TCIJ: กฟผ.พยากรณ์พลาด! ไม่เกิดพีคไฟในรอบ 7 ปี แต่ยังดันโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้

Posted: 20 May 2017 11:08 PM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซท์ประชาไท)

รายงานพิเศษจาก TCIJ กฟผ. ยอมรับพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าสูงสุดผิดพลาด ปี 2560 ไม่เกิดพีคครั้งแรกในรอบ 7 ปี สวนทางที่เคยพยากรณ์ไว้ว่าจะเกิดพีคสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เตรียมปรับยุทธศาสตร์องค์กรตั้งเป้าขึ้นผู้นำพลังงานทางเลือก เสนอปรับแผน PDP 2015 เพิ่มพลังงานทางเลือกของ กฟผ. เอง 2,000 เมกะวัตต์ แต่ทำไมยังย้ำหนักแน่นเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา?

กฟผ.คาดการณ์ผิดพลาด - 2560 ไม่เกิดพีคไฟฟ้าครั้งแรกในรอบ 7 ปี



เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2560 นายเริงชัย คงทอง ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้มีการประเมินข้อมูลใหม่และเชื่อว่าคงจะไม่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือ ‘พีค’ ในปี 2560 นี้แล้ว หลังผ่านพ้นช่วงฤดูร้อนและระยะเวลาที่ต้องติดตามสถานการณ์เป็นพิเศษ คือช่วงเดือน เม.ย.-15พ.ค. 2560 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี นับจากปี 2554 ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ที่ไม่มีพีคไฟฟ้าเกิดขึ้น (โดยค่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดต้องสูงกว่าปีก่อนหน้าถึงจะเรียกว่ามีการเกิดพีคได้) ทั้งนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2560 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พ.ค. เวลา 14.20 น. ที่ 30,303.4 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ.คาดว่าจะเป็นพีคของปีนี้ แต่ถือว่าต่ำกว่าสถิติพีคไฟฟ้าในปี 2559 ที่ 30,972.73 เมกะวัตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. ยังระบุว่าการที่ประเทศไทยไม่เกิดพีคในปีนี้จะเป็นผลดีต่อภาพรวมของประเทศที่จะช่วยชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และเห็นว่าประชาชนหันมาพึ่งพาพลังงานทางเลือกมากขึ้น แต่การตั้งสมมติฐานพีคไว้ในระดับสูง รวมถึงพลังงานทางเลือกที่เข้าระบบสูงกว่าคาดการณ์ จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าหรือไม่นั้นต้องรอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้พิจารณาต้นทุนในภาพรวม [1] ทั้งนี้ กฟผ. เคยพยากรณ์ไว้เมื่อเดือน มี.ค. 2560 ว่าจะเกิดพีคสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 32,059 เมกะวัตต์ ในช่วงเดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา [2]


ปรับยุทธศาสตร์เป็นผู้นำพลังงานทางเลือก

ก่อนหน้าที่ตัวเลขพีคไฟฟ้าจะออกมาแบบสวนทางจากการพยากรณ์ที่ผ่านมา พบว่าเมื่อเดือน เม.ย. 2560 นายอารีพงศ์​ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ด กฟผ. ได้ออกมาระบุว่า กฟผ. เตรียมปรับยุทธศาสตร์โครงสร้างองค์กรใหม่รองรับการดำเนินงานในอนาคต โดยจะประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนการปรับโครงสร้าง เนื่องจากสถานการณ์พลังงานโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานทางเลือกมากขึ้น จึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเป็นการรักษาระดับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ให้ใกล้เคียง 50% ของการผลิตทั้งประเทศต่อไป ซึ่งทิศทางพลังงานทางเลือกของ กฟผ. จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านพลังงานทางเลือกของไทย โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้พลังงานทางเลือกมีความเสถียรในการจ่ายไฟฟ้ามากขึ้น เช่น การลงทุนด้านแหล่งกักเก็บพลังงาน การผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนผิวน้ำ (โซล่าร์เซลล์ลอยน้ำ) และที่ผ่านมา กฟผ. เคยเสนอกระทรวงพลังงานจะผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือก 2,000 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้ กฟผ. ไปจัดทำรายละเอียดที่ชัดเจนเพื่อเสนอกลับมาให้กระทรวงพลังงานพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้มีการเสนอให้ปรับ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวประเทศ 21 ปี (พ.ศ.2558-2579) หรือแผน PDP 2015 โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดของแผนในแต่ละแนวทางในกรณีต่าง ๆ เพื่อดูว่าการดำเนินงานจะเป็นไปตามเป้าหมายของแผน PDP 2015 อยู่หรือไม่ โดยเฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงานและแผนการพัฒนาพลังงานทางเลือก ถ้าไม่เป็นไปตามแผนก็ต้องดูว่าจะปรับในราย ละเอียดของแผนบางส่วนหรือปรับแผน PDP 2015 ใหม่ทั้งหมด [3]

เปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก ทดลองพลังงานทางเลือก




โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก รวมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิด แห่งแรกของประเทศไทย โดยในพื้นที่นี้ยังมีการปลูกหญ้าเนเปียร์ 250 ไร่สามารถนำไปใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าได้ 500 กิโลวัตต์อีกด้วย ที่มาภาพ: กฟผ.

เมื่อกลางเดือน พ.ค. 2560 กฟผ. ได้เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแกอย่างเป็นทางการ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้มีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. ต้องการสร้างให้เป็นแหล่งศึกษาและวิจัยประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึง 4 ชนิด ไว้ในพื้นที่เดียวกันแห่งเดียวในประเทศไทย ประกอบด้วย ชนิดที่ 1 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยนำระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักด้วยน้ำมาติดตั้ง ชนิดที่ 2 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิคอน (Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 2 เมกะวัตต์ ชนิดที่ 3 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดไมโครคริสตอลไลน์อะมอร์ฟัสซิลิคอน (Micro Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ และชนิดที่ 4 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสารประกอบของคอปเปอร์อินเดียมแกลเลียมไดเซเลไนด์ CI(GS)S (Copper Indium Galliam Di-Selenide) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดที่ 2 – 4 ใช้การติดตั้งแบบคงที่ ซึ่ง กฟผ. จะทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของเทคโนโลยีแต่ละชนิดว่า มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและฝนตกชุกตลอดทั้งปีหรือไม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลทั่วประเทศต่อไป โดยในพื้นที่นี้ยังมีการปลูกหญ้าเนเปียร์ 250 ไร่สามารถนำไปใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าได้ 500 กิโลวัตต์อีกด้วย [5]



ข้อวิจารณ์เรื่อง ‘ตัวเลข’ และการ ‘พยากรณ์’ ด้านพลังงานไฟฟ้า

จากการสืบค้นของ TCIJ พบว่าการพยากรณ์พีคล่าสุดของ กฟผ. ปี 2560 ที่ 32,059 เมกะวัตต์ นั้นเป็นตัวเลขพยากรณ์ที่ไม่ตรงกับแผน PDP 2015 ด้วยเช่นกัน โดยจากแผน PDP 2015 ได้พยากรณ์พีคของปี 2560 (กรณีฐาน) ไว้ที่ 30,303 เมกะวัตต์ [6] ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วตัวเลขจากแผน PDP 2015 ถือว่าใกล้เคียงกับพีคเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 ที่ 30,303.4 เมกะวัตต์ และยังพบว่าก่อนหน้านี้ กฟผ. ได้บันทึกไว้ครั้งแรกว่าปี 2559 มีการพลังไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 29,618.8 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 แต่จากนั้น กฟผ. ได้เปลี่ยนตัวเลขพีค ในปี 2559 จาก 29,618.8 เมกะวัตต์ มาเป็น 30,972.73 เมกะวัตต์ จากข้อมูลเมื่อเดือน พ.ค. 2560 [7] โดยเหตุผลที่ กฟผ. ให้ไว้ในการปรับเปลี่ยนตัวเลขพีคในปี 2559 และการพยากรณ์ค่าพีคที่ 32,059 เมกะวัตต์ ว่าเนื่องจากมีการนำข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) ที่มีสูงถึง 6,673 เมกะวัตต์ เข้ามารวมอยู่ด้วย จากที่ผ่านมาไม่สามารถรวบรวมข้อมูลดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีการแจ้งข้อมูลมายังภาครัฐ [8]



แม้ว่าการพยากรณ์ค่าพีคจากแผน PDP 2015 จะใกล้เคียงกับค่าจริงที่เกิดขึ้นในปี 2560 นี้ แต่กระนั้น ปีก่อนหน้านั้นก็มีความคาดเคลื่อนสูง และการพยากรณ์ของแผน PDP รวมทั้งของ กฟผ. เองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด อาทิเช่น การวางแผนพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าผิดพลาดซ้ำซากและการกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองเกินจำเป็น ส่งผลให้การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง, การพยากรณ์โหลด (Load) จะใช้ระบบ End Use Model อยู่ (อ่านเพิ่มเติม ‘จับตา: Load Forecast คืออะไร’) ทำให้ผลการพยากรณ์ในปีท้าย ๆ มักจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง แต่เมื่อมองในความเป็นจริงตามสถิติที่ผ่านมา พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยเป็นแบบเชิงเส้นตรง (Linear) มาตลอด ซึ่งการพยากรณ์ความต้องการการใช้ไฟฟ้าแบบนี้จะได้ผลลัพธ์สูงเกินจริงโดยเฉพาะปีท้าย ๆ ของแผน PDP ตัวอย่างเช่นในแผน PDP 2015 พบว่าปีสุดท้ายของแผนคือปี 2579 พยากรณ์ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (กรณีฐาน) ไว้สูงถึง 49,655 เมกะวัตต์ แม้จะมีการปรับลดมาแล้วจากแผน PDP 2010 ที่พยากรณ์ ณ ปี 2573 ไว้ถึงสูงถึง 52,256 เมกะวัตต์เลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติม ‘เกาะติด PDP 2015: ความต้องการไฟฟ้าลดฮวบ ดันแผนอนุรักษ์พลังงาน’) ,นอกจากนี้ยังมีมุมมองที่ว่าต้องให้ความสำคัญกับ 'การจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า' ที่ไม่ใช่เรื่องการพยากรณ์จากความต้องการปกติ ต้องมีมาตรการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าซึ่งในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกในการวางแผนด้านพลังงานไฟฟ้า และประเด็นการวางแผนซ่อมโรงไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนและการโหมนำเสนอข่าวของ กฟผ.ทำให้ดูเหมือนกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบ ไม่เพียงพอสำหรับช่วงที่มีความต้องการสูงสุดจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าช่วงความต้องการสูงสุดประจำปีจะเกิดขึ้นในฤดูร้อน เป็นต้น


ประยุทธ์จี้เร่งพลังงานทางเลือก- แต่ยังเดินหน้า ‘โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา’ ?

ทั้งนี้พบว่าจากการดำเนินการ แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558–2579 (Energy Efficiency Plan; EEP 2015) ในปี 2559 ที่ผ่านมาสามารถประหยัดพลังงานได้อยู่ที่ 758 พันตันเทียบเท่าน้ำมัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 885 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือทำได้เพียง 91% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง หลายโครงการประหยัดพลังงานยังอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึง การผลิตไฟ้ฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยปี 2559 ภาครัฐมีภาระผูกพันการรับซื้อไฟฟ้าทั้งสิ้น 9,265 เมกะวัตต์ คิดเป็น 50% ของ แผนพัฒนาพลังงานทางเลือกและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ที่กำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทางเลือกเป็น 20% หรือ 19,634.4 เมกะวัตต์ ในปี 2579 แต่การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ อยู่ที่ 6,720 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ที่มาปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่ำกว่ากำลังผลิตติดตั้ง ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณให้กระทรวงพลังงาน ปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกเพิ่มเป็น 40% จากเดิมกำหนดไว้ 30% ของแผน PDP เพื่อส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกพืชพลังงานทางเลือก และลดปัญหาการต่อต้านโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล [9]

แต่จากท่าทีของผู้ว่า กฟผ. คนปัจจุบัน นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ที่ออกมาให้ความเห็นส่วนตัวต่อสาธารณะว่า การดำเนินการตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้มีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในแผน PDP 2015 เป็น 40% ซึ่งมากกว่าจากแผน PDP 2015 เดิม การปรับแผน PDP 2015 ที่จะเกิดขึ้นจะต้องเป็นการปรับใหญ่ซึ่งจะต้องมีการรวมแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. เข้าไปอยู่ในแผน PDP 2015 เพื่อให้ กฟผ.สามารถที่จะดำเนินการลงทุนพลังงานหมุนเวียนได้ตามแผน ปัจจุบันแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. อยู่ในระหว่างการจัดทำโครงการในรายละเอียดที่ชัดเจน ก่อนนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกครั้ง หลังจากที่มีการนำเสนอแผนต่อกระทรวงพลังงานไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา แต่ถูกตีกลับให้มาทบทวนรายละเอียดใหม่ ซึ่งแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. ได้เสนอกำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของการลงทุนพลังงานหมุนเวียนตามแผน ในส่วนของ กฟผ. จะเน้นการลงทุนที่มีความเสถียร (Firm) โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และระบบ Hybrid เพื่อไม่ต้องลงทุนโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อ back up ระบบอีกให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยจะเริ่มต้นดำเนินการลงทุนที่ จ.ลพบุรี และ จ.ชัยภูมิ เป็นโครงการนำร่อง ผู้ว่า กฟผ. ยังระบุว่าการลงทุนพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. จะดำเนินการควบคู่ไปกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยยังยืนยันความจำเป็นที่ กฟผ. จะต้องลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าของภาคใต้ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผู้ว่า กฟผ. มองว่าในอนาคตช่วงปลายแผน PDP 2015 หาก การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และระบบ Energy Storage มีต้นทุนที่ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล กฟผ. ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่ที่ภาคใต้จากเดิมที่ต้องลงทุน 4 โรงจะเหลือเพียง 3 โรงเท่านั้น [10]

ปัจจุบันมีการกำหนดสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกของ กฟผ. อยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งหากมีการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกของ กฟผ.เป็น 2,000 เมกะวัตต์ จะคิดเป็นสัดส่วน 10% ของพลังงานทางเลือกในแผน PDP 2015 ที่ 19,600 เมกะวัตต์ ในปี 2579 ส่วนที่เหลือ 90% เป็นการลงทุนพลังงานทางเลือกของภาคเอกชน ผู้ว่า กฟผ. ยังย้ำว่า กฟผ.คงไม่สามารถไปแข่งขันกับภาคเอกชนตามที่มีบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตไว้ [11] ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะในอดีตที่ผ่านมา กฟผ. มักจะให้มุมมอง ‘แง่ลบ’ ต่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้พลังงานถ่านหิน โดยทุกครั้งที่ฝ่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินพูดถึงพลังงานทางเลือก อื่น ๆ กฟผ.ก็จะโต้ว่าพลังงานทางเลือกยังไม่สามารถผลิตและส่งไฟฟ้าตามความต้องการได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ก็ยังมีข้อจำกัดทั้งด้านประสิทธิภาพและต้นทุนค่าระบบและอุปกรณ์ที่ยังสูง และอ้างว่าหากมีพลังงานทางเลือกเข้าสู่ระบบมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่จะต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามด้วย



อ่านเพิ่มเติม
จับตา: สถานะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของไทย (ต.ค.2559)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.