Posted: 24 Oct 2017 09:49 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ครม. มติอนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตั้ง กก.ส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ก่อนส่ง สนช. พิจารณาต่อ

24 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วันนี้ (24 ต.ค.60) เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม. ซึ่งมีประเด็นหนึ่งคือ มติอนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริต และประพฤติมิชอบ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป พร้อมทั้ง รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองซึ่งต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงาน ป.ป.ท. เสนอ

คดี 'ส่องโกงราชภักดิ์' ศาลทหารสั่งตัดพยานที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ อ้างไม่เกี่ยวกับคดี
ประวิตร ให้ จนท.ดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง หลังศาลอังกฤษยึดทรัพย์คนขาย GT200
ย้อนรอยคำ 'ค่าหัวคิว' ปมราชภักดิ์ ที่ 'อุดมเดช' รังเกียจมาก ชี้ใช้ 'ค่าที่ปรึกษา' เหมาะสมแล้ว

สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สรุปไว้ดังนี้


1. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (คตป.) ประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้แทนกระทรวงยุติธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 4 คน กรรมการผู้แทนภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมที่ได้รับการสรรหาจากเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชน โดยความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี จำนวน 4 คน และให้รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ที่เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. มอบหมาย จำนวน 1 คน เป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริต ให้การรับรองและเพิกถอนเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชน และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ มาตรการคุ้มครองช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรวมตัวกันต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ

2. กำหนดให้มีการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้เครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชนซึ่งได้รับการรับรอง สามารถดำเนินกิจกรรมได้ 3 ประการ คือ การรณรงค์ให้ความรู้ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ

3. กำหนดมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชน เช่น การปกปิดมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่สามารถระบุตัวผู้ชี้เบาะแสได้ การห้ามปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ชี้เบาะแส การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ชี้เบาะแส โดยให้การคุ้มครองเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชน และบุคคลซึ่งมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต และให้ความคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสการทุจริต รวมถึงบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้แจ้งเบาะแสด้วย รวมทั้งการจัดหาทนายความให้และให้คำปรึกษาเมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

4. กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานความร่วมมือต่อต้านการทุจริตขึ้นในสำนักงาน ป.ป.ท. ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ เครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชน และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสรวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการหรือนโยบายของคณะกรรมการ เพื่อให้เป็นไปตามร่างพระราชบัญญัตินี้

5. กำหนดให้รัฐจัดสรรเงินงบประมาณในหมวดเงินอุดหนุนให้เพียงพอเพื่อให้การส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งการคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งกำหนดให้กรณีสำนักงาน ป.ป.ท. ได้รับเงินที่มีผู้มอบให้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้สำนักงาน ป.ป.ท. จ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันภายในวงเงินที่ได้รับนั้นได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง

6. มีบทกำหนดโทษกรณีกระทำความผิดต่อชีวิตร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญาต่อผู้ชี้เบาะแส หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ชี้เบาะแส (โดยเพิ่มโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น) กรณีผู้ที่มีอำนาจเหนือการปฏิบัติงานของผู้ชี้เบาะแส กระทำการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน สถานที่ทำงาน ข่มขู่ หรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ชี้เบาะแส กรณีแจ้งเบาะแสอันเป็นเท็จ กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดนำข้อมูลของผู้ชี้เบาะแส หรือบุคคลที่มีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตไปเปิดเผยโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและได้กระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.