บริต มาร์ลิง (ที่มา: Gage Skidmore/Wikipedia)

Posted: 25 Oct 2017 09:48 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หลังฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ ผู้กำกับฮอลลีวูดถูกเปิดโปงกรณีล่วงละเมิดทางเพศหญิงหลายคน โดยหนึ่งในผู้ที่ออกมาพูดก็คือบริต มาร์ลิง นักแสดงและคนเขียนบทของฮอลลีวูดผู้มีความฝันอยากให้ผู้หญิงมีสิทธิมีเสียงในการ "เล่า" เรื่องจากมุมตัวเองบ้าง เธอเขียนบทความตีแผ่วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ยังครอบงำวงการฮอลลีวูด และชี้ว่าเพราะเหตุใดเศรษฐกิจและวัฒนธรรมส่งผลต่อปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ

24 ต.ค. 2560 บริต มาร์ลิง นักแสดง นักทำภาพยนตร์และคนเขียนบทผู้เคยมีผลงานประกวดในเทศกาลซันแดนซ์ เขียนถึงเรื่องราวที่ตัวเองต้องเผชิญจากการทำงานในวงการฮอลลิวูด รวมไปถึงทัศนคติต่อผู้หญิงจากวงการที่ครอบงำด้วยชายที่เป็นคนขาว ทั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจระหว่างเพศที่กลายเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจจนทำให้ผู้หญิงถูกบีบให้ต้อง "จำยอม" กับสภาพที่กลายเป็นเครื่องมือทางเพศ

มาร์ลิงเล่าว่าแม่ของเธอบอกกับเธอตั้งแต่เธอยังเด็กว่าถ้าหากเธออยากเป็นผู้หญิงที่เป็นอิสระ เธอต้องมีฐานะทางการเงินที่ทำให้ตัวเองไม่ต้องพึ่งพาใคร เธอจึงเรียนสายเศรษฐศาสตร์เพื่อจะเป็นนักลงทุนธนาคารเพราะเธอต้องการเสรีภาพที่เธอเชื่อว่าเงินซื้อได้ แต่หลังจากที่เธอทำงานเป็นนักวิเคราะห์ที่วาณิชธนกิจโกลด์แมน แซคส์ เธอก็เปลี่ยนความคิด เพราะเธอคิดได้ว่าถ้าหากเธอต้องการจะทำอะไรเพื่อให้มีอาหาร น้ำ ที่อยู่ ซึ่งนานมาแล้วเคยเป็นของฟรี เธอก็ควรจะทำในสิ่งที่ปลุกเร้าจิตวิญญาณเธอได้

นั่นทำให้มาร์ลิงได้ไปอยู่ในที่ที่เธอมองว่ามีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่นคือการได้ศึกษาต่อเพื่อจะเข้าไปทำงานในสายภาพยนตร์ เธอเชื่อว่าตัวเธอเองเป็นคนที่ชอบฟังเสียงคนอื่น เป็นคนที่เน้นการเข้าถึงหัวจิตหัวใจคนอื่นและมีจินตนาการ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เธอมองว่าวัฒนธรรมยุคหลังๆ มีน้อยลง มาร์ลิงมองว่าวัฒนธรรมอเมริกันเน้นแต่สร้างให้คนที่เป็นนักพูดแบบมองไปข้างหน้าผู้เน้นสร้างผลกำไรโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกหรือผลกระทบต่อชีวิตคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น คนจน คนที่ไม่ใช่คนขาว และผู้หญิง

แต่สิ่งที่เธอได้รับรู้เมื่อเข้าไปในวงการฮอลลีวูดแล้วก็พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของวงการนี้แทบจะมีการ "ค้ามนุษย์" ผู้หญิง โดยที่มาร์ลิงอธิบายเพิ่มเติมว่าฮอลลีวูดมองผู้หญิงเป็นสินค้าที่จะใช้งานได้ไม่มีวันหมด ขณะที่ผู้กุมอำนาจในการเล่าเรื่อง ทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจในเชิงศิลปกรรม ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายคนขาวที่มีรสนิยมทางเพศแบบชายรักหญิง จากการสำรวจในปี 2560 พบว่ามีผู้หญิงอยู่เพียงร้อยละ 23 เท่านั้นที่อยู่ในสมาคมผู้กำกับภาพนตร์ของอเมริกา และมีเพียงร้อยละ 11 เท่านั้นที่เป็นคนที่ไม่ใช่คนขาว

นั่นทำให้อำนาจการเล่าเรื่องตกไปอยู่ในมือของชายคนขาวที่ไม่ได้เป็นเกย์ อำนาจแบบนี้เองนำไปสู่การเขียนให้ตัวละครผู้หญิงดูไม่มีความสลักสำคัญ ถึงขั้นไม่มีชื่อ เช่น เป็น "คนสวมบิกินีหมายเลข 2" หรือเป็น "หญิงผมบลอนด์หมายเลข 4" ตัวมาร์ลิงก็เคยถูกแคสไปรับบทแบบนี้ ซึ่งมักจะถูกออกแบบมาให้เป็นคนถามตัวละครชายเพื่อให้ตัวละครชายพูดอยู่คนเดียว หรือไม่งั้นก็เป็นตัวละครหญิงที่จะถูกฆ่าทิ้งอย่างรวดเร็วเพื่อให้พล็อตเรื่องดำเนินต่อไป

มาร์ลิงยังเขียนถึงเรื่องที่เธอถูกให้สวมชุดในลักษณะที่ทำให้เธอรู้สึกเหมือนราวกับเป็น "วัตถุทางเพศ" แนวคิดแบบฮอลลีวูดยังทำให้ผู้หญิงมีแนวคิดฝังจำในระดับหนึ่งว่าพวกเธอต้องขายร่างกายที่น่าปรารถนาเท่านั้น ไม่ใช่ขายความสามารถทางศิลปะหรือขายจินตนาการ อำนาจกดทับแบบนี้เองที่ทำให้ผู้หญิงที่ยังสาวในวัฒนธรรมของเธอพูดปฏิเสธได้ยากเวลาที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศจากการที่ฝ่ายชายมีอำนาจและอภิสิทธิ์เหนือกว่า นอกจากนี้ยังทำให้ผู้หญิงเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกติดกับการยอมรับของผู้ชาย

มาร์ลิงมองว่าสุดท้ายแล้วการคัดเลือกออดิชั่นเข้าแสดงในภาพยนตร์ก็มักจะเป็นการแสวงหาการยอมรับจากผู้ชาย และบางที่พวกเธอก็ต้องไปแสดงในเนื้อเรื่องที่เธอไม่ได้เห็นด้วยในเชิงจริยธรรมหรือในเชิงการเมือง เธอจึงตัดสินใจพยายามไปทำงานที่ตัวเองจะได้เป็นคนเล่าเรื่องแทน เธอทำงานตอนกลางวัน แล้วใช้เวลาตอนกลางคืนไปในการอ่านหนังสือวิธีการเขียนบท เธอทำเช่นนี้เป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งเธอได้ร่วมเขียนบทและแสดงในภาพยนตร์ชื่อ "Sound of My Voice" ที่ได้ฉายในเทศกาลซันแดนซ์ปี 2554

ในกรณีของฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ ผู้กำกับที่ถูกกล่าวหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศนั้น มาร์ลิงเล่าว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่ไวน์สไตน์เคยเรียกร้องจะพบตัวเธอคือในปี 2557 เมื่อฮอลลีวูดมองว่าเธอเป็น "เนื้อชิ้นใหม่" เธอไปพบตัวไวน์สไตน์เนื่องจากเชื่อว่ามันจะทำให้ชีวิตของเธอดีขึ้น แต่เธอก็รู้สึกถูกบีบให้มีความสัมพันธ์กับไวน์สไตน์เนื่องจากเขามีอำนาจที่จะชี้เป็นชี้ตายเธอได้ถ้าเธอขัดเขา แต่ในที่สุดเธอก็รวบรวมความหนักแน่นในจิตใจได้จนเดินออกจากห้องไปทั้งที่มือยังสั่นและพูดอะไรไม่ออก

"ต่อมาฉันกลับมานั่งร้องไห้คนเดียวที่ห้องโรงแรมของตัวเอง ฉันร้องไห้เพราะว่าฉันยังขึ้นลิฟท์ไปทั้งที่ฉันก็น่าจะรู้อยู่แล้ว ฉันร้องไห้เพราะว่าฉันอนุญาตให้เขาแตะต้องไหล่ฉัน ฉันร้องไห้เพราะในช่วงเวลาอื่นๆ ในชีวิตฉัน ในสถานการณ์แบบอื่น ฉันไม่สามารถหนีออกมาได้" มาร์ลิงกล่าว

เธอมองว่าที่ออกมาเปิดโปงว่าไวน์สไตน์ใช้อำนาจล่วงละเมิดทางเพศพวกเธอล้วนเป็นคนที่กล้าหาญ ขณะเดียวกันการที่เธอตัดสินใจเล่าเรื่องนี้เพราะชวนให้คิดถึงความสำคัญเกี่ยวกับ "เศรษฐศาสตร์ของการยินยอมพร้อมใจ" ด้วย

จากตัวอย่างนี้ไวน์สไตน์มีอำนาจที่จะทำให้คนมีชื่อเสียงจนเป็นการทำให้ผู้หญิงบางคนขึ้นไปมีอำนาจและมีเสียงดังกว่าคนอื่นในโลกแบบชายครอบงำได้ พวกเขารู้ดี ไวน์สไตน์รู้ดีในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันไวน์สไตน์ก็มีอำนาจที่ไม่ได้เพียงเนรเทศคนในทางศิลปะหรือทางความรู้สึกเท่านั้น ยังเป็นการขับไล่ในทางเศรษฐกิจด้วย

มาร์ลิงจึงชวนให้มองเรื่องความไม่เท่าเทียมและการถูกกีดกันทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่ผู้หญิงเพิ่งอนุญาตให้มีบัตรเครดิตเป็นชื่อตัวเองเมื่อ 43 ปีที่แล้วนี้เอง ผู้หญิงในสหรัฐฯ ยังไม่มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายตัวเองตัวเองจนกระทั่งถึงช่วงยุคคริสตทศวรรษ 1970s ก่อนหน้านี้สามีของเธอทุบตีหรือบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่มีข้อห้ามทางกฎหมาย นอกจากนี้ผู้ชายในสหรัฐฯ ยังมีอำนาจจากการเป็นผู้ตัดสินใจได้ว่าจะจ้างงานหรือจะต่อสัญญางานให้ผู้หญิงหรือไม่ในขณะที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายหางาน

ความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจนี้เองทำให้ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศมีพื้นทีสีเทาๆ อยู่ในระดับที่แค่จะตัดสินด้วยคำว่า "การยินยอมพร้อมใจ" อย่างเดียวไม่ได้ ความกล้าที่ฝ่าบึงอันชื้นแฉะทางความรู้สึกออกมาประกาศให้โลกรู้ในประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศจึงทรงพลังและเป้นแรงบันดาลใจให้เธอชวนพูดคุยต่อถึงบทบาทเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่ปลูกสร้าง "วัฒนธรรมการข่มขืน" (rape culture) ขึ้น

ในแง่วัฒธรรมแล้วมาร์ลิงยังเปิดเผยอีกว่าในสังคมอเมริกันเพศสภาพที่ถูกมองเป็นหญิง (feminine) ยังถูกกดขี่อยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ที่แสดงออกเป็นหญิง มีความคิดเป็นหญิง หรือถูกมองว่าเป็นหญิง ต้องเผชิญกับ "สงครามที่มองไม่เห็น" นี้อยู่ทุกวัน

มาร์ลิงเรียกร้องว่าการจะแก้ปัญหานี้ได้คือควรมีการจ้างงานผู้หญิงมากขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่ใช่คนขาวและผู้หญิงที่ไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับอภิสิทธิทางเศรษฐกิจ นอกจากในทางเศรษฐกิจแล้ว ในทางวัฒนธรรมควจะมีการบริโภคเรื่องราวในแนวอื่นนอกเหนือจากภาพยนตร์สูตรสำเร็จเดิมๆ ที่เอื้อต่อวัฒนธรรมการล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังควรมีสมดุลย์ระหว่างเพศสภาพและเชื้อชาติและสะท้อนโลกที่พวกเราอาศัยอยู่จริงๆ โดยที่แม้แต่เรื่องนี้เองก็เป็นความท้าทายสำหรับคนเขียนบทอย่างเธอและเป็นสิ่งที่เธอพยายามจะทำให้สำเร็จให้ได้

บทความของมาร์ลิงยังตั้งข้อสังเกตอีกว่างานบันเทิงหรืองานเชิงศิลปะวัฒนธรรมรายรอบตัวของผู้หญิงเองก็มีส่วนในการทำให้ผู้หญิงถูกกล่อมเกลาทางสังคม ทำให้มองไม่เห็นทางออกว่าพวกเธอจะออกจากอำนาจการถูกครอบงำของผู้ชายได้อย่างไร ผู้หญิงกลายคนจึงปล่อยให้มีการล่วงละเมิดดำเนินต่อไป และมาร์ลิงเองก็ยอมรับว่าเธอก็เป็นส่วนหนึ่งภายในระบบเศรษฐกิจที่ไร้มนุษยธรรมและอุตสาหกรรมบันเทิงเส็งเคร็งนี้ ถึงมันจะทำให้เธอรู้สึกไม่สบายใจ แต่การยอมรับปัญหาภายในที่มีก็เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างแนวทางสู่โลกที่มีมนุษยธรรมมากขึ้น และโลกที่คนมีเสรีภาพจะมอบ "ความยินยอมพร้อมใจ" ได้โดยไม่ถูกกดดันบีบเค้น

เรียบเรียงจาก

Harvey Weinstein and the Economics of Consent, The Atlantics, 23-10-2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Sound_of_My_Voice

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.