ที่มาของภาพประกอบ: OBEC

บทความแอนดรูว์ บิ๊กส์-ห่วงไทยอยากทันสมัย 4.0 แต่การศึกษายังไม่สร้างเด็กคิดเป็น

Posted: 16 May 2017 08:35 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซท์ประชาไท)

ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง ‘แอนดรูว์ บิ๊กส์’ เขียนบทความลงบางกอกโพสต์ “เหล่าไดโนเสาร์ต้องเผชิญหน้าความเป็นจริง” วิจารณ์นโยบายการศึกษาไทยไม่สร้างเด็กให้คิดเป็น ยังต้องท่องจำ ต้องคิดเหมือนกันหมด แม้จะเน้นเทคโนโลยี แต่ระบบการศึกษาและสังคมกดไม่ให้คนมีไอเดียใหม่ ยกกรณี ‘เนติวิทย์’ บางคนอาจตราหน้าว่าเขาสร้างปัญหา แต่คนแบบนี้ประเทศไทยกำลังต้องการ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องต้อนรับขับสู้คนแบบนี้

เมื่อ 14 พ.ค. 2560 แอนดรูว์ บิ๊กส์ พิธีกรโทรทัศน์ คอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์ และครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดังชาวออสเตรเลีย เจ้าของผลงาน “ภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียว” เขียนบทความภาษาอังกฤษหัวข้อ “Dinosaurs must confront reality หรือ เหล่าไดโนเสาร์ต้องเผชิญหน้าความเป็นจริง ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ มีใจความโดยสรุปตามที่ผู้สื่อข่าวรายงานดังนี้

โดยตอนหนึ่ง แอนดรูว์เล่าว่า ในขณะที่นักวิชาการ นักการเมือง อาจารย์ นักเรียน ในงานนิทรรศการการศึกษา EdTex ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ระบบการศึกษาไทยต้องเป็นระบบการศึกษาที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ทว่า ความเห็นพ้องต้องกันดังกล่าวกลับดูย้อนแย้งกับระบบการศึกษาของไทยที่ใช้มาเนิ่นนาน ที่ให้ความสำคัญกับ “ขนบธรรมเนียม” และ “การเคารพนอบน้อม”

ระบบการศึกษาของไทยนั้นผิดเพี้ยนไปทั้งระบบ หลักสูตรการเรียนการสอนระดับชาติได้ให้ความสำคัญกับการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โรงเรียนทั้งหลายยังคงจมปลักอยู่กับวัฒนธรรมการสอนอายุหลักร้อยปีที่ครูเป็นผู้สอน นักเรียนเป็นผู้ฟัง ถ้าไม่ถามก็ไม่พูด

ผลการสอบวัดผลระดับประเทศหรือ O-Net ที่ทั่วประเทศเมื่อปีที่แล้ว คะแนนเฉลี่ยรวมของ 5 รายวิชา ได้แก่วิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ทั่วประเทศต่ำกว่าร้อยละ 50 ภาษาอังกฤษยังครองแชมป์คะแนนต่ำสุดที่บางโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดห่างไกลได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 17 คะแนน ส่วนปีนี้คะแนนดีขึ้น มีวิชาที่คะแนนเฉลี่ยทั่วประเทศเกินร้อยละ 50 วิชาเดียวได้แก่วิชาภาษาไทย ที่เหลือ 4 วิชาคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าครึ่งทั้งหมด

สังคมไทยกำลังกลายสภาพเป็นสังคมสูงวัย จำนวนประชากรที่ลดลงทำให้จำนวนนักเรียน นักศึกษาลดลงไปตาม มหาวิทยาลัยเอกชนก็ลดจำนวนอาจารย์ลงเพราะบางสาขาวิชาไม่มีคนมาเรียน

นอกจากนั้น แผนนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่มุ่งผลักดันไทยให้ก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 และความจำเป็นของไทยที่ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและโลก ล้วนต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งสิ้น แต่แอนดรูวส์ตั้งคำถามว่า ไทยพร้อมรับสิ่งที่เรียกว่า ‘นวัตกรรม’ แล้วจริงหรือ

“ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ โครงสร้างและปรัชญาการศึกษาเก่าๆกำลังเดินต้วมเตี้ยม เหมือนไดโนเสาร์ที่กำลังเดินหน้าสู่อุกกาบาตที่กำลังจะสร้างความพินาศให้แก่โลก แต่กลับมีเสียงเรียกร้องให้เกิดนวัตกรรมและการใช้เนคโนโลยี”

ปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษาไทยที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ นักการเมือง ผู้สอน และผู้เรียนมากที่สุดประเด็นหนึ่งคือ ระบบการศึกษาไม่สร้างความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) ให้ผู้เรียน การคิดเชิงวิพากษ์คือการท้าทายกับจารีต คือการมองหา พังทลายและประกอบสร้างข้อเท็จจริงและตัดสินมันในเชิงคุณค่า

การคิดเชิงวิพากษ์คือการถามคำถามว่า “คุณคิดเห็นอย่างไร” แล้วปล่อยให้มีการแสดงออกได้อย่างเสรี แต่สภาพแวดล้อมของห้องเรียนเมืองไทย ที่ยังมุ่งเน้นให้ท่องจำพระนามของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยา รวมถึงท่องจำค่านิยม 12 ประการให้ขึ้นใจ

“นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้จากการที่เด็กไทยสามารถวิจารณ์ สังเคราะห์และประเมินคุณค่าได้ แต่เอาจริงๆแล้วสังคมไทยต้องการให้เยาวชนไทยทำเช่นนั้นได้จริงหรือ”

“ผมพยายามจินตนาการว่ามีนักเรียนยกมือถามในห้องเรียนที่กำลังท่องจำค่านิยม 12 ประการว่า “ทำไมหนูต้องรักประเทศด้วยคะอาจารย์ ในเมื่อนักการเมืองและบุคลากรของรัฐบาลพากันทุจริต หรือไม่ก็เพื่อนของเธอตั้งคำถามต่อว่า ทำไมการที่ผมไม่นับถือศาสนา ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริงทำให้ผมกลายเป็นคนไม่ดีไปได้ หรืออาจจะมีคำถามว่า เรื่องเคารพผู้อาวุโสเนี่ยมันรวมไปถึงนักการเมืองและคนในรัฐบาลที่โกงกินหรือเปล่า หนูต้องไหว้พวกเขาด้วยมั้ย แต่นักเรียนเหล่านั้นมีเพียงในจินตนาการของผม และในสภาวการณ์เช่นนี้ก็เหมาะสมแล้ว ผมไม่กล้าจะคิดว่านักเรียนแบบนั้นจะต้องเจอความทุกข์เข็ญอะไรบ้างถ้าถามออกไปเช่นนั้นจริงๆ”

บทความตอนหนึ่งเขายังระบุว่า กรณีเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักเรียนที่เคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกการบังคับตัดผมทรงนักเรียน เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นประธานสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เป็นตัวอย่างของการคิด วิเคราะห์และท้าทาย แต่ผลที่ได้คือสังคมพากันทับถมเขา

เนติวิทย์คัดค้านการรับน้องที่รุ่นพี่กดขี่รุ่นน้องโดยอ้างว่าต้องการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้มีนักศึกษาตายปีละคนสองคน นอกจากนั้น เขายังคัดค้านการหมอบกราบที่พระบรมรูปทรงม้า และคัดค้านการเกณฑ์ทหาร การกระทำของเขาถือเป็นการกระตุ้นโทสะของเหล่าอนุรักษ์นิยมขวาจัด รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีที่ออกมาให้ความเห็นติติงเนติวิทย์ด้วย

“ความเชื่อของเนติวิทย์มาจากการวิพากษ์และประเมินสภาพการณ์ว่า จำเป็นแค่ไหนที่คนต้องหมอบกราบรูปปั้นของกษัตริย์ที่ยกเลิกการหมอบกราบ”

ดังนั้น คนไทยรุ่นที่อาบน้ำร้อนมาก่อนควรคาดว่าจะต้องเจอลักษณะการตั้งคำถามดังกล่าวถ้าต้องการให้เยาวชนในชาติมีทักษะการวิพากษ์วิจารณ์ การสังเคราะห์และประเมินผลที่ประเทศกำลังต้องการ กรณีของเนติวิทย์เป็นเรื่องของคนที่มีความคิดไปไกลกว่าขอบเขตของวัฒนธรรมไทย ซึ่งจริงๆแล้วนวัตกรรม ก็คือการค้นหาแนวความคิด วิธีการใหม่ๆนอกเหนือไปจากชุดความคิดที่มีอยู่ไม่ใช่หรือ

บางคนตราหน้าเนติวิทย์ว่าเป็นตัวสร้างปัญหา แต่นั่นคือสิ่งที่ประเทศไทยกำลังต้องการ ที่นี่ต้องการตัวปัญหาจำนวนมากที่มุ่งมั่นจะก่อปัญหา สร้างความปั่นป่วนให้กับระบบการศึกษาไทย ที่กำลังถูกประเทศอื่นในภูมิภาคแซงหน้าไปเรื่อยๆ

“อาจจะฟังแล้วเจ็บ แต่คนประเภทเนติวิทย์นี่แหละที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0”

“ไม่มีทางเลือกอื่นออกจากอุกกาบาตลูกนั้น [หมายถึง - คนประเภทเนติวิทย์] ซึ่งไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้พอๆ กับการที่เราจำเป็นต้องต้อนรับขับสู้เข้ามา” แอนดรูว์ กล่าว



แปลและเรียบเรียงจาก

Bangkok Post, Dinosaurs must confront reality, 14 May, 2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.