเกิดปัญหาทางแพร่งอีกโดยเฉพาะสูญเสียอัตลักษณ์ในการเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ จึงเป็นเรื่องยากที่พรรคใหม่จะสามารถได้เสียงข้างมากได้เท่าเก่าพรรคเก่าที่มีฐานเสียงเยอะกว่า โดยความขัดแย้งทางชนชั้นผ่านพรรคการเมืองรุ่นใหม่ขัดกับพรรคการเมืองชนชั้นนำเก่าในวัฒนธรรมไทยเกิดขึ้นได้ยากเพราะเป็นสังคมที่ประนีประนอมมาตลอด โดยพรรคการเมืองที่ผ่านมามักผูกมิตรกับพรรคการเมืองเก่า เพื่อสร้างพวกในการเพิ่มฐานเสียงกลุ่มเดิมหากไม่เช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคน้องใหม่จะเข้าถึงสนามเลือกตั้งเขตภาคอีสานและภาคเหนือเท่าพรรคเพื่อไทยหรือแม้แต่เขตภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ ถึงอย่างไรก็ตามภายใต้ความเสี่ยงย่อมเป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่พรรคการเมืองไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ต่างต้องรับมือให้ได้ซึ่งเป็นสีสันของประชาธิปไตยที่ต้องกล้าได้กล้าเสี่ยง อย่างน้อยพรรคอนาคตใหม่ได้กลายเป็นทางเลือกและความหวังใหม่ให้กับการเมืองประเทศไทย



บรรณานุกรม

มติชน สุดสัปดาห์. 2561. ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ มองพรรคอนาคตใหม่ ควรเปลี่ยนการเมืองไทยระยะยาว. ค้น จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_89805

โพสต์ทูเดย์. 2560. การเมืองเปลี่ยน โลกหันพึ่งผู้นำรุ่นใหม่. ค้นจาก https://www.posttoday.com/world/521283

โลกวันนี้. 2561. รัฐซ้อนรัฐ?.ค้นจาก http://www.lokwannee.com/web2013/?p=265040

Voicetv. 2561. 'ธนาธร' ผุดโมเดลหนุนอีสปอร์ต ดันอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกชนชั้น. ค้นจาก https://voicetv.co.th/read/SyNSSg2tf

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.