iLaw

เอกชัย หงส์กังวาน ถูกพาตัวไปภายใต้ความน่ากังวลของอำนาจพิเศษตามคำสั่ง 3/2558

เวลาประมาณ 9.30 น. ของวันที่ 24 ตุลาคม เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองคนหนึ่งโทรศัพท์แจ้งกับอานนท์ นำภา ทนายความและเพื่อนนักกิจกรรมของเขาว่า มีทหารมาพบที่บ้าน แจ้งว่าให้เลือกว่าจะไปค่ายทหารหรือไปพักผ่อนที่รีสอร์ทในจังหวัดกาญจนบุรี หลังจากนั้นอานนท์ได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าสาธารณะรายงานเป็นระยะว่าเอกชัยตัดสินใจเดินทางไปรีสอร์ทในจังหวัดกาญจนบุรีกับทหาร โดยเดินทางไปถึงที่พักในเวลาประมาณ 16.00 น. หลังจากนั้นเพื่อนๆ ก็ไม่สามารถติดต่อเอกชัยได้อีก

สำหรับมูลเหตุในการถูกควบคุมตัวครั้งนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการที่เอกชัยโพสต์ข้อความในวันที่ 20 ตุลาคม ว่าจะใส่เสื้อสีแดงและทำอะไรบางอย่างบางอย่างในวันที่ 26 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันกำหนดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของ ในหลวงรัชกาลที่เก้า

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เอกชัยถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาจากการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ก่อนหน้านี้ในวันที่ 24 มิถุนายน 2560 https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551.646424.299528675550/10158939152630551/?type=3&theater เอกชัยเคยถูกควบคุมตัวในลักษณะคล้ายๆ กันครั้งหนึ่งจากการประกาศว่า จะไปขุด "หมุดหน้าใส" ที่ถูกนำมาเปลี่ยนกับหมุดคณะราษฎรออก แล้วนำหมุดคณะราษฎรจำลองมาเปลี่ยนแทน ครั้งนั้นเอกชัยเอกชัยถูกควบคุมตัวในเวลาประมาณ 8.40 น. เจ้าหน้าที่ซึ่งวางกำลังอยู่ใกล้ๆ ลานพระบรมรูปทรงม้าคุมตัวเขาแทบจะทันทีที่ลงจากรถแท็กซี่ ในวันนั้นเอกชัยอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เช้าจนค่ำและถูกส่งตัวไปมาระหว่างค่ายมทบ.11 กับสน.ดุสิต ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำตัวเขาไปส่งที่บ้านโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา

การควบคุมตัวเอกชัยทั้งสองครั้งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า อาศัยใดในการควบคุมตัว และไม่ได้ระบุเหตุในการควบคุมตัวที่ชัดเจน แต่ปัจจุบันการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ก็สามารถทำได้โดยอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ออกตาม "มาตรา 44" ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกบุคคลมาควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาได้ไม่เกิน 7 วัน ในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจหรือเรือนจำ

อย่างไรก็ตามคำสั่งนี้ยังมีเงื่อนไขว่า การจะเรียกหรือควบคุมตัวบุคคลต้อง "มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด" และความผิดดังกล่าวต้องเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหมวดพระมหากษัตริย์ หมวดความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับอาวุธสงคราม และการฝ่าฝืนประกาศ/คำสั่งคสช. ซึ่งหากดูพฤติการณ์ของเอกชัยจากการกระทำทั้งสองครั้งยังไม่มีความชัดเจนว่า เอกชัยจะทำความผิดตามกฎหมายใด นอกจากการประกาศว่า จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บางอย่างในลักษณะที่ผู้เห็นต่างอาจจะไม่สบายใจ

ยังไม่มีความชัดเจนว่า วันที่ 26 ตุลาคม เอกชัยตั้งใจจะทำอะไร และกิจกรรมนั้นจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ และหากการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่เอกชัยทำในวันดังกล่าวจะเข้าข่ายผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่ก็น่าจะอาศัยอำนาจปกติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาทำการจับกุมเอกชัยได้โดยไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษควบคุมตัวเอกชัยล่วงหน้าเหมือนที่เกิดขึ้น การควบคุมตัวเอกชัยที่เกิดขึ้นจึงทำให้เกิดคำถามว่า เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินกว่าที่คำสั่งฉบับที่ 3/2558 ให้อำนาจไว้หรือไม่

เข้าสู่วันที่ 25 ตุลาคม 2560 เป็นวันที่สองที่เอกชัยถูกควบคุมตัวไปโดยไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหา และไม่สามารถติดต่อใครได้ ต้องคอยติดตามกันต่อว่า เอกชัยจะถูกควบคุมตัวนานกี่วัน และคอยติดตามฟังเรื่องราวต่อไปว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างที่เขาถูกเอาตัวไปภายใต้อำนาจพิเศษนี้



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.