Posted: 27 May 2018 09:13 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachathai.com)

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายกว่าร้อยคน เผาหุ่นสาปแช่งโรงงานน้ำตาล หลังพบว่ามีการเริ่มต้นถากถางพื้นที่เตรียมตอกเสาเข็มแล้ว ขณะที่ชาวบ้านยังคาใจกับ EIA

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2561เวลา 11.00 น. กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร กว่า 100 คน รวมตัวกันเผาหุ่นโรงงาน พร้อทใช้เข็มและตะปูจิ้มสาปแช่งโรงงานน้ำตาล หลังทราบข่าวบริษัทฯ เริ่มเข้าถากถางพื้นที่เตรียมตอกเสาเข็ม ทั้งๆ ที่ชาวบ้านยังไม่เห็นใบ รง.4 อีกทั้งชาวบ้านยังเห็นว่า EIA ขัดแย้งกับข้อมูลความเป็นจริงในพื้นที่หลายประเด็น พร้อมอ่านแถลงการณ์ให้พิจารณาทบทวนยกเลิกการขอใบอนุญาตโรงงาน ของโครงการโรงงานน้ำตาลทราย ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ

นวพร เนินทราย กล่าวว่า ตามที่บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภคโครงการโรงงานน้ำตาลของบริษัทฯ ซึ่งจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยีจำกัด เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณารายงานฯ โดยมีขนาดโครงการทั้งหมด 716 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา มีกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นน้ำตาลดิบ ปริมาณ 302,520 ตัน/ปี คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และเจ้าหน้าที่ สผ. ได้ลงตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2560 และเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ในการประชุมครั้งที่ 26/2560 เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 มีมติไม่ให้ความเห็นชอบรายงานฯ โดยให้โครงการแก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางหรือรายละเอียดที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ กำหนด

ช่วงต่อมา สผ. ได้รับรายงานฉบับชี้แจงเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2560 และคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ในการประชุมครั้งที่ 42/2560 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติไม่เห็นชอบรายงานฯ และให้แก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางหรือรายละเอียดที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ กำหนด นับว่าสิ้นสุดกระบวนการพิจารณารายงานฯ ต่อมาโครงการได้เสนอรายงานฯ ฉบับเดือนก.พ. เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 โดยมีเนื้อหาขอลดขนาดพื้นที่โครงการ เป็น 702 ไร่ 2 งาน 53.77 ตารางวา คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เจ้าที่ สผ. ได้ตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2561 ซึ่งฝ่ายเลขานุการได้พิจารณารายงานดังกล่าวแล้วมีความเห็นเบื้องต้นให้แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นการจัดการน้ำ รายละเอียดของโครงการและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคม การมีส่วนร่วมของประชาชน พื้นที่สีเขียว และมาตรการฯ กระทั่งวันที่ 14 มี.ค. 2561 ทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้มีการพิจารณา และมีมติเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(ครั้งที่ 11/2561) ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทางบริษัทที่ปรึกษากลับไปทำรายงานฉบับสมบูรณ์ และในปัจจุบันทางบริษัทกำลังดำเนินขั้นตอนในการขอใบอนุญาต รง.4

ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีพื้นที่อยู่อาศัยภายในรัศมี 5 กิโลเมตรและชุมชนอื่นๆ อีกมากมายที่พึ่งพิงลำเซบายเป็นหลัก ถือว่าใกล้พื้นที่จะเกิดโรงงานน้ำตาล การมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงทรัพยากรจากดิน ลำน้ำเซบาย ป่าชุมชน ป่าบุ่งป่าทาม ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักที่จะมีโรงงานใกล้ชุมชนและทรัพยากรที่ชุมชนได้อาศัยอันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีของชุมชน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจฐานรากที่หาได้จากทรัพยากร วัฒนธรรมและอื่นๆ

ด้ามะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า วันนี้ทางกลุ่มพอทราบข่าวการถากถางพื้นที่และการตอกเสาเข็ม ก็ได้ทำพิธีกรรมความเชื่อโดยการเผาหุ่น และนำเข็มมาปักหุ่น และสาปแช่งกลุ่มคนไม่หวังดีต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน ยิ่งชาวบ้านทราบข่าวการถากถางพื้นที่และตอกเสาเข็มยิ่งทำให้ชาวบ้านมาร่วมกันมากขึ้นและพยายามตั้งคำถามถึง EIA ที่ขัดแย้งกับข้อมูลความเป็นจริงในพื้นที่ และชาวบ้านยังยืนหยัดในการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ผ่านมาทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ได้ทำหนังสือคัดค้านมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าวของ คชก.แล้ว และทางกลุ่มขอเรียนยืนยันตามข้อมูลข้อเท็จจริงและเหตุผล รวมถึงข้อคิดเห็นท้วงติงและข้อคัดค้านของหน่วยงานองค์กรและนักวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับเหตุความไม่ถูกต้องเหมาะสมของโครงการ ซึ่งได้เคยยื่นส่งเป็นเอกสารและส่งตัวแทนเข้าร่วมชี้แจงในการประชุมพิจารณารายงาน EIA ของ คชก. แล้ว โดยกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ขอเรียนเน้นย้ำถึงเหตุผลข้อคัดค้านอันเป็นสาระสำคัญถึงความไม่ถูกต้องเหมาะสมของโครงการและยังมีข้อขัดแย้งทางข้อมูลต่อพื้นที่ ดังนี้

1.กระบวนการไม่มีส่วนร่วมของชุมชน พวกเราอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบแต่เราไม่ได้มีส่วนร่วมก่อนการดำเนินโครงการเลย

2.ไม่มีการทำความตกลงกับชุมชนให้ชัดเจนถึงการกำหนดระดับน้ำในการผันน้ำให้อยู่ในระดับที่หน่วยงานอนุญาตหรือที่ชุมชนยอมรับร่วมกันทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ และยังไม่มีการจัดประชุมประชาคมกลุ่มผู้ใช้น้ำและทรัพยากรในลำน้ำเซบายในประเด็นเรื่องการผันน้ำเข้าไปใช้ในโครงการ 2 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งโครงการจะมีแผนในการผันน้ำจากลำเบายเข้าพื้นที่โรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูน้ำหลากเดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน 2 ล้าน ลบ.เมตร/ปี การกำหนดปริมาณน้ำที่ต้องผันจากลำน้ำเซบายนั้นกำหนดโดยบริษัทเพียงฝ่ายเดียวไม่มีการปรึกษาหารือหรือรับฟังความเห็นของชุมชนในเรื่องนี้โดยซึ่งหน้า และไม่มีการพิจารณาประเมินผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพในบริเวณจุดผันน้ำลำเซบาย

3.ประเด็นที่ 3 การดำเนินการโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นโครงการที่ขัดแย้งกับนโยบายแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ พ.ศ.2560 – 2564 การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะ ใน จ.อำนาจเจริญ และจังหวัดใกล้เคียงตามที่บริษัทได้พิจารณาทางเลือกของโครงการนั้นยังมีข้อขัดแย้งกับแนวคิดนโยบายและยุทธศาสตร์แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ พ.ศ.2560 – 2564 ของจังหวัดยโสธร และอำนาจเจริญ ที่กำลังดำเนินการขยายพื้นที่ปลูกพืชอินทรีย์ และการปฎิบัติของชุมชน โดยเฉพาะการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งเป็นนโยบายของจังหวัดยโสธรเป็นเมืองแห่งวิถีอีสาน เกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล และจังหวัดอำนาจเจริญเมืองธรรมเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนยกเลิกการขอใบอนุญาตโรงงาน ของโครงการโรงงานน้ำตาลทราย ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ

ด้านสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า กระบวนการจัดทำ EIA ยังมีข้อขัดแย้งกับข้อมูลพื้นที่ เนื่องจากในรัศมี 5 กิโลเมตรพื้นที่คาบเกี่ยวกัน 2 จังหวัด คือ จ.อำนาจเจริญ และ จ.ยโสธร โดยในส่วนของจังหวัดยโสธรไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่เริ่มต้น แต่จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงาน ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมที่ผ่านผมมองว่าไม่ได้ทำตามกระบวนการการมีส่วนร่วมที่แท้จริง เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมจะต้องทำตั้งแต่การให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงซึ่งจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น จึงต้องการให้ยกเลิกอีไอเอโรงงานน้ำตาล ที่ผู้มีส่วนเสียไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น และให้ยกเลิกใบ รง.4

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.