FILE - Indonesian military Chief Gatot Nurmantyo talks to reporters in Jakarta, Indonesia, January 5, 2017.
คำสั่งห้ามของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ไม่ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอินโดนีเซียเดินทางเข้าสหรัฐฯ กำลังทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ
พลเอก กาตอต นูร์มานติโย ถูกกันไม่ให้ขึ้นเครื่องบินของสายการบินเอมิเรตส์ ที่สนามบินซูการ์โน-ฮัตตา ในกรุงจาการ์ต้า ขณะเตรียมเดินทางมายังสหรัฐฯ เพื่อร่วมการประชุมต่อต้านแนวคิดสุดโต่ง ในสัปดาห์นี้ ตามคำเชิญของประธานผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมของสหรัฐฯ
เอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงจาการ์ต้า ออกมากล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าเป็นผลของการทำงานที่ผิดพลาดของระบบตรวจสอบด้านความปลอดภัย
โดยสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงจาการ์ต้า มีแถลงการณ์ว่า "ทางสถานทูตสหรัฐฯ ได้เตรียมอำนวยความสะดวกในการเดินทางของพลเอกกาตอตไปยังสหรัฐฯ แล้ว และสหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในความเป็นพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์กับอินโดนีเซีย เพื่อนำความมั่นคงและความรุ่งเรืองมาสู่ทั้งสองประเทศ"
แต่ดูเหมือนเรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศไปแล้ว เมื่อพลเอกกาตอตปฏิเสธไม่เดินทางไปสหรัฐฯ ในเที่ยวบินที่ได้รับการจองที่นั่งใหม่ และกระแสต่อต้านอเมริกาในหมู่ชาวอินโดนีเซียก็เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ Jakarta Post เรียกเหตุการณ์นี้ว่า "ความอื้อฉาวทางการทูต" และว่าการตอบสนองของสถานทูตสหรัฐฯ นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เอาใจใส่ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เรื่องนี้ยังอาจส่งผลลบต่อภาพพจน์ของพลเอกกาตอต ผู้ซึ่งถูกมองว่าเป็นอิสระจากรัฐบาลอินโดนีเซีย และมักปะทะคารมกับประธานาธิบดี โจโค วีโดโด เป็นประจำ นอกจากนี้พลเอกกาตอตยังถูกคาดหมายว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียในการเลือกตั้งสมัยหน้าด้วย
อย่างไรก็ตาม คุณเอแวน ลักษมานา นักวิจัยที่ Center for Strategic and International Studies ในกรุงจาการ์ต้า เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่กระทบต่อภาพลักษณ์ของพลเอกกาตอตแต่อย่างใด และจะยิ่งทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะเรื่องนี้ได้ขยายไปเป็นประเด็นทางการเมือง และนักการเมืองจำนวนมากได้ประกาศเลือกยืนเคียงข้างเขา เพื่อขอคำอธิบายจากทางสหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่าเหตุการณ์นี้ถือเป็นการดูหมิ่นอินโดนีเซียอย่างรุนแรง
ทางด้านกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิของสหรัฐฯ (Homeland Security) ระบุว่า ก่อนหน้านี้สำนักงานของพลเอกกาตอตได้รับการเตือนไปแล้วว่า อาจมีการล่าช้าในการเดินทางครั้งนี้เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย และว่ามีข่าวลือว่า พลเอกกาตอตเป็นผู้จุดประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเพิ่มความสนใจของประชาชนที่มีต่อตนเอง
ด้านคุณอาร์บี ซานิต นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย กล่าวว่า "แม้การที่พลเอกกาตอตปฏิเสธที่จะเดินทางมายังสหรัฐฯ ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในทำเนียบขาว แต่ก็ทำให้ตัวเขาเองเป็นที่ชื่นชมในหมู่ชาวอินโดนีเซียขึ้นมาอย่างมากเช่นกัน"
"หากคุณกำลังมองหาผู้นำ ให้มองไปยังคนที่ต่างชาติไม่ชอบหรือหวาดกลัว เพราะคนคนนั้นจะสามารถปกป้องคุณจากการแสวงหาประโยชน์ของต่างชาติ"
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอินโดนีเซีย ดีขึ้นมากในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ซึ่งเคยอาศัยและศึกษาในอินโดนีเซียในช่วงวัยเด็ก แต่มิได้มีความคืบหน้าแต่อย่างใดในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
ถึงกระนั้น เนื่องจากกระแสชาตินิยมในอินโดนีเซียที่กำลังขยายตัว ประกอบกับเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น จึงได้ทำให้ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากออกมาปลุกกระแสต่อต้านอเมริกาแล้วในตอนนี้
http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=166098353301619877
แสดงความคิดเห็น