Posted: 19 May 2018 03:53 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
จากเหตุการณ์ทหารอิสราเอลสังหารหมู่ประชาชนชาวปาเลสไตน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตจาก บก. นตยสารฝ่ายซ้ายสหรัฐฯ ว่าพาดหัวข่าวของสื่อกระแสหลักในสหรัฐฯ มักจะหลีกเลี่ยงการพูดถึง "ผู้กระทำ" เวลาเกิดเหตุสังหารในปาเลสไตน์ หรือในบางกรณีก็ถึงขั้นทำให้ดูคลุมเครือเหมือนมีความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายพอๆ กัน ทั้งที่ชาวปาเลสไตน์มีความสามารถก่อความรุนแรงได้น้อยมากเมื่อเทียบสัดส่วนกับความรุนแรงจากทางการอิสราเอล
19 พ.ค. 2561 นิตยสารฝ่ายซ้าย เคอร์เรนต์ แอฟแฟร์ส ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อสหรัฐฯ เวลารายงานเรื่องการเสียชีวิตของผู้คนปาเลสไตน์ โดยระบุว่าสื่อสหรัฐฯ มักจะพาดหัวข่าวโดยใช้ประโยคแบบไม่มีผู้กระทำ มีแต่ผู้ถูกกระทำ เช่นในกรณีการขีปนาวุธของอิสราเอลทำลายคาเฟในฉนวนกาซาเมื่อปี 2557 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ขณะพวกเขากำลังนั่งดูฟุตบอลทางทีวี สื่อนิวยอร์กไทม์ก็รายงานโดยพาดหัวข่าวว่า "ขีปนาวุธที่คาเฟริมชายหาดของกาซาเล็งเป้าโดนลูกค้าที่นั่งจับจ้องดูฟุตบอลโลก" และ "ใต้ซากของคาเฟริมหาดในกาซา ออกล่าเหยื่อที่มาดูฟุตบอล" พาดหัวข่าวหลังนี้ถึงขั้นไม่มีคำว่าขีปนาวุธูอยู่อย่างที่ควรจะมี นอกจากนี้ยังทำเหมือนขีปนาวุธนี้ยิงตัวเองได้โดยไม่มีผู้กระทำ
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างพาดหัวข่าวอื่นๆ อย่างกรณีตำรวจสังหารประชาชนก็ใช้พาดหัวข่าวว่า "มีคนตายเมื่อวานนี้ในการยิงกันที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง" หรือแม้กระทั่งตอนที่ทหารยิงชาวปาเลสไตน์ซึ่งเป็นเรื่องเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็มีข้อความแค่ว่า "ผู้ประท้วงได้ตายไปแล้ว"
นาธาน เจ โรบินสัน บรรณาธิการ เคอร์เรนต์ แอฟแฟร์ส ระบุถึงพาดหัวข่าวเหล่านี้ว่า การใช้คำที่เน้นกรรมถูกกระทำแบบไม่มีประธานผู้กระทำเช่นนี้เป็นเครื่องมือของพวกโฆษณาชวนเชื่อทั่วโลกที่ไม่อยากยอมรับว่าตัวเองทำความผิดอะไรไป
ในเหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่รัฐบาลอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ไปราว 60 คน รวมถึงเด็กอายุ 8 เดือน นั้นโรบินสันตั้งข้อสังเกตว่าเขาเห็นการใช้พาดหัวข่าวแบบถูกกระทำน้อยลง เช่น วอชิงตันโพสต์ถึงขั้นโพสต์ตรงๆ ว่า "อิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ แต่นิวยอร์กไทม์ก็ยังคงพาดหัวข่าวกำกวมว่า "การประท้วงอย่างรุนแรงทำให้มีคนตายหลายสิบคน หลังจากที่มีการเปิดสถานทูตในเยรูซาเลม" ซึ่งคนอาจจะไม่รู้ว่าคนตายที่ว่าเหล่านี้คือผู้ประท้วงเอง แต่รูปประโยคกลับทำให้รู้สึกเหมือนผู้ประท้วงเป็นคนกระทำ ทั้งที่จริงๆ แล้วสไนเปอร์ของอิสราเอลเป็นผู้ก่อเหตุสังหาร แต่การใช้คำอย่าง "การประท้วงอย่างรุนแรง" ก็สะท้อนได้ว่าคนพาดหัวข่าวบิดเบือน ไม่ซื่อสัตย์
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าถึงแม้จำนวนผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์จะเยอะมากกว่าเหตุการณ์ที่เรียกว่า "การสังหารหมู่ในบอสตัน" เมื่อปี 2313 แต่ก็ไม่เคยมีการใช้คำว่า "การสังหารหมู่" ในพาดหัวข่าวของสื่อกระแสหลักเวลารายงานเรื่องปาเลสไตน์เลย และนี่ก็สะท้อนในเรื่องที่ว่าสื่อเหล่านี้พยายามนำเสนอความตายให้ดูคลุมเครือเหมือนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ
โรบินสันตั้งข้อสังเกตว่าการใช้คำแบบมีแต่ผู้ถูกกระทำเช่นนี้ยังสะท้อนความไม่แยแสต่อชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์ในสายตาของคนอเมริกันเองด้วย ถึงแม้ว่าความนิยมในตัวอิสราเอลจะลดลงแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการสนับสนุนการประท้วงของชาวปาเลสไตน์ในกาซามากพอถึงแม้ว่าพวกเขาจะประท้วงอย่างสงบและใช้วิธีการอารยะขัดขืนต่างๆ ก็ตาม สื่อกระแสหลักก็มักจะไม่นำเสนอปฏิบัติการที่สันติของพวกเขา แต่กลับปล่อยให้เกิดภาพจำซ้อนทับกับกลุ่มกบฏที่ใช้กำลังอย่างฮามาส แม้กระทั่งเบอร์นี แซนเดอร์ส ซึ่งเป็นนักการเมืองคนเดียวในสหรัฐฯ ที่ประณามความรุนแรงจากอิสราเอล แต่เขาก็ไม่วายพูดประณาม "ความรุนแรงจากฮามาส" เช่นกัน โดยไม่ได้พูดรายละเอียดถึงสัดส่วนความรุนแรงจากแต่ละฝ่าย
โรบินสันระบุอีกว่าถึงแม้ชาวกาซาจะต้องมีสภาพชีวิตอยู่ในแบบที่คล้าย "คุกแบบเปิด" และมีสาธารณูปโภคที่ย่ำแย่ พวกเขาต้องการชุมนุมเพื่อรำลึกครบรอบ 70 ปี ที่ถูกขับไล่ด้วยความรุนแรงออกไปจากถิ่นฐานของตัวเอง พวกเขาแค่พยายามข้ามเขตแดนที่กั้นพวกเขาไว้จากบ้านเกิดแม้จะถูกห้ามหรือกระทั่งถูกยิง แต่ก็มีการปราบปรามจากฝ่ายอิสราเอล โดยฝ่ายอิสราเอลก็มีข้ออ้างที่ฟังดูไม่น่าเชื่อถือในการอ้างความชอบธรรมใช้ความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ พวกเขาอ้างว่าทำไปเพื่อป้องกันตนเองจากการก่อการร้ายและความรุนแรงของชาวปาเลสไตน์ แม้แต่ "ความรุนแรง" จากนิยามของเจ้าหน้าที่ทางการอิสราเอลเองก็ระบุไว้ว่าหมายถงแค่การพังรั้ว เช่นในข้อความนี้ "ไม่ว่าคนๆ นั้นจะถือดอกไม้อยู่หรือไม่ก็ตามถ้าเขากำลังพังรั้วลง นั้นถือเป็นความรุนแรงที่เป็นภัยคุกคาม"
เรื่องนี้เทียบกับกรณีการสังหารหมู่ที่บอสตันนั้นต่างกัน ในกรณีของบอสตันซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี 2313 นั้น ทหารอังกฤษสังหารผู้ประท้วงปฏิวัติอเมริกันที่ต่อต้านทางการอังกฤษไป 5 ราย และทหารที่มีส่วนร่วมในการสังหารผู้คนในวันนั้นก็ถูกจับกุมฐานฆาตกรรมทันที แต่สหรัฐฯ ในวันนี้กลับไม่ยอมให้สหประชาชาติเข้าไปสืบสวนสอบสวนกรณีการสังหารหมู่จากอิสราเอล
โรบินสันตั้งข้อสังเกตอีกว่าในขณะที่ฝ่ายอิสราเอลและสื่อบางแห่งที่เล่นตามคำอ้างของอิสราเอลต่างก็ดำเนินไปตามข้ออ้างการสังหารผู้ชุมนุมจากฝ่ายอิสราเอลว่าทำไปเพื่อป้องกันตัวเองคล้ายคำกล่าวอ้างแบบที่ตำรวจสหรัฐฯ ยิงผู้ต้องสงสัย แต่ข้ออ้างเหล่านี้กลับละเลยที่จะมองจากมุมที่ว่าปาเลสไตน์เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกขับไล่และมีทรัพยากรในการใช้ความรุนแรงได้น้อยมากเมื่อเทียบกับกำลังความสามารถในการใช้ความรุนแรงของกองทัพอิสราเอล นอกจากนี้ยังมีมุมมองในเรื่องอคติทางเชื้อชาติระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตนที่สะท้อนออกมาในสื่อเหล่านี้ด้วย
เรียบเรียงจาก
Israel and the Passive Voice, Nathan J. Robinson, Current Affairs, 15-05-2018
https://www.currentaffairs.org/2018/05/israel-and-the-passive-voice
แสดงความคิดเห็น