(ล่าง)การ์เลส ปุกเดมอนด์ แถลงเรื่องการประกาศตัวเป็นเอกราชในรัฐสภากาตาลันเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: Parliament de Catalunya)
Posted: 23 Oct 2017 11:19 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
คาดสภาแคว้นประชุมพฤหัสฯ นี้ รมว. ต่างประเทศแคว้นกาตาลุญญาอัด อียูนิ่งเฉยแบบนี้ประชาธิปไตยจะอยู่รอดอย่างไร โฆษกรัฐบาลกาตาลุญญากร้าว รัฐบาลจะสู้ถึงที่สุดเพื่อปกป้องสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย อาจนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่กาตาลุญญาจะบังคับใช้การประกาศเอกราชฝ่ายเดียว
เมื่อ 23 ต.ค. 2560 สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน รายงานว่า รัฐสภาแคว้นกาตาลุญญาเตรียมจัดประชุมหาแนวทางตอบโต้การประกาศใช้มาตรา 155 จากรัฐบาลสเปน การจัดประชุมจะมีขึ้นก่อนหน้าการประชุมของรัฐสภาสเปนที่คาดว่าจะเป็นการประชุมเพื่อรับรองการใช้มาตรการถอดถอนรัฐบาลท้องถิ่นแล้วให้รัฐบาลกลางปกครองแทน โดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้งภายในหกเดือน
ผู้นำกาตาลุญญาลงนามประกาศเอกราชแต่ยังไม่บังคับใช้ หวังเปิดโต๊ะเจรจา รบ. กลาง
หลายพรรครัฐสภายุโรปกังวลกาตาลุญญาแยกตัว ชี้ถ้าออกจากสเปนคือออกจากอียูด้วย
5 เรื่องน่ารู้ เงื่อนไข ทางตันและทางออกก่อนกาตาลุญญาประกาศเอกราช
มาตรา 155 มีใจความว่า ถ้ารัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถรักษากฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมายได้ รัฐบาลกลางสามารถยกเลิกการปกครองตนเองของแคว้นได้แล้วเข้ามาปกครองโดยตรง
เมื่อวานนี้ ราอูล โรเมวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแคว้นกาตาลุญญาได้กล่าวหาสหภาพยุโรป (อียู) ที่ไม่ออกมาแสดงท่าทีต่อความพยายามจะควบคุมรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐบาลกลางสเปน
“[ถ้าการรวบอำนาจเกิดขึ้น] อียูจะอยู่กับสภาวะแบบนี้อย่างไร” โรเมวากล่าวกับรายการวิทยุ บีบีซีเรดิโอ โฟร์ส ทูเดย์ “ประชาธิปไตยของอียูจะยังคงอยู่และมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไรถ้าพวกเขายอมให้มันเกิดขึ้น สิ่งที่ผมบอกได้ก็คือประชาชนและสถาบันต่างๆ ในกาตาลุญญาจะไม่ปล่อยให้มันเกิดขึ้น”
ในขณะที่รองนายกรัฐมนตรีสเปน โซรายา เซนซ์ เด ซานตามาเรียกล่าวว่า ทันทีที่การปกครองแคว้นโดยตรงถูกบังคับใช้ รัฐบาลสเปนจะแต่งตั้งผู้แทนเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของประธานาธิบดีแทนการ์เลส ปุกเดมอนด์ ประธานาธิบดีแคว้นคนปัจจุบัน
“พวกเขาได้เป็นประธานาธิบดีของรัฐบาลท้องถิ่นและเป็นบุคคลอาวุโสในรัฐบาลเพราะว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจ” เธอกล่าวผ่านวิทยุโอนดา เซโร “พวกเขาไม่ได้รับมอบหน้าที่ดังกล่าวมาจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน”
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มาริอาโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีของสเปนกล่าวว่าเขาบังคับใช้อำนาจตามมาตรา 155 ของรัฐธรรมนูญสเปนเพื่อ “ฟื้นฟูหลักนิติธรรม การอยู่ร่วมกันอย่างสงบและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นการประกันว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นภายใต้สภาวะปรกติ”
ประธานาธิบดีกาตาลุญญา การ์เลส ปุกเดมอนด์ได้ประณามท่าทีของรัฐบาลสเปนว่าเป็น “การรัฐประหารในทางปฏิบัติ (de facto coup d’etat)” และยังยืนยันว่าผลประชามติที่ร้อยละ 90 เห็นว่ากาตาลุญญาต้องแยกตัวจากสเปนเป็นอาณัติที่รัฐบาลต้องตอบสนองด้วยการแยกตัวจากสเปนมาตั้งเป็นสาธารณรัฐ
กาตาลุญญาถึงไทย: เข้าใจการเมืองเรื่องแคว้น บทเรียนของไทยจากสังคมที่โตแล้ว
เมื่อ 10 ต.ค. ที่ผ่านมาปุกเดมอนด์ได้ลงนามในคำประกาศเอกราชไปแล้ว แต่ว่าเลื่อนการบังคับใช้ไปก่อนเป็นเวลาสองเดือนเพื่อเปิดทางให้มีการเจรจากับรัฐบาลกลาง ปุกเดมอนด์ยังกล่าวถึงการบังคับใช้มาตรา 155 ว่าเป็นการโจมตีสถาบันของแคว้นกาตาลุญญาอย่างร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สมัยนายพลฟรานซิสโก ฟรังโกปกครองสเปนเมื่อ ค.ศ. 1939-1975 และเป็นการ “ปิดประตู” ใส่ความพยายามในการพูดคุย ทั้งนี้ รัฐบาลแคว้นกาตาลุญญายังไม่ล้มเลิกแผนการแยกตัวเป็นเอกราชและประกาศเลือกตั้งใหม่ก่อนที่มาตรา 155 จะถูกรับรองโดยรัฐสภาสเปน โดยโฆษกของรัฐบาลกาตาลันได้กล่าวว่ารัฐบาลจะ “สู้อย่างเต็มที่เพื่อปกป้องสถาบันที่ได้รับเลือกตั้งมาอย่างเป็นประชาธิปไตยแห่งกาตาลุญญา”
พรรค CUP ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเสียงข้างน้อยและมีแนวคิดซ้ายจัดได้เรียกร้องให้มวลชนทำอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า “การคุกคามสิทธิของพลเมือง ปัจเจกและส่วนรวมของชาวกาตาลันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด” ตั้งแต่สมัยรัฐบาลฟรังโก
สถิติจากรัฐบาลกาตาลันระบุว่า วันประชามติเมื่อ 1 ต.ค. ที่ผ่านมามีผู้ออกไปลงคะแนนเสียงทั้งหมด 2.3 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งสิ้น 5.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 43 อย่างไรก็ดี ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสเปนที่พยายามขัดขวางไม่ให้คนไปออกเสียงทำให้สูญเสียเสียงโหวตไปถึง 7 แสน 7 หมื่นเสียง
เรียบเรียงจาก
Catalan MPs to discuss response to Spanish move towards direct rule, The Guardian, October 23, 2017
แสดงความคิดเห็น