ที่มาของภาพประกอบ: Israel Defense Forces/Flickr

Posted: 13 Oct 2017 06:59 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


สหรัฐฯ ประกาศจะถอนตัวออกจากสมาชิกองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) โดยอ้างว่ายูเนสโก "มีอคติต่อต้านอิสราเอล" หลังมีมติให้เขตเมืองเก่าในปาเลสไตน์ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ขณะที่อิสราเอลก็จะถอนตัวตามเช่นกัน
13 ต.ค. 2560 เฮเธอร์ เนาเอิร์ต โฆษกการต่างประเทศของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าจะส่ง "หน่วยสังเกตการณ์" เข้าไปนั่งแทนที่ตัวแทนที่แต่เดิมเข้าไปนั่งในฐานะสมาชิกขององค์กรยูเนสโก และบอกอีกว่า ควรจะต้องมี "การปฏิรูป" ยูเนสโก ขณะที่นิกกี ฮาลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติก็กล่าวว่ายูเนสโกเป็นองค์กรที่ "ถูกทำให้เป็นการเมืองอย่างสุดโต่ง" และกลายเป็น "สิ่งที่น่าอับอายอยู่เสมอ"

ทางการอิสราเอลแถลงชื่นชมการตัดสินใจของสหรัฐฯ ว่า "กล้าหาญและมีศีลธรรม" และวิจารณ์ยูเนสโกว่าเป็น "โรงละครแห่งความไร้สาระ" นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีองอิสราเอลยังบอกให้กระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลเตรียมการให้อิสราเอลออกจากสมาชิกภาพยูเนสโกตามสหรัฐฯ ไปด้วย

การตัดสินใจออกจากสมาชิกภาพยูเนสโกของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มีการเตรียมการมาหลายเดือนแล้ว โดยที่การออกจากสมาชิกจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปี 2561 ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็จะยังมีตัวแทนสังเกตการณ์ในองค์กรนี้โดยกวังว่าจะยังสามารถนำเสนอความคิดเห็นของสหรัฐฯ หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่มีผู้เชี่ยวชาญอย่างด้านเสรีภาพสื่อหรือด้านการคุ้มครองมรดกโลกได้

อย่างไรก็ตามอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกกล่าวว่าการออกจากสมาชิกภาพยูเนสโกของสหรัฐฯ นั้นเป็น "การสูญเสียต่อแนวทางการตกลงร่วมกันจากหลายฝ่าย" โบโกวาบอกอีกว่าในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งฉีกกระชากทำลายสังคมไปทั่วโลก เป็นเรื่องน่าเสียดายที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์กรของสหประชาติที่ส่งเสริมการศึกษาและคุ้มครองวัฒนธรรมที่กำลังถูกโจมตี

ถึงแม้ว่าการที่สหรัฐฯ ออกจากสมาชิกยูเนสโกจะไม่มีผลต่อสภาพการคุ้มครองมรดกโลกในสหรัฐฯ และไม่ได้จำกัดสิทธิให้สหรัฐฯ ยื่นขอจดทะเบียนมรดกโลกได้ในอนาคต แต่หัวหน้าฝ่ายสื่อของยูเนสโกก็บอกว่ามันทำให้สหรัฐฯ สูญเสียพรรคพวกด้านความมั่นคงในระดับโลก เนื่องจากว่าในขณะที่ยูเนสโกมีบทบาทพยายามต่อสู้กับกลุ่มสุดโต่ง ทำให้เด็กหญิงได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ครูได้รับการฝึกอบรมตามที่ต้องการ แต่น่าผิดหวังที่สหรัฐฯ จะออกจากสมาชิกภาพ

ทางการสหรัฐฯ เองช่วยก่อตั้งยูเนสโกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดเสรีภาพผ่านการถ่ายเทความคิดและการศึกษาอย่างเสรี การออกจากสมาชิกภาพในครั้งแสดงให้เห็นถึงการที่รัฐบาลทรัมป์วางตัวออกห่างจากองค์กรระดับโลกอีกครั้ง

สหรัฐฯ เคยมีประวัติถอนตัวจากยูเนสโกมาครั้งหนึ่งแล้วในยุคสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ช่วงปี 2527 อ้างว่ายูเนสโกมีอคติโน้มเอียงเข้าข้างสหภาพโซเวียต จนกระทั่งจอร์จ ดับเบิลยู บุช นำสหรัฐฯ เข้าเป็นสมาชิกอีกครั้งในปี 2545 อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2554 สหรัฐฯ ก็ถอนทุนจากยูเนสโกเพื่อแสดงความไม่พอใจที่ยูเนสโกยอมรับปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ

หลังจากมีการยอมรับปาเลสไตน์เป็นสมาชิกก็ทำให้อิสราเอลรู้สึกผิดใจกับยูเนสโก ความชัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับยูเนสโกในครั้งล่าสุดนี้ก็มาจากความไม่พอใจมติของสหประชาชาติที่ประกาศให้เมืองเก่าแห่งเฮบรอนในเขตเวสต์แบงค์เป็นมรดกโลก โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งมัสยิดสำคัญของชาวมุสลิมและสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวยิว ซึ่งอิสราเอลไม่พอใจมตินี้โดยอ้างว่ามติของยูเนสโกลบเลือนความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมและศาสนาของพื้นที่เฮบรอนที่มีต่ออิสราเอล ทำให้อิสราเอลโต้ตอบด้วยการเถอนทูตออกจากยูเนสโก

เรียบเรียงจาก

US and Israel withdraw from UNESCO, Aljazeera, 13-10-2017

US withdraws from Unesco over 'anti-Israel bias', The Independent, 13-10-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.