กลาง: อานดี้ ฮอลล์ (แฟ้มภาพ: 29 ต.ค. 57)
Posted: 18 May 2018 04:17 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
คณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติระบุ กังวลการใช้กฎหมายฟ้องปิดปากนักปกป้องสิทธิฯ หวั่นลดทอนความชอบธรรมการทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน แนะรัฐบาลปรับปรุงกฎหมายและวิธีพิจารณาความแพ่ง อาญา ป้องกันบริษัทเอกชนใช้หมิ่นประมาทในทางที่ผิด
เมื่อ 17 มี.ค. มีแถลงการณ์จากคณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเจนีวา (17 พฤษภาคม 2561) – คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN)* วิจารณ์การใช้บทบัญญัติทางกฎหมายในประเทศไทยว่าด้วยการหมิ่นประมาทเพื่อปิดปาก อานดี้ ฮอลล์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักปกป้องฯ คนอื่นๆ ที่รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ
ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 อานดี้ต้องเผชิญกับคดีแพ่งและอาญาหลายคดีจากการเปิดเผยข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติในบริษัทไทยหลายบริษัท
คณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ กล่าวว่าการดำเนินคดีเขาถือเป็นคดีสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงการฟ้องคดีเพื่อสกัดการมีส่วนร่วมของสาธารณะ (strategic lawsuits against public participation- SLAPP) อันกำลังเพิ่มจำนวนสูงขึ้นในประเทศไทย คดีเหล่านี้ดำเนินการฟ้องร้องโดยบริษัทธุรกิจหลายแห่งเพื่อกลบเสียงความกังวลใจอันชอบธรรมเกี่ยวกับสภาพการทำงานในบางอุตสาหกรรม
“เป็นเรื่องน่ากังวลยิ่งที่เราเห็นการใช้คดีหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือในการลดทอนความชอบธรรมของสิทธิและเสรีภาพของชุมชนและผู้ครอบครองสิทธิ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นผู้ที่มาจากกลุ่มเปราะบางที่สุดของสังคม ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกใช้เพื่อตอบสนองต่อการทำให้การทำงานอันชอบธรรมด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอาชญากรรมเท่านั้นและอาจเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อของพวกเขา” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว
“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุชัดว่า รัฐทั้งหลายพึงพิจารณาว่าทั้งการลงโทษคดีหมิ่นประมาทหรือแม้กระทั่งในคดีร้ายแรงที่สุด การจำคุกเป็นอัตราโทษที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรัฐบาลไทยในการปรับปรุงกฎหมายแพ่งและอาญารวมทั้งวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญาเพื่อป้องกันการใช้บทบัญญัติว่าด้วยการหมิ่นประมาทในทางที่ผิดโดยบริษัทเอกชน” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวเสริม
คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและบรรษัทข้ามชาติและกิจการธุรกิจอื่นๆ เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 26 มี.ค. ถึง 4 เม.ย. 2561 “ในระหว่างการปฏิบัติภาระกิจครั้งนี้ ทางคณะทำงานฯ ได้หยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาทเสนอต่อรัฐบาลไทยและได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรับรองว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องประสานความร่วมมือกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการป้องกัน ลดทอนและเยียวยาผลกระทบทางลบต่อสิทธิมนุษยชน” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว
อานดี้ถูกดำเนินคดีเมื่อเดือน ก.ย. 2559 ในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและฐานความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อันเนื่องมาจากการทำงานของเขาในตำแหน่งนักวิจัยชั้นต้นของรายงานชื่อ “Cheap has a high price” ที่ตีพิมพ์โดยฟินน์วอท์ช องค์กรเอกชนจากประเทศฟินแลนด์ ทั้งนี้รายงานฉบับดังกล่าวบันทึกข้อกล่าวหาร้ายแรงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนประกอบด้วย การค้ามนุษย์แรงงานข้ามชาติโดยบริษัทผลิตอาหารแห่งหนึ่งของไทย คดีดังกล่าว เขาถูดตัดสินจำคุก 4 ปี รวมทั้งถูกสั่งปรับเป็นเงิน 200,000 บาท (5,200 ยูโร) ต่อมามีการลดโทษลงเหลือโทษจำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี และปรับ 150,000 บาท
วันที่ 26 มี.ค. 2561 ศาลฎีกาสั่งให้อานดี้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 10 ล้านบาท (ราว 320,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่บริษัท เนเชอรัล ฟรุ๊ต จำกัด ในคดีหมิ่นประมาททางแพ่ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายทางคดีและค่าธรรมเนียมศาลด้วย
ก่อนหน้านี้ เขาเพิ่งถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทอีกคดีใหม่โดยบริษัทธรรมเกษตร จำกัด โดยทั้งที่คดีกับบริษัทเนเชอรัล ฟรุ๊ต ยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ อานดี้เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อเดือน พ.ย. 2559 โดยอ้างว่าเขาไม่สามารถทนทานการคุกคามโดยใช้กระบวนการทางศาลได้
ข้อกล่าวหาใหม่ของอานดี้เกี่ยวข้องกับการทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ 14 รายที่รายงานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์แรงงานจากสภาพการทำงานที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ธรรมเกษตร แรงงานข้ามชาติยื่นคำร้องอุทธรณ์ขอความเป็นธรรมในในคดีดังกล่าวซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทกลับดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาททางอาญากับแรงงานข้ามชาติทั้ง 14 ราย รวมทั้งข้อหาให้การอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานด้วย
“เราขอแสดงความกังวลอย่างจริงจังกับผลกระทบจากการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ซึ่งพยายามเปิดเผยและบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและในต่างประเทศ” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว
“ธุรกิจวิสาหกิจ มีหน้าที่หลีกเลี่ยงการเป็นตัวการ หรือ มีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายในมิติด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้นจึงเป็นแนวโน้มที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่ยังพบเห็นบริษัทธุรกิจแจ้งความดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการประสานงานในกิจกรรมที่มีความชอบธรรม” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว
“คดีต่างๆ ที่ดำเนินอยู่กับอานดี้ และกับแรงงานผู้ซึ่งยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดจากสภาพการทำงานอาจยิ่งส่งเสริมให้บริษัทอื่นๆ กล้าฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาททางแพ่งและอาญาคล้ายๆ กันนี้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ซึ่งจะสร้างผลกระทบและความเสียหายต่อการทำงานอันสำคัญและมีความชอบธรรมในการยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวสรุป
*คณะผู้เชี่ยวชาญ: Mr. Michel Forst, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน; Mr. Clement Nyaletsossi Voule, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติและการสมาคม; Mr. Felipe Gonzalez Morales, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ; Mr. Urmila Bhoola, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยรูปแบบร่วมสมัยของการใช้แรงงานทาส รวมทั้งสาเหตุและผลต่อเนื่อง; Ms. Maria Grazia Giammarinaro, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก; Mr. Dante Pesce, รองประธานคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและบรรษัทข้ามชาติและกิจการธุรกิจอื่นๆ
ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของ กลไกพิเศษ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนกลไกพิเศษนี้ เป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ที่สุดที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระในระบบสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นชื่อเรียกโดยทั่วไปของกลไกของคณะมนตรีฯ ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนซึ่งทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ในประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ หรือทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ตามกลุ่มประเด็นจากสถานการณ์ทุกส่วนของโลก คณะผู้เชี่ยวชาญของกลไกพิเศษเหล่านี้ทำงานบนพื้นฐานอาสาสมัครกล่าวคือ พวกเขามิใช่เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ และมิได้รับเงินเดือนจากการทำงาน พวกเขาเป็นอิสระจากรัฐใดๆ หรือองค์กรใดที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในฐานะปัจเจก (ส่วนตัว)
แสดงความคิดเห็น