สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 7-13 พ.ค. 2560
Posted: 14 May 2017 03:35 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซท์ประชาไท)
 
สธ.กำหนดยุทธศาสตร์เร่งด่วนแก้พยาบาลขาด เน้น ‘บรรจุ-หนุนความก้าวหน้า’
 
กระทรวงสาธารณสุข หนุนการพัฒนางานการพยาบาลของประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาขาดแคลนพยาบาล เป็นยุทธศาสตร์เร่งด่วน เน้นบรรจุพยาบาล สนับสนุนให้พยาบาลมีความก้าวหน้าในวิชาชีพและสร้างขวัญกำลังใจ ส่งเสริมทุนการศึกษา อบรมให้เป็นพยาบาลเฉพาะทาง ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าตอบแทนต่างๆ ตลอดจนกำหนดให้มีการผลิตผู้ช่วยพยาบาลเพื่อลดภาระงานที่ไม่จำเป็น
 
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กทม. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษในการประชุมวิชาการพยาบาล วันพยาบาลสากล ประจำปี 2560 ในหัวข้อ “บทบาทพยาบาลในยุค Thailand 4.0” โดยมีพยาบาลวิชาชีพ ผู้บริหารการพยาบาล อาจารย์พยาบาล ผู้ปฏิบัติการพยาบาลและผู้สนใจ จำนวน 300 คน เข้าร่วมประชุม
 
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในอนาคตการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในด้านคุณภาพชีวิต ตั้งแต่จัดระบบการดูแล การพัฒนาระบบการเงินการคลัง การลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ กระทรวงสาธารณสุขได้นำมากำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีด้านสาธารณสุข พ.ศ.2560-2579 ประกอบด้วยความเป็นเลิศ 4 ด้านคือ ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ด้านการจัดบริการ ด้านการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ และด้านการบริหารจัดการจากนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีและการปฏิรูปประเทศไทยด้านสาธารณสุขภายใต้เป้าหมาย "ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน”
 
กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาและยกระดับคุณภาพการบริการด้านการพยาบาลและสาธารณสุข เพื่อขยายการให้บริการและเพิ่มขีดความสามารถของสถานพยาบาลทั่วประเทศ และลดปัญหาสุขภาพของประชาชนในระดับปฐมภูมิ เพื่อให้การพัฒนางานการพยาบาลของประเทศไทยมีเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) กำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนพยาบาลเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ต้องมีการดำเนินการเร่งด่วน โดยเน้นด้านการบรรจุพยาบาล การสนับสนุนให้พยาบาลมีความก้าวหน้าในวิชาชีพและสร้างขวัญกำลังใจ ส่งเสริมทุนการศึกษา อบรมให้เป็นพยาบาลเฉพาะทาง ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าตอบแทนต่างๆ ตลอดจนกำหนดให้มีการผลิตผู้ช่วยพยาบาลเพื่อลดภาระงานที่ไม่จำเป็น
 
เนื่องจากปัจจุบันภาระงานการบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2559 มีพยาบาลที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นข้าราชการและจ้างงานอื่นๆ จำนวนประมาณ 160,000 คน โดยปฏิบัติงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 100,000 คน ซึ่งอัตราส่วนการดูแลคิดเป็นค่าเฉลี่ย พยาบาล 1 คนต่อประชากร 600 คน ในขณะที่อัตราส่วนที่เหมาะสม ควรอยู่ที่ พยาบาล 1 คนต่อประชากร 400 คน
 
สำหรับการประชุมวิชาการ วันพยาบาลสากล ประจำปี 2560 ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ วันที่ 3-5 พฤษภาคม 2560 เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นผู้ดูแลสุขภาพประชาช (Nurses care for others) การพยาบาลเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน (It is the right thing to do)การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ (Change is possible) และการพัฒนาความมีสุขภาพดีของทุก ๆ คน (It is our health) โดยในการประชุมจะมีพิธีมอบรางวัลพยาบาลดีเด่น สาขาเกียรติคุณ สาขาการบริการพยาบาล สาขาการศึกษาพยาบาล และสาขานวัตกรรมทางการพยาบาล โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เพื่อเชิดชูและยกย่องพยาบาลที่มีผลงานดีเด่น ในการพัฒนาวิชาชีพการพยาบาล นอกจากนี้ยังมีมีนิทรรศการ “90 ปี สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ: ความสำเร็จที่ยั่งยืนสู่ยุคพยาบาล 4.0” ซึ่งเป็นนิทรรศการผลงานวิจัยและผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของ องค์กรสมาชิกของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย
 
 
ยอดตั้งโรงงาน 4 เดือนแรกแผ่ว มี 1,533 โรงงาน ลดลง 5.07% จากปี 2559 ที่มี 1,615 โรงงาน
 
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาต ประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการในเดือนมกราคม-เมษายน 2560 มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 1,533 โรงงาน ลดลง 5.07 % จากช่วงเดียวกันในปี 2559 ที่มีอยู่ 1,615 โรงงาน ส่วนมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.17 แสนล้านบาท พบลดลง 29.51% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่อยู่ที่ 1.66 แสนล้านบาท
 
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวยอมรับว่า ภาพรวมการขอใบอนุญาต รง.4 ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่าที่ลดลง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลางและเล็กที่เริ่มมีการลงทุน แต่เชื่อมั่นว่าโครงการขนาดใหญ่จะเข้ามาลงทุนในช่วงปลายปีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น รวมทั้งนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะส่งผลให้เอกชนลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากขณะนี้เอกชนรอดูความชัดเจนของมาตรการต่างๆก่อนจะลงทุนจริง พร้อมมั่นใจว่าจำนวนและมูลค่าการลงทุนของยอดขอรง.4 ปีนี้ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาหรือประมาณ 5 พันกว่าโรงงาน หรือมูลค่าลงทุนอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท
 
"มูลค่าการลงทุนและจำนวนที่ลดลงยังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากสิ้นปีเอกชนจะแห่เข้ามาขอใบ รง.4เหมือนปกติทุกปี แต่สิ่งที่น่าสังเกต คือ จำนวนจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นโดยใน 4 เดือนมีจำนวนจ้างแรงงาน 6.5 หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 6.1 หมื่นคน โดยเฉพาะในเดือนเมษายนที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กและใช้จำนวนแรงงานมาก โดยเบื้องต้นส่วนใหญ่น่าจะไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กระทรวงกำลังเร่งผลักดันอยู่"นายสมชายกล่าว
 
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนภาคเอกชน ขณะนี้ภาคเอกชนยัง อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน เชื่อว่าจะค่อยๆทยอยการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป โดยขณะนี้ผู้ประกอบการกำลังปรับปรุงกระบวนการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และขยายกำลังการผลิตให้เต็มศักยภาพ และคาดว่า ในอนาคตจะมีการลงทุนอย่างแน่นอน เนื่องจากมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นแรงกระตุ้นในการลงทุน แต่ต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูล อย่างละเอียดก่อนที่จะมีการลงทุ
 
 
ชาวประมงขอรัฐผ่อนปรนการใช้แรงงานต่างด้าว
 
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 พฤษภาคม 60 ที่สมาคมประมงปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายอติชาติ ชัยศรี นายกสมาคมประมงปราณบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการและผู้ประกอบการเรือประมงราว 200 คน รวมตัวเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือหลังขาดแคลนปัญหาแรงงานต่างด้าว โดยยมีทหารจากศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ ตำรวจ สภ.ปากน้ำปราณ ดูแลความเรียบร้อย
 
นายอติชาติ กล่าวว่าขณะนี้เรือประมงนับร้อยลำต้องจอดอยู่ฝั่งไม่สมารถออกหากินได้ ต่างได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในเรือประมงพาณิชย์จากการออกใบอนุญาตแรงงานเพื่อนบ้าน โดยมีข้อเรียกร้องให้มีการผ่อนผันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าและจากปัญหาจาก พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 17 กรณีการจัดการสิ่งปลูกสร้างรุกลำน้ำของกรมเจ้าท่าซึ่งมีปัญหากับผู้ประกอบการจำนวนมากโดยมีโทษปรับรายวันจากการคำนวณพื้นที่รุกล้ำเป็นตารางเมตรและมีโทษจำคุก นอกจากนั้นยังมีปัญหาการวัดระวางเรือแล้วแต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจจับกุมและยึดเรือ ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.) ตนพร้อมด้วยกรรมการจะไปยื่นหนังสือถึงความเดือดร้อน ร่วมกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการเรือประมงทั่วประเทศในขณะนี้
 
 
บังคับใช้แล้ว ขยายเวลานายจ้างยื่นส่งเงินสมทบ
 
ราชกิจจานุเบกษา หน้า ๓ เล่ม ๑๓๔ ตอนพิเศษ ๑๒๖ ง ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกําหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ และการนําส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – Payment) พ.ศ. ๒๕๖๐
 
โดยที่ปัจจุบันได้มีการนําระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม 
 
ของประเทศเพื่อพัฒนาการแข่งขันและการยอมรับของนานาอารยประเทศ ซึ่งจําเป็นต้องมีการพัฒนาให้หน่วยงานภาครัฐปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว และเพื่อเป็นการอํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของนายจ้างและเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างให้ได้รับความคุ้มครอง เห็นสมควรขยายกําหนดเวลาให้นายจ้างยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและนําส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – Payment)
 
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๘๔/๒ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ 
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๑/๒๕๖๐ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ 
 
ข้อ ๑ ให้ขยายกําหนดเวลา กรณีนายจ้างยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนําส่งเงินสมทบตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งแก้ไข 
 
เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยวิธีการนําส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – Payment) ออกไปอีกเจ็ดวันทําการนับแต่วันที่พ้นกําหนดวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ การดําเนินการตามวรรคหนึ่งให้ใช้สําหรับการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนําส่งเงินสมทบสําหรับค่าจ้างตั้งแต่เดือนที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป เป็นระยะเวลาสิบสองเดือน
 
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป 
 
ประกาศ ณ วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
 
 
กองความปลอดภัยแรงงาน ตั้งทีมเฉพาะกิจปฎิบัติการภายใน 60 วัน ดูแลงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง
 
นายอำนวย ภู่ระหงษ์ ผู้อำนวยการกองความปลอดภัยแรงงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป (8พ.ค.) จะมีการตั้งทีมเฉพาะกิจปฎิบัติการภายใน 60 วัน ให้ดูแลงานก่อสร้างที่มีการยกชิ้นงานขนาดใหญ่ การใช้เครื่องจักรรูปแบบพิเศษ หลังเกิดอุบัติเหตุรถเครนที่กำลังยกแผ่นปูนพลิกคว่ำ หล่นทับคนงานเสียชีวิต 3 ราย ที่ ถนนสรงประภา หน้าวัดดอนเมือง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง พร้อมทั้งเตรียมเชิญ การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้รับเหมารายใหญ่มาพูดคุยวางแผนในเดือนพ.ค.นี้ ว่า จะมีการดูแลพื้นที่ในส่วนที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จรวมถึงควบคุมอย่างไรเพื่อให้ไม่เกิดอุบัติเหตุการสูญเสียขึ้นอีก
 
ทั้งนี้ สถิติการเจ็บป่วย การตายของแรงงานช่วง ต.ค. 2558 - มี.ค. 2559 และ ต.ค.2559 - มี.ค. 2560 ที่ได้รับอันตรายร้ายแรง การเสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะและหยุดงานไม่เกิน 3 วัน ลดลงร้อยละ 7.8
 
 
ก.แรงงาน เผยสถิติประสบอันตรายลดลงเกินเป้า
 
กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานลดลงเกินเป้า พร้อมเผยการดำเนินการตรวจเข้มความปลอดภัยในการทำงานตามมาตรการ ย้ำดำเนินการต่อเนื่องตามมาตรการ ๓-๓-๒ แม้ผลการประสบอันตรายลดลงน่าพอใจ
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยว่า การประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างนับเป็นความสูญเสียสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตัวลูกจ้าง ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการดำเนินการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้กำหนดให้เรื่องของความปลอดภัยในการทำงานเป็นหนึ่งใน ๘ วาระปฏิรูปแรงงาน จากการดำเนินงานที่ผ่านมาส่งผลให้สถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างกรณีร้ายแรง(เสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะบางส่วน และหยุดงานเกินสามวัน) ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี พ.ศ. ๒๕๕๗ มีการประสบอันตรายเท่ากับ เท่ากับ ๓.๔๔ ต่อ ๑,๐๐๐ ราย และปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เท่ากับ ๓.๑๕ ต่อ ๑,๐๐๐ ราย สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ ช่วง ๖ เดือนแรก (วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐) เปรียบเทียบในห้วงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙ พบอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้าง กรณีร้ายแรงเท่ากับ ๑.๓๙ ต่อ ๑,๐๐๐ ราย ลดลงร้อยละ ๗.๕๖ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งลดลงเกินกว่าเป้าหมายของกสร.ที่ตั้งไว้ว่าลดลงอย่างน้อยร้อยละ ๕ ต่อปี
 
อธิบดีกสร.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมากสร.ได้ดำเนินการตรวจจะตรวจในประเภทกิจการที่มีการใช้ปั้นจั่นหรือเครน และกิจการที่มีการใช้สารเคมีตามมาตรการ ๓-๓-๒ มีสถานประกอบกิจการที่การใช้ปั้นจั่นผ่านการตรวจ จำนวน ๕๘๐ แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง ๖๔,๕๔๖ คน มีการออกคำสั่งปรับปรุง ๒๐๑ แห่ง ส่งเรื่องดำเนินคดี ๔ แห่ง สถิติการประสบอันตรายลดลงร้อยละ ๓๘.๒๗ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายมีสถานประกอบกิจการผ่านการตรวจ จำนวน ๙๔๔ แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง ๑๒๐,๗๙๕ คน มีการออกคำสั่งปรับปรุง ๒๗๐ แห่ง ส่งเรื่องดำเนินคดี ๑ แห่ง สถิติการประสบอันตรายลดลงร้อยละ ๒๙ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าการดำเนินการได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างไรก็ตามกสร.จะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผลการดำเนินการเป็นไปอย่างยั่งยืน
 
สำหรับมาตรการ ๓ – ๓ – ๒ เป็นการดำเนินงานตามแผน ๘ วาระปฏิรูปเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน โดยแผนดังกล่าวจัดเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อคุ้มครองอันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ประกอบด้วย ๓ เดือนแรก คือ ก.พ.- เม.ย.๖๐ จะตรวจสอบความปลอดภัยการทำงานใน ๕ ประเภทกิจการ ได้แก่ ๑.กิจการที่มีการใช้ปั้นจั่นหรือเครน ๒.กิจการที่มีการใช้สารเคมี ๓.กิจการขนส่งทางบก ๔.กิจการที่มีการใช้แรงงานเด็ก และ๕.กิจการเกี่ยวกับประมงและต่อเนื่อง ๓ เดือนที่สอง คือ พ.ค.- ก.ค.๖๐ จะตรวจใน ๓ ประเภทกิจการ ได้แก่ ๑.กิจการที่มีการใช้เครื่องบด/เครื่องตัดโลหะ ๒.กิจการที่มีการทำงานในที่อับอากาศ ๓.กิจการที่มีการทำงานในที่สูง สำหรับระยะสุดท้ายช่วง ส.ค.-ก.ย. ๖๐ จะตรวจใน ๒ ประเภทกิจการ ได้แก่ ๑. กิจการก่อสร้าง ๒.การป้องกันและระงับอัคคีภัย
 
 
เพจหางานอุตรดิตถ์แฉ แรงงานค่าจ้างเดือนละไม่ถึง 5,000 ถูกนายจ้างกดขี่ข่มเหง
 
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นายมรุเดช ไทยดิตถ์ อายุ 32 ปี เจ้าของเพจ UTT JOB บริษัทจัดหางาน จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า จ.อุตรดิตถ์ มีปัญหาการมีงานทำของคนเป็นจำนวนมาก ภาวะการตกงานมีสูงมาก เนื่องจากระบบของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อการจัดหางานไม่เอื้อต่อการหางานของคนภายใน จ.อุตรดิตถ์ ยังคงใช้วิธีการเดิมๆ คือการให้คนหางานไปลงชื่อไว้ แล้วก็ไม่มีการติดต่อกลับหา ฐานข้อมูลถ้าอยากได้เบอร์สถานประกอบการเพื่อติดต่อก็ต้องไปที่สำนักงานจัดหางาน แทนที่จะทำในรูปแบบโซเชียลมีเดีย แต่กลับไม่มีให้บริการแต่อย่างใด หรือมีแต่ไม่มีการจัดการให้น่าสนใจและน่าเชื่อถือ
 
นายมรุเดชกล่าวว่า มองเห็นปัญหานี้มานานแล้ว จึงได้สร้างกลุ่ม UTT JOB ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางการหางาน และให้ห้างร้านสถานประกอบการได้หาคนทำงาน ช่วยเหลือปัญหาทางเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเริ่มต้นจากตนเองและกระจายไปยังคนในจังหวัดที่ต้องการทำงาน หลังจากเปิดเพจจี้ขึ้นมา ปรากฏว่ามีการตอบรับจากคนหางานและสถานประกอบการอย่างมาก จนทุกวันนี้มีสมาชิกที่ได้งานทำจำนวนมาก และในเพจเวลานี้มีสมาชิกกว่า 30,000 คน ถือได้ว่าเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากร จ.อุตรดิตถ์
 
“หลังจากมีสมาชิกเข้ามามากขึ้นก็ทำให้พบปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหาการกดขี่แรงงานมากจนเกินไป เช่นสถานประกอบการจะให้ทดลองงานให้เงินเดือน 5,000 บาท แต่เมื่อครบการทดลองงานแล้ว 3 เดือน สถานประกอบการก็จะให้ออกพร้อมหาคนงานมาทดลองงานใหม่ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นการกดขี่ค่าแรง โดยอาศัยช่วงจังหวะทดลองงาน หากได้บรรจุงานก็จะต้องเพิ่มเงินเดือนให้คนงาน ปัญหาการให้ค่าจ้างไม่ถึงตามที่กฎหมายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และปัญหาที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิร้องเรียนหน่วยงานทางราชการหรือเกี่ยวข้องเพื่อเอาผิดต่อนายจ้างได้เลย เพราะนายจ้างส่วนใหญ่ล้วนแต่ส่วนราชการเกรงใจมากกว่า” นายมรุเดชกล่าว
 
 
ครม. เห็นชอบให้สัตยาบัน ILO ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ
 
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) 2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำสัตยาบันสารเพื่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศดังกล่าว และ 3. มอบหมายให้ รง. จดทะเบียนสัตยาบันสารดังกล่าวต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศต่อไป
 
สาระสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 เป็น 1 ใน 8 อนุสัญญาหลักของ ILO ภายใต้หมวดการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและประกอบอาชีพ โดยเป็นอนุสัญญาเชิงส่งเสริมให้มีนโยบายและมาตรการระดับชาติเพื่อป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ และมุ่งส่งเสริมโอกาสและการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ โดยรายละเอียดของอนุสัญญาฯ เป็นอนุสัญญาเชิงส่งเสริมให้มีนโยบายและมาตรการระดับชาติเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและการประกอบอาชีพที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าถึงบริการแนะแนวอาชีพและจัดหางานการเข้าถึงการฝึกอบรมและการทำงาน ความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคงในการทำงานค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับงานที่ทำ สภาพการจ้างและสวัสดิการจากการทำงาน โดยพิจารณาการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง รากเหง้า (National Extraction) สถานภาพทางสังคม และฐานอื่น ๆ ที่ประเทศให้สัตยาบันกำหนดฐานเพิ่มเติมโดยการปรึกษาหารือกับองค์การนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะส่งผลให้ความเท่าเทียมในโอกาสหรือการได้รับการปฏิบัติในการจ้างงานหรืออาชีพนั้นหมดไปหรือด้อยลง โดยไม่เกี่ยวกับสัญชาติ (คนต่างชาติ)
 
ที่มา: มติคณะรัฐมนตรี, 9/5/2560
 
ก.แรงงาน เตือนผู้ที่จะไปทำงานนักร้องในสิงคโปร์ ควรได้รับสัญญาจ้างก่อน
 
กระทรวงแรงงาน เตือนคนไทยที่จะไปทำงานสายบันเทิง "นักร้อง-นักดนตรี" ในประเทศสิงคโปร์ ควรจะต้องทำสัญญาจ้าง หรือมีการออกใบอนุญาตทำงานก่อนเดินทางไป เพราะพบร้องขอให้ช่วยหลังถูกยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด
 
เมื่อวันที่ 10 พ.ค.60 นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยที่ไปทำงานประเทศสิงคโปร์ในตำแหน่งนักร้องได้ขอความช่วยเหลือจากสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากถูกนายจ้างยกเลิกใบอนุญาตทำงานก่อนหมดสัญญาจ้าง ทั้งยังจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ ด้วยเหตุผลว่าคนงานไม่สามารถทำงานในตำแหน่งนักร้องได้ ทั้งๆ ที่นายจ้างหักเงินค่าจ้างเพื่อจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการจ้างแรงงานต่างชาติ (Levy) แล้ว โดยนายจ้างได้จัดส่งใบอนุญาตการทำงานที่ออกโดยกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ให้คนงาน แต่นายจ้างไม่มีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งคนงานทำงานได้เพียงระยะหนึ่งนายจ้างก็บอกเลิกสัญญา
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า การเข้ามาทำงานในสถานบันเทิงประเทศสิงคโปร์ ตำแหน่งนักร้อง นักดนตรี ธุรกิจบันเทิง หรืออื่นๆ นายจ้างจะต้องขออนุญาตจ้างงานชาวต่างชาติจากกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ หากอนุมัติการจ้างงานแล้วจะออกใบอนุญาตการทำงานให้กับลูกจ้างจึงจะถือว่าเป็นการทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนายจ้างจะต้องส่งหนังสือยืนยันว่า คนงานจะได้รับใบอนุญาตทำงานเมื่อเดินทางมาถึงประเทศสิงคโปร์ให้กับคนงานก่อน
 
"กรมการจัดหางานจึงขอเตือนคนหางานที่จะไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ กลุ่มประเภทอาชีพนักร้อง นักดนตรีและธุรกิจบันเทิง ควรมีนายจ้างและได้รับใบอนุญาตการทำงานก่อนที่จะเดินทางไปทำงาน ตลอดจนเพิ่มความระมัดระวังในการทำสัญญาจ้างกับนายจ้างให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสัญญาจ้างจะต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องศึกษารายละเอียดสัญญาจ้างให้รอบคอบ ชัดเจน และต้องทำความเข้าใจสภาพชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ค่าครองชีพ วัฒนธรรม สอบถามข้อมูลการไปทำงานสิงคโปร์อย่างถูกต้องได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 0-2245-6708-9 เว็บไซต์ www.mol.go.th/anonymouse/foreignlabour/39818 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694" นายวรานนท์กล่าว
 
 
ครม.ไม่อนุมัติ 10,992 อัตราข้าราชการพยาบาลใหม่ให้ สธ. แนะนำตำแหน่งว่างมาบริหาร
 
ครม.มีมติอนุมัติการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้ สธ.ตามมติ คปร. เพิ่มอัตราข้าราชการพยาบาลวิชาชีพ 450 อัตราเพื่อบรรจุ โครงการผลิตพยาบาลเพื่อจังหวัดชายแดน ให้ รพ.สต.พื้นที่ชายแดน ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการพยาบาลวิชาชีพตั้งใหม่ 10,992 อัตรา ให้ สธ.สธ.นำตำแหน่งว่างมาบริหารรองรับบรรจุพยาบาลตามจำเป็น ให้ สธ.ปรับการทำงานให้พยาบาลวิชาชีพทำภารกิจเฉพาะที่ต้องใช้พยาบาลวิชาชีพ
 
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมได้มีมติอนุมัติการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับกระทรวงสาธารณสุขตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปณ.) ในการประชุม ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 30 มีนาคม 2560 ตามที่สำนักงาน กพ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐเสนอ และให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐดังกล่าวให้ถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
 
สาระสำคัญของเรื่อง
 
คปร.ในการประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ได้พิจารณาเรื่อง การเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) แล้ว มีมติอนุมัติโดยมีเงื่อนไขให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการ ดังนี้
 
1. อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพให้กับ สป.สธ. เพื่อบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตบุคลากรพยาบาลเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในจังหวัดชายแดนตามรอยสมเด็จย่ารวม 450 อัตรา ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สธ.) กำหนดอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ปีละ 50 อัตรา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2568 เป็นระยะเวลา 9 ปี และให้ สป.สธ. พิจารณาจัดสรรตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพดังกล่าวให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ชายแดน และให้กำหนดเป็นตำแหน่งที่ต้องตรึงไว้เป็นการประจำในพื้นที่โดยมิให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นสายงานอื่น และไม่ให้ สธ. ขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพจนกว่าจะสิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
 
2. ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้ สป.สธ.นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น
 
3. ให้ สธ.ปรับปรุงการทำงานในโรงพยาบาลให้มีลักษณะการผสมผสานทักษะความชำนาญงานเฉพาะด้าน เพื่อให้บุคลากรในโรงพยาบาลทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานร่วมกับพยาบาลวิชาชีพ รวมทั้งปรับลดหรือทบทวนให้พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติเฉพาะภารกิจที่ต้องใช้พยาบาลวิชาชีพ เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลได้ปฏิบัติงานการพยาบาลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและเกิดผลดีต่อผู้รับบริการ
 
4. ให้ สธ. พิจารณาการจ้างพนักงานราชการหรือใช้วิธีการจ้างพนักงานจากภายนอกองค์กร (Outsource) เพื่อทดแทนการบรรจุเป็นข้าราชการ ในภารกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้บุคลากรเพิ่มเติม
 
5. ให้ สป.สธ. รายงานผลการดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 3 ให้ คปร.ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุขมีมติอนุมัติการกำหนดตำแหน่งอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพในแต่ละปี
 
 
วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ขบวนแรงงานประกาศข้อเสนอ 3 ข้อ แก้ปัญหาความไม่ปลอดในการทำงาน
 
วันที่ 10 พฤษภาคม 2560 ได้มีการจัดงาน วันความปลอดภัยแห่งชาติ อันตรายจากแร่ใยหิน ทำไมต้องเลิกใช้ งดนำเข้า จัดโดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ที่โรงแรมทีเค พาเลซ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ ซึ่งก่อนเปิดงานได้มีการฉายวิดีทัศน์เรื่องการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน จากกรณีไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ พร้อมร่วมกันยืนรำลึกถึงความสูญเสียชีวิตของคนงานเคเดอร์
 
ดร.ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยในการทำงานมีความก้าวหน้ามากทั้งด้านกฎหมาย การดูแล และการตระหนักถึงการทำงานและดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น ประเด็นเรื่องการใช้แร่ใยหินมีการทำงานรณรงค์มาช้านานเรื่องอันตรายจากแร่ใยหิน แต่ว่าความรับรู้ทางสังคมกับยังมีน้อย ถึงความอันตรายจากแร่ใยหิน ซึ่งควรต้องมีการสร้างความรับรู้กับสังคมให้ตระหนักถึงอันตรายจากแร่ใยหิน เพระอันรายจากแร่ใยหินอยู่ที่บ้านเรา ซึ่งหลายประเทศได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้ว
 
นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน กล่าวว่า สถาบันความปลอดภัยที่ต้องการให้การคุ้มครองดูแลแรงงานแต่ว่า กับได้มาแบบแขนกุดขาขาดจึงได้รับการชดเชย อย่างแนวนโยบายอุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์แต่ว่าเป็นแบบผักชีโรยหน้าหรือไม่ เมื่อสภาแครือข่ายฯได้มีการรับเรื่องราวร้องทุข์กรณีเจ็บป่วยจากการทำงานกรณีการยกของหนักปวดหลัง ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าป่วยปกติไม่ได้ เป็นพยาธิวิทยา ไม่ใช่การป่วยเนื่องจากการทำงานส่งผลให้นายจ้างเลิกจ้างต้องตกงานมีผลกระทบมากมาย และมีคนป่วยแบบนี้จำนวนมากในโรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นโยบายอุบัติเหตุเป็นศูนย์ ยังทำให้เรื่องการป่วยเนื่องจาการทำงานไม่เข้าถึงสิทธิการรักษาและการชดเชย ด้วยต้องการที่จะไม่ให้มีการเจ็บป่วยเนื่องจากงานนอกจากแขนขาขาดบาดหรือตาย เป็นข่าวเท่านั้น
 
อย่างประเด็นการรณรงค์เรื่องแร่ใยหิน ที่ส่งผลต่อสุขภาพคนที่สัมผัสกับแร่ใยหิน ซึ่งไม่ใช่แค่คนทำงานเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่คนที่ใช้อย่างประชาชนที่ใช้ปลูกบ้าน หรือใช้อุปกรณ์ก่อสร้างที่มีแร่ใยหินแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจเป็นปอดอักเสบ และป่วยเป็นมะเร็งปอดได้ อยากให้รัฐเข้าถึงตรวจสอบได้ในโรงงานที่ใช้แร่ใยหินด้วย เพราะลูกจ้างไม่สามารถทำได้ด้วยต้องทำงานกับนายจ้าง ประเด็นต่อมาต้องทำให้คนงานเข้าสู่การดูแลป้องกัน และเข้าถึงประเด็นสุขภาพ ได้รับการวินิจฉัยการป่วยเนื่องจากการทำงาน และเข้าถึงสิทธิเงินทดแทน รัฐอย่ากลัวเรื่องนายจ้างไม่ได้รางวัลย์โรงงานปลอดจากอุบัติเหตุ และคนเจ็บป่วยจากการทำงาน ความไม่ปลอดภัยต้องเป็นศูนย์ หากรัฐแก้ปัญหาตรงจุด
 
ศ.ดร. นพ. พรชัย สิทธิสรัญกุล คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะกรรมการประกันสังคม มีคณะกรรมการแพทย์เพื่อพิจารณาการเจ็บป่วยไม่เนื่องจากงาน มีบาดเจ็บ เจ็บป่วยไม่เนื่องจากการทำงาน ประเด็นแร่ใยหิน หากมีสารพิษในอากาศปอดก็จะได้ผลกระทบ ซึ่งวัสดุที่มีแร่ใยหิน คือกระเบื้องทนไฟ ส่วนแรกคือคนงาน และส่วนต่อมาคือนำไปใช้ ทำให้เกิดอันตรายต่อปอด ซึ่งแร่ใยหินเป็นส่วนก่ออันตราย หากสูดเอาเศษที่แตกหัก ช่วงที่เรื้อถอน ซึ่งการรื้อถอนก็ต้องมีข้อควรระวัง
 
แนวคิดการแก้ไขปัญหาเรื่องแร่ใยหินความพยายามที่จะให้เกิดการยกเลิกการใช้หรือการนำเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม มีการประชุมระดับเอเชีย และประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน มีการขับเคลื่อนในกลุ่มทีแบน ในการขับเคลื่อนเรื่องแร่ใยหิน และมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อรณรงค์ทำความเข้าใจในการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากแร่ใยหิน และสองก็ผลักดันด้านกฎหมาย และสามก็แบนแร่ใยหิน สี่ก็ให้กรมคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงแรงงานเข้าไปควบคุมดูแลลดการใช้แร่ใยหิน จากประเภทที่5 เหลือแค่4 เหลือ 0.01 ดูแลเรื่องความปลอดภัยควบคุมมากขึ้น ซึ่งมีการแบนเรื่องคัมมอกโซน ยาปราบสัตรูพืชที่มีความเป็นอันตราย และใช้มีการควบคุมการนำเข้า และการใช้
 
ยุทธศาสตร์ที่สองเข้าพบรัฐมนตรี รณรงค์ข้อมูล และยุทธศาสตร์ที่สาม คือยังไม่พบคนที่ป่วยเนื่องจากแร่ใยหิน เพราะอะไรที่ยังไม่มีการแบนแร่ใยหิน อย่างคนญี่ปุ่น ที่แบนแร่ใยหินแล้ว นอกจากโรคจากแร่ใยหินก็จะมีโรคปอดจากฝุ่นถ่านหิน จากฝุ่นหินทราย เพื่อยืนยันในการรักษาดูแล หากพร้อมก็จะเข้าสู่การวินิจฉัยโรคจากการทำงานได้ และเข้าสู่การวินิจฉัยโรคจากฝุ่นเหล่านี้เพื่อเข้าสู่กองทุนเงินทดแทน โดยไม่มีการปฏิเสธโรคจากการทำงาน
กองทุนเงินทดแทน เป็นการตั้งขึ้นเพื่อให้เขตพื้นที่ เมื่อป่วยให้ไปคลีนิกโรคจากการทำงานเมื่อคิดว่าป่วยจากการทำงาน มีการเริ่มผลิตแพทย์ผู้เชียวชาญโรคจากการทำงาน แต่ถูกควบคลุมคุณภาพจากแพทยสภา ประวัติการทำงาน คนที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่คล้ายกัน ต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อส่งไยังแพทย์ผู้เชียวชาญด้านอาชีวอนามัย
 
ศ.ดร.พ.สุรศักดิ์ รณตรีเทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มะเร็งจากแร่ใยหินจะเป็นที่เยื้อหุ้มปอด ซึ่งการจะวินิจฉัยว่าใช่หรือไม่จะต้องพบมีแร่ใยหินที่ปอดก่อน และมะเร็งที่ผนังช่องท้อง หรือเยื้อหุ้มปอดจากเหตุแร่ใยหิน และก็มะเร็งรังไข เนื่องจากเป็นแบบเส้นแหลมจึงเข้าไปทะลุทะลวงได้ลึก ไคโทไซต์ เป็นแร่ที่อันตราย และมีการนำเข้าจากประเทศรัสเซีย อุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหิน คือจะถูกนำมาใช้ในผ้าเบรก คัช กระเบื้องกันไฟ ซึ่งต่างประเทศต้องมีชุดที่ป้องกัน เมื่อมีการรื้อถอน พนักงานอู่ซ่อมรถ อู่ต่อเรือต้องมีชุดในการป้องกันเพราะว่ามีผลกระทบต่อคนทำงานอย่างมาก สิ่งแวดล้อมประชาชนก็ได้รับผลต่างๆได้หากมีการนำไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆแล้วมีการฟุ้งกระจาย และส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการใช้แร่ใยหิน จะให้เหตุผลมีผู้ป่วยในแฟมแค่ 12 รายเท่านั้น คือมีผลกระทบน้อย จึงเห็นว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่มาก จะให้มีการใช้แร่ใยหินต่อไปไดแต่ป็นแบบป้องกันได้หรือไม่ ซึ่งมีโรงงาน 20 แห่งที่ใช้แร่ใยหิน ตรวจสอบไปเหลือ 14 แห่งที่ยังใช้อยู่ และเมื่อตรวจไปที่คนทำงานก็สามารถที่จะตรวจตามความเสี่ยงเนื่องจากการทำงาน จาก 14 โรงงานมีการถ่ายภาพรังสีปอดจริงแต่ฟิมล์ไม่มีคุณภาพพอ จึงพบว่าคนทำงานมีความเป็นปกติอยู่ และก็มีการหาดูกลุ่มคนงานก่อสร้าง ซึ่งต้องเป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบ และจัดอบรมกันไปเรื่องการรื้อถอนกระเบื้องที่ปลอดภัยอย่างไร ก็ได้รับความสนใจ และก็อยากได้ข้อมูลคนทำงานที่สัมผัสกับแร่ใยหินซึ่งจะมีผลใช้เวลาก่อตัวของโรคราว 10-30 ปีซึ่งออกงานกันไปแล้ว และรูปแบบการดูแลคนป่วยตอนนั้นจะทำอย่างไร เป็นระบบไหนเพราะว่ากองทุนเงินทดแทนก็คงไม่ดูแลแล้ว จะมีการเก็บเงินจากบริษัทหรือไม่ ซึ่งมีคนที่ป่วยเป็นมะเร็งหุ้มปอดที่ลำปาง 100 กว่าราย ที่สวนดอกเชียงใหม่ 7 ราย มีรวมแล้ว 200 กว่ารายที่ป่วยเนื่องจากมะเร็งในเยื้อหุ้มปอด หากมีการตรวจพบมากขึ้น ซึ่งต้องขจัดที่ต้นเหตุคือยกเลิกใช้แร่ใยหิน
 
ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า เรื่องสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานนั้นหากจะทำงานเชิงรุกอาจต้องมีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยควรต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และทางกระทรวงแรงงานจะจัดสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานในเดือนกรกฎาคม และมีการพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยในการทำงานปี 2560 มีการรณรงค์ ทั้งการทำงาน สารปราบศัตรูพืช และการทำงานก่อสร้าง ต้องการที่จะลดอัตรายการประสบอันตรายในการทำงาน โดยตั้งเป้าไว้ 2 ล้านคน หากพูดถึงเซพตี้ไทยแลนในงานสัปดาห์ความปลอดภัยก็ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อลดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และลดโรคจากการทำงาน ซึ่งเป็นแผน 20 ปี พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยในการทำงาน หลังเกิดสถาบันความปลอดภัย ซึ่งก็มีการบังคับกับภาครัฐดวย จากเดิมไม่มีการดูแลคนทำงานภาครัฐเลย
 
ทั่วประเทศที่ไม่มีคลีนิกโรคจากการทำงาน คือพิษณุโลก บึงกาฬ หนองบัวลำพูน ซึ่งมีแพทย์ไม่เพียงพอ ตามโรงพยาบาลต่างๆอย่างน้อยจะมีแพทย์ ปรือพยาบาลที่เชียวชาญโรคจากการทำงาน ซึ่งพยาบามกระตุ้น คนที่สงสัยว่าป่วยจากการทำงานให้ส่งไปที่คลีนิกโรคจากการทำงาน หากประวัติอาชีพชัดเจนก็เชื่อได้ว่าการป่วยจากการทำงาน หากแพทย์ซักประวัติน้อยก็จะไม่มีข้อมูลเข้ามาว่าป่วยจากการทำงาน แนวโน้มนายจ้างเมื่อพบหรือสงสัยว่าลูกจ้างป่วยเนื่องจากการทำงานก็จะส่งลูกจ้างไปโรงพยาบาลเอกชนไม่มีการส่งตัวไปโรงงานที่มีการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน หากไปโรงพยาบาลรัฐมีการรายงานการป่วยจากการทำงานแน่นอนหากเอกชนจะไม่ค่อยรายงานเรื่องป่วยจากงานแน่นอน
 
กฎหมายที่มาดูแลเรื่องแร่ใยหินเป็นของกรมอุตสาหกรรมไม่เกี่ยวกับสาธารณสุข หรือต้องมีการตรวจเรื่องวัสดุอันตราย ซึ่งช่วงที่การรอเพื่อยกเลิก ต้องมีการป้องกันตัวเอง และมีการรวมตัวเพื่อให้นายจ้างมีการจัดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากแร่ใยหินด้วย และกว่าจะรู้ว่าป่วยก็ใช้เวลาถึง 30 ปี ซึ่งออกจากงานแล้ว แต่ละคนต้องช่วยกันดูแลหากทราบว่าใครทำงานเกี่ยวเนื่องกับแร่ใยหินให้บอกคนเหล่านั้นให้ไปตรวจสุขภาพเพื่อดูและและป้องกันเบื้องต้น การยกเลิกแร่ใยหินยังต้องใช้เวลาด้วยเป็นอำนาจของกรมอุตสาหกรรม ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบหาข้อมูลเพิ่มเติมในความเป็นไปได้ในการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน
 
ในฐานะบอร์ด(คณะกรรมการ) สถาบันความปลอดภัยนั้น ยังมีการจัดการเรื่องวิชาการ ยังไม่ได้ลงเชิงระบบภัยสุขภาพ และไม่ได้เน้นตรงนี้ว่า มีอะไรที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในกการทำงาน และอะไรที่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งลงไปที่การแก้ไขอุบัติเหตุมากกว่าโรคจากการทำงาน
 
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า หลังจากกรณีโศกนาฎกรรมสร้างความสูญเสียชีวิตของแรงงานจากกรณีไฟไหม้โรงงานผลิตตุกตาเคเดอร์ต้องสูญเสียชีวิตคนงาน 188 คน บาดเจ็บพิการ 469 คน อีกอีกหลายครั้งที่ต้องสูญเสีย เนื่องจากความไม่ปลอดภัย กว่าจะมาเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ต้องมีการเคลื่อนไหวมากมายเพื่อให้เกิดการดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน โดยการรณรงค์ การล่าลายมือชื่อเพื่อเสนอ ให้มีการตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน เกิดพระราชบัญญัติส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน ตั้งสถาบันความปลอดภัยแต่ว่าชีวิตของคนงานการเข้าถึงสิทธิ การได้รับการดูแล การชดเชย ทดแทน ยังไม่ได้รับสิทธิ สถิติความไม่ปลอดภัยในการทำงานยังคงไม่มีการดูแล ซึ่งทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีนโยบายขับเคลื่อนเรื่องให้รัฐดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงานตลอด ประเด็นปัญหาในการทำงานนี้ใช้เวลามานานและยังคงมีคนป่วยจากการทำงาน พร้อมโรคใหม่ๆจำนวนมาก เช่นประเด็นแร่ใยหินวันนี้ก็ไม่ทราบว่าใครป่วยและป่วยจำนวนเทาาไรตัวเลขไม่ชัด เพราะว่าการฟักตัวของโรคใช้ระยะเวลานาน ซึ่งคนที่ทำงานก็ไม่อยู่ในงานแล้ว และการทำงานของคสรท.เรื่องการยกเลิกแร่ใยหินคงต้องลงพื้นที่ให้ความรู้ทำความเข้าใจกัน และต้องมีการทบทวนวางแผนกันในการให้การศึกษาให้ความรู้กับประชาชนคนทำงาน ข้อเรียกร้องวันแรงงานก็ต้องมีการติดตาม
 
เรื่องความปลอดภัยต้องก้าวข้ามเชื้อชาติ เพราะงานก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ อย่าให้ภาครัฐมาบิดเบือน คนทำงานทุกคนต้องได้รับสิทธิ เข้าถึงการคุ้มครองดูแล
จากนั้นทางเครือข่ายได้อ่านคำประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวัน“ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ”10 พฤษภาคม 2560
 
วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 หรือย้อนไปเมื่อ 24 ปีที่แล้ว เกิดเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม ส่งผลให้คนงานนับพันต้องวิ่งหนีตายอลหม่าน เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต 188 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน
 
เพื่อไม่ให้ชีวิตของคนงานต้องสูญเปล่า สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และขบวนการแรงงานจากภาคส่วนต่างๆยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศให้ วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันอันตรายและการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพเป็นจุดเริ่มต้นให้ขบวนการแรงงานเคลื่อนไหวเรียกร้องความปลอดภัยในการทำงาน และใช้เวลา 21 ปีเพื่อผลักดันการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางาน จนเป็นผลสำเร็จ
 
กว่า 6 ปีของการประกาศใช้กฎหมาย แต่ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ด้วยเงื่อนไข และข้อจำกัด อีกทั้งขาดการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ มีบุคลากรที่จำกัด ทำให้สถานการณ์เรื่องความปลอดภัยยังอยู่ในสภาพที่ต้องผลักดันต่อไป โดยเฉพาะเรื่องสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ยังขาดทิศทางการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แรงงาน ทำให้คนงานขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย และการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย การเข้าถึงการวินิจฉัยโรค รักษาเยียวยาและทดแทน สถานการณ์ล่วงเลยปรากฏการณ์และโรคใหม่ๆ ทางด้านอาชีวอนามัยจากการทำงาน อันตราย จากการใช้ การสัมผัสสารเคมี ทำให้คนงานเป็นโรคมะเร็ง เจ็บป่วยทุกข์ทรมานอย่างมาก
 
แร่ใยหิน (Asbestos) ซึ่งนำมาใช้มากทั้งที่ผลิตจากภายในประเทศและนำเข้า คืออุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องซีเมนต์ อุตสาหกรรมผลิตเบรคและคลัทช์ อุตสาหกรรมผลิตท่อน้ำ ยากำจัดศรัตรูพืช เป็นต้น
แร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายทางจมูกโดยการหายใจเข้าไป อวัยวะเป้าหมายสำคัญคือ ปอด ผลจากการศึกษาทางระบาดวิทยา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ทำให้เชื่อได้ว่า แร่ใยหินทุกชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค มะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง (Mesothelioma) แอสเบสโตสิส (Asbestosis) เป็นโรคปอดเรื้อรังที่เกิดเฉพาะกับผู้ที่สัมผัสกับแร่ใยหินเท่านั้น เนื่องจากปฏิกิริยาทางชีวภาพระหว่างเส้นใย แร่ใยหินและเนื้อเยื่อปอด ทำให้ปอดเกิดเป็นแผลเป็น ปอดที่ถูกทำลายไปแล้วไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาดีได้ดังเดิม
 
ดังนั้น ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เนื่องในวันความปลอดภัยในปีนี้และได้ยื่นเป็นข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลต่อรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 คือ
 
1.รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ
 
2. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ
 
3. ให้รัฐยกเลิกแร่ใยหินทุกรูปแบบ และในระหว่างที่ยังยังยกเลิกไม่หมดให้กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ให้กระทรวงแรงงานประกาศให้สภาพแวดล้อมที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้แร่ใยหินจาก 5 เส้นใยเหลือ 0.01 เส้นใย
 
แม้รัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) มีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง 6 กระทรวง แต่การจัดการเรื่องความปลอดภัยจะสำเร็จไปไม่ได้หากปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคีต่างๆ โดยเฉพาะภาคีของผู้ใช้แรงงาน และที่สำคัญยิ่ง สิ่งที่คาดหวังว่าความต้องการของพวกเราพี่น้องคนงานทั้งหลาย คือ “พลังของพวกเราที่จะร่วมกันผลักดัน”เฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา ที่เราผ่านความยากลำบากในการต่อสู้แต่เราก็สามารถฟันฝ่ามาสู่ความสำเร็จระดับหนึ่ง จึงเชื่อว่า ความสำเร็จจะอยู่ไม่ไกลหากเราสามัคคีรวมพลังกันพร้อมกับประสานงานขับเคลื่อนพร้อมกับเครือข่ายทางสังคมจะยิ่งทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นในเร็ววัน
 
เราขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า เราจะร่วมกันผลักดันให้เรื่องความปลอดภัยเป็นวาระสำคัญให้บรรลุเป้าหมายความปลอดภัยของคนงานทั้งมวล
เราขอประกาศเจตนารมณ์ว่าเราจะร่วมกันรณรงค์ผลักดันให้ถึงที่สุด
 
 
ประกันสังคม แจงค่าบริการทางการแพทย์อยู่ระหว่างปรับเพิ่ม
 
กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ชี้ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายปีผู้ประกันตนอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเพิ่มตามความเหมาะสม ล่าสุดปรับค่าบริการในปี 2557 แจงปี 2560 ประเมินสถานการณ์พบค่าบริการทางการแพทย์สูงขึ้น เผยสำนักงานประกันสังคมตั้งอนุกรรมการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนประกาศใช้ต่อไป
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึง ถึงกรณี นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนขอให้สำนักงานประกันสังคมปรับขึ้นค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายปีผู้ประกันตน ซึ่งคงที่มานาน 6 ปีว่า จากกรณีดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมขอเรียนว่า ได้มีการปรับค่าบริการทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับค่าบริการพื้นฐานในปี 2557 หลังจากนั้นได้มีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดรวมทั้งข้อมูลการใช้บริการเทียบกับข้อมูลของโรงพยาบาลในระบบทั้งหมดรายงานพบว่าค่าบริการทางการแพทย์ยังมีความเพียงพอ และมีการปรับการจ่ายการบริการ ทางการแพทย์ในปี 2558-2559 รวม 12 รายการ
 
โดยมีเรื่องที่สำคัญ เช่น การเพิ่มวงเงินสำหรับการผ่าตัดเตรียมเส้นเลือดเพื่อการฟอกไตหรือวางท่อรับ-ส่งน้ำยา ล้างช่องท้อง (เพิ่ม 10,000 บาท จากเดิม 20,000 บาท ต่อ 2 ปี) การเพิ่มการเข้าถึงยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Stroke) และผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลับ (STEMI) โดยจ่ายค่ายาให้แก่สถานพยาบาล และการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดให้ครอบคลุมทั้ง กรณีใช้เนื้อเยื่อของตนเองเนื้อเยื่อของ พี่น้อง และเนื้อเยื่อของผู้บริจาค จาก 750,000 บาท เป็น 1,300,000 บาท โดยเน้นให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและการจ่ายให้เป็นธรรมกับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน
 
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมได้ประเมินสถานการณ์ในปี 2560 พบว่าสถานพยาบาลมีต้นทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีปริมาณการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมการการแพทย์ได้ให้คำแนะนำในการปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์ โดยได้นำเสนอคณะกรรมการประกันสังคม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมได้ให้ข้อเสนอแนะรวมทั้งให้มีการตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบภายใน 90 วัน โดยมี พลโท น.พ.กฤษฎา ดวงอุไร เป็นประธาน ซึ่งมีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง
 
ได้ข้อสรุปให้มีการปรับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นทุกรายการตั้งแต่เหมาจ่าย/โรคเรื้อรัง/โรคที่ต้องใช้ยาราคาสูงและต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการรักษา รวมทั้งมีการจ่ายเพิ่มสำหรับการรักษาที่มีค่ารักษาพยาบาลเกิน 1 ล้านบาท เช่นการรักษาผู้ป่วยที่ประสบเหตุจากไฟไหม้ ทั้งนี้จะสรุปรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ก่อนที่จะเสนอ คณะกรรมการการแพทย์ และ คณะกรรมการประกันสังคมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นก่อนประกาศใช้
 
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนา และปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนเพื่อให้มีสวัสดิการที่ดี และมีคุณภาพการดำรงชีวิตต่อไป
 
 
"เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว" รณรงค์ผ่านโซเชียลขู่ลาออกยกกระทรวง หลังครม.ไม่อนุมัติบรรจุตำแหน่งใหม่กว่า1หมื่นอัตรา
 
เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รณรงค์ผ่านเฟซบุ๊กเพจ “ Nurse Team Thailand “ โดยเชิญชวนพยาบาลทุกคนร่วมเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เพื่อแสดงจุดยืน กรณีรัฐบาลไม่อนุมัติตำแหน่งใหม่ให้พยาบาล 10,992 อัตรา พร้อมขู่จะลาออกยกกระทรวง หากภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ตำแหน่งใหม่ยังไม่ได้รับการบรรจุ เพราะสะท้อนให้เห็นถึงการที่รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของพยาบาลเท่ากับรัฐบาลทิ้งประชาชน
 
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวกดดันของกลุ่มวิชาชีพพยาบาล เกิดจากความไม่พอใจผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาได้ เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.)ที่ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพจำนวน 10,992 อัตรา โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหาร – จัดการ เพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น อีกทั้งยังให้พิจารณาการจ้างพนักงานราชการ หรือ ใช้วิธีจ้างพนักงานจากภายนอก องค์กร (Out source ) ในภารกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้บุคลากรเพิ่มเติม เพื่อทดแทนการบรรจุเป็นข้าราชการ
 
นอกจานี้ครม. ยังอนุมัติเพิ่มข้าราชการพยาบาลวิชาชีพ 450 อัตรา เพื่อบรรจุในโครงการผลิตพยาบาลเพื่อจังหวัดชายแดนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ชายแดนอีกด้วย
 
 
โศกนาฏกรรมซ้ำรอย คนงานล้างถังเก็บน้ำ ขาดอากาศ 3 ศพ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุกู้ชีพ 1169 จากโรงพยาบาลพัทลุงว่า มีเหตุคนงานก่อสร้างทำถังน้ำประปาขนาดใหญ่ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำป่าพะยอม ท้องที่ ม.6 ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม ขาดอากาศหายใจหมดสติ 4 ราย ขณะลงไปล้างทำความสะอาดถังที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ หลังรับแจ้งจึงเดินทางรุดสอบที่เกิดเหตุ พร้อมเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยพัทลุง เขตพื้นที่ป่าพะยอม
 
ในที่เกิดเหตุ พบกลุ่มคนงานกำลังนำร่างของเพื่อนคนงานทั้ง 4 คน นำตัวส่งโรงพยาบาลป่าพะยอม แต่ปรากฏว่าเสียชีวิตระหว่างทาง 3 คน ส่วนอีกรายแพทย์กำลังช่วยชีวิต แต่อาการยังน่าเป็นห่วง เบื้องต้นทราบชื่อผู้เสียชีวิต คือนายพรรณรงค์ อาย 46 ปี นายอภิรัช อายุ 21 ปี และ นายสรชัย อายุ 24 ปี ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บอีกรายคือ นายรุจ อายุ 45 ปี
 
จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุคนงานทั้งหมดได้ดำเนินการก่อสร้างถังประปาหมู่บ้าน จำนวน 8 ถัง เป็นถังปูน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร สูง 3 เมตร ล่าสุดได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 7 ถัง แล้วสร้างเสร็จไปแล้ว 4 ถัง โดยเมื่อวานนี้มีฝนตกลงมา ทำให้คนงานกลุ่มดังกล่าวได้ลงไปตรวจสอบทำความสะอาดและอุดปะรอยร้างของถังน้ำลูกที่ 4 ที่ยังมีน้ำขังอยู่
 
คนงานได้โรยตัวลงไปทางช่องฝาปิดถัง ที่มีขนาดความกว้าง 80 เซนติเมตร แต่เมื่อลงไปอยู่ในถังน้ำเพียงไม่นาน ปรากฏว่าคนงานเริ่มมีอาการหมดสติ 3 คน ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บพยายามปืนป่ายขึ้นมาร้องขอความช่วยเหลือ โดยที่อยู่ในสภาพอิดโรยและใกล้จะหมดสติ คนงานจึงได้รีบนำเอารถแบคโฮมาเปิดฝาถังให้กว้างขึ้น เพื่อนำเพื่อนคนงานขึ้นมา แต่ก็ไม่ทันการณ์เสียชีวิตไป 3 ศพแล้ว
 
 
'วิษณุ' แจง ครม.ไม่ไฟเขียวบรรจุพยาบาลเพิ่ม เหตุ คปร.ดูรอบคอบแล้ว
 
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.60 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพยาบาลวิชาชีพชั่วคราวขู่ลาออก เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่อนุมัติพยาบาล 10,992 อัตรา เข้าบรรจุเข้ารับราชการว่า ทราบว่าทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะชี้แจงหรืออาจจะชี้แจงไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะเรื่องนี้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบหลายครั้ง ได้ผ่อนผันให้ไปจำนวนมากแล้วหลายอัตราแล้ว ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขจะเอาอัตราเหล่านั้นไปจัดสรรอย่างไร ซึ่งบางคนอาจสมประโยชน์ และไม่สมประโยชน์ เป็นเรื่องของทางกระทรวง แต่สิ่งที่ ก.พ.ออกคำชี้แจงไปถือว่าชัดเจนแล้ว อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้อ่าน
 
เมื่อถามว่า เหตุผลที่ไม่เปิดบรรจุเนื่องจากต้องการประหยัดงบประมาณแผ่นดินใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มันมีอะไรมากกว่านั้น ถ้าจะตอบว่าไม่จริง ไม่เกี่ยวกับการประหยัดก็คงไม่ใช่ เพราะต้องประหยัด แต่ไม่ใช่เหตุผลใหญ่ ยังมีอีกหลายเหตุ เพราะถ้าเอาตามอัตราที่แต่ละกระทรวงเรียกร้องให้บรรจุ ก็ต้องเพิ่มอัตรกำลังอีกเป็นแสนคน ในขณะที่วันนี้ข้าราชการทั่วประเทศ ตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำปฏิรูประบบราชการในปี 44-45 สามารถตรึงอัตรากำลังไว้ได้ที่ประมาณ 4 แสนคน ถือว่าน่าพอใจ หากจะเอาตามที่แต่ละกระทรวงให้เพิ่มคนก็จะเพิ่มไปอีกประมาณ 1 แสนคน
 
เมื่อถามว่า จะมีผลกระทบหรือไม่ เมื่อพยาบาลกลุ่มนี้ขู่ลาออกหากไม่ได้รับการบรรจุ นายวิษณุ กล่าวว่า ขอให้ฟังคำชี้แจงของ ก.พ. มีอะไรก็ให้ทางกระทรวงเจรจาบอกความจำเป็น แต่อัตราที่ ก.พ.ให้ไปก็เป็นจำนวนหมื่นแล้ว
 
 
สธ.แจงพยาบาลอดบรรจุกว่า 1 หมื่นตำแหน่ง(ฉบับเต็ม)
 
กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)แทบลุกเป็นไฟ หลังมีการเยแพร่มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งระบุว่า ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น ซึ่งเป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) ต่อมาเกิดกระแสในกลุ่มพยาบาลสังกัดสธ. ระบุว่า “ไม่บรรจุลาออกยกกระทรวง 30 กันยายน 2560”
 
ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 11 พฤษภาคม ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.) เรียกหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องเข้าหารือเป็นการเฉพาะ อาทิ ที่ปรึกษารมว.สธ. ปลัดสธ. รองปลัดสธ. และผู้แทนสภาการพยาบาล เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้ารับฟัง โดยศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวภายหลังการหารือว่า ตำแหน่งที่สธ.ขอให้กับพยาบาลนี้ไม่ได้ขอให้มีการบรรจุในปีเดียว แต่เป็นการขอในระยะเวลา 3 ปี
 
"นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในเรื่องนี้มาก หลังจากครม.มีมติ ท่านก็ส่งโน้ตให้กับตนทันที และบอกให้ไปบริหารหมุนตำแหน่งว่างภายในของกระทรวงก่อนแล้ว ถ้ายังมีปัญหาอยู่ท้ายที่สุดแล้วก็สามารถมาคุยกันได้ใหม่ ตนได้เรียนนายกฯไปว่า สธ.จะมาปรับระบบการบริหารอัตรากำลังให้ดีที่สุดใช้อัตราว่างให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ถ้ามีปัญหาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนก็จะนำเรียนนายกฯอีกครั้งหนึ่ง"ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว
 
ศ.คลินิก เกียริตคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวอีกว่า สธ.มีเจ้าหน้าที่ทำงานทั้งสิ้นประมาณ 4 แสนกว่าคน มีอัตราว่างประมาณ 1 หมื่น โดยอาจดูเหมือนมาก แต่คิดเป็นเพียง 5 %ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ซึ่งคปร.อาจจะเห็นจากส่วนนี้จึงมองว่าสธ.น่าจะไปบริหารจัดการอัตราว่างให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อหารือภายในแล้วคาดว่าสธ.จะสามารถลดอัตราว่างลงได้และเหลือประมาณ 2-3 % แต่ไม่เฉพาะของพยาบาลแต่เป็นของเจ้าหน้าที่สธ.ทั้งหมด
 
รมว.สธ. กล่าวด้วยว่า สรุปคืออย่างไรก็ตาม สธ.ยังขาดอัตรากำลังพยาบาลแน่ๆ การประสานงานกับคปร.และก.พ.คงต้องมความใกล้ชิดมากว่านี้ จึงจะปรึกษาดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง 3 หน่วยงาน โดยเอาหน่วยงานกลาง อย่างเช่น มหาวิทยาลัยมาศึกษาในเรื่องอัตรากำลังที่เหมาะสมและการที่จะบรรจุพยาบาลทั้งในส่วนของข้าราชการและพนักงานราชการ ซึ่งสธ.เป็นกระทรวงให้บริการ เพราะฉะนั้น อัตรากำลังของทุกวิชาชีพต้องมีความเหมาะสม
 
“ตำแหน่งที่สธ.มีอยู่ตอนนี้ก็จะพยายามบรรจุวิชาชีพต่างๆรวมทั้งพยาบาลให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เรื่องนี้นายกฯเห็นความสำคัญและเป็นห่วงมาก ซึ่งการขอตั้งคณะกรรมการร่วมกับคปร.และก.พ.นั้น จะเป็นการทำความเข้าใจเชิงลึกกันมากขึ้น สธ.ก็จะชี้แจงถึงความจำเป็นและความขาดแคลนอัตรากำลังจริงๆ รวมถึง การพิจารณาในเรื่องอื่นๆทั้งการก้าวหน้าในอาชีพและสวัสดิการต่างๆด้วย เพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังจากนั้นเมื่อทุกหน่วยงานเข้าใจตรงกันแล้วจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พยาบาลต้องอยู่คู่โรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าระบบบริหารประเทศและงบประมาณมีแค่ไหน อย่างไรด้วย ขออย่าเพิ่งเสียกำลังใจ ”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว
 
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดสธ. กล่าวว่า สำหรับวิชาชีพพยาบาล ในปี 2559 มีการบรรจุตำแหน่งข้าราชการไปแล้ว 1,700 คน ส่วนในปี 2560 จะมีอัตราพยาบาลว่างได้บรรจุเป็นข้าราชการอีก 2,621 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้มีบุคคลได้รับการจัดสรรเข้าบรรจุแล้ว 1,200 ตำแหน่ง โดยกระทรวงฯได้จัดสรรให้เขตตรวจราชการสธ.ไปบริหารจัดการแล้ว คาดว่าจะได้รับการบรรจุในอีก 1-2 เดือน
 
ส่วนอีก 1,400 ตำแหน่ง จะได้รับการบรรจุประมาณเดือนกันยายน 600ตำแหน่ง และในเดือนตุลาคมจะมีตำแหน่งจากการเกษียณในเดือนตุลาคมนี้อีก 800 ตำแหน่ง กรณีที่สธ.ขออนุมัติตำแหน่งข้าราชการให้กับพยาบาลเพิ่มอีกกว่า 1 หมื่นตำแหน่งนั้น เป็นการขออนุมัติในกรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 ปีละราว 3,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นอัตราที่สธ.คำนวณแล้วว่าต้องขอเพิ่มจากอัตราตำแหน่งว่างปกติที่กระทรวงมีอยู่ในแต่ละปี จึงจะสามารถบรรจุพยาบาลที่ตกค้างอยู่ได้เพียงพอ และในปี 2564 จะไม่ต้องขอตำแหน่งส่วนนี้เพิ่มเติมอีก
 
ทั้งนี้ ปัจจุบันพยาบาลสังกัด สธ.มีจำนวนทั้งสิ้น 100,855 คน ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแล้ง 87,252 คน คิดเป็นประมาณ 90 % อีก 10 %ที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ราว 13,000 คน แยกเป็น พนักงานราชการ 260 คน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 6,538 คน และลูกจ้างชั่วคราว 6,805 คน
 
 
ฟัน ‘นายจ้าง’ ปล่อยคนงานซ่อมถังประปาดับ 3 ศพ
 
วันที่ 11 พฤษภาคม นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยกรณีคนงานก่อสร้างเสียชีวิตขณะซ่อมถังประปาประจำหมู่บ้านขนาดใหญ่ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำป่าพะยอม จ.พัทลุง ว่า กสร.ได้สั่งการให้พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพัทลุง และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 9 เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เกิดเหตุ โดยได้สอบปากคำนายรุต กงไกรจักร ลูกจ้างผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ลูกจ้างทั้ง 4 คนเป็นลูกจ้างของของห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) เพชรภูผาโยธากิจ มีนางสมพร จันทร์มี เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ สาเหตุเกิดจากลูกจ้างทั้ง 4 คนลงไปปะรอยร้าวในถังน้ำขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 2.7 เมตร โดยลงไปในช่องฝาปิดที่มีขนาด 80 x 80 เซนติเมตร ส่งผลให้มีลูกจ้างเสียชีวิต 3 คน คือ นายพรรณรงค์ อายุ 46 ปี นายอภิรัช ภักดีสุวรรณ อายุ 21 ปี นายสรชัย ทองบ้านนา อายุ 24 ปี และนายรุต อายุ 45 ปี ได้รับบาดเจ็บ
 
นายสุเมธกล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้นพนักงานตรวจความปลอดภัยได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่และรวบรวมพยานหลักฐานว่านายจ้างได้มีการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ.2547 รวมทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 หรือไม่ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปล่อยให้ลูกจ้างเข้าไปทำงานโดยไม่มีการประเมินอันตรายว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อับอากาศ และลูกจ้างที่เข้าไปทำงานไม่ได้รับการอบรมตามที่กฎหมายกำหนด หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ได้มีการกำหนดไว้จะดำเนินคดีทันที โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ พนักงานตรวจความปลอดภัยจะเดินทางไปสอบข้อเท็จจริงนายจ้างในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้
 
 
ทอท.เตรียมตั้งบริษัทลูก เลิกจ้างบริษัทภายนอก
 
ทอท. จ่อไม่ต่อสัญญาเอาท์ซอร์ส เตรียมตั้งบริษัทลูกดำเนินธุรกิจหลักทั้งหมด เหตุคู่สัญญามีปัญหาบ่อย-ควบคุมไม่ได้ ขู่รายใดผิดเงื่อนไขก่อน พร้อมฉีกสัญญา
 
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. มีนโนบายจะไม่ต่อสัญญาจ้างบริษัทภายนอก (Outsource) ให้ดำเนินธุรกิจหลักขององค์กร เพราะที่ผ่านมาคู่สัญญาหลายรายทำงานมีปัญหาและส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ทอท. เช่น ปัญหาเจ้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) หยุดงานประท้วงเพื่อขอขึ้นค่าแรง ปัญหาการขับสะพานเทียบไปชนเครื่องบินเสียหาย หรือปัญหากระเป๋าเดินทางชำรุดหรือสูญหาย
 
ทอท. จะจัดตั้งบริษัทลูก 2 แห่งคือ บริษัทด้านการรักษาความปลอดภัย และบริษัทด้านให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น เพื่อเข้าไปดำเนินการธุรกิจหลักที่อยู่ในเขตการบิน (Airside) ของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งแทน ทั้งธุรกิจการขับสะพานเทียบเครื่องบิน การรักษาความปลอดภัย และการขนส่งสัมภาระ
 
การจัดตั้งบริษัทลูกทั้ง 2 แห่งจะมีความชัดเจนเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นและสามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้ในเดือน ก.ค. นี้ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการระดมทุนและจัดตั้งบอร์ด คาดว่าจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในปี 2561
 
บริษัทลูกจะเข้าไปดำเนินธุรกิจต่างๆ เมื่อสัญญาระหว่าง ทอท. และบริษัทภายนอกสิ้นสุดลง โดยเบื้องต้นจะเริ่มจากธุรกิจรักษาความปลอดภัยก่อน เพราะสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต และเขตปลอดอากร (Free Zone) จะหมดอายุพร้อมในปีงบประมาณ 2561 หรือในเดือน ก.ย. ปี 2562
 
ขณะนี้บริษัทลูกด้านรักษาความปลอดภัยจึงเหลือระยะเวลาเตรียมตัวอีก 1 ปี 2 เดือน และคาดว่าจะต้องมีการจ้างพนักงานดูแลรักษาความปลอดภัยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกว่า 1,000 คน ถ้าหากรวมทั้งหมดอาจสูงถึง 2,000 คน
 
สำหรับธุรกิจการขนถ่ายสัมภาระที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ปัจจุบันมีสายการบินไทยและบริษัทบางกอกไฟลท์เซอร์วิส (BFS) เป็นผู้ดำเนินการ และ ทอท. ไม่มีเป้าหมายที่จะยกเลิกสัญญาเพื่อเข้าไปดำเนินการเองแต่อย่างใด แต่ ทอท. จะหาโอกาสเข้าไปดำเนินการเป็นรายที่ 3 เมื่อการจราจรหนาแน่นถึงระดับที่เงื่อนไขกำหนดไว้
 
อย่างไรก็ตาม ถ้าคู่ค้ารายใดทำผิดเงื่อนไขก่อนสัญญาหมดอายุ ทอท.พร้อมยกเลิกสัญญาและให้บริษัทลูกเข้าไปดำเนินการแทนทันที ซึ่งปัจจุบัน ทอท. มีคู่สัญญาในธุรกิจหลักหลายสิบราย
“ต้องรอว่าสัญญาต่างๆ จะหมดอายุเมื่อไหร่ หรือถ้าไม่หมดอายุ เราก็ส่งหนังสือไปเตือนOutsourceว่าถ้าทำผิด เราก็พร้อมจะเลิกสัญญา"
 
 
ประกันสังคมแจ้งหยุดให้บริการสายด่วน 1506 เหตุปรับปรุงระบบตั้งแต่ 1 มิ.ย. 60
 
สปส.แจ้งหยุดให้บริการสายด่วนประกันสังคม 1506 ชั่วคราว ตั้งแต่ 1 มิ.ย.60 เพื่อพัฒนาระบบ รองรับการใช้บริการของผู้ประกันตน ทันสมัย รับกับโซเชียลมีเดีย
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ รองรับการส่งเสริมและขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริการภายในองค์กรและการปรับเปลี่ยนการทำงานในยุคดิจิทัล รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อเข้าถึงงาน บริการภาครัฐในรูปแบบใหม่ ผ่านการขับเคลื่อนด้วยกลไก “ประชารัฐ” ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมให้บริการสายด่วน 1506 แก่ผู้ประกันตน โดยมีเจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสายด่วน 1506 ของสำนักงานประกันสังคมจะให้บริการทั้งข้อสอบถามและเรื่องร้องเรียนผ่านทางโทรศัพท์พูดคุยกับเจ้าหน้าที่โดยตรงและการติดต่อผ่านทางอินเตอร์เน็ตคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งสามารถโต้ตอบข้อสอบถามได้ทันทีโดยการแชทกับเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการรับเรื่องร้องทุกข์ เพื่อประสานงานให้กับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ประกันตนในเรื่องนั้นๆ
 
นพ.สุรเดช กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกันตนจำนวนกว่า 12 ล้านคน ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานประกันสังคม และปัจจุบันมีผู้ที่โทรเข้ามาที่สายด่วน 1506 เฉลี่ยเดือนละ 200,000 สาย ซึ่งสายด่วน 1506 นั้น ให้บริการข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆ ในกระทรวงแรงงานด้วย โดยร้อยละ 80 ของสายที่โทรสอบถาม จะเป็นการสอบถามเรื่องประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันได้เพิ่มคู่สาย เพื่อรองรับงานของสำนักงานประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีช่องทางอื่นๆ ในการติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมทั้งทางเว็บไซต์ การติดต่อผ่านเขตพื้นที่หรือจังหวัด รวมถึงการเดินทางมาติดต่อด้วยตัวเอง
 
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมขอหยุด การให้บริการสายด่วน 1506 เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 60 เป็นต้นไป เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการสายด่วน 1506 ตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน และให้มีความทันสมัย รองรับ Social Media ทั้งนี้ระหว่างหยุดการให้บริการ นายจ้าง ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือติดต่อทางโทรศัพท์ได้ที่หมายเลข 02 956 2539 ถึง 40 ในวันและเวลาราชการ
 
 
"วิกฤตครูอาชีวะ" ขาดแคลนสะสมกว่าหมื่นอัตรา เผยปี 2559 ขอกำลังคนเป็นพนักงานราชการ 15,000 แต่ได้แค่ 990
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหนังสือพิมพ์ "ลูกศิลป์" หนังสือพิมพ์ ฝึกปฏิบัติของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เผยแพร่ข่าวเรื่อง วิกฤตครูอาชีวะขาดแคลนสะสมนับหมื่น โดยในเนื้อข่าวระบุว่า จากการตรวจสอบ สถานการณ์การขาดแคลนครูในระดับอาชีวศึกษา พบรายงานกลุ่มงานจัดการงานบุคคล สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ระบุว่า วงการอาชีวศึกษากำลังประสบปัญหาขาดแคลนครูสะสมอย่างต่อเนื่อง จากที่ควรมี 33,243 คน แต่มีอยู่จริงเพียง 15,206 คน
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามผู้บริหารและอาจารย์ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาหลายแห่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างระบุตรงกันว่าการขาดแคลนครูช่าง ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนจริ
 
โดย นางภาวดี บัวศรี อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กรุงเทพฯ เผยว่า ในระบบมีการบรรจุครูเป็นข้าราชการน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นครูอัตราจ้าง ทั้งที่มีการเปิดสอบทุกปี แต่กลับเรียกเข้าบรรจุเป็นจำนวนน้อยกว่าคนที่ไปสอบ หรือน้อยกว่าจำนวนครูที่ระบบต้องการ
 
ขณะที่ นายดำรงเดช สุริยา ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร จังหวัดสกลนคร ยอมรับว่า จำเป็นต้องจ้างบุคลากรที่จบตามสาขานั้นๆ มาสอนวิชาพื้นฐาน แต่ครูอัตราจ้างไม่มั่นคงเหมือนข้าราชการ สอนเพียงไม่กี่ปีก็ลาออก ทำให้วิทยาลัยต้องหาคนมาทดแทน จึงเกิดปัญหาการสอนไม่ต่อเนื่อง
 
ด้านนางสาวนงค์นุช สีสะใบ ครูอัตราจ้างวิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า เป็นครูอัตราจ้างมา 14 ปี แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุ รู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงของอาชีพ เพราะไม่มีสวัสดิการและเงินเดือนที่เพียงพอ
 
นางปัทมา วีระวานิช ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา สอศ. ชี้แจงว่าปี 2559 สอศ. ยื่นขอกำลังคนเป็นพนักงานราชการกว่า 15,000 คน แต่ได้รับจัดสรรกลับมาเพียง 990 คนเท่านั้น เนื่องจากปัญหาด้านการรับครูอัตราจ้างแทน ทั้งนี้ในปี 2560 สอศ.จะเสนอโครงการแก้ปัญหาขาดแคลนครู เพื่อเพิ่มและคืนครูเข้าสู่ระบบ คิดเป็นงบประมาณกว่า 170 ล้านบาท
 
นางปัทมา กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาไม่ได้รับการบรรขุของครูอัตราจ้าง สอศ.มีการแก้ปัญหาโดยเปิดสอบบรรจุทั้งรอบเฉพาะของครูอัตราจ้าง และรอบบุคลากรภายนอก ซึ่งครูอัตราจ้างสามารถสอบได้ทั้ง 2 รอบ
 
“สอศ.พยายามช่วยครูอัตราจ้างอย่างเต็มที่ เพราะบางคนอยู่เป็น 10-20 ปี รู้ระบบอาชีวะเป็นอย่างดี เมื่อมีอัตราจ้างบางคนอาจหลุดออกมาจากระบบ แต่เราก็พยายามรักษาพวกเขาไว้อย่างเต็มกำลัง” นางปัทมา กล่าว
 
 
สธ.จ่อประชุม "พยาบาล" ทั่วประเทศสัปดาห์หน้า ทำความเข้าใจอดบรรจุ ขรก. เร่งอัปสวัสดิการ พกส.ดึงดูดใจ
 
สธ.เตรียมประชุมทำความเข้าใจพยาบาลทั่วประเทศสัปดาห์หน้า ชี้ตั้งคณะทำงานร่วม คปร.-ก.พ.ให้ได้ข้อมูลตรงกัน เร่งอัปสิทธิสวัสดิการ พกส.ช่วยดึงดูดให้ไม่เป็นข้าราชการ ด้านอุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 แจงข้อมูลพยาบาลของ ก.พ.คลาดเคลื่อน อัตรากำลังน้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
 
จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่อนุมัติข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งวิชาชีพพยาบาลจำนวน 10,992 ตำแหน่ง จนพยาบาลจำนวนมากต่างออกมาคัดค้านมติดังกล่าว ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าจำนวนดังกล่าวเป็นการขอข้าราชการตั้งใหม่ในระยะเวลา 3 ปี ส่วนปี 2560 คาดว่าจะบรรจุพยาบาลด้วยตำแหน่งข้าราชการเดิมได้ประมาณ 2,600 ตำแหน่ง ด้านคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ชี้แจงสาเหตุที่ไม่อนุมัติว่า เพราะ สธ.มีตำแหน่งว่างจำนวนมาก ควรนำมาบริหารจัดการก่อน และจำนวนพยาบาลของไทยก็สูงกว่าอัตราที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
 
(12 พ.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สัปดาห์หน้า สธ.จะหารือและทำความเข้าใจกับพยาบาลทั่วประเทศ ผ่านการประชุมทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ส่วนเรื่องที่ ก.พ.ออกมาระบุว่าจำนวนพยาบาลวิชาชีพของไทยมีอัตราสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เนื่องจาก ก.พ.กับ สธ.ใช้ฐานข้อมูลคนละชุดกัน ดังนั้น รมว.สาธารณสุข จึงได้มีแนวคิดที่จะมีการตั้งกรรมการร่วมกันขึ้น เพื่อที่ต่อไปในอนาคตจะได้มีการใช้ฐานข้อมูลเดียวกันในการหารือและเพื่อให้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
 
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้พยาบาลที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการมีประมาณ 13,000 คน ทั้งในส่วนของพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งหากใช้ตำแหน่งข้าราชการเดิมที่มีอยู่ ซึ่งจะว่างลงในแต่ละปี คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 ปีในการที่จะบรรจุพยาบาลเหล่านี้เป็นข้าราชการได้ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีจะมีพยาบาลทยอยเพิ่มเข้ามาในระบบด้วย เนื่องจากแต่ละปีจะมีพยาบาลจบใหม่ประมาณ 4,000 คน โดยเข้ามาอยู่ในสังกัด สธ.ประมาณปีละ 3,000 คน ที่เหลืออาจไปอยู่หน่วยงานราชการสังกัดอื่นหรือภาคเอกชน ซึ่งหากได้ตำแหน่งข้าราชการตั้งใหม่วิชาชีพจำนวนราว 10,000 ตำแหน่ง ทยอย 3 ปีนั้น ก็จะไม่ต้องมีการขอตำแหน่งเพิ่มเติมอีก เพราะจะพอดีกับจำนวนเกษียณ ดังนั้น การตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหารือกับคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และ ก.พ. ทาง สธ.ก็ต้องให้ข้อมูลเพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นและความขาดแคลนพยาบาล ซึ่งสุดท้ายแล้วจะได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คปร.และ ก.พ. แต่หากบรรจุไม่ได้ทั้งหมดก็ต้องหารือว่า จะมีกระบวนการจ้างงานประเภทไหนให้มีแรงจูงใจไม่ให้เป็นข้าราชการได้
 
"สธ.ก็พยายามผลักดันในส่วนของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) เพื่อให้มีแรงจูงใจพอ หลักการก็จะคล้ายกับพนักงานราชการคือ ได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าข้าราชการ สำหรับการเพิ่มสิทธิสวัสดิการ พกส.คือ 1.เงินเดือนมากกว่าราชการ 1.2-1.4 เท่า โดยพยาบาลอาจได้อยู่ที่ 1.4 เท่า 2.การตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญ ซึ่งพนักงานราชการไม่มี โดยขณะนี้สามารถตั้งได้แล้ว 3.สามารถลาศึกษาต่อได้ และ 4.สิทธิการรักษาพยาบาลซึ่งใช้สิทธิประกันสังคม หากสิทธิอยู่ที่ รพ.ที่เจ้าตัวทำงานอยู่ ก็สามารถใช้สิทธิรักษารวมถึงครอบครัวได้ ทั้งนี้ เชื่อว่า จะสามารถช่วยดึงดูดให้ไม่อยากเป็นข้าราชการได้ แต่ยังติดปัญหาเพียงเรื่องเดียวคือ เงินเดือน เนื่องจากใช้เงินบำรุง รพ.ในการจ่ายค่าตอบแทน จึงทำให้ยังมีข้อจำกัดอยู่ จึงจ้างด้วยการเป็น พกส.ทั้งหมดไม่ได้" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
 
ด้าน ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับ รมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้ดำเนินการตามมติ ครม.ไปก่อน โดยใช้อัตราตำแหน่งข้าราชการที่ว่างลงของปีนี้มาบริหารจัดการ ซึ่งในส่วนของพยาบาลคิดว่าน่าจะอยู่ประมาณ 3 พันกว่าอัตรา อย่างไรก็ตาม เรื่องการขออัตรากำลังเพิ่มนั้นยังต้องมีการดำเนินต่อไป และควรมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างสธ. คปร. ก.พ. และหน่วยงานกลาง เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำงาน ใช้ข้อมูลกันคนละชุด สธ.ก็ทำข้อมูลและขออัตรากำลังไป ส่วนก.พ.ก็ทำข้อมูลเองแล้วก็ไม่อนุมัติ ดังนั้น จึงควรหารือร่วมกัน
 
ดร.กฤษดา กล่าวว่า ส่วนที่ ก.พ.ชี้แจงว่าอัตราพยาบาลวิชาชีพของไทยสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน องค์การอนามัยโลกทำการศึกษาจากทั่วโลกและเสนอแนะว่า แต่ละประเทศควรมีสัดส่วนแพทย์ พยาบาลไม่ต่ำกว่า 2.5 ต่อพันประชากร โดยมีพยาบาล 2 ต่อ 1,000 คน หรือ 1 ต่อ 500 คน ถ้าต่ำกว่านี้ถือว่ามีวิกฤตกำลังคนที่จะทำให้อัตราการตายของแม่และเด็กสูงขึ้น และประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงบริการคลอดที่ปลอดภัย ฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดในการใช้ตัวเลขสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรในการวางแผนกำลังคนสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยเพิ่มการผลิตพยาบาลตั้งแต่ปี 2535 เพื่อก้าวพ้นวิกฤต คือมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 2 ต่อพัน หรือ 1 ต่อ 500 แต่เพราะมีปัญหาการจ้างงาน ทำให้พยาบาลออกจากอาชีพ ที่เหลืออยู่ก็รับภาระ 1 ต่อ 600 คน ต่ำกว่าภาวะวิกฤตที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
 
 
กกจ. อุ้มผู้พ้นโทษ...ปูทางอาชีพ แล้วกว่า 9,000 คน
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สร้างโอกาสให้ผู้พ้นโทษ เดินหน้าเร่งสร้างอาชีพ โดยจัดสาธิตอาชีพ ฝึกอาชีพอิสระ เผย 7 เดือน (ตุลาคม 2559-เมษายน 2560) ให้บริการจัดหางานแล้วกว่า 700 ราย มีงานทำเกือบ 200 ราย พร้อมปูทางอาชีพอิสระแล้วกว่า 9,000 ราย
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากที่กรมการจัดหางานได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและการสงเคราะห์ผู้ต้องขังภายหลังพ้นโทษกับกรมราชทัณฑ์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมคุมประพฤติ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น กรมการจัดหางานได้เดินหน้าหางานให้กับผู้พ้นโทษอย่างต่อเนื่องโดยการจัดสาธิตอาชีพและฝึกทักษะอาชีพอิสระระยะสั้นให้แก่ผู้ต้องขัง รวมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ แนะแนวอาชีพ และลงทะเบียนจัดหางาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนายจ้าง/สถานประกอบการ และประชาชนทั่วไปมั่นใจได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีฝีมือ สามารถทำงาน และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – กันยายน 2559) มีผู้พ้นโทษมาใช้บริการจัดหางานจำนวนทั้งสิ้น 948 ราย ได้รับการบรรจุงานจำนวน 216 ราย รวมรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเป็นจำนวน 2,031,500 บาท หรือ 24,378,000 บาท/ปี และในปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – เมษายน 2560) มีผู้พ้นโทษมาใช้บริการจัดหางานจำนวนทั้งสิ้น 773 ราย บรรจุงานให้จำนวน 191 ราย รวมรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเป็นจำนวน 1,825,000 บาท หรือ 21,900,000 บาท/ปี โดยตำแหน่งงานที่ได้รับการบรรจุมากที่สุด 5 อันดับ คือ 1.แรงงานด้านการผลิต 2.พนักงานรักษาความปลอดภัย 3.พนักงานขับรถยนต์ 4.พนักงานขายสินค้า และ 5.เสมียนพนักงานทั่วไป นอกจากนี้ ยังได้ให้ความรู้ทางอาชีพแก่ผู้ต้องขังในปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – เมษายน 2560) จำนวน 9,122 ราย จำแนกเป็นแนะแนวอาชีพ/ทดสอบความพร้อมทางอาชีพ จำนวน 8,133 คน สาธิตการประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 989 คน
 
นายวรานนท์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม มีผู้พ้นโทษบางส่วนไม่ประสงค์จะรับความช่วยเหลือ เนื่องจาก มีอาชีพรองรับหลังพ้นโทษอยู่แล้ว เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ค้าขาย ช่างซ่อม ประกอบธุรกิจส่วนตัว รับเหมาก่อสร้าง รับเหมาติดตั้งไฟฟ้า เปิดอู่ซ่อมรถยนต์ รับจ้าง เป็นต้น สำหรับในส่วนของผู้พ้นโทษที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกทักษะฝีมือแรงงาน สามารถแจ้งความประสงค์ดังกล่าวกับกรมการจัดหางานได้ ซึ่งกรมจะได้ประสานกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจัดฝึกอบรมอาชีพเสริมในหลักสูตรต่างๆ ต่อไป เช่น การปูกระเบื้อง การฝึกอาชีพเสริมสาขาช่างไม้เครื่องเรือน ช่างเชื่อมผลิตภัณฑ์เบื้องต้น ช่างไฟฟ้า ช่างแอร์ ช่างยนต์ ช่างเสริมสวย นวดแผนไทย การประกอบอาหาร และการจัดสวน เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 13/5/2560
 

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.