Posted: 25 Oct 2017 02:32 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ชวนดูหนังดังที่พรรคนาซีใช้โฆษณาค่านิยมพรรคนาซีและหนังที่ถูกแบน เล่ากลไกครอบงำประชาชนทางวัฒนธรรมตั้งแต่กลุ่มเยาวชนยันวิชาชีพ เส้นทางชาตินิยมเยอรมัน การแพ้สงครามโลก การเมือง กับการเลี้ยวขวาสู่อาณาจักรไรค์ที่สาม
เมื่อ 20 ต.ค. 2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดสัมมนาประวัติศาสตร์ระดับบัณฑิตศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ภายใต้หัวข้อ “การครอบงำประชาชนภายใต้ระบอบนาซี” โดยมีคัททิยากร ศศิธรามาศ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยปรีดี หงษ์สต้น
คัททิยากร ศศิธรามาศ
คัททิยากรนำเสนอการครอบงำประชาชนในทางวัฒนธรรมโดยพรรคนาซีหลังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ แสดงให้เห็นถึงกลไกการครอบงำ การจัดตั้งวัฒนธรรมเยอรมันในแบบฉบับนาซี และกีดกันวัฒนธรรมที่ไม่ใช่นาซีออกไปในเชิงของงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมหรือภาพยนตร์
กลไกการครอบงำประชาชนทางวัฒนธรรม
ฮิตเลอร์ตั้งกระทรวงการให้ความรู้กับประชาชนและกระทรวงโฆษณาการ มีโจเซฟ เกบเบิล มือขวาของฮิตเลอร์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ฮิตเลอร์เชื่อว่าการเปลี่ยนให้คนคิดแบบพรรคนาซีได้คือต้องแทรกซึมเข้าไปในทุกส่วน กระทรวงนี้แบ่งเป็น 7 กรมย่อย ได้แก่กรมโฆษณา กรมวิทยุ กรมหนังสือพิมพ์ กรมภาพยนตร์ กรมละคร กรมดนตรี กรมศิลปะและกรมการตอบโต้การโกหก
“นาซีศึกษา” ตีแผ่อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจเพราะคนเบื่อประชาธิปไตย
โจเซฟ เกบเบิล (ที่มา:วิกิพีเดีย)
ฮิตเลอร์เชื่อว่าต้องเปลี่ยนคนก่อนจึงจะเปลี่ยนประเทศ ต้องเปลี่ยนคนให้คิดเหมือนพรรคนาซี ฮิตเลอร์ก่อตั้งกลุ่มยุวชนชายฮิตเลอร์หรือฮิตเลอร์ยูเกน กลุ่มยุวชนหญิง เด็กชาย หญิงอายุ 7 ปีขึ้นไปจะต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มนี้ พรรคนาซี่จะส่งคนไปบรรยายว่าการเป็นนาซีที่ดีคือการเป็นเยอรมันที่ดี และบอกวิธีการเป็นเยอรมันที่ดี ผู้หญิงต้องเอาตัวออกจากการเมือง ดูแลบ้าน ดูแลลูก มีตารางการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน
คนที่ไม่ใช่ยุวชนก็จะมีองค์กรของอาชีพต่างๆ ที่ฮิตเลอร์ตั้งขึ้นเพื่อรองรับทุกอาชีพ ถ้าอยากจะมีงานทำต้องเข้าไปอยู่ในชมรมนั้น ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่มีสิทธิ์ได้รับการจ้างงาน การเข้าไปอยู่ในองค์กรจะถูกตรวจสอบตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็จะต้องสอนว่ามีชนชั้นคนผิวขาวในฐานะที่มีเลือดสูงที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด ถ้าไม่สอนตามนี้ ก็ต้องถูกจับตัวเข้าค่ายกักกันของพรรคนาซี
ตัวอย่างภาพยนตร์โฆษณาการ
กรมภาพยนตร์อยู่ภายใต้การดูแลของ Ernst Seeger มีหน้าที่สั่งให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ผลิตภาพยนตร์ออกมาตามแนวคิดหรือนโยบายของกรมภาพยนตร์ ซึ่งแนวคิดและนโยบายของกรมภาพยนตร์ ก็จะตรงกับแนวคิดและนโยบายของพรรคนาซี ดังนั้นภาพยนตร์จึงเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ฮิตเลอร์ถือว่ามีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่งในการเผยแพร่นโยบายของพรรค โดยขั้นตอนแรกที่กรมภาพยนตร์จะต้องทำก็คือการค่อยๆ ซื้อบริษัทภาพยนตร์เอกชนให้กลายมาเป็นของรัฐบาล จนในที่สุด บริษัททั้งหลายที่ถูกรัฐบาลซื้อมานี้ได้ถูกนำมาจัดตั้งรวมกันกลายเป็นบริษัท Ufa ใน ค.ศ. 1942
Leni Riefenstahl ถ่ายโดย Alexander Binder (ที่มา:วิกิพีเดีย)
ด้านงานโฆษณาการภาพยนตร์ Leni Riefenstahl เป็นผู้กำกับหญิงจากกรุงเบอร์ลินที่พรรคนาซีไว้วางใจให้ทำหนัง เธอร่วมงานกับฮิตเลอร์และผลิตหนังที่พรรคนาซีให้เงินสนับสนุน ภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดของ Riefenstahl หลังร่วมงานกับฮิตเลอร์ได้แก่เรื่อง Triumph des Willens (ชัยชนะแห่งความต้องการ)
ภาพจาก Triumph des Willens (Triumph of the Will) (ที่มา:Film Reference)
Triumph des Willens (1935) หนังที่โด่งดังที่สุดของ Riefenstahl ภาพยนตร์สารคดีและเป็นการบันทึกเหตุการณ์การชุมนุมของพรรคนาซีที่จัดขึ้นที่เมือง Nuremberg ในปี 1934 เรื่องเปิดฉากด้วยการไว้อาลัยแก่ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และหลังจากนั้นได้แบ่งการชุมนุมออกเป็น 4 วัน หนังเรื่องนี้ถูกวิจารณ์ว่าแสดงถึงการขึ้นครองอำนาจอย่างยั่งยืนของฮิตเลอร์หลังได้รับมอบอำนาจการออกกฎหมายจากฮินเดนบูร์ก
วันที่ 1 ภาพยนตร์เปิดฉากด้วยการถ่ายก้อนเมฆบนท้องฟ้า และหลังจากนั้นกล้องถ่ายให้เห็นเหล่ามวลชนที่มาร่วมงาน หลังจากนั้น กล้องถ่ายให้เห็นฮิตเลอร์ที่เดินทางมาโดยเครื่องบิน และเครื่องบินของฮิตเลอร์ลงจอดที่สนามบิน และฮิตเลอร์ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากฝูงชน และรถที่ฮิตเลอร์นั่งได้เดินทางต่อไปยังโรงแรมที่พัก
วันที่ 2 ภาพยนตร์จะชี้ให้เห็นถึงสมาชิกของพรรคนาซีที่มาร่วมงานประชุมในครั้งนี้ กำลังเตรียมตัวกันอยู่ ภาพยนตร์จะชี้ให้เห็นถึงพิธีเปิด ที่มีบุคคลสำคัญของพรรค เช่น Joseph Goebbels หรือ Alfred Rosenberg ผลัดกันขึ้นมาพูด วันที่ 2 ของการประชุมสิ้นสุดลงด้วยการเดินขบวนของหน่วย SA
วันที่ 3 ฮิตเลอร์กล่าวปาฐกถากับกลุ่มยุวชนฮิตเลอร์และกองทัพ และในตอนกลางคืน ฮิตเลอร์กล่าวปาฐกถากับนักการเมือง ซึ่งมีใจความสำคัญว่า “การเมืองและรัฐต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”
วันที่ 4 ฮิตเลอร์วางพวงมาลัยเพื่อรำลึกถึงทหารที่เสียชีวิตไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และก่อนที่งานประชุมประจำปีจะปิดฉากลง ฮิตเลอร์ได้กล่าวปาฐกถาอีกครั้งหนึ่งถึงความยิ่งใหญ่ของพรรคนาซีในประเทศเยอรมนี ในตอนจบ ฮิตเลอร์ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า Alle anständigen Deutschen werden Nationalsozialisten. Nur die besten Nationalsozialisten sind Parteigenossen! (ชาวเยอรมันที่ดีทุกคนจะหันมาชื่นชมในนโยบายของพวกเรา และบุคคลที่ดีที่สุดเท่านั้นที่จะได้กลายมาเป็นสมาชิกพรรคของเรา)
Olympia (โอลิมเปีย) กำกับโดย Riefenstahl เป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการจัดแข่งกีฬาโอลิมปิกในกรุงเบอร์ลินในปี 1936 ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายปี 1938 เป็นเวลา 2 ปีหลังเยอรมนีเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก)
ฉากที่โด่งดังของโอลิมเปียคือฉากที่เน้นสัดส่วนนักกีฬา เน้นคอนเซปต์คนที่สมบูรณ์ตามคติของนาซีทั้งหญิงและชาย Riefenstahl ไปถ่ายทำถึงกรีซซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกก่อนที่เยอรมนีจะเป็นเจ้าภาพในปี 1936 เพื่อถ่ายบทนำที่แสดงให้เห็นอะโครโพลิสในกรุงเอเธนส์ และถ่ายให้เห็นไฟโอลิมปิกที่ถูกถือจากเอเธนส์มาที่ Olympiastadtion หรือสถานที่ที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงเบอร์ลิน และถ่ายทำรูปปั้นกรีกที่ืจะสื่อว่าอารยธรรมอารยันมีที่มาจากอารยธรรมกรีก มีคนโจมตีว่าเรื่องนี้เป็นหนังโป๊ของพรรคนาซี แต่จริงๆ แล้วมันเป็นหนังที่ต้องการบอกว่าคนเยอรมันที่ดีควรเป็นแบบไหน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ในภาคแรกชื่อว่า Fest der Völker (งานรื่นเริงแห่งมวลชน) ส่วนภาพยนตร์ในภาคที่สองชื่อ Fest der Schönheit (งานรื่นเริงแห่งความงาม) ฉากที่โด่งดังมากได้แก่ฉากกระโดดน้ำในตอนจบของเรื่อง ซึ่งเน้นถึงความงามของร่างกาย
โอลิมเปียภาคแรก: Fest der Völker (งานรื่นเริงแห่งมวลชน)
โอลิมเปียภาคที่สอง: Fest der Schönheit (งานรื่นเริงแห่งความงาม)
ตัวอย่างภาพยนตร์ที่ถูกแบน
ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมความเป็นเสรีนิยม คอมมิวนิสต์ อะไรที่ไม่เข้าธีมพรรคนาซีถูกเซ็นเซอร์ และส่งเสริมการสร้างหนังที่โปรโมตอุดมการณ์พรรคนาซี
Kuhle Wampe: Wem gehoert die Welt (Kuhle Wampe: โลกนี้เป็นของใคร) ออกฉายในปี 1932 ผู้กำกับคือสลาตัน ดูโดว เป็นหนังคอมมิวนิสต์เรื่องแรกๆ ของโลก กล่าวถึงชีวิตกรรมกรในกรุงเบอร์ลินเมื่อปี 1929 ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แนวดราม่าปนสารคดี และแสดงถึงความยากลำบากของชีวิตของกรรมกรในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงท้ายของสาธารณรัฐไวมาร์ (ชื่อเรียกเยอรมนีสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1) ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยการที่ชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน กระโดดหน้าต่างเพื่อฆ่าตัวตาย เนื่องจากเขาได้กลายเป็นคนตกงาน จึงทำให้ครอบครัวของเขาต้องย้ายจากที่อยู่ที่เคยอาศัยอยู่ มาอาศัยอยู่ที่สวนแห่งหนึ่งซึ่งคนว่างงานจำนวนมากนิยมย้ายมาตั้งเตนท์อยู่ที่นี่ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Kuhle Wampe
เมื่อเสียบุตรชายไปจากการฆ่าตัวตายแล้ว ครอบครัวนี้จึงเหลือเพียงบุตรสาวอีกคนเดียว ที่ยังมีงานทำและหาเลี้ยงครอบครัวได้ ชื่อ Anni อย่างไรก็ตาม Anni ก็มีปัญหาส่วนตัว เนื่องจากเธอตั้งครรภ์โดยที่แฟนหนุ่ม Fritz ไม่ต้องการที่จะรับผิดชอบการตั้งครรภ์นี้
ต่อมาไม่นาน Anni และ Fritz ก็ปรับความเข้าใจกันได้ และช่วยกันตั้งใจทำมาหาเลี้ยงบุตรที่กำลังจะเกิดมา จุดไคลแม็กซ์ของภาพยนตร์อยู่ที่ฉากที่ Anni และ Fritz และเพื่อนบางคนกำลังนั่งอยู่บนรถรางและเกิดโต้เถียงกับนักธุรกิจที่ร่ำรวยเกี่ยวกับสถานการณ์ของวิกฤติเศรษฐกิจ ในระหว่างที่ยังโต้เถียงกันอยู่นั้น หนึ่งในนักธุรกิจถามว่า “ใครจะเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้” จึงทำให้หนึ่งในเพื่อนของ Anni ตอบว่า “ก็คนที่ไม่ชอบมันน่ะสิ”
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกห้ามไม่ให้ฉายเนื่องจากพรรคนาซีมองว่าเป็นภาพยนตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์ และก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายในเยอรมนีใน ค.ศ. 1932 ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยเข้าฉายที่กรุงมอสโคว์แล้ว ส่งผลให้ดูโดวเองก็ต้องหลบหนีออกจากเยอรมนีไปฝรั่งเศส จนสามารถเดินทางไปยังสวิตเซอร์แลนด์พร้อมภรรยาและบุตรสาวได้ในที่สุด
Kuhle Wampe: โลกนี้เป็นของใคร
Das Testament des Dr.Mabuse ผู้กำกับคือ Fritz Lang โด่งดังมากในยุโรป เป็นหนังสยองขวัญ เนื้อเรื่องคร่าวๆ คือ ดร.มาบูเซอร์เป็นชายโรคจิต อาศัยในโรงพยาบาลบ้า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชื่ออาจารย์วอร์ม มาบูเซอร์เขียนแผนการอาชญากรรมที่โหดร้ายต่างๆ นานา ขึ้นมา และมีกลุ่มอาชญากรขโมยแผนการต่างๆ ไปทำจริงๆ ตำรวจก็ตามรอยจนมาพบว่าเป็นแผนการของมาบูเซอร์ สืบไปสืบมาพบว่ามาบูเซอร์ตายแล้ว แต่เป็นวิญญาณของเขาที่ไปสิงวอร์มที่หนีไปโรงพยาบาลบ้าแล้ว จนกระทั่งตำรวจพบอีกทีว่าวอร์มเป็นผู้ป่วยโรคจิตในโรงพยาบาลอีกที่หนึ่ง หนังจบที่วอร์มนั่งฉีกแผนการก่ออาชญากรรม หนังเรื่องนี้ถูกแบนเพราะเกิบเบลบอกว่าหนังล้อเลียนฮิตเลอร์ เพราะความบ้าของมาบูเซอที่แสดงออกมาละม้ายคล้ายฮิตเลอร์ ทำให้ตัวผู้กำกับชาวเยอรมันที่พรรคนาซีต้องการให้มาร่วมงานด้วย หนีออกนอกประเทศไปเพราะไม่อยากทำหนังรับใช้นาซี
Das Testament des Dr.Mabuse
Westfront 1918 กำกับโดย Georg Wilhelm Pabst ฉายใน ค.ศ. 1930 หรือ 3 ปีก่อนที่ฮิตเลอร์จะยึดอำนาจ เป็นเรื่องของทหารเยอรมันจำนวน 4 คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารทั้ง 4 ออกรบพร้อมๆ กัน และได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดเวลา เมื่อทั้ง 4 คนมีเวลาพักบ้าง ทหารหนึ่งคนได้หลงรักสาวชาวฝรั่งเศส และเมื่อสงครามดำเนินต่อไป ทหาร 3 คนเสียชีวิต ส่วนอีก 1 คนเสียสติเมื่อเห็นศพของเพื่อนตนเอง และศพอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ทหาร 1 ใน 4 คนสุดท้ายนี้ก็เสียชีวิตในโรงพยาบาลทหาร ในฉากนี้ ทหารฝรั่งเศสที่นอนอยู่ข้างเขา ก็จับมือเขาขึ้นมาถือไว้พร้อมพูดว่า “ศัตรู ไม่ใช่สิ เพื่อนร่วมชะตากรรม”
เนื้อหาภาพยนตร์ถูกตีความว่ามีจุดยืนต่อต้านสงคราม ซึ่งเยอรมนีขณะนั้นถูกครอบงำด้วยพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่ชูนโยบายต่อต้านชาติตะวันตก และฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายส์ส์ที่เยอรมนีลงนามในฐานะผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากจนถูกสั่งห้ามฉายในปี 1933
Westfront 1918
เล่าเส้นทางชาตินิยมเยอรมัน การแพ้สงครามโลก การเมือง การเลี้ยวขวาสู่อาณาจักรไรค์ที่สามและบทบาทของโฆษณาการ
คัททิยากรเล่าปูมหลังก่อนเยอรมนีกลายเป็นจักรวรรดิไรค์ที่ 3 ใต้การปกครองของพรรคนาซี การสร้างความรู้สึกชาตินิยมที่มีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างชาติในสมัยปี 1871 มีการสร้างประวัติศาสตร์ในยุคพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 จักรพรรดิพระองค์แรกของจักรวรรดิเยอรมัน มีการสร้างเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี อนุเสาวรีย์ของกษัตริย์ราชวงศ์ตนเอง มีการสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการสืบเชื่อสายชาวเยอรมันไปถึงชนเผ่าเยอรมานิคที่เคยต่อสู้และเอาชนะทหารโรมันเมื่อศตวรรษที่ 9 นำมาเล่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ภาคภูมิใจ มีอนุเสาวรีย์ของแม่ทัพแฮร์มานที่มีความสูงที่สุดในโลกเมื่อปี 1873 เป็นผลให้คนในชาติรู้สึกว่ามีบรรพบุรุษคนเดียวกัน มีความเชื่อมโยงกัน
นักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่าการโยงไปถึงชาตินิยมเมื่อ 1871 อาจจะยาวไป จึงขยับมาดูยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะหลังการเกิดจักรวรรดิเยอรมันในปี 1871 เยอรมนีเองก็สร้างกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่และเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914-1918 ตอนนั้นเยอรมนีอยู่ฝ่ายมหาอำนาจกลาง เยอรมนีพ่ายแพ้และนักประวัติศาสตร์หลายคนเคลมว่าเป็นจุดที่ทำให้ฮิตเลอร์ครองอำนาจได้ เพราะหลังจากแพ้สงครามมีการเปลี่นยแปลงที่ยิ่งใหญ่ในเยอรมนี เพราะกษัตริย์วิลเฮล์มที่ 2 ที่ครองราชย์อยู่ก็สละราชสมบัติและลี้ภัยไปอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ รวมถึงต้องเปลี่ยนระบอบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นสาธารณรัฐเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศแย่มาก เกิดภาวะเงินเฟ้อระหว่างสงครามอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามยังไม่จบ ทำให้มีประชาชนประท้วงและกล่าวโทษพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 2
พระเจ้าวิลเฮล์มที่สอง (ที่มา:วิกิพีเดีย)
บทบาทพรรคการเมืองในเยอรมนีมีนานแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะตั้งประเทศเยอรมนี พรรคที่มีบทบาทในการเรียกร้องในสงคาม คือพรรคคาเพเด (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศเยอรมนี) เป็นพรรคที่ใหญ่มากกว่าของรัสเซียเสียอีก และเป็นที่หวาดกลัวของประชาชนว่าเยอรมนีจะเปลี่ยนการปกครองไปเป็นแบบรัสเซียที่เปลี่ยนการปกครองไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ก็จะมีพรรคที่ค้านก็คือพรรคเอสเพเด (โซเชียลเดโมแครต - SPD) ที่เป็นพรรคใหญ่มาตั้งแต่ปี 1800 กว่าๆ จนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นพรรครัฐบาลอยู่ พรรค SPD มีความสำคัญในฐานะผู้ผลักดันให้มีการปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐซึ่งชาวเยอรมันสมัยนั้นก็ยอมรับ จะมีก็แต่กลุ่มทหารที่ไม่ยอมรับ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงปลายสงคราม เยอรมนีเสียเปรียบในสงครามแล้วหลังสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมสงครามในปี 1917 ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีกำลังในการสู้รบมากขึ้น พอประเทศเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้ว รัฐบาลสาธารณรัฐเราจะเรียกเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่า สาธารณรัฐไวมาร์ ได้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ที่เยอรมันทำกับประเทศที่ชนะสงครามทางฝ่ายตะวันตก มีผลหลายด้านที่ทำให้ต่อมาพรรคนาซีได้เอามาใช้ในการโฆษณาสร้างความเข้มแข็งและความน่านับถือให้กับพรรค สนธิสัญญาแวร์ซายส์ส่งผลกระทบหลายด้าน เนื้อหาหลักๆ คือการกำหนดให้เยอรมนีเสียอาณานิคมโพ้นทะเลทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีเยอะเพราะเพิ่งเกิดใหม่ มีแค่ 3 ที่ในแอฟริกา ในชิงเต่าที่จีนและเกาะแถบโอเชียเนีย ทั้งยังกำหนดให้เยอรมนีจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามถึง 132 พันล้านมาร์กซ์ ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมาก ถ้าจะใช้กันจริงๆ ก็คงจะเพิ่งหมดเมื่อไม่นานมานี้ ข้อสำคัญที่สุดคือมาตรา 131 ที่กล่าวว่า เยอรมนีต้องยอมรับผิดว่าตัวเองเป็นผู้ก่อสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวที่สร้างความไม่พอใจกับฮิตเลอร์ที่เคยเป็นทหารที่ภาคภูมิใจในความเป็นอารยันของเยอรมนี
สังคมเยอรมันแตกเป็นสามกลุ่มหลังสงคราม หนึ่ง กลุ่มซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ทั้งหลายที่เสียดายว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสหภาพโซเวียต ทำไมไม่ปฏิเสธสนธิสัญญาแวร์ซายส์ สอง กลุ่มเสรีนิยมที่มีขนาดไม่ใหญ่เท่าพรรค SPD ที่คิดว่าต้องร่วมมือกับผู้ชนะกับสนธิสัญญาแวร์ซายส์ แต่มาตราที่ 131 นั้นไม่เป็นที่พอใจกับทุกกลุ่มเพราะเห็นว่าไม่ยุติธรรมกับเยอรมนี เพราะ และเป็นมาตราที่ฮิตเลอร์เอามาใช้รณรงค์กับพรรคนาซีในภายหลัง สาม กลุ่มขวาจัด ที่อยากปฏิเสธสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เอากษัตริย์กลับมาและประกาศทำสงครามกับประเทศตะวันตกอีกครั้ง เช่นพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เช่นพรรคนาซีและพรรคที่ก่อตั้งโดยทหาร เป็นต้น
เหล่าทหารก็มีความฝังใจเพราะเชื่อว่าแพ้ด้วยการถูกชาวเยอรมนีประท้วง ทำให้ประเทศอ่อนแอและพ่ายแพ้ไปในที่สุด ขณะนั้นเยอรมนีวุ่นวายมาก รัฐบาลไม่มั่นคงเอาเสียเลยเพราะรัฐบาลเสรีนิยมแทบจะประคองตัวเองไม่ได้ ทุกวันจะมีการกบฏเล็กๆ น้อยๆ จากกลุ่มฝ่ายซ้ายที่พยายามเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่ดำเนินมาจากช่วงสงครามยิ่งทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นอึก จนนักประวัติศาสต์เยอรมันเรียกว่าเป็นเงินเฟ้ออย่างหนักในช่วง 1920-1923 เพราะสินค้าขาดแคลนมาก ยิ่งทำให้กลุ่มฝ่ายขวาได้ทีวิจารณ์รัฐบาลว่าไร้น้ำยา
นักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่ารัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐไวมาร์ทำให้ฮิตเลอร์ครองอำนาจได้ เพราะมีจุดโหว่เยอะ ทำให้ฮิตเลอร์ใช้ที่จะสถาปนาอำนาจของตัวเอง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจประธานาธิบดีในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ สอง รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีมอบอำนาจให้นายกฯ ออกชุดกฎหมายกฤษฎีกาฉุกเฉินที่ให้อำนาจรัฐบาลออกกฎหมายใดๆ ก็ได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา กฎหมายนั้นจะขัดรัฐธรรมนูญก็ได้แต่ต้องได้เสียงในสภา 2 ใน 3
นักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์ก็จะเชื่อว่าฮิตเลอร์ครองอำนาจเพราะเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ช่วงที่ทั้งซ้าย ขวา กลางสู้กัน สุดท้ายฝ่ายเสรีนิยมเป็นฝ่ายที่ชนะด้วยการพลิกนโยบายมุ่งตะวันตก คือทำตามความต้องการของผู้ชนะสงครามในหลายๆ เรื่อง เช่นค่าปฏิกรรมสงคราม ทำให้ได้รับเงินก้อนช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ทุกปี ตั้งแต่ 1924 เป็นต้นมา ทำให้วิกฤติเงินเฟ้อหายไป มีผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ มาช่วยปฏิรูปค่าเงินและเศรษฐกิจ แต่ก็ทำให้ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายโจมตีรัฐบาลเสรีนิยมว่าไปผูกประเทศกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฮิตเลอร์ใช้ด้วย พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 1929 เมื่อเศรษฐกิจอเมริกาล่ม ก็ทำให้เยอรมนีแย่ตามไปด้วยเพราะผูกเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ด้วย เงินช่วยเหลือก็หายไป ทำให้การผลิต ภาคอุตสาหกรรมชะงักงัน คนตกงานถึง 9-16 ล้านคน ทำให้พรรคฝ่ายขวาและซ้ายมีเรื่องที่จะโจมตีฝ่ายเสรีนิยม
ปี 1930 เป็นช่วงที่พรรคฝ่ายขวาและซ้ายเริ่มหาเสียง ฝ่ายซ้ายก็ชูนโยบายแรงงานทั้งหลายแหล่ มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด ฝ่ายเสรีนิยมก็พยายามหาเสียงด้วยความสงบสุข ร่วมมือกับสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ก็คือผู้ชนะสงคราม แต่ก็ลำบากในการหาเสียงเพราะสภาพเศรษฐกิจและการเมืองโลก ส่วนฝ่ายขวาก็ชูว่าจะนำเยอรมนีกลับมายิ่งใหญ่อย่างช่วงการรวมชาติใหม่ๆ ชูว่าจะทำสงครามกับผู้ชนะสงครามเพื่อปลดแอกสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ไม่จ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ทำลายคอมมิวนิสต์ และชูนโยบายเศรษฐกิจเหมือนกันด้วยความที่มีภาคธุรกิจสนับสนุน
สถานการณ์ในเยอรมนีเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ในทางเศรษฐกิจ 1932 เกิดการเลือกตั้งกลางปี พรรคนาซีที่เป็นฝ่ายขวาที่ค่อนข้างใหญ่ ได้รับเสียงถึงร้อยละ 37 ฮิตเลอร์ยังไม่ได้เป็นนายกฯ แต่พอปี 1933 นักธุรกิจที่สนับสนุนพรรคนาซีได้กดดันประธานาธิบดีให้แต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์ยึดอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย เพราะมีคนสนิทที่ให้คำแนะนำว่ายึดอำนาจเสียเลยในช่วงที่เป็นนายกฯ แล้ว เพราะพรรคนาซีก็มีกองกำลังทหารประจำพรรคอย่าง SA และ SS อยู่ แต่ฮิตเลอร์ก็ปฏิเสธ บอกว่าทุกขั้นตอนต้องทำหลักประชาธิปไตย จากนั้นก็ใช้ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญทำลายระบอบประชาธิปไตย โดยใช้โฆษณาการเข้ามาช่วย
วันแห่งพอทสดัม (Tags von Potsdam) แสดงภาพฮิตเลอร์ก้มศีรษะต่อประธานาธิบดีฟอน ฮินเดนบูร์ก (ที่มา:วิกิพีเดีย)
ภาพโฆษณาการชิ้นแรกเป็นภาพที่ชื่อว่าวันแห่งพอทสดัม เป็นภาพแรกที่ถูกนำมาใช้โฆษณา (Tags von Potsdam) ในวันดังกล่าวโฆษกอธิบายท่าทางต่างๆ ของฮิตเลอร์ผ่านวิทยุกระจายเสียงด้วย พรรคนาซีจัดงานนี้ขึ้นเพื่อทำให้มีกฎหมายมอบอำนาจดังที่ระบุเอาไว้ในชุดกฎหมายกฤษฎีกาฉุกเฉิน
โจเซฟ เกิบเบล เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านโฆษณาการทั้งหมด เป็นเจ้ากระทรวงการให้ความรู้กับประชาชนและกระทรวงโฆษณาการ เขาจัดวางท่าทางและคิดงานทั้งหมดเพื่อจัดการโหวตมอบอำนาจทั้งหมด ภาพและงานในวันแห่งพอทสดัมทรงพลังมากจนกฎหมายการมอบอำนาจได้รับการรับรองในเวลาต่อมา จากนั้นฮิตเลอร์ก็ออกกฎหมายมาแบนพรรคอื่น ยุบรวมพรรคฝ่ายขวาอื่นเข้ากับพรรคนาซี กลายเป็นพรรคการเมืองเดียวในเยอรมนีในปี 1933 ยุบตำรวจ ยุบตำแหน่งทางการเมืองในทุกรัฐจาก 16 รัฐและตั้งคนของพรรคนาซีเข้าไปแทน
ภาพครอบครัวสุขสันต์ของเกบเบิล (The Goebbels family) ในปี 1942 เป็นหนึ่งในโฆษณาการสนับสนุนให้มีลูก 3 คนขึ้นไป ผู้หญิงที่มีลูกไม่ได้ถือว่าไร้ค่า คนที่ใส่ชุดทหารเป็นลูกที่ติดมาจากภรรยาเก่าของเกบเบิล (ที่มาภาพ:วิกิพีเดีย)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
แสดงความคิดเห็น