Posted: 17 May 2018 11:18 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

  • ไม่รอกฎหมาย ใช้อำนาจ คสช. ประกาศเขตส่งเสริม 19 แห่ง 75,000 ไร่ ก่อนกฎหมายประกาศใช้ 7 วัน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวบ ทับซ้อน แย่งยึดอำนาจจากกฎหมายอื่น ตีตั๋วเปล่าประกาศเขตพัฒนาพิเศษเพิ่มได้โดยไม่ต้องผ่านสภาพ ประกาศผังเมืองได้เอง ใช้ที่ดิน สปก. ได้โดยไม่ต้องเพิกถอน ลดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม
  • รัฐบาลให้อำนาจ คสช. ประกาศเขตส่งเสริม 19 แห่ง เนื้อที่ 75,000 ไร่ ก่อนกฎหมายประกาศใช้ 7 วัน
  • พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มีเนื้อหาที่รวบ ทับซ้อน และแย่งยึดอำนาจจากกฎหมายอื่น
  • คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกสามารถประกาศเขตพื้นที่เพิ่มได้ในอนาคต ด้วยการใช้มติ ครม. ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยไม่ต้องผ่านสภา

และแล้วอภิโปรเจกต์ที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามทุกหนทางเพื่อผลักดันก็บรรลุผลอีกขั้น วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561

เป็นที่รับรู้มาก่อนหน้าแล้วว่า พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไว้สูงมาก นอกจากนี้ ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะประกาศใช้ รัฐบาล คสช. ยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง 3 ฉบับเพื่อเร่งให้นโยบายเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

1.คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

2.คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

3.คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

เมื่อดูเนื้อหากฎหมาย พบว่า หลายมาตราเป็นการนำคำสั่งที่ 2/2560 มาเขียนเป็นกฎหมายและให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายฯ ซ้อนทับกับกฎหมายอื่น หรืออาจเรียกได้ว่ามีอำนาจมากกว่า

ใช้คำสั่ง คสช. ประกาศเขตส่งเสริม ก่อนกฎหมายออก 1 สัปดาห์

น่าสังเกตว่า ก่อนประกาศใช้กฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพียง 1 สัปดาห์ คณะกรรมการนโยบายฯ ได้ใช้อำนาจตามคำสั่งที่ 2/2560 ออกประกาศถึง 19 ฉบับ กำหนดให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 19 แห่งเป็นเขตส่งเสริม รวมเนื้อที่กว่า 75,000 ไร่ ประกอบด้วย

1.นิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. ระยอง พื้นที่ 3,068 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา 2.นิคมอุตสาหกรรม ที เอฟ ดี 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ 841 ไร่ 42 ตารางวา 3.นิคมอุตสาหกรรมยามาโตะ อินดัสทรีส์ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 690 ไร่ 92 ตารางวา 4.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง พื้นที่ 1,357 ไร่ 1 งาน 54.7 ตารางวา 5.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (แหลมฉบัง) จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 704 ไร่ 6.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 3) จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,561 ไร่ 7.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 4) จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 653 ไร่ 3 งาน 93 ตารางวา 8.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 5) จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,472 ไร่ 2 งาน 1 ตารางวา 9.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร พื้นที่ 18,840 ไร่ 31 ตารางวา 10.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร (โครงการ 2) พื้นที่ 6,100 ไร่

11.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด พื้นที่ 8,003 ไร่ 12.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชระยอง 36 จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,281 ไร่ 1 งาน 42.4 ตารางวา 13.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) พื้นที่ 3,747 ไร่ 14.นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) พื้นที่ 9,689 ไร่ 15.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด พื้นที่ 8,003 ไร่ 16.นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 3 จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 2,198 ไร่ 17.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 2 จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 3,502 ไร่ 18.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรีแห่งที่ 2 พื้นที่ 632 ไร่ และ 19.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี พื้นที่ 3,482 ไร่

โดยในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มาตรา 67 ยังสำทับว่า ให้ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและเขตส่งเสริมตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงวันที่ 17 มกราคม พุทธศักราช 2560 เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ แล้วแต่กรณี ตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าคณะกรรมการนโยบายตามพระราชบัญญัตินี้จะได้มีมติให้ยกเลิกหรือกําหนดเป็นอย่างอื่น

ชวนให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลไม่ต้องการรอกฎหมายซึ่งอาจล่าช้าไม่ทันใจ จึงเร่งประกาศพื้นที่เขตส่งเสริมก่อนโดยอาศัยอำนาจของ คสช. หรือไม่

ตีตั๋วเปล่าประกาศเขตเพิ่ม-ลดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม

การประกาศเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ประกอบด้วยฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัตินี้ ในอนาคตเขตพัฒนาพิเศษอาจขยายออกไปอีก เพราะเนื้อหากฎหมายมาตรา 6 ระบุว่า ให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ‘และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กําหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก’ เท่ากับตีตั๋วเปล่าให้คณะรัฐมนตรีประกาศเขตเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสภา

ในส่วนที่จะส่งผลกระทบต่อธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมคือมาตรา 8 ที่มีการใช้ช่องทางพิเศษโดยกำหนดว่า โครงการที่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชํานาญการเป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นหรือความเห็นชอบรายงานของโครงการหรือกิจการนั้น และต้องดําเนินการให้เสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานที่ถูกต้องและมีข้อมูลครบถ้วน

เนื้อหากฎหมายมาตรา 6 ระบุว่า ให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ‘และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กําหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก’ เท่ากับตีตั๋วเปล่าให้คณะรัฐมนตรีประกาศเขตเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสภา

และกรณีที่ไม่มีผู้ชํานาญการสําหรับโครงการหรือกิจการใดหรือมีแต่ไม่เพียงพอ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีหน้าที่อนุญาตให้มีผู้ชํานาญการเพิ่มขึ้นให้เพียงพอโดยเร็ว โดยไม่ต้องเอาบทบัญญัติว่าด้วยการขอและการออกใบอนุญาต และคุณสมบัติของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีหน้าที่ศึกษาหรือจัดทํารายงานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมาใช้บังคับ และยังสามารถอนุญาตให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีหน้าที่ศึกษาหรือจัดทํารายงานได้

ให้อำนาจเหนือกฎหมายหลายฉบับ

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกยังมีอำนาจที่ซ้อนทับกับกฎหมายอื่น เช่น การจัดทำผังเมือง ในมาตรา 29 ให้สำนักงานฯ มีอำนาจจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม มาตรา 32 ยังกำหนด้วยว่า แผนผังที่จัดทําขึ้น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว ผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองในส่วนที่ใช้บังคับในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอยู่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแผนผังนั้นเป็นอันยกเลิกไป และให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดําเนินการจัดทําผังเมืองขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับแผนผังดังกล่าว ในระหว่างที่ยังจัดทําผังเมืองไม่แล้วเสร็จให้ถือว่าแผนผังที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองสําหรับแต่ละจังหวัดที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ในกฎหมายยังเขียนด้วยว่า คณะกรรมการนโยบายฯ สามารถพิจารณาอนุมัติหรืออนุญาตหรือให้ความเห็นชอบแทนหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายได้ แต่ต้องแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่มีอํานาจอนุมัติหรืออนุญาตหรือให้ความเห็นชอบตามกฎหมายนั้นทราบก่อนเข้าดําเนินการ และหน่วยงานของรัฐนั้นมีหน้าที่ให้ความร่วมมือและอํานวยความสะดวกแก่หน่วยงานของรัฐหรือสํานักงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี

นอกจากนี้ มาตรา 36 ยังให้อำนาจสำนักงานฯ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี สามารถเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ สปก. ที่ได้มาตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยไม่ต้องเพิกถอนเขตปฏิรูปที่ดินส่วนนั้น

ส่วนในมาตรา 43 ยังได้ให้อำนาจแก่เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นผู้มีอํานาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ หรือเป็นผู้มีอํานาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมาย 8 ฉบับ ประกอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเฉพาะเพื่อการอนุญาตให้คนต่างด้าวตามมาตรา 54 (1) หรือ (2) อยู่ต่อในราชอาณาจักร กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

มาตรา 59 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน

ธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน?

เห็นได้ว่า กฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายฯ และเลขาธิการไว้สูงมากในการอนุมัติ ลัดขั้นตอนต่างๆ ที่กฎหมายอื่นๆ กำหนดไว้ ซึ่งสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระที่ติดตามโครงการในภาคตะวันออกเรียกวว่า เป็นการรวบ ทับซ้อน และแย่งยึดอำนาจจากกฎหมายอื่น ทั้งยังทำลายธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน

“อย่างเรื่องการเช่าที่ดิน กฎหมายอีอีซีเขียนว่าสามารถเช่าได้ไม่เกิน 50 ปี ถ้าจะเช่าต่อก็สามารถเช่าได้อีก 49 ปี แต่ว่าผู้เช่าอาจเช่าถึงปีที่ 3 แล้วต่อสัญญาไปเลยอีก 49 ปี เป็น 99 ปี ซึ่ง พ.ร.บ.อสังหาฯ ทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องให้ครบ 50 ปีก่อนจึงจะต่อได้ เท่ากับเป็น พ.ร.บ. ให้เช่ายาวๆ ไปเลย ถือเป็นการแย่งยึดที่ดิน”

สมนึกยังกล่าวว่า แผนการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการหรือผังเมือง ทางคณะกรรมการนโยบายฯ ล้วนเป็นคนออกแบบเองทั้งสิ้น

“ไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ในอนาคตท้องถิ่นจะไม่มีอำนาจเลย อำนาจจะอยู่ในมือสำนักงานอีอีซี ที่ดิน ถมทะเล การพิจารณาอีไอเอ พื้นที่ สปก. ผังเมือง การควบคุมอาคาร ทั้งหมดจะอยู่ในมืออีอีซีทั้งหมด ทั้งที่เมื่อก่อนจะวิ่งไปที่จังหวัด”

สมนึกตั้งคำถามว่า

“ทั้งหมดนี้เป็นธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ประชาชนในพื้นที่ถูกกระทำมา 2 รอบแล้วจากอีสเทิร์นซีบอร์ดทั้ง 2 เฟส อีอีซีคืออีสเทิร์นซีบอร์ด เฟส 3 ตัวคำสั่ง คสช. เองก็เขียนว่าจะให้ประชาชนร่วมออกแบบ แต่ความจริงไม่ได้ทำแบบนั้น แต่ใช้วิธีกดทับลงมา กำหนดประเภทกิจการ กำหนดพื้นที่กันเอง ไม่เกิดกระบวนการรับฟังอย่างถูกต้อง กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่มีการกล่าวถึงสิทธิแรงงานเลย แบบนี้ถือว่าละเมิดแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนหรือไม่”

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.