ที่มาภาพ: Alan Fitzsimmons/Queen’s University Belfast/Isaac Newton Group La Palma

Posted: 28 Oct 2017 08:45 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ทีมนักดาราศาสตร์ของอลัน ฟิตส์ซิมมอนส์ ค้นพบวัตถุนอกโลกชื่อ A/2017 U1 ที่มีลักษณะการเคลื่อนที่ต่างจากวัตถุชนิดอื่น ๆ ที่เคยค้นพบก่อนหน้านี้ มีการตั้งสมมุติฐานว่ามันอาจจะเป็นวัตถุที่มาจากระบบดาวดวงอื่น ถ้าจริงมันจะเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ค้นพบวัตถุที่มาจากจากระบบดาวอื่นเคลื่อนเข้ามาในระบบสุริยะ

29 ต.ค. 2560 ข้อมูลจากศูนย์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียนเพื่อฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ที่ตีพิมพ์ในวารสารไมเนอร์แพลนเน็ตระบุถึงวัตถุซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางชื่อ A/2017 U1 โดยวัตถุตัวนี้มีวิถีการโคจรแบบเส้นโค้งไฮเปอร์โบลาในแบบที่เร็วพอจนสามารถหนีแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์ได้ นักดาราศาสตร์มองว่ามันอาจจะเป็นวัตถุนอกโลกชิ้นแรกที่มาจากนอกระบบสุริยะ

เอ็ดเวิร์ด บลูมเมอร์ นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวหลวงกรีนิชกล่าวว่า "สิ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับวัตถุนี้คือการที่ที่มาของมันอาจจะเป็นผู้มาเยือนจากระบบดาวอีกระบบหนึ่ง" โดยวัตถุชิ้นนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 400 เมตร

ที่ผ่านมาวัตถุนอกโลกต่าง ๆ มักจะมาจากภายในระบบสุริยะเองและมีการโคจรอยู่รอบ ๆ ระบบนานมากจนกระทั่งสามารถทำวิถีแบบเส้นโค้งไฮเปอร์โบลาได้ โดยอาศัยวิธีต่าง ๆ เช่น เพิ่มความเร่งจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงดาวเคราะห์ยักษ์ แต่ในกรณีล่าสุดไม่เป็นเช่นนี้

แกเรธ วิลเลียมส์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการของศูนย์ไมเนอร์แพลเน็ตกล่าวว่าเมื่อพิจารณาเส้นทางโคจรของดาวหางชนิดนี้แล้วมันโคจรด้วยวิถีแบบไฮเปอร์โบลาอยู่ตลอดและไม่ได้เคลื่อนไปใกล้กับดาวเคราะห์ยักษ์เพื่อเพิ่มความเร่งเลย จึงมีสมมุติฐานว่ามันน่าจะมาจากนอกระบบสุริยะและกลับออกไปนอกระบบสุริยะ

จากการสังเกตการณ์ของนักดาราศาสตร์พบว่าวัตถุดังกล่าวนี้เข้าสู่ระบบสุริยะเฉียดผ่านวงโคจรของดาวพุธ จากนั้นจึงเคลื่อนไปทางดวงอาทิตย์ในคนละทิศจากตอนที่เข้ามาก่อนจะย้อนกลับออกไปจากวงโคจรของดาวเคราะห์แล้วมุ่งกลับไปยังหมู่ดาวฤกษ์

มีการค้นพบวัตถุลึกลับนี้ครั้งแรกในช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาจากกล้องโทรทรรศน์ที่ฮาวาย หนึ่งในผู้ที่ค้นพบคือ อลัน ฟิตซ์ซิมมอนส์ จากมหาวิทยาลัยควีนส์ยูนิเวอร์ซิตีเบลฟาสต์ ฟิตซ์ซิมมอนส์กล่าวว่าเขาค่อนข้างแน่ใจในเรื่องที่วัตถุนี้น่าจะเป็นวัตถุจากนอกระบบสุริยะชิ้นแรกแต่ต้องมีการร่วมมือกับทีมในการคำนวณวิถีการเคลื่อนที่และสารเคมีประกอบวัตถุนี้และขนาดของมัน

ในการตรวจสอบช่วงแรก ๆ มีการประเมินว่าสิ่งนี้คล้ายกับวัตถุที่อยู่ตามแถบไคเปอร์ซึ่งเป็นพื้นที่เลยห่างจากดาวเนปจูนออกไป มีวัตถุต่าง ๆ ลอยอยู่จำนวนมาก บลูมเมอร์บอกว่าในระบบสุริยะของเราเองก็มีพื้นที่ห่างจากแถบไคเปอร์ออกไปชื่อเมฆออร์ตที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งบางครั้งเกิดการรบกวนจนเมฆออร์ตส่งวัตถุออกไปนอกระบบสุริยะ จึงเป็นไปได้ที่ระบบดาวอื่น ๆ จากภายนอกอาจจะส่งวัตถุเข้ามาสู่ระบบสุริยะได้เช่นกัน

ฟิตส์ซิมมอนส์เสนอความเป็นได้อีกอย่างหนึ่งว่าวัตถุนี้อาจจะถูกส่งออกมาจากระบบดาวที่กำลังมีการก่อตัวของดาวเคราะห์กลายเป็นระบบสุริยะระบบใหม่ มีดาวฤกษ์อยู่จำนวนมากและดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในแกแล็กซีที่พวกเราอยู่ก็มีดาวเคราะห์โคจรรอบ กระบวนการก่อตัวของดาวเคราะห์นั้นเป็นกระบวนการที่ยุ่งเหยิงมากจากการศึกษาระบบสุริยะของเรา หรือวัตถุนี้ก็อาจจะเดินทางผ่านดวงดาวอื่น ๆ หลายพันล้านปีแสงจนกระทั่งมาปรากฏให้พวกเราเห็นก็ได้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้นักดาราศาสตร์มองว่าวัตถุอวกาศนี้ต่างจากวัตถุที่แถบไคเปอร์คือการที่มันเป็นคล้าย ๆ จุดแสงที่ระบุไม่ได้ว่าคืออะไรมากกว่าจะเป็นน้ำแข็ง รวมถึงเมื่อมันโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มันก็ไม่ได้ทำให้ชั้นบรรยากาศหนาแน่นขึ้นด้วยซึ่งถ้าหากว่ามันเป็นน้ำแข็งควรจะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ฟิตส์ซิมมอนส์ระบุว่ามันน่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อยที่เต็มไปด้วยหินมากกว่าจะเป็นดาวหางน้ำแข็ง


เรียบเรียงจาก

Mysterious object seen speeding past sun could be 'visitor from another star system', The Guardian, 27-10-2017
https://www.theguardian.com/science/2017/oct/27/mysterious-object-detected-speeding-past-the-sun-could-be-from-another-solar-system-a2017-u1

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.