Posted: 24 Oct 2017 08:12 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชำนาญ จันทร์เรือง

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมและคณะทำงาน “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทย (Transitional Justice,Thailand) ”ได้มีโอกาสไปร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการของ Transitional Justice Asia Network เกี่ยวกับเรื่อง The Role of Truth in Strengthening Peace in Asia ที่อาเจะห์ อินโดนีเซีย โดยมีผู้เชียวชาญจากประเทศต่างๆที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการปัญหาความขัดแย้ง เช่น ติมอร์ตะวันออก,ฟิลิปปินส์,ศรีลังกา,เกาหลีใต้,พม่า,อินโดนีเซียและอดีตผู้เชี่ยวชาญประจำสหประชาชาติมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

ผมอยากไปอาเจะห์มานานแล้วด้วยเหตุสำคัญในสองเรื่อง เรื่องแรกคืออาเจะห์ถูกคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเมื่อ 26 ธันวาคม 2004 จนมีผู้เสียชีวิตกว่าสองแสนคน เรื่องที่สองคือการที่อาเจะห์มีความขัดแย้งกับรัฐบาลอินโดนีเซียจนถึงขั้นการใช้อาวุธและมีผู้เสียชีวิตเกือบสามหมื่นคนแต่สามารถยุติปัญหาจนสามารถจัดการตนเอง (self determination) ได้สำเร็จ

อาเจะห์มีอธิปไตยเป็นของตนเองมาตั้งแต่ปี 840 โดยการประกาศของSayyed Maulana Abdul Aziz Shah อาเจะห์ผ่านความรุนแรงมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การต่อสู้กับดัชท์ที่พยายามใช้กำลังเข้ายึดครองอาเจะห์ให้เป็นอาณานิคมของตนแต่ไม่สำเร็จ แต่หลังจากที่อินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชเมื่อ 17 สิงหาคม 1945 อินโดนีเซียได้ถือโอกาสผนวกรวมเอาอาเจะห์ไปเป็นส่วนหนึ่งของตน และในปี 1976 ขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ (Free Aceh Movement หรือ Gerakan Aceh Merdeka-GAM) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธได้ประกาศปลดปล่อยอาเจะห์ในสมัยของรัฐบาลทหารซูฮาร์โต ต่อมาในปี 1989 กองทัพอินโดนีเซียประกาศให้อาเจะห์เป็นเขตการปฏิบัติการทางทหาร(daerah operasi militer-DOM) ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการสังหารเข่นฆ่า จับกุมคุมขังและทรมานประชาชนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามได้มีการพยายามเจรจากันมาตลอดจนสุดท้ายได้มีการลงนามระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับGAMเรียกว่าข้อตกลงเฮลซิงกิ(Helsinki MOU)ในปี 2005 ซึ่งเกิดภายหลังที่เกิดสึนามิ โดยหลายฝ่ายเข้าใจว่าเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้สำเร็จ ซึ่งแท้ที่จริงมิได้เป็นเช่นนั้น แต่เหตุการณ์สึนามิก็เป็นส่วนสำคัญที่เป็นตัวเร่ง(catalyst)ทำให้ให้การตกลงทำได้เร็วและง่ายขึ้น

ข้อตกลงเฮลซิงกิตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายที่จะยึดหลักสันติวิธีและหลักประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีการนิรโทษกรรมให้แก่นักโทษหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับGAMทั้งหมดและกำหนดให้อาเจะห์เป็นเขตปกครองตนเองที่มีอำนาจในการบริหารปกครองกิจการสาธารณะของอาเจะห์ในทุกด้าน ยกเว้นด้านการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ การเงิน และเสรีภาพในการนับถือศาสนา

นอกจากนั้นยังกำหนดให้รายได้ที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเลของท้องถิ่นนั้นจะจัดสรรให้แก่อาเจะห์ในอัตราส่วนร้อยละ 70 ซึ่งคล้ายคลึงกับร่าง พรบ.ระเบียบบริหารเชียงใหม่มหานครฯหรือร่าง พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเองฯ ที่เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเองได้รณรงค์กันมาโดยตลอด

อีกทั้งยังมีข้อตกลงในการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน (Human Rights Court) และคณะกรรมการแสวงหาความจริงและสมานฉันท์ (Truth and Reconciliation Commission) การปฏิรูปสถาบัน (Institutional Reform) ขึ้นมาอีกด้วย ส่วนการที่อาเจะห์ใช้กฎหมายชารียะห์ในปัจจุบันนั้นไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในข้อตกลงตั้งแต่แรกแต่อย่างใดแต่เป็นการขยายความมาใช้ในภายหลัง

เหตุที่ทำให้อาเจะห์กลับคืนสู่สันติภาพได้สำเร็จ

1) ผู้นำต้องมีความมุ่งมั่นในการเจรจา

ประธานาธิบดียุทโธโยโนและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่างมุ่งมั่นทำงานหนักเพื่อที่ยุติสงครามที่เกิดขึ้นให้ได้ด้วยสันติวิธี โดยพยายามโน้มน้าวกองทัพให้สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพด้วยตนเอง ซึ่งแม้ทางกองทัพจะลังเลในช่วงแรกแต่ก็เห็นด้วยในท้ายที่สุด

2) ผู้นำต้องมีความจริงใจ

รัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มจากการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ทุกฝ่ายมีช่องทางแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกต่างๆ อย่างอิสระ เพื่อให้ฝ่ายที่มีความคับข้องใจได้รู้สึกว่ารัฐบาลได้ยินเสียงของตน หรือส่งสัญญาณว่าต้องการจะพูดคุยกับกลุ่มขบวนการที่สนใจจะคุยโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะและต้องไม่มองว่าคู่เจรจาคือศัตรู แต่เป็นเพื่อร่วมชาติที่แตกต่างในด้านความเชื่อหรือมีเป้าหมายที่แตกต่างจากเรา

3) ตัวกลางต้องมีประสิทธิภาพ

การเจรจาที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในประเทศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคู่เจรจา ต้องเป็นประเทศที่มีประสบการณ์และมีความมุ่งมั่นที่จะให้เกิดความสำเร็จอย่างแท้จริงโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและต้องอยู่ห่างไกลกับพื้นที่ที่ทำการเจรจา ซึ่งในกรณีนี้เริ่มที่เจนีวาและมาสำเร็จที่เฮลซิงกิ แต่ของไทยเราทำที่มาเลเซียซึ่งมีความสัมพันธ์กับรัฐไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกันมาเลเซียมีประชาชนที่มีเชื้อสายมลายูเช่นเดียวกับคู่เจรจาของรัฐไทย ย่อมเป็นการยากที่จะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งผู้แทนของอาเจะห์ที่มาร่วมประชุมฯให้ข้อสังเกตแบบขำๆแต่ผมเห็นว่าเป็นความจริงคือ “อย่าเจรจาในเขตพื้นที่อาเซียนด้วยกัน”

4) ต้องมีการนำ “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน(Transitional Justice)”มาใช้เป็นเครื่องมือ

การค้นหาความจริง(Truth Seeking) การเยียวยา(Reparations) การสอบสวน(Prosecutions)และการปฏิรูปสถาบัน(Institutional Reform) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของ “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน”ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่อาเจะห์อย่างเหมาะสม

แม้ว่าในบางเรื่องอาจจะยังทำไม่สำเร็จเพราะตกลงกันไม่ได้ในเรื่องเล็กน้อย เช่น เรื่องธง(flag)ที่จะใช้เป็นธงประจำอาเจะห์ซึ่งฝ่ายรัฐบาลกลางเห็นว่ารูปแบบออกไปทางกลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายมากไปหน่อยหรือเรื่องเพลง(Hymn)ก็ยังไม่ได้ทำ เป็นต้น แต่จะเห็นได้ว่ากว่าที่อาเจะห์จะอยู่ในสภาพปัจจุบันได้ ต้องผ่านประสบการณ์มาอย่างยาวนาน กอรปกับได้เกิดเหตุการณ์สึนามิเข้ามาเป็นตัวเร่งให้การเจรจาสำเร็จด้วยเหตุที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าไม่มีทางที่จะเกิดสันติได้หากตราบใดยังมีการใช้กำลังอาวุธเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกัน

เมื่อมองอาเจะห์แล้วหันมามองบ้านเรา จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้เราแทบจะไม่แตกต่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอาเจะห์ก่อนที่จะเกิดสันติภาพเลย ฉะนั้น จึงควรที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้หันมาพิจารณากันจริงจัง ลดทิฐิมานะ ลดความระแวงซึ่งกันและกัน นำบทเรียนที่เกิดขึ้นในอาเจะห์และประเทศอื่นที่ผ่านเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้วมาปรับใช้ เช่น กรณีบังสาโมโรในฟิลิปปินส์และกรณีศรีลังกาที่จบลงด้วยการเจรจา หรือกรณีติมอร์ตะวันออกที่มุ่งแต่ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามจนจบลงด้วยการเสียดินแดนไปในที่สุด





หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.