Posted: 25 May 2018 08:26 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
23 พฤษภาคม 2561

เรียนพี่น้องชาวไทยพุทธ

เหตุการณ์ที่โรงเรียนอนุบาลวันนี้ทำให้สังคมมุสลิมตระหนักถึงความคับข้องหมองใจที่ครุกรุ่นในพื้นที่ ภายใต้อารมณ์ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยอคติ ภยาคติ โทสาคติ หลายฝ่ายวิตกกังวลถึงอนาคตและชะตากรรมของสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ที่อุดมไปด้วยความสัมพันธ์ที่แตกต่างหลากหลาย ว่าท้ายที่สุดแล้วจะลงเอยไปในทิศทางใด เมื่อสายสัมพันธ์ของผู้คนถูกบั่นทอนตัดขาดลงทุกเมื่อเชื่อวัน จนไม่เหลือที่ว่างให้ระลึกถึงความสัมพันธ์ในอดีต

เพื่อนพี่น้องชาวพุทธครับ อดีตตอนที่ชาวมุสลิมยังไม่มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เด็กพุทธ-มุสลิมทุกคนต้องเรียนในโรงเรียนของรัฐ และไม่ใช่เพราะโรงเรียนของรัฐหรอกหรือที่ทำให้คนพุทธ-มุสลิมในพื้นที่ได้รู้จักมักคุ้น คบหาสานสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ใช่โรงเรียนหรอกหรือที่ทำให้มุสลิมได้เรียนรู้มารยาท เรียนรู้วัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่โรงเรียนของรัฐหรอกหรือที่ทำให้พี่น้องมุสลิมรู้จักพุทธศาสนา ศาสนาที่มุ่งสอนถึงเรื่องเมตตาธรรม และการพ้นทุกข์ เช่นนี้โรงเรียนรัฐ คือพื้นที่ของการเรียนรู้ความต่างทั้งทางความเชื่อ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตโรงเรียนคือ ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ร้อยรัดความสัมพันธ์ ความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน

แม้วันนี้มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สำหรับพี่น้องมุสลิม เพราะรัฐเปิดโอกาสให้มีการจัดการศึกษาตามความเชื่อความศรัทธาของคนในท้องถิ่น มุสลิมต้องการปลูกฝังให้ลูกหลานได้มีวิถีชีวิตตามบทบัญญัติของศาสนา เด็กส่วนใหญ่ถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา มีการเรียนการสอนที่เอิ้อต่อวิถีชีวิตของมุสลิมมากกว่าโรงเรียนของรัฐ แต่ก็น่าเสียดายว่าเยาวชนมุสลิมเสียโอกาสในการเรียนรู้ความต่าง วัฒนธรรมที่แตกต่างไปวัฒนธรรมของตนเอง และขาดโอกาสที่จะสานสัมพันธ์กับเพื่อนต่างศาสนิก ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของปฎิสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ปัจจุบันแม้ความรุนแรงพยายามตัดขาดความสัมพันธ์ของผู้คน สร้างความหวาดระแวงต่อกัน แต่โรงเรียนรัฐก็ยังทำหน้าที่เป็น พื้นที่ “กลาง” ได้อย่างเหนียวแน่น ข้าพเจ้าขอหยิบงานวิจัยเรื่องความคิดของเด็กที่เป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ในพื้นที่แห่งหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ข้าพเจ้าสัมภาษณ์เด็กพุทธ-มุสลิมที่คนในครอบครัวเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบหลังปี 2547 คำถามหลักที่ข้าพเจ้าถามเด็ก คือ เขารู้สึกอย่างไรกับเพื่อนต่างศาสนิก คำตอบที่ข้าพเจ้าได้รับน่าอัศจรรย์ใจพอสมควร กล่าวคือ เด็กทั้งพุทธ-มุสลิมบอกว่า เขายังรู้สึกเช่นเดิมกับเพื่อนต่างศาสนิก เพราะเขารู้ว่าคนพุทธ-มุสลิมก็มีคนดีและไม่ดีเช่นกัน แม้จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว พวกเขายังคบค้าสมาคมกับเพื่อนต่างศาสนิก เพราะคบค้าไปมาหาสู่กันมาก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นกับครอบครัว คำพูดในลักษณะเช่นนี้ของเด็กทำให้ข้าพเจ้าเห็นคุณค่าของโรงเรียนรัฐในฐานะ “พื้นที่กลาง” ให้คนได้รู้จักเรียนรู้ ถักทอความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราทั้งพุทธ-มุสลิมควรที่จะโอบอุ้มรักษาพื้นที่ทางวัฒนธรรมเช่นนี้เอาไว้ไม่ใช่หรือ แน่ล่ะที่วันนี้เด็กมุสลิมจำนวนมากเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่ก็มีผู้ปกครองมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่ยังเห็นความสำคัญของโรงเรียนรัฐในฐานะเป็นพื้นกลางที่จะช่วยถักทอความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ไว้ หากพิจารณาให้ถี่ถ้วน คงไม่เกินเลยที่จะพูดได้ว่า เด็กมุสลิมที่เรียนในโรงเรียนของรัฐ คือ “ข้อต่อ” ของความสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่ในอนาคต ภาพของการคลุมฮิญาบในโรงเรียนของรัฐอาจจะทำให้ท่านรู้สึกไม่สบายใจ แต่มันเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นความพยายามรักษาความสัมพันธ์เช่นอดีตของผู้คนทั้งสองฝ่ายไม่ใช่หรือ

ฮิญาบเป็นแค่อาภรณ์ห่อหุ้มอวัยวะบนร่างกายของพวกเขาเท่านั้น หาใช่การรุกคืบกลืนกลายวัฒนธรรม ผู้ปกครองเหล่านี้สวนกระแสการส่งบุตรหลายไปเรียนในโรงเรียนแบบวัฒนธรรมเดียว เหตุใดเราไม่มองพวกเขาเป็นต้นทุนของสังคมนี้ ขอให้รวมกันทบทวนเพื่อให้อนาคตของพื้นที่เป็นอนาคตของคนทุกหมู่เหล่า






เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
อ่านหิญาบนักเรียนในสถานการณ์ชายแดนใต้
เรื่องละเอียดอ่อน!กลุ่มผู้ปกครองเรียกร้องให้นักเรียนคลุมฮิญาบไปเรียน หลังมติที่ประชุมไม่เห็นด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.