Posted: 05 May 2018 12:58 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

‘สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย’ เรียกร้องให้มีการทบทวน ‘ร่าง พ.ร.บ. เงินทดแทน ฉบับปรับปรุง’ เพื่อให้ ‘ข้าราชการ’ และ ‘ลูกจ้างภาครัฐทุกประเภท’ เข้าระบบกองทุนเงินทดแทนที่คุ้มครองระยะยาวเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน เพิ่มเติมคำนิยาม ‘ลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐ’ ให้ครอบคลุมบุคคลที่ทำงานให้รัฐทุกประเภทไม่ว่าจะมีชื่อเรียกหรือสภาพการจ้างเป็นอย่างไรให้เกิดมาตรฐานในการตีความ เพื่อให้ทุกคนมี ‘สิทธิขั้นพื้นฐานที่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน’ เตรียมร่วมประชุมกับ กมธ. ร่างกฎหมาย 8 พ.ค. นี้

มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย และพันตำรวจโทหญิงฐชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ อุปนายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ข้าราชการ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ ขอให้ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐ ทุกประเภท เข้าระบบกองทุนเงินทดแทนที่คุ้มครองระยะยาว เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับที่ (..) พ.ศ.(....) ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2561 (ที่มาภาพ: สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย)

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย และพันตำรวจโทหญิงฐชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ อุปนายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ข้าราชการ เป็นตัวแทนสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือร้องทุกข์ขอให้ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทเข้าระบบกองทุนเงินทดแทนที่คุ้มครองระยะยาว เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ที่รัฐสภา

ทั้งนี้ได้มีการขอให้ทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากในมาตรา 4 การให้ความคุ้มครองข้าราชการและลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันจากการทำงานยังไม่ครอบคลุมกลุ่มลูกจ้าง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกจ้างประจำ กลุ่มลูกจ้างที่มีกฎหมายเว้นการเข้าถึงระบบกองทุนเงินทดแทน และลูกจ้างเหมาที่บางกรณีไม่มีทั้งระบบประกันสังคมและระบบกองทุนเงินทดแทน พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลถูกชนจากความเร่งรีบ ผู้ปฏิบัติงานภาครัฐเช่นเดียวกันแต่มีสถานะต่างกันจะได้รับการเยียวยาต่างกันหรือบางกลุ่มอาจไม่ได้รับสิทธิเยียวยาใดเลย

ดังนั้นสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้ กมธ. วิสามัญฯ ทบทวนหลักการ และแก้ไขเพิ่มเติมความคุ้มครองให้คนทำงานทุกประเภทมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน เป็นการขจัดความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และหลักทฤษฎีการประกันสังคมสากลที่จะต้องขยายความคุ้มครองแก่ประชากรทุกกลุ่มทุกคนในอนาคต

นอกจากนี้สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยเห็นว่าควรเพิ่มมาตราให้หน่วยงานหรือองค์กรที่รัฐมีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบให้ความคุ้มครองคุณภาพชีวิตแก่ลูกจ้าง หรือสมาชิกของตน ให้สามารถเข้าถึงระบบความคุ้มครองการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงานด้วยความสมัครใจ และต้องเข้าทั้งองค์กรเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มเติมคำนิยาม คำว่า “ลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐ” ให้ครอบคลุมบุคคลที่ทำงานให้รัฐทุกประเภทไม่ว่าจะมีชื่อเรียกหรือสภาพการจ้างเป็นอย่างไรเพื่อให้เกิดมาตรฐานในการตีความ

อนึ่งในวันที่ 8 พ.ค. 2561 นี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้เชิญตัวแทนสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงแก่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่อาคารรัฐสภา 2 เวลา 14.00 น.




หนังสือ ‘ขอร้องทุกข์ให้ทบทวน (ร่าง) พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.(....) ฉบับปรับปรุง’

ในอดีตเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2558 สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยร่วมกับ 39 องค์การผู้ปฏิบัติงานภาครัฐหลายกระทรวง ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรี (ผ่านหน่วยงานรับเรื่องร้องทุกข์ กทม.) ร้องทุกข์หลายประเด็น ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ร้องขอ คือ “ขอให้รัฐจัดสวัสดิการเพื่อคุ้มครองข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน” เช่น ประเทศเพื่อนบ้านและอารยประเทศทั่วไปมีการคุ้มครอง โดยขอเพียงมีสิทธิพื้นฐาน เช่น ลูกจ้างและประชาชน (รวมลูกจ้างต่างด้าว) ที่ได้รับการคุ้มครองจากพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537

คำร้องนั้นไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด สหภาพพยาบาลฯ จึงได้ร่วมกับสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขและสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการจัดทำบทวิเคราะห์สรุป (เอกสารที่ส่งมาด้วย 1) ศึกษาสถานการณ์ด้านกฎหมาย ระเบียบ การจัดการ และเปรียบเทียบการคุ้มครองฯ เสนอคำร้องต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเวลาหนึ่ง ผลคือ ไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด จึงประมวลเรื่องเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา) ขณะนั้น ได้รับคำตอบว่าเข้าใจปัญหาและได้ส่งเรื่องไปหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องแล้ว (เอกสารที่ส่งมาด้วย 2) เรื่องเงียบหายยาวนาน จึงได้นำเสนอทางเลือก โดยเสนอขอเข้าระบบกองทุนเงินทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล) ขณะนั้นแต่ไม่ได้รับความกรุณาให้เข้าพบ เพียงตอบเป็นหนังสือประกันสังคม ที่ รง 0607/15417 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 (เอกสารที่ส่งมาด้วย 3) มีนัยว่าจะขยายการคุ้มครองไปถึงลูกจ้างของส่วนราชการ ส่วนข้าราชการหรือลูกจ้างหรือพนักงานของส่วนราชการนั้น มีกฎหมายให้การคุ้มครองกรณีได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานอยู่แล้ว โดยมิได้เปรียบเทียบระบบการจัดการสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่และการจัดการเพื่อการเข้าถึงสิทธิว่าต่างกันอย่างไร เช่น การให้ความคุ้มครองข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐเป็นระบบสงเคราะห์ (Welfare) มิใช่สิทธิพื้นฐาน (Fundamental of Rights) ที่คนทำงานทุกประเภทควรได้รับเท่าเทียมกันก่อนการรับสิทธิสงเคราะห์ที่ไม่เท่าเทียมกันที่ตามหน่วยงานจัดให้ตามกรณีหรือตามสถานการณ์ของการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ จึงเป็นเพียงการสงเคราะห์เฉพาะเหตุเฉพาะกรณีและเป็นคราวเดียว หากพิการหรือตาย ในระยะยาวต้องใช้เงินบริจาคด้วยความเวทนาจากกลุ่มที่เคยทำงานด้วยกันและญาติมิตรเพื่อเลี้ยงชีพ ทายาทขาดการดูแลระยะยาวตามสิทธิ ตามปรัชญาสากลที่กำหนดให้การประกันสังคมตามอนุสัญญา 102 จะต้องมีการดูแลครอบครัว ตามควร(Family Allowance) ไประยะหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ทุกขเวทนาและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่การคุ้มครองลูกจ้างและประชาชนคนทำงานทั่วไป แม้กระทั่งแรงงาน ต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนทำงานตามกฎหมายก็ยังได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนเพื่อดูแลตนเองและดูแลทายาทในระยะยาวเป็นพื้นฐาน ดังนั้นกลุ่มผู้ร้องนอกจากจะเสียขวัญและกำลังใจในการเป็นพลเมืองไทย ที่เป็นข้าราชการและคนทำงานให้รัฐแล้ว การไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในหลักประกันชีวิตและการไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐให้มีความมั่นคงเช่นประชาชนทั่วไปในฐานะคนทำงาน (Worker) ผู้สร้างเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับเศรษฐกิจชาติ แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาคตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในเวทีโลกอีกด้วย

ขอกราบเรียนยกตัวอย่าง เช่น พยาบาลวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานในภาครัฐเช่นเดียวกันแต่มีสถานะต่างกันถึง 6 แบบ คือ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างจ้างเหมา เมื่อทำงานร่วมกันและหากเสียชีวิตร่วมกันจากการทำงาน เช่น เกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลถูกชนจากความเร่งรีบ จะได้รับการเยียวยาที่ต่างกัน เพราะไม่มีการจัดการให้มีสิทธิพื้นฐานที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันก่อนที่จะได้รับการดูแลจากสิทธิอื่นๆ ทั้งระบบสงเคราะห์บริจาค หรือระบบสวัสดิการของหน่วยงาน ที่จัดขึ้นเองที่สามารถแตกต่างกันได้อย่างมีเหตุผลและเป็นธรรม (ความแตกต่างที่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตยชึ่งอารยสังคมยอมรับ) บางกลุ่มก็ไม่ได้รับเลยก็มี ตามสถานการณ์ของหน่วยงานเป็นที่น่าสงสัยและสงสารเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยและสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการได้ติดตามเรื่องและได้รับทราบระดับหนึ่งจากวารสารประกันสังคม (เอกสารที่ส่งมาด้วย 4 ) ทราบตามข่าวว่าได้มีการเสนอร่างกฎหมายเงินทดแทนนี้แล้ว โดยมาตรา 4 ยังไม่ขยายความคุ้มครองให้ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐอีก 3 กลุ่มคือ กลุ่มลูกจ้างประจำ กลุ่มลูกจ้างที่มีกฎหมายเว้นการเข้าถึงระบบกองทุนเงินทดแทน และลูกจ้างจ้างเหมาที่บางกรณี ไม่มีทั้งระบบประกันสังคมและระบบกองทุนเงินทดแทนด้วย (มีการฟ้องศาลปกครองและมีคำพิพากษาตามเอกสารที่ส่งมาด้วย 8) กลุ่มผู้ร้องจึงได้มีหนังสือ ที่ สพยท 2/2561 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 (เอกสารที่ส่ง มาด้วย 5) เพื่อขอความกรุณาให้กระทรวงแรงงานทบทวนก่อนนำเสนอเข้าวาระการนิติบัญญัติ แต่กลุ่มผู้ร้อง ก็ไม่ได้รับคำตอบและไม่ได้รับความกรุณาให้เข้าพบแต่อย่างใด หลังวันที่ 23 มีนาคม 2561 (วันรับหลักการในวาระ 1 ของสภานิติบัญญัติ) จึงได้ทราบข่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้รับ (ร่าง) พ.ร.บ. ดังกล่าวในวาระ 1 ไปแล้ว อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา (ร่าง) ปรับปรุงพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องขอกราบเรียนให้คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้โปรดให้ความเมตตาทบทวนหลักการแก้ไขเพิ่มเติมความคุ้มครองคนทำงาน (Worker) ของประเทศทุกประเภทให้ถ้วนหน้า (Universal Coverage) ขจัดความเหลื่อมล้ำ โดยให้คนทำงานทุกคนมีสิทธิพื้นฐานจำเป็น (Basic Essential Benefits) ที่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน สร้างขวัญและศักดิ์ศรีของคนทำงานซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ พัฒนาระบบแรงงานให้เป็นที่ยอมรับของสากล ซึ่งจะเกิดผลดีต่อประเทศชาติดังนี้ :-

(1) ประหยัดและคุ้มค่าในการใช้งบประมาณภาครัฐ ด้วยสามารถกำหนดอัตราเงินสมทบหลัก และอัตราประสบการณ์แก่กลุ่มข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐเป็นกรณีพิเศษที่ให้เหตุผลต่อสังคมและวิชาการได้ตามหลักวิชาคณิตศาสตร์ประกันภัย สถานการณ์ของสังคม หลักการปกครองและอื่นๆ เป็นสหวิทยาการ ที่สามารถจัดการและออกแบบระบบการส่งเงินสมทบได้ว่าจะตั้งเป็นงบประมาณรวม จ่ายจากกรมบัญชีกลางโดยตรง หรือให้แต่ละหน่วยงานตั้งงบประมาณจ่ายเงินสมทบเข้าระบบกองทุนเงินทดแทนเป็นรายปีหรือออกแบบอื่นใดให้เหมาะสมกับ ประเภท งานราชการก็สามารถพิจารณากระทำได้ นอกจากนั้น กองทุนเงินทดแทนยังมีการลงทุนที่ปลอดภัย สร้างดอกผลให้เกิดการคุ้มครองที่เพียงพอและยาวนาน ย่อมเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตของพลเมืองโดยรัฐ ที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมหาศาลแก่ประเทศสืบไป

(2) เป็นการวางระบบการคุ้มครองการทำงานตามหลักสากลโดยมิต้องให้กระทบเงินกองทุนอื่นๆเช่นกองทุนประกันสุขภาพ (บัตรทอง) และเงินกองทุนประกันสังคม (กรณีเจ็บป่วย) ที่ปัจจุบันเกิดการใช้สิทธิผิดประเภท (Adverse Selection) และเงินงบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการจากกรมบัญชีกลางมาจ่ายเมื่อคนทำงานภาครัฐทุกประเภทเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน เป็นการใช้เงินค่ารักษาเยียวยาให้ถูกหลักการคุ้มครองคนทำงานที่เป็นสากล ถูกต้องตามหลักวิชาทางการเงิน การรักษาวินัยการเงินการคลัง และหลักรัฐประศาสนศาสตร์

(3) สร้างขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทเมื่อมีสิทธิเท่าเทียมพื้นฐาน เช่นลูกจ้างและประชาชนทั่วไปและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐ ให้ทัดเทียมหลายประเทศเพื่อนบ้านและอารยประเทศที่มีการคุ้มครองคนทำงานภาครัฐโดยเสมอภาค

(4) มีความสะดวกในด้านการจัดการ การเข้าถึงสิทธิด้วยมีหน่วยงานสำนักงานประกันสังคม กระจายทุกพื้นที่ทุกจังหวัด ส่งผลให้รัฐไม่ต้องจัดให้มีกองทุนใหม่ และสามารถใช้ระบบสารสนเทศ ตลอดจนทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของสำนักงานประกันสังคม วินิจฉัยเงินทดแทนได้รวดเร็วกว่าการใช้กฎหมายสงเคราะห์ต่างๆ ที่มีอยู่เดิม (ควรยกเลิกบางฉบับไป) เนื่องจากล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน (มีกฎหมายตั้งแต่ ปี 2498,2516,2546) เช่น การใช้สิทธิขอรับการสงเคราะห์ ต้องส่งเรื่องเข้าวินิจฉัยในส่วนกลางล่าช้า และข้าราชการและผู้บริหารส่วนใหญ่ ไม่ทราบสิทธิ จึงขาดการเสนอเรื่อง มีข้อจำกัดการเข้าถึงด้วยบุคคลที่จะขอรับได้จะต้องเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างที่จ้างด้วยเงินงบประมาณเท่านั้น การหลุดจากสิทธิขอรับการสงเคราะห์จึงมีหลายกรณี จากการเยี่ยมสำรวจของสหภาพพยาบาลและสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการพบว่า มีข้าราชการที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกฎหมายและระเบียบที่ภาครัฐมีอยู่ ได้รับแต่เพียง เงินบริจาคหลายราย และถึงแม้จะได้รับการสงเคราะห์ตามกฎหมาย ก็ได้รับการคุ้มครองคราวเดียว ส่งผลต่อการดำรงชีวิตลำบากในระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบจะพบว่าได้เงินสงเคราะห์น้อยกว่าสิทธิในระบบกองทุนเงินทดแทนหลายเท่า (เอกสารตามที่ส่งมาด้วย 1) หากเป็นกรณีตาย จะต่างกันกว่า 5 เท่า

(5) เป็นประวัติศาสตร์ของการปฏิรูปในการคุ้มครองคนทำงานภาครัฐทุกประเภทให้ทัดเทียมก้าวทันอาเซียนและอารยประเทศ เป็นลักษณะของการปฏิรูป (Reform) ที่สมบูรณ์

(6) สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ที่มีนัย คือ ไม่ต้องมีกฎหมายใหม่เกินความจำเป็น มีการทบทวนให้ทันสมัย ไม่ต้องจัดตั้งกองทุนใหม่ ประหยัด คุ้มค่า พัฒนาธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นหลักทฤษฎีของการประกันสังคมสากล ที่จะต้องขยายความคุ้มครองให้ถ้วนหน้าแก่ประชากรทุกกลุ่มทุกคนในอนาคต และเป็นนโยบายของรัฐบาลทุกยุคสมัยเสมอมา

อนึ่งกลุ่มผู้ร้องได้ศึกษาและตระหนักว่าการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ให้คุ้มครองข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทนี้ จะส่งผลกระทบต่อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ที่อาจต้องยกเลิก หรือปรับแก้บางมาตรา เพื่อสร้างระบบให้สมบูรณ์ จึงเป็นการยากที่จะ “ปฏิรูป” ในยุครัฐบาลปฏิรูปนี้ได้ทั้งหมด จึงขอกราบเรียนเป็นข้อเสนอว่า เพื่อเปลี่ยนผ่านการขยายความคุ้มครองของพระราชบัญญัติเงินทดแทน อาจเพิ่มมาตราที่เปิดทางให้หน่วยงานหรือองค์กรที่รัฐมีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบให้ความคุ้มครองคุณภาพชีวิตแก่ลูกจ้างหรือ ผู้รับจ้างเหมาหรือสมาชิกของตน เข้าระบบความคุ้มครองการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงานได้โดยสมัครใจ แต่ต้องเข้าทั้งองค์กรเท่านั้น รอเวลาให้หน่วยงานและองค์กรแก้กฎหมายของตนเองหรืออาจใช้อำนาจของ คสช. (มาตรา 44) เพื่อปรับระบบกฎหมายและแนวปฏิบัติต่างๆได้ หรืออาจมีทางเลือกอื่นๆ ตามที่ท่านเห็นควรให้เกิดความคุ้มครองพื้นฐานเท่าเทียมจากรัฐ ขอให้เพิ่มเติม คำนิยาม คำว่า“ลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐ” ให้ครอบคลุมคนทำงานให้รัฐทุกประเภทไม่ว่าจะมีชื่อเรียกหรือสภาพการจ้างเป็นเช่นใด ให้เกิดมาตรฐานในการตีความ ในอนาคต ผู้ร้องและข้าราชการทุกคนตลอดจนคนทำงานภาครัฐทุกกลุ่มผู้ตกจากสิทธิ ตามร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงเงินทดแทนฉบับนี้ ใคร่ขอความเมตตาได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง อันจะเป็นประวัติศาสตร์ ของระบบแรงงานของประเทศไทยสืบไป


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.