เสียงจากเรือนจำ ไผ่ ดาวดินยินดีที่ได้รับรางวัล แต่สิ่งที่ต้องการมากกว่าคืออิสรภาพ

Posted: 18 May 2017 07:07 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

พริ้ม บุญภัทรรักษา กล่าวในเวทีมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน 2017 ที่สาธารณรัฐเกาหลี ระบุรางวัลที่ ไผ่ ดาวดินได้รับ เป็นรางวัลของนักสู้ทุกคน ด้านผู้จัดงานได้เตรียมเก้าอี้ว่างไว้หนึ่งตัว เป็นสัญลักษณ์แทนไผ่ที่ไม่ได้มาร่วมงานเพราะยังคงถูกจองจำ


18 พ.ค. 2560 ที่เมืองกวางจู สาธารณรัฐเกาหลี เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น คณะกรรมการรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำพิธีมอบรางวัลรางวัลให้แก่ผู้ที่อุทิศตัวเพื่อการต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน หรือรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2017 โดยในปีนี้มีผู้ที่ได้รับรางวัลคือ จตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษานักกิจกรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางสังคมการเมืองที่เรียกร้องต่อสู้ในประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนร่วมกับชาวบ้านหลายพื้นที่ในภาคอีสาน และต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิทางการเมืองและประชาธิปไตยหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งในเวลานี้เขาตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จากเว็บไซต์ BBC Thai ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทั้งนี้การมอบรางวัลครั้งนี้ยังได้มีการมอบรางวัลพิเศษให้กับ Serge Bambara ศิลปินเพลงแร็ปจากประเทศบูร์กินาฟาโซด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะมีการประกาศรางวัลนั้นได้มีการจัดกิจกรรมแสดงสดเพลงแร็ปเพื่อสันติภาพโดย Serge Bambara บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน และก่อนที่การมอบรางวัลจะเริ่มขึ้นมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ได้จัดเตรียมเก้าอี้พร้อมดอกกุหลาบไว้เพื่อเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ให้แก่ไผ่ เนื่องจากเขาไม่สามารถเดินทางมารับรางวัลดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง เพราะยังคงถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีอยู่ภายในทัณฑสถานบำบัดกลางจังหวัดขอนแก่น แม้ก่อนหน้านี้จะมีการขอยื่นประกันตัวเพื่อ ขอโอกาสให้ไผ่ได้เดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเองก็ตาม แต่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีความเห็นเป็นครั้งที่ 9 ว่า ไม่อนุญาติให้ประกันตัวเนื่องจากยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม



หลังจากนั้นได้มีการกล่าวสุนทรพจน์ เป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับรางวัล โดยวีรชนผู้ผ่านเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจู และผู้ที่ได้รับรางวัลก่อนหน้า จากนั้นได้มีฉายวีดีทัศน์เรื่องราวของไผ่ ดาวดิน พร้อมบทเพลงฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ(บทเพลงที่แต่งขึ้นโดยวงสามัญชน เพื่อขับร้องแสดงถึงความคิดถึงเพื่อนที่อยู่ในสภาวะไร้อิสระภาพ) ทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ร่วมงานซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคมการเมือง และนักสิทธิมนุษยชนจากหลายประเทศร่วมลงนามรณรงค์ ให้รัฐไทยคืนสิทธิในการประตัวเพื่อให้ไผ่สามารถออกมาสู้คดีได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

พริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของไผ่ ได้เป็นตัวแทนกล่าวสุนทรพจน์แทนลูกชาย เธอได้เล่าถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังการรัฐประหาร ทั้งกรณีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน นักศึกษาและประชาชน พร้อมยกปัญหาในกระบวนการยุติธรรมจากกรณีการถูกคุมขังของไผ่ เพป็นตัวอย่าง ท้ายที่สุดเธอกล่าวย้ำด้วยว่า “รางวัลที่ไผ่ได้รับนั้น คือรางวัลของนักต่อสู้ทุกๆคนไม่ใช่ไผ่เพียงคนเดียว”

เสียงจากเรือนจำ “สิ่งที่ผมได้มันเป็นเพียงแค่รางวัล สิ่งที่ผมต้องการมากกว่าคืออิสรภาพ”

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากที่ได้เข้าเยี่ยมไผ่ในเรือนจำ และได้พูดคุยเรื่องราวการได้รับรางวัลกับไผ่ เขาระบุว่า ไม่คิดว่าคนอย่างตนเอง ซึ่งเป็นคนหนุ่ม คนอีสานธรรมดาๆ คนหนึ่งจะได้รับรางวัลในระดับเดียวกันกับที่ผู้นำประเทศ หรือผู้นำการเปลี่ยนเปลี่ยนเคยได้รับ

“ไม่คิดว่าคนอย่างผม คนหนุ่ม คนอีสานธรรมดาจะได้รางวัลเดียวกับคนระดับผู้นำประเทศหรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับสากลได้ บอกตรงๆ ว่าตอนแรกก็ยังงงๆ พอตั้งสติได้ผมก็ดีใจ มันเป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าสิ่งที่ผมได้ทำลงไปเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วก็ยังมีองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความสนใจ ติดตามประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ที่ผมเสียใจก็คือ สิ่งที่ผมได้มันเป็นเพียงแค่รางวัล สิ่งที่ผมต้องการมากกว่าก็คืออิสรภาพ ซึ่งมันเป็นสิทธิของผมและสิทธิของผู้ต้องขังในคดีการเมืองอีกจำนวนมาก แต่พวกเราก็ไม่สามารถที่จะได้มันมา” ไผ่กล่าว

ไผ่ระบุด้วยว่า การได้รางวัลด้านสิทธิมนุษยชนของตนเป็นการสะท้อนให้ประชาคมโลกได้เห็นว่าบ้านเมืองของเราประเทศของเรายังมีปัญหาเรื่องประชาธิปไตย มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

เมื่อถามว่าจะนำเงินรางวัลที่ได้มาไปทำอะไรต่อ ไผ่ระบุว่า ขอมอบเงินรางวัลของผมทั้งหมดให้กับครอบครัว เพราะกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาทั้งหมดของตน ทำไปโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน และไม่เคยได้รับเงินหรือรายได้จากการทำกิจกรรมเลย และตลอดเวลาที่ผ่านมาตนไม่ได้ช่วยเหลือครอบครัวในด้านเศรษฐกิจเลย จึงต้องการมอบเงินทั้งหมดให้ครอบครัว โดยเฉพาะกับน้องสาวที่กำลังจะเรียนจบในระดับมัธยมศึกษา หากน้องต้องการเรียนอะไรน้องก็ควรจะได้เรียน ไผ่ระบุ

เกี่ยวกับ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน

‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาและนักกิจกรรมที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากการต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในภาคอีสาน ในช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไผ่และเพื่อนเคยชู 3 นิ้วพร้อมใส่เสื้อที่เรียงกันเป็นข้อความว่า “ไม่เอารัฐประหาร” ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.ที่สนามหน้าศาลากลาง จ.ขอนแก่น

ในปีต่อมาไผ่และกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาดาวดินก็ได้จัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ก่อนที่จะลงมาร่วมกับกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ชุมนุมต่อต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีและถูกจับขังอยู่ในเรือนจำ

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ไผ่ และกลุ่มกิจกรรมใน ม.ขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ เพื่อรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประชามติ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หน.คสช. หลังจากนั้นไผ่และเพื่อนอีก 1 คนยังได้ไปแจกเอกสารรณรงค์ประชามติ ที่ จ.ชัยภูมิ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี

เหล่านี้คือเหตุการณ์ที่ทำให้ไผ่ถูกจับกุมและดำเนินคดีช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งนับรวมการจับกุมและดำเนินคดีในครั้งนี้ถือได้ว่าไผ่ถูกจับกุมทั้งหมด 5 ครั้ง และถูกดำเนินคดี 5 คดี

ในส่วนคดีของนายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน เกิดจากการเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดย พ.ท. พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ มณฑลทหารบกที่ 23 จากการที่จตุภัทร์ ได้แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 ซึ่งมีผู้แชร์บทความดังกล่าวประมาณ 2,800 ครั้ง แต่มีจตุภัทร์เพียงคนเดียวที่ถูกจับกุมดำเนินคดี โดยในวันที่ 3 ธ.ค. 2559 จตุภัทร์ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ขณะกำลังร่วมขบวนธรรมยาตรา กับพระไพศาล วิสาโล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่น

ต่อมาในวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ศาลได้พิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยทนาย พร้อมนายประกันได้ยื่นหลักทรัพย์ 4 แสนบาท และให้เหตุผลไว้ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า จตุภัทร์ เป็นผู้ต่องหาคดีการเมืองอยู่ 4 คดี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี อีกทั้งในวันที่ 8 ธ.ค. ผู้ต้องหามีสอบเป็นวิชาสุดท้าย หากไม่ได้เข้าสอบวิชาดังกล่าวจะส่งผลให้เขาเรียนไม่จบตามหลักสูตร ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัว

ต่อมาในวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ที่ขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหา ได้ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว จึงสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ทั้งยังเห็นว่านายประกัน ซึ่งเป็นบิดา ไม่ได้ทำการห้ามปราบการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน, ผู้ต้องหาให้มาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ หลังปล่อยตัวชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีก และภายหลังปล่อยตัวชั่วคราว ได้ความจากทางไต่สวนว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่ง จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา หมายขังผู้ต้องหา ตรวจคืนหลักประกันให้นายประกัน

ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. 2560 ศาลได้รับฟ้องคดีดังกล่าว พร้อมไต่สวนคำให้การของจตุภัทร์ โดยเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และพร้อมที่จะสู้คดี โดยในวันนั้นศาลได้ใช้อำนาจสั่งขังเขาต่อไประหว่างการพิจารณาคดี และได้นัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 21 มี.ค. 2560 ทั้งนี้อัยการโจทก์ได้ระบุในคำฟ้องด้วยว่า

"อนึ่ง หากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งและเทิดทูนของประชาชน และเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี"

ทั้งนี้จตุภัทร์ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัด จังหวัดขอนแก่น มาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หลังจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์ เพื่อคัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นลงวันที่ 21 มี.ค. 2560 ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ และล่าสุดได้มีการยื่นประกันตัวอีกครั้งเพื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 แต่ศาลยังคงยืนยันคำสั่งเดิม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานว่า ในคดีนี้ อัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุภัทร์ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ 14 (3) โดยจตุภัทร์ให้การปฏิเสธ และศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3-4, 15-17 ส.ค. 2560 สืบพยานจำเลยในวันที่ 30-31 ส.ค. และ 5-7 ก.ย. 2560 ในชั้นสอบสวน จตุภัทร์เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลา 18 วัน แต่ถูกถอนประกันจากการที่ยังโพสต์แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย หลังถูกถอนประกัน ทนายความได้ยื่นประกันจตุภัทร์ รวม 9 ครั้ง และอุทธรณ์รวม 2 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกเลย


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.