ภาษาเด็กเล็ก หรือ Baby Talks หรือ infant-directed speech คือการพูดของผู้ใหญ่ที่ใช้กับเด็กเล็ก ที่มีเสียงเล็กเสียงน้อย ท่าทาง และจังหวะที่แตกต่างจากการพูดกับเด็กโตและคนทั่วไป

ภาษาเด็กเล็ก จะมีคำศัพท์ที่แตกต่างจากภาษาทั่วไป ใช้โทนเสียงสูงกว่าปกติและน้ำเสียงสูงต่ำ มีการพูดซ้ำหลายๆครั้ง เน้นย้ำบางคำ และจังหวะที่ช้า พร้อมกับใช้สีหน้าท่าทางประกอบการพูด

มีการศึกษาวิจัยมากมายที่สนับสนุนการใช้ภาษาเด็กเล็ก ล่าสุด Elise Piazza หนึ่งในทีมวิจัย Baby Lab จาก Princeton University ค้นพบความพิเศษของภาษาเด็กเล็ก ที่ส่วนใหญ่คุณแม่จะเป็นคนใช้สื่อสารกับลูกน้อย พบว่า คุณแม่ทั่วทุกมุมโลก จะปรับท่วงทำนองพิเศษนี้ขึ้นมาเมื่อต้องสื่อสารภาษาเด็ก

การวิจัยเมื่อปี 2014 ของ University of Washington และ University of Connecticut ใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงของผู้ใหญ่ที่พูดน้ำเสียงปกติกับน้ำเสียงภาษาเด็ก และพบว่าเด็กเล็กตอบโต้กับน้ำเสียง Baby Talk มากกว่าการพูดปกติ ซึ่งตรงกับการวิจัยของ Spinelli ในปีนี้ ที่บอกว่า เด็กเล็กจะให้ความสนใจภาษาเด็กเล็กที่มาจากการพูดของผู้ใหญ่ได้นานกว่า

ขณะที่ Lab for Infant Development จาก University of Waterloo ระบุว่า เด็กเล็กให้ความสนใจผู้ใหญ่ที่พูดภาษาเด็กเล็กมากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน เพราะการฟังเด็กในวัยเดียวกันพูดนั้น เปรียบเหมือนผู้ใหญ่ฟังภาษาต่างประเทศที่ไม่คุ้นเคย แต่ในทางกลับกัน หากพ่อแม่พูดภาษาเด็กเล็กกับพวกเขา จะทำให้เด็กๆ แยกแยะคำศัพท์ที่สื่อสารได้ง่ายกว่า

บทความจาก American College of Pediatricians นำการวิจัยของ Ramirez เมื่อปี 2014 ที่ชี้ว่า เด็กอายุราว 1 ขวบที่ได้รับการสื่อสารด้วย Baby Talk บ่อยครั้ง มีโอกาสเรียนรู้คำศัพท์ได้มากขึ้นเมื่ออายุได้ 2 ปี

ดังนั้น ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดในการสื่อสาร ภาษาเด็กเล็ก คือ จุดเริ่มต้นของพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของเด็ก ซึ่งเป็นใบเบิกทางของการเรียนรู้ที่มากกว่า 1 ภาษาของเด็กๆได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม Baby Talk มีข้อจำกัด เพราะในบทความของ American College of Pediatricians ระบุว่า ควรเริ่มต้นใช้ภาษาเด็กเล็ก ได้ตั้งแต่อายุ 7 เดือน จนถึง 3 ขวบ

หากเกินกว่านั้น ควรหันมาใช้ภาษาพูดปกติ เนื่องจากในช่วงวัยนี้ เด็กสามารถแยกแยะ Baby Talk กับการสนทนาปกติได้ และพวกเขาต้องการให้พ่อแม่สื่อสารกับพวกเขาเหมือนผู้ใหญ่

สำหรับพ่อแม่ที่อยากฝึกฝนภาษากับเด็กที่อายุเกิน 3 ขวบปี สามารถปรับมาใช้วิธี Self-Talk คือ การอธิบายว่าวันนี้ลูกไปทำอะไรมาบ้าง แน่นอนว่ามันอาจเหมือนการพูดคนเดียว แต่เด็กวัยนี้จะรับฟังพ่อแม่

อีกวิธี คือ Parallel Talk หรือ พูดถึงสิ่งของหรือกิจกรรมที่เด็กกำลังสนใจในช่วงเวลานั้น

นอกจากนี้ การอ่านหนังสือกับเด็ก การสอนร้องเพลง และ Learning by doing เพื่อให้เด็กเกิดการเลียนแบบ ก็เป็นวิธีที่น่าสนใจ

แต่ที่สำคัญ คือ พ่อแม่ต้องใช้เวลาพูดคุยสื่อสารโต้ตอบกับเด็กให้มากที่สุด และหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากการเปรียบเทียบกับเด็กในวัยเดียวกันหรือสมาชิกในครอบครัว

http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=166098353302610874

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.