Posted: 27 Oct 2017 12:34 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กรมชลประทานแก้ข่าวทางโซเซียลมีเดียที่ระบุ จะมีการปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นจากเขื่อนเจ้าพระยา ยืนยันไม่เคยมีแผนปล่อยน้ำเพิ่มหลัง 26 ต.ค. แต่อย่างใด - ท่วม อ.บางบาล อยุธยา 2 เมตร หวั่นฝนซ้ำทำวิกฤติหนัก


27 ต.ค. 2560 ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความแจ้งเตือนว่า ที่รังสิตจะมีการปล่อยน้ำหลังวันที่ 26 ต.ค. นี้ ทั่วย่านรังสิตจะเกิดน้ำท่วมและน้ำล้นฝาท่อระบายน้ำได้ นั้น โดยกรมชลประทานชี้แจงว่า กรณีข้อความที่ได้มีการแชร์กันมากในโลกโซเซียลมีเดีย ดังกล่าวข้างต้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด กรมชลประทาน ยังคงปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,697 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มาตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 60 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน (27 ต.ค. 60) เขื่อนเจ้าพระยายังคงระบายน้ำในอัตราเท่าเดิม โดยได้ผันน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเข้าสู่ระบบชลประทานฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรวม 769 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไม่มีแผนที่จะเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแต่อย่างใด

ปัจจุบันปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราดังกล่าว ได้ไหลมาถึงบริเวณจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานครแล้ว โดยไม่ได้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้ พื้นที่น้ำท่วมด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรี อำเภอพรมบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 14 จุด เท่านั้น อีกทั้ง ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานี C.29A อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ย 2,826 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังต่ำกว่าความจุของลำน้ำมาก(บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแต่อย่างใด

กรมชลประทาน ระบุด้วยว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,979 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลังจากที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 60 ในอัตรา 3,059 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำลดลงเมื่อเทียบกับค่าสูงสุด 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกรณีของคลองรังสิต นั้น เนื่องจากต้องแบ่งเบาปริมาณน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ที่จะระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเขื่อนพระรามหก ด้วยการเพิ่มการรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์มากขึ้น ส่งผลให้น้ำในคลองต่างๆ รวมถึงคลองรังสิต มีระดับน้ำสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เนื่องจากในคลองเหล่านี้ จะมีอาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำที่จะควบคุมปริมาณน้ำ และระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ โดยไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วม สามารถแจ้งข้อมูลหรือติดต่อสอบถามได้ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ เบอร์โทรศัพท์ 02 5312913

ท่วมอ.บางบาล 2 เมตร หวั่นฝนซ้ำทำวิกฤติหนัก

ขณะที่ สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. รายงานด้วยว่า พรชัย พุ่มฤกษ์ หรือ กำนันเรือง กำนัน ต.บางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า สถานการณ์น้ำท่วม ใน อ.บางบาล ขณะนี้วัดระดับความสูงเฉลี่ย 1 - 2 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ประชาชน 308 ครัวเรือน หรือ ประมาณ 1,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำ ริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับผลกระทบต้องขนย้ายทรัพย์สิน และ ยานพาหนะมาไว้บนถนนที่น้ำท่วมไม่ถึง ขณะที่ราษฏรส่วนใหญ่ต้องอพยพมาอาศัยบนเต็นท์ที่เจ้าหน้าที่จัดหาไว้ให้ในเวลากลางวัน ก่อนจะกลับไปพักอาศัยที่บ้านในเวลากลางคืนเนื่องจากเป็นห่วงบ้าน โดยปัจจุบันพบว่าเมื่อมีชาวบ้านมารวมตัวกันตามจุดที่จัดหาไว้ให้เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาเรื่องหาเรื่องห้องสุขา ล่าสุดเจ้าหน้าที่กำลังเร่งจัดหางบประมาณเพื่อนำมาสร้างห้องสุขา

สำหรับบรรเทาความเดือดร้อน ขณะที่ทางอำเภอบางบาลได้เร่งเสริมคันกั้นถนนเส้นผักไห่-อยุธยา เพราะเกรงว่าจะถูกน้ำท่วมขังจนไม่สามารถใช้การได้ และหากน้ำท่วมขังถนนเส้นดังกล่าวก็จะทำให้ อ.บางบาล ถูกตัดขาด นอกจากนี้ ชาวบ้านยังกังวลว่าหากมีฝนตกทางภาคเหนือ และภาคกลางซ้ำอีกก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ในพื้นที่แย่ลง เนื่องจากมวลน้ำเหนือจะไหลบ่ามาสมทบ โดยปีนี้ถือว่าระดับน้ำที่ท่วมอยู่ยังห่างจากช่วงน้ำท่วม ปี พ.ศ. 2554 ประมาณ 30 ซม.
อย่างไรก็ตาม ทางกรมชลประทานได้แจ้งเตือนมาว่า ภายในช่วง 1 - 2 วันนี้ ทะเลจะหนุนสูง ซึ่งก็จะทำให้สถานการณ์อยู่ในภาวะทรงตัว และหากพ้นช่วงทะเลหนุนสูงไปได้ภายใน 2 - 3 วัน ระดับน้ำจะมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ทั้งนี้ จากการประเมินภาพรวมคาดว่าปัญหาอุทกภัยของทุกจุดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในช่วงสิ้นเดือน พ.ย. 2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.