Posted: 25 May 2018 02:00 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองแถลงข่าว “การสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัย” สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 19 มหาวิทยาลัย72.6% บอกรัฐประหารแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ 75.2% ไม่เอานายกฯ คนนอก ส่วนจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 70.6% ยังไม่ระบุว่าใคร แต่ในส่วนนี้ 35% บอกใครก็ได้ที่ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนการเลือกพรรคการเมือง จะเลือกประชาธิปัตย์ 22.7% เพื่อไทย 20.3% อนาคตใหม่ 10%

20 พ.ค. 2561 ในการเสวนา “D-Move ก้าวที่ดีเลือกทางที่เดิน” มีการแถลงข่าวและอภิปรายผล “การสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัย” ของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส.

แถลงผลโดย ผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมอภิปรายผลโดย ธนพล พันธุ์งาม นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธนวัฒน์ วงศ์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศศวัชร์ คมนียวนิช นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 2,175 คน จาก 19 มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสารคาม มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


ผลสำรวจแบ่งเป็น 3 หมวด 1. รัฐประหารและ คสช. เริ่มจาก”การติดตามรายการคืนความสุข” พบว่านักศึกษาร้อยละ 72.7 ไม่ติดตาม/ติดตามน้อย และร้อยละ 27.3 ติดตาม ส่วนคำถามคิดว่าการรัฐประหารแก้ปัญหาประเทศได้หรือไม่ ร้อยละ 72.6 ตอบว่าไม่ได้ และร้อยละ 27.4 เห็นว่าได้

ผลการทำงานของรัฐบาลในรอบ 4 ปี ร้อยละ 70.6 เห็นว่า แย่/แย่มาก ร้อยละ 29.4 เห็นว่าดี/ดีเยี่ยม ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบถึงทหารที่ยึดอำนาจสามารถบริหารประเทศได้ดีกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 86.2 บอกไม่เห็นด้วย ร้อยละ 13.8 เห็นด้วย

หมวด 2. รัฐธรรมนูญ 2560 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ เริ่มจากคำถามถึงความเชื่อมั่นรัฐธรรมนูญ 2560 สามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งแบ่งเป็น 5 ด้านคือ ปราบโกง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แก้การซื้อเสียง แก้คอร์รัปชั่น ปกป้องสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมสวัสดิการ พบว่า นักศึกษาเกินครึ่ง ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ปัญเหล่านั้นได้ ส่วนความเชื่อมั่นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้หรือไม่ ร้อยละ 70.8 ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 29.2 เชื่อมั่น

หมวด 3. ความหวังและการเลือกตั้ง เริ่มจากความหวังสำหรับอนาคตประชาธิปไตย พบว่า หมดความหวังถึงร้อยละ 75.4 มีความหวังเพียงร้อยละ 24.6 ส่วนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีนายกรัฐมนตรีคนนอก ร้อยละ 75.2 บอกไม่เห็นด้วย มีเห็นด้วยเพียงร้อยละ 24.8

ส่วนในอนาคตมีการเลือกตั้ง นักศึกษาจะไปหรือไม่ ร้อยละ 72.9 ระบุไป ร้อยละ 4.2 ไม่ไป และร้อยละ 21.6 ยังไม่ตัดสินใจ ส่วนจะลงคะแนนเสียงให้พรรคใด พบว่า จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 22.7 บรรดาพรรคทางเลือกใหม่ๆ ร้อยละ 21.6 พรรคเพื่อไทยร้อยละ 20.3 พรรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 10 พรรคอื่นๆ ร้อยละ 8.6 พรรคทหาร ร้อยละ 2.5 และไม่เลือกพรรคใด ร้อยละ 14.4

สำหรับคนที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี 10 อันดับแรก พบว่าร้อยละ 70.6 ไม่ระบุเจาะจงว่าเป็นใคร แต่ในส่วนนี้ร้อยละ 35 ระบุใครก็ได้ที่ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ ถัดมาร้อยละ 6.8 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 5.7 นายทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 4.1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 1.9 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 1.6 นายอุดม แต้พานิช ร้อยะละ 1.3 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ร้อยละ 1.1 นายอาทิวราห์ คงมาลัย และนายชูวิทย์ กลมวิศิษฎ์ ร้อยละ 0.9

การแถลงข่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวิชาการ “D-Move ก้าวที่ดีเลือกทางที่เดิน” 19-20 พฤษภาคม 2561 ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนาม Social Science Forum ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และกลุ่มองค์กรทางสังคมต่างๆ[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.