Posted: 24 Oct 2017 10:29 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย

หลักการในการแขวนป้ายชื่อของรุ่นน้องที่รุ่นพี่มักจะอ้างกันก็คือการให้รุ่นพี่สามารถจำชื่อน้องได้ง่ายขึ้น โดยที่ไม่ต้องถามน้องให้วุ่นวาย

ผมเชื่อว่าในหลายคณะทุกวันนี้นักศึกษาปีหนึ่งก็ยังจะต้องห้อยป้ายชื่ออยู่ โดยที่รุ่นพี่ก็ยังจำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม (จะจำได้ก็ด้วยความสนิทส่วนตัวหรือสาขาวิชานั้นมีจำนวนหยิบมือเดียว)

เหตุผลก็คือสภาพสังคมไม่ได้เอื้อให้เราปฏิสัมพันธ์กันเท่าไหร่นัก เพราะแต่ละบุคคลก็มีหน้าที่เฉพาะตนอยู่แล้ว เช่น ปี 4 ก็ทำสัมมนาวิจัย และต้องไปฝึกงานต่างๆ ปีสามก็ต้องเร่งงานวิจัยและภาระอีกมากมาย โน่นนี้นับประการ ซึ่งก็จะมีเพียงปีสองเท่านั้นที่เป็น ผู้สร้างกิจกรรมที่ชัดเจนซึ่งมีรุ่นพี่มาเป็นตัวประกอบบางส่วนเท่านั้น นี่ยังไม่รวมวัฒนธรรมของมหา'ลัย สภาพแวดล้อม การนอนหอพักนอก-ในต่างๆ ที่จะทำให้ การรวมหมู่สร้างปฏิสัมพันธ์ไม่ค่อยได้มีโอกาสนัก แต่นั้นก็เป็นเรื่องปกติของสังคมที่กว้างออกไป

การสร้างมิตรควรเกิดจากการเดินเข้าไปทำความรู้จัก ถามชื่อพูดคุยต่างๆ มากกว่าที่จะมาบอกว่าเห้ยคุณต้องห้อยป้ายนะ ไม่งั้นเดี๋ยวผมจำคุณไม่ได้ เพราะอะไรที่มันง่ายคนมักไม่จำ

ส่วนตัวผมคนนึงแหละไม่เคยมองป้ายชื่อรุ่นน้องเลยว่ามันชื่ออะไร เพราะผมไม่เคยใส่ใจและไม่ใช่สาระอะไร คนเราทักทายต้องมองหน้าไม่ใช่มองนม และหากสนใจมากๆมันดันส่งผลทางจิตวิทยาด้วย ไม่ต้องอะไร คุณลองให้ใครก็ได้ ตามมองคุณทั้งวัน คุณจะรู้สึกว่าโดนคุกคามแน่ๆ (โดยเฉพาะป้ายชื่อแปลก เบ้นเอ๋อ,หมีหมา,มาโนช,และป้านขนาดมหึมาต่างๆที่เดินผ่านแทบไม่เห็นเสื้อปี1เลยเพราะป้ายบังไว้)

ป้ายชื่อจึงเป็นสัญลักษณ์ของมิติในทางอำนาจการสยบยอมต่าง มันเป็นการลดความเป็นปัจเจกบุคคล สิทธิความเป็นส่วนตัวลง นี่คือผลที่ทางจิตวิทยา

ทำไมเราจะต้องลดความเป็นส่วนตัวของเราด้วยการประกาศชื่อให้คนหมู่มากรู้ด้วย และทำไมรุ่นพี่จึงไม่แขวนอย่างเราบ้าง ทั้งที่เราก็อยากรู้จักเขาอยู่ไม่น้อย

มันจึงเกิดข้อสงสัย ทำไมเราต้องแบกรับความไม่เป็นส่วนตัวกับแค่การอยากรู้จักเราของใครบางคน มันรู้สึกไม่เป็นธรรมไปหน่อยถ้าเราจะต้องนำเสนอตัวเองตลอดเวลานะ เพื่อที่เขาจะได้รู้จักเฉพาะช่วงตอนที่เขาอยากจะรู้จักเรา

เมื่อความเป็นปัจเจกลดน้อยลงการแขวนป้ายชื่อหมู่มากจึงเป็นการไปสร้างเอกภาพเล็กๆ ซึ่งให้ความสามัคคีที่อยู่ใต้มิติของอำนาจ ทุกคนเสมอเหมือนกันหมด ความแตกต่างทางความคิด ก็จะถูกลดระดับลงในเบื้องต้น เมื่อกิจกรรมอื่นๆ มาผนวกซ้ำเข้าไปอีก ก็จะค่อยๆ ลดตัวตนลงไปอีกเรื่อยๆ จนเหลือแค่ภาพของความเป็นเอกภาพของรุ่น สาขาและคณะต่อไป.

ในหนังสือ"ก็ไพร่นี่คะ" ของลักขณา ปันวิชัย ได้บอกไว้ว่า มีแต่สัตว์ในฟาร์มเท่านั้นแหละที่มีซีเรียลนัมเบอร์ห้อยติดอยู่ นั่นก็อาจเป็นการให้เหตุผลเชิงประชดประชันมากกว่าถึงแม้ปัจจุบันการห้อยป้ายจะมีบริษัทต่างๆ ในพนักงานคล้องไว้ นั่นก็เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของการทำงาน ที่นายจ้างมิได้มีปฏิสัมพันธ์ชิดเชื้อ ส่วนใหญ่จะใช้ในองค์กรที่มีขนาดใหญ่ หรือการออกอีเวนท์จัดงานภายนอก ที่สะดวกต่อการทำงานและประหยัดเวลา แต่ในลักษณะนี้ก็ย่อมแตกต่างกันสิ้นเชิงในกระบวนการทำความรู้จักกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในสถานศึกษา

บางมหาวิทยาลัยจะไปซื้อข้าวเดินตลาดหรือแม้แต่เข้าห้องสอบก็ยังจะต้องให้นักศึกษารุ่นน้องแขวนป้ายชื่อ หากเจอใครที่ไม่แขวนป้ายชื่อ รุ่นพี่จะเข้าไปกดดันทันที คือต้องแขวนตั้งแต่ตื่นนอน ยันเข้านอนในวันวันหนึ่ง

คำถามก็คือเรื่องแบบนี้มันยังอยู่ในจุดมุ่งหมายของการอยากให้รู้จักกันจริงๆหรือเปล่า

หากพิจารณาดูแล้ว การอยากจะรู้จักใครของใครสักคนนั้นต้อง เป็นหน้าที่ ของคนที่อยากจะรู้จักเองในการเข้าหา คนที่ตนอยากรู้จักด้วย เรื่องแบบนี้จริงๆแล้วไม่น่าจะมาพูดกันเลย มันเป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์ด้วยซ้ำไป หากแต่สังคมมนุษย์ในมหาวิทยาลัย อาจจะผิดแปลกไปจากมนุษย์ เพราะดันไปลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น เรียกสั้นคือตามประสาชาวบ้านคือ (สังคม) ผิดมนุษย์มนา ถ้าพูดทางวิชาการคือ เป็นสังคมแห่งการสร้างทาส

ผมสมมติเพื่อให้เห็นภาพว่าถ้าผมจะผู้หญิงสักหนึ่งท่าน หากผมอยากรู้จักก็จะต้องเข้าไปทักทาย

เธอชื่ออะไร มีเบอร์ไหมมีไลน์ไหม คุณน่ารักจังผมชอบคุณ มันก็มีโอกาสจะสานต่อ หากไม่ได้เป็นแฟนอย่างน้อยก็เป็นการสร้างสัมพันธ์ในมิติอื่นๆได้

แต่มันอาจจะดูแปลกพิลึกไปหน่อย ถ้าเราอยากรู้จักเขาแล้วไปบอกว่า เธอๆ รบกวนห้อยป้ายชื่อหน่อยได้ไหมเราอยากรู้จักเธอหน่ะ

ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผมถึงยกตัวอย่างอะไรที่มันไม่เกิดขึ้นจริง ก็รู้กันอยู่ว่า ไม่มีใครเขาไปจีบสาวแบบนั้นหรอก ยกตัวอย่างแบบนี้เห็นภาพได้อย่างไร อยากให้ท่านพินิจต่ออีกสักหน่อย. ในเมื่อท่านไม่สามารถ ไปทำกับใครที่ท่านนิยมสนใจได้ แล้วรุ่นน้องที่ว่านั้น มีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าคนที่ท่านเลือกจะนิยมชมชอบหรือไม่ ท่านถึงให้เกียรติเขาไม่เท่ากัน

หากจริงแล้วการแขวนป้ายชื่ออาจมีประโยชน์ในกิจกรรมเล็กๆ ในระยะเวลาสั้นๆสองสามวัน ที่จะทำให้คนหมู่มากรู้จักกันง่ายขึ้น (อย่างผิวเผิน) เพื่อความสนุกและความราบรื่นในการดำเนินกิจกรรม

การแขวนป้ายชื่อแบบนั้นจึงแทบไม่มีมิติทางอำนาจอยู่เลย แต่การบังคับให้แขวนเป็นรายเดือนรายปี ในทุกที่ทุกสถานนั้น เป็นเรื่องที่ ละเมิด ไม่เคารพ ซึ่งไม่น่ายินดีเท่าไหร่

หากรุ่นพี่เขาจะมาถามว่าทำไมเราไม่แขวนป้ายชื่อ ผมก็เห็นควรจะต้องถามเขาว่า เขายังรู้จักเราไม่พออีกหรอก หลายเดือนที่ผ่านมา ห้อยกันอยู่ทุกวันหากเขาจะจำเราไม่ได้ มันไม่ใช่ความผิดของเรา แต่เป็นความผิดของเขา ที่เขาไม่ได้เอาใจใส่เราอย่างที่เขาอ้างว่าจะเอาใจใส่เลย คือถ้าไม่เอาใจใส่แล้วต่างคนต่างใช้ชีวิตก็โอเค

แต่ถ้าบอกว่าจะมาดูแลกัน แล้วให้เรานำเสนอตัวเรามาเป็นเดือนแล้ว แล้วยังจำกันไม่ได้อีก เราอาจจะต้องพิจารณาในการคบหาสมาคมดูเสียแล้ว กระมัง

สุดท้ายนี้ป้ายชื่อที่ห้อยคออยู่นั้น มันไม่ได้ทำหน้าที่เดียวในตัวของมัน เพราะนอกจากที่มันกำลังทำหน้าที่ในการประกาศอะไรสักอย่างออกมา มันยังทำหน้าที่รอง (แต่ส่งผลทวีคูณ) ในการ ปิดกั้น กดทับ สยบยอม และสร้างมิติทางอำนาจอีกมากมาย ที่ส่งผลกระทบต่อ ตัวบุคคลที่แขวน ไปถึงกลุ่มคน สภาพสังคม และ/หรือ การศึกษาด้วย

สุดท้ายแล้ว เรายังจะคบหากันด้วยป้ายชื่อได้อีกหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายจะต้องพิจารณาดู



อ้างอิง: คำผกา. (2554). ก็ไพร่นี่ค่ะ. สำนักพิมพ์อ่าน : กรุงเทพฯ.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.