เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมนักศึกษากลุ่มดาวดินเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ที่ จ.ขอนแก่น (แฟ้มภาพประชาไท)

Posted: 18 May 2018 11:37 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน 4 ปี หลังรัฐประหาร คสช. พบว่า มีผู้ถูกปรับทัศนคติและติดตามคุกคามมากกว่าพันคน ขณะที่พลเรือนสองพันกว่าคนต้องขึ้นศาลทหารจากการออกกฎหมายของ คสช. และผลกระทบจะยังอยู่แม้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

19 พ.ค. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน 4 ปี หลังรัฐประหาร คสช. ในเวทีนิติรัฐที่พังทลายและก้าวใหม่หลัง คสช. ในงาน D-Move ก้าวที่ดี เลือกทางที่เดิน ณ ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พบว่าจากข้อมูลคดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และข้อมูลจากการสังเกตการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มีประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัวและปรับทัศนคติ มีผู้ที่ถูกข่มขู่ คุกคามและติดตาม อย่างน้อย 1,138 คน กิจกรรมสาธารณะถูก คสช. หรือเจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นและแทรกแซง อย่างน้อย 264 กิจกรรม มีกลุ่มองค์กรชาวบ้าน/ชุมชน หรือประชาสังคม ที่ถูกปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม แล้วอย่างน้อย 66 กลุ่ม

นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อย่างน้อย 378 คน ถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 214 คน และถูกดำเนินคดียุยงปลุกปั่นหรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 92 คน

ข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญถึงเดือน ต.ค. 2560 พบว่ามีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 1,886 คดี นับเป็น 2,408 คน ในจำนวนนี้ยังพิจารณาคดีไม่เสร็จสิ้น 369 คดี หรือ 450 คน ส่วนผู้ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีอย่างน้อยจำนวน 162 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพการแสดงออกอย่างน้อย 101 คน และยังมีผู้ร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นระหว่างควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกอย่างน้อย 18 ราย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามสถิติข้างต้นเป็นผลมาจาก 3 ประการสำคัญ คือ 1. การจัดการพลเรือนโดยใช้วิธีคิดและปฏิบัติการแบบทหารด้วยการทำให้การแสดงออกทางการเมืองโดยสงบสันติ กลายเป็นเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจและการชุมนุมทางการเมือง ถูกทำให้กลายเป็น “ความไม่สงบเรียบร้อย-ความวุ่นวาย” 2. การสถาปนาการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่อำนาจเบ็ดเสร็จของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน และจะมีผลต่อไปแม้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และ 3. การปกครองโดย “กฎหมาย” ของ คสช. ดังกล่าวส่งผลให้ระบบกฎหมายของ คสช. บ่อนทำลายระบบกฎหมายเดิมและทำให้การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จปลอดจากถูกตรวจสอบและไม่ต้องรับผิด

เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เสนอว่าการจัดการผลพวงการรัฐประหารที่จะตกค้างต่อไปในอนาคตต้องแยกทหารออกจากการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน และจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นธรรมโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดการกับกฎหมายของ คสช. ที่มาจากโครงสร้างหรือวิธีการออกโดยมิชอบ

“จากนั้นเราต้องปฏิรูปกระบวนการกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการใช้ฐานด้านสิทธิมนุษยชนส่งเสริมให้ศาลวินิจฉัยหรือพิพากษาเพื่อรับรองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน โดยเป็นการพิจารณาการปฏิรูปกระบวนการทั้งระบบและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของทหาร” หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าว

เยาวลักษ์ เพิ่มเติมว่าการเยียวยานั้นต้องเยียวยาทั้งประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่ไม่ถูกดำเนินคดี และประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการถูกรัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี นอกจากนี้จะต้องลบล้างความชอบด้วยกฎหมายและการรับรองความสมบูรณ์ของการกระทำรัฐประหาร ด้วยการทำให้คำพิพากษาที่ผ่านมาสิ้นผลไป และนำคำพิพากษาในส่วนที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันเป็นผลจากการกระทำของ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐ ผ่านกฎหมายของ คสช. มาทบทวนและทำให้สิ้นผลไปเช่นกัน
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.