ศักดินา คนที่ 2 จากซ้ายมือ

Posted: 25 Oct 2017 03:04 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา อภิปรายมรดกคนเดือนตุลากับอนาคตสังคมไทย ในด้านแรงงาน กับประเด็นมีอะไรเป็นพิเศษ อะไรที่เป็นมรดก อะไรที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อะไรควรฟื้นฟู และอนาคตของขบวนการแรงงานไทย กับชุดความคิดใหม่ จัดตั้งใหม่

เวทีเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา หัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้า มรดกคนเดือนตุลากับอนาคตสังคมไทย" ว่าด้วยมรดกของคนเดือนตุลา ทั้งรุ่น 14 ตุลาและ 6 ตุลา ทั้งที่ถูกรื้อทำลายไปแล้วและที่ยังส่งผลถึงสังคมไทยในปัจจุบัน อีกทั้งความคาดหวังของคนเดือนตุลาต่ออนาคตสังคมไทย โดยจัดที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา จัดโดย พรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

เหลียวหลังแลหน้า มรดกคนเดือนตุลากับอนาคตสังคมไทย [44 ปี 14 ตุลา]
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: มรดก 14 ตุลา ทางออกจากเผด็จการ ความสุกงอมต่อการปฏิรูปการเมือง


ภาพจากสไลด์ประกอบการอภิปรายของศักดินา

โดยหนึ่งใน วิทยากรคือ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แรงงาน กล่าวถึงมรดกของคนเดือนตุลาในด้านแรงงาน โดยจะพูดใน 4 ประเด็น ประเด็นแรก เวลาพูดถึงคนเดือนตุลากับขบวนการแรงงาน มีอะไรเป็นพิเศษ ประเด็นที่ 2 คือ อะไรคือมรดกของคนเดือนตุลาที่มอบให้กับแรงงาน ประเด็นที่ 3 มีอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง และประเด็นที่ 4 อะไรที่ถูกละทิ้งไว้ ตกหล่นไม่ต่อเนื่องมา
มีอะไรเป็นพิเศษ

ศักดินา กล่าวว่า เวลาพูดถึงคนเดือนตุลาปัจจุบันมีทั้งที่อยู่ในวงวิชาการ นัการเมือง ศิลปิน ฯลฯ จริงๆ คนเดือนตุลามีมากกว่านี้ เวลาเราพูดถึงคนเดือนตุลาคือคนที่มีความคิดเป็นฝ่ายก้าวหน้าในยุคนั้น เป็นคนที่ต่อสู้ มีความคิดร่วมกันมีเจตนารมร่วมกัน แต่เมื่อพูดถึงคนเดือนตุลาในมุมแรงงาน จะมีภาพซ้อนๆ กันที่มีทั้งปัญญาชนนักศึกษาและผู้นำแรงงาน มีภาพซ้อนๆ กัน ในยุค 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19 เป็นสิ่งที่เรียกว่า 3 ประสาน คือการทำงานร่วมกัน ดังนั้นภาพจะปะปนกัน เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่เป็ฯผู้นำนักศึกษา แต่จริงๆ แล้วก็เป็นเลขาธิการศูนย์ประสานงานกรรมกร ซึ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่มาก หรือ มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ไปอยู่นโรงงานฮาร่า หรือ วงกรรมาชน ก็ไปทำงานกับกรรมกร ดังนั้นเมื่อพูดถึงคนเดือนตุลากับกรรมกรจะมีภาพที่ปะปนกัน ดังนั้นไม่ใช่เรื่องของคนงานทั้งหมด แต่เป็นทำงานร่วมกันของคนที่เรียกว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าในยุคนั้น


ภาพจากสไลด์ประกอบการอภิปรายของศักดินา

ช่วง 14 ต.ค. 16 - 6 ต.ค.19 ถือเป็นยุคทองของขบวนการแรงงาน เป็นช่วงที่รุ่งเรื่องที่สุด คนยอมรับ ความเดือดร้อนของคนงานถือเป็นความเดือดร้อนใหญ่ที่ทุกคนออกมาร่วม แต่หลังปี 19 ภาพของขบวนการแรงงานถูกทำให้เล็กลง กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่อยู่ในรั้วแรงงาน คนอื่นๆ จะถูกกันออกไป เป็นยุคที่อ่อนแอ ถ้าช่วง ปี 16 - 19 นั้น ขบวนการแรงงานมองภาพใหญ่ เป็นขบวนการทางสังคม ไม่ใช่ขบวนการสหภาพแรงงาน

ในช่วงปี 16 - 19 ขบวนการแรงงานก็มีแบ่งกันอออกไป มีทั้งที่ปฏิเสธระบบทุนนิยมแล้ว ต้องการเปลี่ยนแปลง ทั้งปฏิรูปและปฏิวัติ ส่วนหนึ่งนำโดย เทิดภูมิ ใจดี ประสิทธิ์ ไชโย และ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในนามศูนย์ประสานงานกรรมกร กลุ่มเหล่านี้เมื่อหลัง 6 ตุลา 19 ก็เข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนอีกกลุ่มเห็นปัญหาของระบบทุนนิยมเหมือนกัน แต่สามารถประณีประนอมและแก้มันได้ โดยการปฏิรูป นำโดย ไพศาล ธวัชชัยนันท์ อารมณ์ พงศ์พงัน กลุ่มนี้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แต่ก็เปลี่ยไปด้วยสาระของกฎหมายและตัวผู้นำ จนถูกจำกัดไปกลายเป็นกลุ่มขบวนการแรงงานที่เน้นเรื่องของปากท้องในโรงงานมากกว่า
อะไรที่เป็นมรดก

ศักดินา กล่าวว่า อะไรที่เป็นมรดก เป็นสิ่งที่มีค่าที่ควรรักษาไว้ อันหนึ่งที่พูดกันมาก คือเรื่องของการทำงานร่วมกันที่เป็นพลัง 3 ประสาน ระหว่าง นักศึกษา ชาวนาชาวไร่และกรรมกร การหนุนกันนี้ทำให้การเคลื่อนไหวมีพลัง การเคลื่อนไหวช่วงนั้นจึงมีพลังมาก

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฝ่ายก้าวหน้าเชิดชูผู้ใช้แรงงาน ดังนั้นการทำงานกับขวนการแรงงานเป็นสิ่งที่ทุกส่วนเข้าไปสนับสนุน เช่น การต่อสู้ของคนงานโรงแรมดุสิตธานี โรงงานสแตนดาร์ดการ์เม้นท์ คนงานฮาร่า มันมีโลกทัศน์ชีวทัศน์ของคนสมัยนั้น โดยคนงานโรงงานฮาร่ามีการผลิตกางเกงยีนของตัวเอง เป็นโรงงานสามัคคีกรรมกรขายหุ้นที่นักศึกษาซื้อหุ้นรวมทั้งมาขายที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วย หรือวงกรรมาชนที่เป็นวงของนักศึกษาก็มีการพูดถึงเพลงการจับมือของ 3 ประสาน นักศึกษา กรรมกร และชาวนา ด้วย


ภาพจากสไลด์ประกอบการอภิปรายของศักดินา

การเคลื่อนไหวของกรรมกรในช่วงนั้น ไม่ใช่เรื่องปากท้องของตัวเองเท่านั้น แต่มีการสนับสนุนชาวนาที่รัฐบาลจะเลิกสนับสนุนราคาข้าว จนมีการนัดหยุดงานทั่วไปทั้งประเทศ การเคลื่อนไหวครั้งนั้นทำให้รัฐบาลต้องมีการทำข้อตกลงกับผู้นำกรรมกรว่าจะจัดการข้าวอย่างไร ทำให้คนงานสมัยนั้นมีตัวตน โดยตัวเลขการสไตค์หรือนัดหยุดงานสมัยนั้นจำนวนมาก

คนงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คือ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย ที่ปิดโปสต์เตอร์ต่อต้านการกลับมาของ จอมพลถนอม กิตติขจร แล้วถูกแขวนคอ (ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19) นี่เป็นมรดกที่แสดงให้เห็นว่าคนงานต่อสู้เพื่อขับไล่เผด็จการ เป็นมรดกที่ต้องบันทึกไว้

และอะไรที่ไปต่อหรือมีความพยายามที่จะไปต่อ อย่างเพลงโซลิดาริตี้ คนเอามาเผยแพร่คือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเพลงที่แต่งใหม่ โดยสมยศ เป็นผู้ที่มาทำงานเรื่องแรงงานและพยายามฟื้นเรื่อง 3 ประสาน ที่มาเคลื่อนไหวและมีความพยายามจะฟื้นฟูพลัง 3 ประสาน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเหมือนมีความพยายามฟื้นฟูและแสดงให้เห็นคุณค่าของพลัง 3 ประสาน ในยุค 14 ตุลา


ภาพจากสไลด์ประกอบการอภิปรายของศักดินา

โรงงานสามัคคีกรรมกร ที่คนงานโรงงานฮาร่า ทำในยุคตุลานั้น หลังจากนั้นมีคนงานโรงงานเบสแอนด์บาสที่ถูกเลิกจ้างแล้วก็ไปตั้งโรงงานโซลิดาริตี้ ล่าสุดที่เรารู้จักกันดี ซึ่งนำโดย จิตรา คชเดช จากอดีตคนงานโรงงานไทร์อัมพ์ก็มาตั้งโรงงานทาร์ยอาร์ม ที่เป็นบทเรียนจากสมัยโรงงานฮาร่าเช่นกัน


ภาพกลุ่มสหกรณ์คนงานทาร์ยอาร์ม ปัจจุบันตั้งมาแล้ว 8 ปี (ภาพจากสไลด์ประกอบการอภิปรายของศักดินา)

รายงานพิเศษ: กางเกงในแบรนด์ ‘Try Arm’ ตัวแรก จากสองแขนแรงงานผู้ไม่ยอมแพ้
จากกางเกงในแบรนด์ ‘Try Arm’ ตัวแรก และก้าวที่ต้องเดินต่อไป
คนงาน TRY ARM ระดมทุนบริจาคกกน.เข้าคุกหญิงกว่า 2 พันตัว

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความพยายามที่จะทำเหมือนกับขบวนการแรงงานงานก่อนหน้านั้น มองข้ามกรอบกฎหมายที่จำกัดว่าสหภาพแรงงานจะต้องเป็นการเคลื่อนไหวภายใต้กรอบกฎหมาย สมานฉันท์ฯ มีการรวมเอ็นจีโอ แรงงานนองระบบเข้ามา แต่ก็เป็นความพยายามเฉยๆ อาจมีพลังไม่เพียงพอ แต่ก็เห็นมรดกของเดือนตุลา หรือ วงภารดรที่พยายามสืบทอดดนตรีกรรมกรที่เฟื่องฟูหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 หรือ พิพิธภัณฑ์แรงงาน ที่พยายามบอกถึงช่วง 14 ตุลา 16 เป็นยุคทองของขบวนการแรงงานอย่างไร มีความพยายามที่จะสานต่อ อารมณ์ พงศ์พงัน (ผู้นำกรรมกรในยุคคนเดือนตุลา) โดยการตั้งมูลนิธิอารมณ์ พงษ์พงัน หรือ ไพศาล ธวัชชัยนันท์ ก็มีการตั้งเป็นมูลนิธิเช่นกัน
อะไรที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง น่าจะเป็นมรดกที่ส่งต่อ

ศักดินา กล่าวต่อว่า หลัง 6 ตุลา 19 หลายคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เชื่อในระบบทุนนิยมแล้ว ก็ตัดสินใจเข้าป่า ร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนแนวปฏิรูปแบบ ไปศาลและอารมณ์นั้นก็ไม่ไปถึงที่สุด ถูกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 18 และเหตุการณ์ปราบปรามช่วง 6 ตุลา 19 บีบจนไม่ได้ไปต่อ ขณะที่ขบวนการแรงงานที่หัวก้าวหน้า ก็เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่พรรคเองสนใจเรื่องแรงงานน้อยมาก เพราะพรรคมองและวิเคราะห์สังคมไทยเป็นแบบกึ่งเมืองขึ้นกึงศักดินา จึงสนใจภาคชนบทมากกว่า ขณะที่ความเพรี่ยงพร้ําของพรรค บวกกับวกฤติศรัทธา ทำให้ประเด็นแรงงานไม่ใช่ประเด็นที่น่าสนใจอีกต่อไป คนเดือนตุลาหรือผู้นำแรงงานที่กลับเข้ามาในเมืองก็ไม่ได้สานต่อ วันนี้ขบวนการแรงงานของเราเล็กมาก มีคนอยู่ในขบวน 1.5% ซึ่งต่อมาก จนไปต่อไม่ได้ แต่เดิมขบวนการแรงงานมีความหลากหลาย ตั้งแต่เชื่อในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่วันนี้ขบวนการแรงงานถูกบีบให้เคลื่อนแต่เรื่องปากท้อง
อะไรควรฟื้นฟู

อะไรเป็นเรื่องที่จะต้องฟื้นฟู คือขบวนการแรงงานที่มีเป้าหมายทางสังคม ไม่ใช่เป้าหมายเรื่องปากท้องอย่างเดียว ไม่อยู่แต่ในโรงงาน ควรฟื้นฟูขบวนการแรงงานที่ต่อสู่เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องปากท้อง ต้องข้ามเรื่องความคิดปัจเจคนิยม เพราะก่อนหน้านี้มีสำนึกทางชนชั้นค่อข้างสูงมากกว่า อีกอันที่ต้องทำคือเสนอชุดความคิดของการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นของฝ่ายแรงงานให้ได้ เพื่อจะทำให้ขบวนการแรงานมีพลัง
อนาคตของขบวนการแรงงานไทย

ศักดินา กล่าวว่า อะไรที่ค้างคาหรือท้าทายกับคนงานไทย มี 4 เรื่องใหญ่ 1. เราอยู่ในยุคโลกาภิวัฒ์ เสรีนิยมใหม่ เป็นโลกที่เชื่อในเรื่องกลไกตลาด ถ้าย้อนกลับไปช่วงเดือนตุลานั้น คนยังเชื่อว่าต้องมีการแทรกแซงตลาด ขบวนการนักศึกษาประชาชนเรียกร้องให้มีการแทรกแซงตลาด แต่ปัจจุบันทิศทางโลกไปทางขวา สถานการณ์แบบนี้ไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับฝ่ายแรงงาน เพราะว่าเหมือนปล่อยให้นายทุนมือใครยาวสาวได้สาวเอา นี่เป็นสิ่งที่ท้าทาย ประเด็นถัดมา 2. การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่ไม่ใช่แค่ไทยแลนด์ 4.0 ปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เรื่องของการใช้หุ่นยนต์ เป็นสิ่งที่ท้าทายกับคนงาน คนจะอยู่กระจัดกระจาย อาจไม่เรียกเป็นคนงาน แบบนี้มีปัญหาการจัดตั้งคนที่มีความหลากหลายเหล่านี้ยากขึ้น หลายประเทศสมาชิกสหภาพแรงงานลดลง ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอ อำนาจต่อรองอ่อนแอ แต่ยุโรปเหนือ สแกนดิเนเวียยังจัดตั้งคนงานได้อยู่เป็นสิ่งที่ท้าทาย และมาเมืองไทยเราเป็นประเทศที่มีการจัดตั้งสมาชิกสหภาพแรงงานน้อยอยู่แล้วด้วย ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายขบวนการแรงานไทย

อีกประเด็นเรื่องดุลอำนาจของสังคมเปลี่ยนไป สังคมที่เป็นประชาธิปไตย ภาคประชาสังคมต้องมีอำนาจต่อรอง มีการจัดตั้งที่กว้างขวาง ภาคประชาสังคมที่ใหญ่ที่สุดคือฝ่ายแรงงาน แต่ขณะนี้ดุลอำนาจไปอยู่กับ ‘ประชารัฐ’ ที่เป็นการจับมือกันระว่างรัฐกับทุน จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย

ท้ายที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อที่เราอยู่เฉยๆ กับระบอบเผด็จการ อันนี้เป็นเรื่องที่มันไม่ใช่ธรรมดา หากย้อนกลับไป ผลของคนเดือนตุลานั้นเติบโตมากับการต่อสู้กับเผด็จการ แต่วันนี้คนส่วนมากยังถูกกำราบอยู่ และคนจำนวนเยอะที่พอใจอยู่กับระบอบเผด็จการ นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่
ชุดความคิดใหม่ จัดตั้งใหม่ รับไม่ได้กับเผด็จการ

นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า 14 ตุลา 16 ได้ให้มรดกไว้ คือไม่ยอมกรอบความคิดที่ครอบงำสังคมอยู่ ท้าทายอำนาจเผด็จการ และท้าทายระบบทุนนิยม จึงคิดว่าเราต้องเสนอชุดความคิดใหม่ที่ท้าทายกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ นี่เป็นโจทย์ที่ภาคประชาสังคม โดยฌฉพาะฝ่ายแรงงานที่จะต้องไม่ยอมจำนนกับกรอบความคิดแบบเสรีนิยม ต้องเสนอชุดความคิดใหม่ที่เป็นทางเลือกมากกว่าแค่เสรีนิยมใหม่ วิพากษ์ต่อระบบเสรีนิยมใหม่

สำหรับประเด็นสิทธิมนุษยชนนั้น ถูกใช้ในหลายส่วน ประเทศสหรัฐอเมริกามันพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก แต่ประชาธิปไตยแบบนั้นก็ยังไม่ใช่ ไม่ได้ตอบโจทย์สังคมยุติธรรมเป็นธรรม ช่องว่างของรายได้ สหรัฐฯ พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนแต่ก็จำกัดอยู่แค่สิทธิพลเมืองและการเมือง แต่ละเลยเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ขณะที่ในสังคมยุโรปเหนือคิดอีกมุมหนึ่ง คือแนวคิดแบบสังคมประชาธิปไตย ที่เป็นชุดความคิดที่มีอยู่จริง ที่ถูกใช้ในประเทศยุโรปเหนือและตะวันตก คือความคิดที่ไม่เชื่อในตลาด แต่อาจประณีประนอม โดยที่รัฐเข้าไปแทรกแซง เช่น ทำให้เกิดความยุติธรรม คนงานมีสิทธิที่จะลาคลอดมีหลักประกัน เข้าไปแทรกแซงภาษีในอัตราก้าวหน้า เป็นชุดความคิดที่เป็นทางเลือกที่ควรเสนอมาอย่างชัดเจนของฝ่ายแรงงาน

ขณะนี้มีแรงงานที่อยู่นอกระบบจำนวนมาก กฎหมายแรงงานเราคุ้มครองแรงงานในระบบประมาณ 10 ล้านคน แต่ยังมีคนงานจำนวนมากที่อยู่นอกระบบ โจทย์ของขบวนการแรงงานควรมองตรงนี้ด้วย สมัยปี 16 นั้น ศูนย์ประสานงานกรรมกรไม่มองเฉพาะแรงงานในระบบเท่านั้น ดังนั้นคิดวิธีการจัดตั้งใหม่ ต้องจัดตั้งคนงานนอกระบบเข้ามาด้วย เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีทางที่สังคมจะเป็นธรรมหรือเป็นประชาธิปไตยได้ ต้องมีโจทย์การจัดตั้งใหม่เพื่อครอบคลุม 4.0

เรื่อง ดุลอำนาจทางสังคม สังคมประชาธิปไตยนั้น ภาคประชาสังคมต้องมีอำนาจต่อรองสูง ต้องกลับมาฟื้นฟู ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาภาคประชาสังคมนั้นถูกทำให้แตกแยกด้วยสีเสื้อ ไม่เช่นนั้นดุลอำนาจจะไปตกกับประชารัฐ ต้องฟื้นฟูภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดการถ่วงดุล เราต้องทำอย่างไรให้หลุดพ้นเผด็จการได้ หลังเหตุการณ์พฤษภา ไม่มีใครคิดว่าทหารจะกลับมา แต่ก็กลับมา เราต้องทำให้ตระหนักว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติ ย้อนไปเจตนารมณ์ของเรื่อง 14 ตุลานั้นต่อสู้กับเผด็จการ

ในอนาคตเรื่องใหญ่ๆ อย่างน้อย ที่จะต้องทำ เพื่อต่อกรกับโลกาภิวัฒน์เสรีนิยมใหม่ ต้องเสนอชุดความคิดใหม่ เพื่อต่อกรกับ 4.0 ที่กำลังเข้ามาและแรง ต้องคิดเรื่องการจัดตั้งใหม่ เพื่อสร้างภาคประชาสังคมให้มีพลังถ่วงดุลในสังคม เป็นเอกภาพมากขึ้น สุดท้ายก็คือ. ต้องสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยเพื่อบอกว่าเรารับไม่ได้กับการปกครองแบบเผด็จการ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.