Posted: 27 Oct 2017 11:30 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

รัฐสภาแคว้นชิงลงมติแยกตัวก่อน โดยสภาชิกสภาที่มีอยู่ 135 ที่นั่ง ได้ออกเสียงสนับสนุนแยกตัว 70 ต่อ 10 งดออกเสียง 2 เพื่อเปิดทางร่างกฎหมายใหม่ เจรจากับสเปนในฐานะรัฐเอกราชเสมอกัน ขณะที่คล้อยหลังไม่นาน รัฐสภาสเปนอนุมัติรัฐบาลกลางใช้มาตรา 155 ยึดอำนาจรัฐบาลท้องถิ่น โดยนายกรัฐมนตรีสเปนกร้าวมุ่งปลดตั้งแต่ผู้นำแคว้นยันเจ้ากระทรวงในรัฐบาลท้องถิ่น


(ล่าง)การ์เลส ปุกเดมอนด์ แถลงเรื่องการประกาศตัวเป็นเอกราชในรัฐสภากาตาลันเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: Parliament de Catalunya)

BREAKING: Spanish flag removed at Catalan Government office in Girona after they declare independence from Spain. pic.twitter.com/aqEpHkTJl7

— Devin Sena (@DevinSenaUI) October 27, 2017

ที่อาคารทำการของรัฐบาลแคว้นกาตาลุญญา ในเมืองกีโรนา ธงชาติสเปนถูกปลด และแทนที่ด้วยธงลา เอสเตลาดาของกาตาลุญญา

สำนักข่าวอินดิเพนเดนท์ของสหราชอาณาจักรรายงานว่า แคว้นกาตาลุญญาประกาศเอกราชจากราชอาณาจักรสเปนก่อนหน้ารัฐสภาสเปนจะประกาศรับรองให้รัฐบาลมาดริดยุบสภาท้องถิ่นแคว้นกาตาลุญญาแล้วดำเนินการบริหารแคว้นเอง

การลงคะแนนในรัฐสภาท้องถิ่นเกิดขึ้นหลังสัปดาห์แห่งความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นแคว้นกาตาลุญญาและรัฐบาลกรุงมาดริด ผลการลงคะแนนในประเด็นการประกาศเอกราช มีผู้เห็นด้วย 70 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง จากสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสภา 135 ที่นั่ง ทั้งนี้มีสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งได้เดินออกจากที่ประชุมก่อนหน้าจะมีการออกเสียงเป็นสัญลักษณ์ว่าประท้วง หลังคะแนนเสียงมีมติให้ประกาศเอกราชก็มีเสียงปรบมือกึกก้อง สมาชิกรัฐสภาจับมือและกอดกัน ภายนอกรัฐสภา ผู้คนที่เฝ้าดูการลงคะแนนเสียงในเมืองบาร์เซโลนาต่างแสดงความยินดีและเต้นกัน


ผลโหวตร้อยละ 90 หนุนกาตาลุญญาแยกตัว หลายฝ่ายกังวลปะทะเดือดวันลงคะแนน

รัฐสภากาตาลุญญาเตรียมตอบโต้สเปนหลังจ่อเข้าปกครองแคว้นโดยตรง

มติการออกเสียงดังกล่าวนำไปสู่การเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวที่ผู้นำแคว้นกาตาลุญญา การ์เลส ปุกเดมอนต์ ประกาศเอกราชในรัฐสภาแคว้นไปแล้วเมื่อ 10 ต.ค. ที่ผ่านมาแต่ได้ระงับการบังคับใช้เอาไว้ก่อนเพื่อเปิดให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลสเปนและรัฐบาลแคว้น กระบวนการแยกตัวรวมไปถึงการร่างกฎหมายแคว้นกาตาลุญญาชุดใหม่และเปิดการเจรจาในสถานะที่เสมอกันกับสเปนเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกัน

เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาปุกเดมอนต์ปฏิเสธที่จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นใหม่ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้ถูกมองว่าเป็นวิธีการลดความตึงเครียดที่มีต่อรัฐบาลกลางได้ ประธานาธิบดีแคว้นกาตาลุญญากล่าวว่าไม่มีการการันตีว่ารัฐบาลสเปนจะหยุดยั้งการยึดอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นตามกฎหมายมาตราที่ 155 แห่งรัฐธรรมนูญสเปน


ธง ลา เอสเตลาดา ของแคว้นกาตาลุญญา (ที่มา: commons.wikimedia.org)

ทันทีหลังจากผลการออกเสียงประกาศเอกราช มาเรียโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปนได้ทวีตในทวิตเตอร์ส่วนตัวให้ผู้คนอยู่ในความสงบ อย่างไรเสีย รัฐสภาสเปนได้ออกเสียงรับรองการบังคับใช้มาตรา 155 หลังจากแคว้นกาตาลุญญาลงคะแนนเสียงประกาศเอกราชไม่นาน มติของรัฐสภาสเปนมอบอำนาจให้รัฐบาลมาดริดปกครองแคว้นกาตาลุญญาแทนรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการแทรกแซงแคว้นโดยรัฐบาลกลางในลักษณะนี้ครั้งแรก หลังบังคับใช้มาตรา 155 ราฮอยจะมีอำนาจในการปลดปุกเดมอนต์และคณะรัฐมนตรี

มาตรา 155 มีใจความว่า ถ้ารัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถรักษากฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมายได้ รัฐบาลกลางสามารถยกเลิกการปกครองตนเองของแคว้นได้แล้วเข้ามาปกครองโดยตรง

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ รายงานว่า มาริอาโน ราฮอยกล่าวว่าเขาต้องการปลดปุกเดมอนต์ รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีของกระทรวงในแคว้น โดยเขาต้องการให้ “กฎหมาย ประชาธิปไตยและเสถียรภาพ” ได้รับการฟื้นฟูในกาตาลุญญา ทั้งยังกล่าวหาว่ารัฐบาลกาตาลันได้สร้างรอยร้าวให้กับสังคมและสถาบันครอบครัว มีคนที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และความไร้เสถียรภาพที่เกิดขึ้นได้ผลักไสธุรกิจออกไปจากแคว้น


มาริอาโน ราฮอย นายกฯ สเปน (ที่มา: วิกิพีเดีย)

“สิ่งที่ชาวกาตาลันต้องปกป้องตัวเองเอาไว้ไม่ใช่จากจักรวรรดินิยมสเปน แต่เป็นคนส่วนน้อยที่ประกาศว่าตัวเองเป็นเจ้าของแคว้นกาตาลุญญาในแบบที่ไม่มีน้ำอดน้ำทนแล้วกีดกันประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความรู้สึกซึ่งเป็นมรดกของชุมชนต่างหาก” ราฮอยแถลงในรัฐสภาสเปนที่พรรคของราฮอยเป็นเสียงส่วนมาก และได้รับการตอบรับด้วยเสียงปรบมือ

ความขัดแย้งครั้งนี้มาจากการลงประชามติแยกตัวจากสเปนของแคว้นกาตาลุญญาเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญสเปนตัดสินว่าการลงประชามติครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดนัลด์ ทัสค์ ประธานสภาสหภาพยุโรปเองก็กล่าวว่าประชามติครั้งนี้จะไม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรสำหรับอียู และอียูจะติดต่อกับทางรัฐบาลมาดริดเท่านั้น

ผลประชามติตามมาด้วยเหตุการณ์ เมื่อ 10 ต.ค. ที่ผ่านมาปุกเดมอนด์ได้ลงนามในคำประกาศเอกราชไปแล้ว แต่ว่าเลื่อนการบังคับใช้ไปก่อนเป็นเวลาสองเดือนเพื่อเปิดทางให้มีการเจรจากับรัฐบาลกลาง ปุกเดมอนด์ยังกล่าวถึงการบังคับใช้มาตรา 155 ว่าเป็นการโจมตีสถาบันของแคว้นกาตาลุญญาอย่างร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สมัยนายพลฟรานซิสโก ฟรังโกปกครองสเปนเมื่อ ค.ศ. 1939-1975 และเป็นการ “ปิดประตู” ใส่ความพยายามในการพูดคุย ทั้งนี้ รัฐบาลแคว้นกาตาลุญญายังไม่ล้มเลิกแผนการแยกตัวเป็นเอกราชและประกาศเลือกตั้งใหม่ก่อนที่มาตรา 155 จะถูกรับรองโดยรัฐสภาสเปน โดยโฆษกของรัฐบาลกาตาลันได้กล่าวว่ารัฐบาลจะ “สู้อย่างเต็มที่เพื่อปกป้องสถาบันที่ได้รับเลือกตั้งมาอย่างเป็นประชาธิปไตยแห่งกาตาลุญญา”


กาตาลุญญาถึงไทย: เข้าใจการเมืองเรื่องแคว้น บทเรียนของไทยจากสังคมที่โตแล้ว

5 เรื่องน่ารู้ เงื่อนไข ทางตันและทางออกก่อนกาตาลุญญาประกาศเอกราช

สถิติจากรัฐบาลกาตาลันระบุว่า วันประชามติเมื่อ 1 ต.ค. ที่ผ่านมามีผู้ออกไปลงคะแนนเสียงทั้งหมด 2.3 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งสิ้น 5.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 43 อย่างไรก็ดี ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสเปนที่พยายามขัดขวางไม่ให้คนไปออกเสียงทำให้สูญเสียเสียงโหวตไปถึง 7 แสน 7 หมื่นเสียง จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขสเปนระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 450 รายแล้ว จากการปะทะในหลายพื้นที่ทั่วแคว้นกาตาลุญญา กระทรวงกิจการภายในของสเปนระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 11 ราย ในขณะที่ทางการท้องถิ่นของกาตาลันระบุว่ามีผู้บาดเจ็บมากกว่า 800 คน

รัฐบาลท้องถิ่นกาตาลันระบุว่า มีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวน 2.26 ล้านคน ถือเป็นร้อยละ 42 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และผลประชามติครั้งนี้มีผู้ออกเสียงสนับสนุนการแยกตัวจากสเปนถึงร้อยละ 90 ถึงแม้จะถูกปิดกั้นการออกมาลงคะแนนเสียงด้วยไม้กระบองและกระสุนยาง รวมถึงการประกาศจากรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดว่าการประชามติไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญก็ตาม

แปลและเรียบเรียงจาก

Catalonia declares independence as Spain prepares to impose direct rule, Independent, October 27, 2017

Catalan crisis: Spain PM Rajoy demands direct rule, BBC, October 27, 2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.