iLaw

ยกฟ้อง! คดีนักศึกษาเรียกเงินชดเชยจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมที่หอศิลป์ ปี’58 ชี้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้ว

วันนี้ (30 ตุลาคม 2560) เวลา 9.00 น. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ,กองบัญชาการกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่หนึ่งถึงสามตามลำดับ เพื่อเรียกค่าสินไหมชดเชยจำนวน 16,468,583 บาท ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ จากกรณีการสลายการชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558

บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีมีรังสิมันต์, กรกนกและกันต์ โจทก์ในคดีนี้, เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและนายทหารในเครื่องแบบ 1 นายมาร่วมฟังคำพิพากษา ต่อมาเวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาสั่งยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นการจงใจประมาท เลิ่นเล่อตามมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น โจทก์ทั้ง 13 คนจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสาม ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯได้

คำพิพากษาสรุปความได้ว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 โจทก์ทั้ง 13 คนและพวกเข้าร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ศุกร์ 22 เรามาฉลองกันมะ?” จากนั้นจึงถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และปล่อยตัวในเวลา 6.00 น.ของวัดถัดมา โดยเหตุที่เกิดขึ้นสร้างความกระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจแก่โจทก์ทั้ง 13 คนนั้น มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยในสามประเด็นดังนี้

++หนึ่ง การชุมนุมดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?++

ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล รู้โดยทั่วไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบ แต่อย่างไรก็ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการป้องปรามหรือยับยั้งเหตุที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยของชาติ การกระทำตามคำสั่งถือว่าชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด ต่อมาคสช.ได้อาศัยมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย ข้อ 12 กำหนดห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ดังนั้นเสรีภาพในการชุมนุมจึงถูกจำกัดโดยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งตามบทบัญญัติ แม้การชุมนุมจะสงบก็ย่อมมีความผิด การที่โจทก์อ้างว่า การชุมนุมของโจทก์เป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญหรืออ้างว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นความเข้าใจของโจทก์เองและเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น

ทั้งการชุมนุมดังกล่าวยังถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง เห็นได้จากคำเบิกความของพยานโจทก์แอนเดรีย จิออเก็ตตา ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ที่กล่าวว่า ในการชุมนุมครั้งนี้ตนเชื่อว่า เป็นการชุมนุมทางการเมือง และคำเบิกความของพยานโจทก์ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กล่าวว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมทางการเมืองเนื่องจากเป็นการชุมนุมครบรอบหนึ่งปีของการรัฐประหาร ประกอบกับในวันเกิดเหตุผู้จัดกิจกรรมไม่ได้ทำการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อน ดังนั้นกิจกรรมดังกล่าวจึงถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนเข้าข่ายต้องห้ามของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558

++สอง โจทก์ทั้ง 13 คนเข้าร่วมการกิจกรรมหรือไม่?++

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้ง 13 คนได้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการควบคุมตัวโดยชอบ ประเด็นที่โจทก์ทั้ง 13 คนกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการใช้กำลัง ฉุดกระชาก และไม่ได้มีการใช้เจ้าหน้าที่หญิงควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิงนั้น พิเคราะห์จากข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ก่อนเริ่มทำกิจกรรมเจ้าหน้าที่ได้มีการนำแผงเหล็กสีเหลืองมากั้นบริเวณด้านหน้าหอศิลป์ มีตำรวจตรึงกำลังราว 50-80 นาย แต่ผู้ชุมนุมยืนยันว่า มีสิทธิที่จะกระทำได้ เมื่อตำรวจบอกว่า กิจกรรมดังกล่าวขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ผู้ชุมนุมก็ยังไม่เลิกกิจกรรม เห็นถึงพฤติการณ์ของโจทก์ทั้ง 13 คนที่ทราบเป็นอย่างดีว่า ไม่ให้ทำกิจกรรม แต่ยังฝ่าฝืนที่จะทำต่อไป

จากคำเบิกความของพยานจำเลย ไปพ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ที่กล่าวว่า วันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่มีการใช้อาวุธ โล่ กระบองหรือพันธนาการ โดยพ.ต.อ.จารุต ได้เจรจากับพรชัย หนึ่งในโจทก์ สามครั้ง และเมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโจทก์ทั้ง 13 คนยังแสดงอาการขัดขืนการควบคุม ดึงรั้งสิ่งของไม่ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ส่วนเรื่องการควบคุมตัวผู้หญิงโดยเจ้าหน้าที่ชาย มีเพียงชลธิชา โจทก์ ที่กล่าวว่า ตนถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ชาย เมื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากจำเลยแล้วเห็นว่า ชลธิชาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ชายเพียงสิบเมตรเท่านั้นก่อนจะเปลี่ยนเป็นเจ้าหน้าที่หญิงมารับหน้าที่ต่อ การดำเนินการควบคุมของเจ้าหน้าที่จึงไม่ได้เกินกว่าเหตุ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการจากมาตรการเบาไปหาหนักแล้ว วินิจฉัยว่าดำเนินการโดยชอบ

++สาม การควบคุมตัวที่สถานีตำรวจโดยมิชอบ++


การควบคุมตัวโจทก์ทั้ง 13 คนไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการยึดเครื่องมือสื่อสารหรือขังโจทก์ไว้ในห้องขัง ทั้งยังให้ทนายความและอาจารย์ของโจทก์เข้าพบได้ นอกจากนี้เมื่อพบว่า รังสิมันต์และชลธิชามีอาการป่วยก็ได้ส่งตัวไปทำการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อแพทย์ตรวจว่ามีอาการเพียงเล็กน้อยจึงนำตัวกลับมีสถานีตำรวจ เหตุที่ต้องควบคุมตัวจำเลยไว้เป็นเวลาสิบชั่วโมงเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้มีการยื่นข้อเสนอให้โจทก์ว่า จะดำเนินคดีเฉพาะแกนนำผู้จัดกิจกรรมเท่านั้น แต่โจทก์ปฏิเสธ ขณะเดียวกันโจทก์ยังไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวนแก่เจ้าหน้าที่ ดังนั้นการควบคุมเป็นเวลานานจึงไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ วินิจฉัยว่า การควบคุมตัวเป็นไปโดยชอบแล้ว

การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้จงใจประมาท เลิ่นเล่อตามมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น โจทก์ทั้ง 13 คนจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสาม ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯได้ พิพากษายกฟ้อง

สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหมดได้เข้าร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ศุกร์ 22 เรามาฉลองกันมะ?” ในโอกาสวันครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวกระทำด้วยความสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ และเป็นเสรีภาพที่ประกันไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แต่ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบได้พยายามปิดกั้นกิจกรรมและใช้กำลังประทุษร้ายทั้งกายและจิตใจต่อโจทก์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวโจทก์ทั้ง 13 คนไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันและหน่วงเหนี่ยวเสรีภาพของโจทก์เป็นเวลาสิบชั่วโมง โดยปราศจากอำนาจในการควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจของโจทก์ ทั้งหมดจึงขอฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายดังกล่าว

ดูรายละเอียดคดีนี้เพิ่มเติม ที่

http://www.tlhr2014.com/th/?p=4691

http://www.tlhr2014.com/th/?p=4713

http://www.tlhr2014.com/th/?p=4747

http://www.tlhr2014.com/th/?p=4749

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.