Posted: 27 Oct 2017 09:21 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
เมียนมาพิสูจน์สัญชาติทะลุ 5.3 แสน ก.แรงงานย้ำประมงต่ออายุก่อน 1 พ.ย.
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวลือว่าทางการเมียนมาจะปิดศูนย์ตรวจสัญชาติจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานขอยืนยันว่าศูนย์ฯ ยังคงให้บริการตามปกติ และเตรียมจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งเป็น 11 ศูนย์ ที่จังหวัดปทุมธานีและนนทบุรีในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะทำให้การตรวจสัญชาติของเมียนมาเสร็จเร็วยิ่งขึ้น โดยขณะนี้มีแรงงานเมียนมาเข้ารับการตรวจสัญชาติและได้รับหนังสือรับรองบุคคล (CI) แล้วจำนวน 531,059 คน แบ่งเป็นกลุ่มบัตรสีชมพู จำนวน 413,048 คน กลุ่มที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง (ใบจับคู่) จำนวน 118,011 คน ปัจจุบันศูนย์ตรวจสัญชาติเมียนมามี 9 ศูนย์คือ 1. ศูนย์ฯ จังหวัดสมุทรสาคร (แห่งที่ 1) ข้างโรงแรมนิวเฟรนด์ ต.ท่าจีน อ.เมือง 2. ศูนย์ฯ จังหวัดสมุทรสาคร (แห่งที่ 2) สถานีขนส่งจังหวัดสมุทรสาครเก่า ข้างตลาดทะเลไทย ต.ท่าจีน อ.เมือง 3. ศูนย์ฯ จังหวัดสมุทรปราการ เลขที่ 1467 หมู่ 1 ถ.เทพารักษ์ ต.เทพารักษ์ อ.เมืองสมุทรปราการ 4. ศูนย์ฯ จังหวัดเชียงราย เลขที่ 889/6-7 หมู่ 9 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย
5. ศูนย์ฯ จังหวัดตาก เลขที่ 298 หมู่ 2 ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด 6. ศูนย์ฯ จังหวัดระนอง เลขที่ 89/150 ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง 7. ศูนย์ฯ จังหวัดเชียงใหม่ อาคารปรับปรุงคุณภาพ ศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ เลขที่ 230 หมู่ 1 ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ 8. ศูนย์ฯ จังหวัดนครสวรรค์ เลขที่ 135 หมู่ 2 ต.กลางแดด อ.เมืองนครสวรรค์ และ 9. ศูนย์ฯ จังหวัดสงขลา ตลาดฟุกเทียน เลขที่ 99 หมู่ 3 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่
“แรงงานเมียนมาสามารถไปจ่ายค่าธรรมเนียม CI จำนวน 310 บาท ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส (เซเว่น อีเลฟเว่น) ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยขณะนี้สามารถเลือกศูนย์ตรวจสัญชาติได้ที่ศูนย์ฯ จังหวัดเชียงราย สงขลา และนครสวรรค์ ส่วนศูนย์ฯในจังหวัดที่ปิดบริการชั่วคราวเนื่องจากคิวล้นเกินจำนวนรับได้จนต้องเคลียร์คิวที่ค้างให้จบก่อนนั้นจะเร่งเปิดให้เร็วที่สุด และขอย้ำให้กลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำที่ใบอนุญาตการทำงานจะหมดในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ให้รีบมาดำเนินการตรวจสัญชาติให้แล้วเสร็จ ซึ่งหากมาดำเนินการทันเวลาที่กำหนดก็จะสามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้อีก 2 ปี จนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562” นายวรานนท์กล่าว
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/10/2560
กนอ. แจงเหตุนิคมฯอมตะนคร สารเคมีรั่วไหล สั่งปิด 30 วัน จัดทำแผนปรับปรุง-ป้องกันเกิดเหตุซ้ำ
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า วันที่ 25 ต.ค. 2560 สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครได้รับแจ้งเหตุสารเคมีรั่วไหลจากโรงงานของ บริษัท ไทยเมกิ (2012) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี เมื่อเวลา 10.15 น. จึงเร่งเข้าพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบโดยเบื้องต้นพบว่า โรงงานดังกล่าวประกอบกิจการชุบโลหะมีพนักงานอยู่จำนวน 100 คน
ซึ่งเหตุการณ์สารเคมีคือ กรดไนตริกเกิดปฏิกิริยาเป็นกลุ่มควันลอยขึ้นจากปล่องระบายอากาศของโรงงาน เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทางบริษัทฯ รวมถึงหน่วยงานบรรเทาสาธารณะภัย จากนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และเทศบาลดอนหัวฬ่อ ได้เร่งทำการควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวได้ภายใน 45 นาที
“เหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลดังกล่าว กนอ. ได้ส่งรถตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศของพื้นที่โดยรอบโรงงาน นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครยังมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่สามารถรายงานผลคุณภาพอากาศแบบออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม. ซึ่งผลจากการตรวจสอบคุณภาพอากาศดังกล่าวพบว่าอยู่ในภาวะปลอดภัย สารเคมีที่รั่วไหลมีปริมาณน้อยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อ โรงงานอุตสาหกรรมใกล้เคียง ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการเข้าระงับเหตุควบคุมสถานการณ์จากศูนย์ควบคุมและบรรเทาสาธารณะภัยอมตะนคร เทศบาลตำบลดอนหัวฬ่อ สิ่งแวดล้อมภาค 13 สิ่งแวดล้อมจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยรวดเร็ว อีกทั้งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ในการเข้า ระงับฉุกเฉินขั้นวิกฤต” นายวีรพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ กนอ. ใช้มาตรา 39 ตาม พ.ร.บ. โรงงาน สั่งการให้บริษัท ไทยเมกิ (2012) จำกัด หยุดประกอบกิจการ 30 วัน เพื่อตรวจสอบความเสียหายและปรับปรุง ซ่อมบำรุงระบบการผลิต ให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งบริษัทจะต้อง ชี้แจงรายละเอียดสาเหตุการเกิดเหตุ พร้อมทั้งจัดทำแผนปรับปรุงระบบให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย ต่อ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พิจารณาก่อนอนุญาตให้เปิดดำเนินการในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ในวันที่ 26 ต.ค. 2560 สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครและนิคมฯอมตะ จะนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่รอบโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ชุมชนต่อไป
ที่มา: ข่าวสด, 25/10/2560
'นายกฯ' แจง รบ.ยังไม่ไฟเขียวปรับเพดานเงิน 'กองทุนประกันสังคม'
นายกรัฐมนตรี ย้ำรัฐบาลไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อน แจงเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่ม เป็นเพียงการหารือ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เตรียมเรียกเก็บเงินเพิ่มเข้ากองทุนประกันสังคมจากสูงสุด 750 บาท เป็น 1,000 บาท ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการทำอะไรทั้งสิ้น เพราะเป็นเพียงการหารือ และที่ผ่านมามีการหารือมากว่า 15 ปีแล้ว ดังนั้นต้องมีความเข้าใจให้มากขึ้น และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น ยืนยันรัฐบาลชุดนี้ไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร แต่รับฟังปัญหานำมาแก้ทุกปัญหา แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเป็นจำและสาเหตุ และขอให้เข้าใจรัฐบาลด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช.ยังหารือถึงการรับฟังความเห็นของผู้ด้อยโอกาสและคนพิการเกี่ยวกับการรับเบี้ยประกันที่มีอยู่ 2 ทาง คือ 1. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. และ2. กองทุนประกันสังคม ซึ่งได้เห็นชอบร่วมกันเพื่อร่างคำสั่งให้เลือกได้ตามความสมัครใจ โดยให้ระยะเวลา 1 ปีในการตัดสินใจ
ที่มา: VoiceTV, 24/10/2560
กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครชายไทยไปฝึกงานญี่ปุ่น 3 ปี มีเบี้ยเลี้ยง-เงินเดือน
กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM Japan ตำแหน่งคนงานทั่วไป ระยะเวลาฝึกงาน 3 ปี มีเบี้ยเลี้ยงตลอดการฝึกงาน ฝึกครบได้รับใบประกาศนียบัตร และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพ 600,000 เยน สมัครฟรี 30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2560
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกงานปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM Japan ตำแหน่งคนงานทั่วไป ระยะเวลาฝึกงาน 3 ปี โดย IM ประเทศญี่ปุ่น จะจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ (กรุงเทพฯ – โตเกียว – กรุงเทพฯ) และได้รับเบี้ยเลี้ยงตลอดการฝึกงาน โดยในเดือนแรกได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 80,000 เยน หรือประมาณกว่า 23,000 บาท และรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ยกเว้นค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายส่วนตัว เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 จะฝึกปฏิบัติงานเทคนิคภายใต้สัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงานญี่ปุ่น ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคจะต้องรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และค่าประกันสังคม รวมทั้งค่าภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อสำเร็จการฝึกปฏิบัติงานแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน พร้อมเงินสนับสนุนในการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับประเทศไทยอีกจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณกว่า 175,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2560) คุณสมบัติเป็นเพศชาย อายุ 20 – 30 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่จำกัดสาขาวิชา ส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 160 ซม. สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ สายตาปกติ และตาไม่บอดสี พ้นภาระการรับราชการทหาร ไม่มีรอยสัก หรือความผิดปกติทางร่างกาย ไม่มีความประพฤติเสียหาย และไม่เคยเข้าเมืองหรือทำงานโดยผิดกฎหมายในประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศอื่น ๆ และไม่เคยไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่นโดยใช้วีซ่าประเภท Technical lntern มาก่อนหรือเป็นผู้ต้องห้ามในการเข้าประเทศญี่ปุ่น
นายวรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สนใจสามารถสมัครได้ด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้แก่ ใบสมัครสอบคัดเลือก รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก และไม่สวมแว่นตาดำ ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 รูป สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หลักฐานการศึกษา หลักฐานการพ้นภาระการรับราชการทหาร ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าสุขภาพแข็งแรง สายตาปกติและตาไม่บอดสี ประวัติส่วนตัว ใบผ่านงาน (ถ้ามี) ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าผู้สมัครรายใดขาดคุณสมบัติ ข้อใดข้อหนึ่งจะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการทันที สมัครตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2560 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น สมัครได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 8 ภายในกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02 245 1186 หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 25/10/2560
กสร.เตือนลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับสารเคมีต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยฯ
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 กำหนดให้นายจ้างจัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามลักษณะอันตรายและความรุนแรงของสารเคมีอันตราย หรือลักษณะของงานให้ลูกจ้างสวมใส่เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกายและสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายอนันต์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายเมื่อนายจ้างได้จัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้แล้วต้องสวมใส่ทุกครั้งเมื่อปฏิบัติงาน ทั้งนี้หากลูกจ้างไม่ปฏิบัตินายจ้างมีสิทธิสั่งให้ลูกจ้างหยุดการทำงานทันทีจนกว่าลูกจ้างจะได้ใช้หรือสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว หากนายจ้าง ลูกจ้างมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่กองความปลอดภัยแรงงาน โทร.0 2448 9128-39 หรือที่หน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศ
ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 25/10/2560
ประกาศแล้ว! ม.44 ผู้พิการประกันสังคม มีสิทธิเลือกรับบริการสาธารณสุขบัตรทองหรือไม่ก็ได้
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 45/2560 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 โดยที่สมควรปฏิรูประบบการช่วยเหลือคนพิการ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วย การประกันสังคมให้สามารถเลือกรับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ได้โดยสะดวกตามความสมัครใจ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถพึ่งพาตนเองได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจน ไม่เกิดอุปสรรคในการดํารงชีวิต การประกอบอาชีพ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 1 และข้อ 2 ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ลงวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2559 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน
“ข้อ 1 นอกจากประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทํางานตามมาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 แล้ว ให้คนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ ให้คนพิการดังกล่าวแสดงความประสงค์ใช้สิทธิเลือกรับประโยชน์ทดแทนหรือรับสิทธิบริการสาธารณสุขได้เพียงสิทธิเดียวในการเลือกรับสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สํานักงานประกันสังคมกําหนด โดยให้แสดงความประสงค์เลือกใช้สิทธิหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิที่เลือกได้เป็นรายปีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคสอง ต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 2 ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสาธารณสุขที่จ่ายให้สําหรับคนพิการที่เลือกรับสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้จ่ายจากกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กระทรวงการคลังประกาศกําหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ โดยมิให้นํามาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ในส่วนที่เป็นวัตถุประสงค์ของกองทุนประกันสังคมมาใช้บังคับกับการจ่ายเงิน ค่าใช้จ่ายสําหรับคนพิการที่เลือกรับสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมให้เป็นไป ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม”
ข้อ 2 ให้ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ออกตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ลงวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2559 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคําสั่งนี้ จนกว่าจะมีประกาศที่ออกตามข้อ ๒ ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ลงวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งนี้ใช้บังคับ
ข้อ 3 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 25 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ, 25/10/2560
เปิดแล้ว ! ศูนย์ OSS เมียนมา ที่ปทุมธานี -นนทบุรี เริ่ม 1 พ.ย. นี้
ทางการเมียนมาเปิดให้บริการพิสูจน์สัญชาติแรงงานเพิ่มอีก 2 แห่งที่ ศูนย์การค้าเดอะสแควร์ บางใหญ่ จ.นนทบุรี และที่ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต จ.ปทุมธานี เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 นี้ โดยสามารถรองรับคิวที่ตกค้าง 20,000 คน ได้ประมาณ 500 คิวต่อวัน แรงงานเมียนมากลุ่มผ่านการคัดกรองฯ รีบไปจองคิวได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดและสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2560
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า ทางการเมียนมาพร้อมเปิดจุดให้บริการพิสูจน์สัญชาติแรงงานเพิ่มอีก 2 แห่งที่ ศูนย์การค้าเดอะสแควร์ บางใหญ่ เลขที่ 99 ม.12 ถ.ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และที่ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต ถ.พหลโยธิน ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 นี้ ซึ่งทั้ง 2 ศูนย์จะสามารถให้บริการได้ศูนย์ละประมาณ 500 คนต่อวัน โดยในช่วงแรกจะดำเนินการให้กับแรงงานเมียนมากลุ่มที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง (ใบจับคู่) ที่จ่ายค่าธรรมเนียมหนังสือรับรองบุคคล (CI) ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส (เซเว่น อีเลฟเว่น) และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานแล้ว แต่ยังไม่ได้คิวเข้าไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติและขอใบอนุญาตทำงานที่ศูนย์บริการเพื่อการทำงานของคนต่างด้าว สัญชาติเมียนมา (OSS) ที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว 9 แห่งได้เนื่องจากคิวเต็ม ซึ่งมีจำนวนประมาณ 20,000 คน ให้ไปติดต่อเพื่อลงนัดคิวการพิสูจน์สัญชาติและขอใบอนุญาตทำงานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ได้ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2560 โดยเลือกศูนย์ OSS ที่จังหวัดปทุมธานี หรือนนทบุรี ทั้งนี้ เมื่อแรงงานที่ลงนัดคิวแล้วขอให้ไปเข้ารับบริการตรงตามกำหนดวันนัด ซึ่งขณะนี้ มีแรงงานเมียนมาไปจ่ายค่า CI แล้ว จำนวน 295,000 คน คงเหลืออีกจำนวน 125,000 คน
กระทรวงแรงงานจึงขอประชาสัมพันธ์ให้แรงงานเมียนมาเร่งไปดำเนินการชำระเงินค่า CI และค่าใบอนุญาตทำงานที่เซเว่น อีเลฟเว่น และเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยสามารถเลือกศูนย์ OSS ได้ทุกศูนย์ นายวรานนท์ กล่าว
ที่มา: VoiceTV, 27/10/2560
แสดงความคิดเห็น