วงเสวนา Thailand 4.0 EP1: ชี้ ความคิดสร้างสรรค์ไปด้วยกันไม่ได้กับประเทศเผด็จการ
Posted: 17 May 2017 12:24 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซท์ประชาไท)

ม.เกษตรฯ จัดเสวนา “Thailand 4.0 กับมิติทางสังคม วัฒนธรรม และผู้คน” ร่วมเสวนาโดยอาจารย์ประจำภาควิชาต่างๆ ชี้ Thailand 4.0 นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ไม่สอดคล้องกับประเทศเผด็จการ


เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ “Thailand 4.0 กับมิติทางสังคม วัฒนธรรม และผู้คน” เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้อง 501 อาคาร 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, ศุภกาญจน์ พงศ์ยี่หล้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ , สุรินทร์ อ้นพรม อาจารย์คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ และ ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนและวิพากษ์วิจารณ์ ดำเนินรายการโดย ปุรินทร์ นาคสิงห์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์


โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
โกวิท: Thailand 4.0 กับความเป็นประชาธิปไตย

โกวิทกล่าวถึงหลักการการปกครอง ซึ่งแบ่งเป็นสองแบบ คือ ประชาธิปไตย และเผด็จการ เป็นระบอบการปกครองแบบหนึ่ง วิธีดูง่ายที่สุด คือดูว่าอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ใคร อำนาจอธิปไตยคืออำนาจสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ หากอยู่ที่คนหรือกลุ่มคน เรียกว่าเผด็จการ แต่หากอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ประชาชน ก็เรียกว่า ประชาธิปไตย ซึ่งบางทีเรารู้สึกเราไม่ได้มีอำนาจอธิปไตยเลย

หากอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ประชาชน ประชาชนก็จะมีคุณสมบัติ 4 ประการ คือ อำนาจในการเลือกตั้ง ลงประชามติ เสนอร่างกฎหมาย เสนอปลดผู้ที่มีอำนาจออกจากตำแหน่งได้ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ

โกวิทอธิบายว่า ไทยแลนด์ 4.0 เป็นนโยบายเศรษฐกิจ ที่พัฒนามาตั้งแต่ไทยแลนด์ 1.0 การเกษตร ต่อมาเป็น 2.0 อุตสาหกรรมเบา 3.0 อุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็กกล้า รถยนต์ส่งออก แต่ไม่ไปถึง 4.0 ซึ่งเป็นเรื่องนวัตกรรม สักที

“พูดตามหลักแล้วรัฐบาลเผด็จการไม่ควรมีนวัตกรรม เพราะเขาห้ามคิดห้ามเห็นต่าง อย่างสตีฟ จ๊อป มาร์ค เขาเห็นต่าง เขาออกจากมหาวิทยาลัย มาใช้นวัตกรรม แต่ถ้าเอะอะนิดหน่อยก็ปรับทัศนคติ แล้วจะคิดต่างได้อย่างไร พิจารณาแล้วมันขัดกัน เพราะนวัตกรรมมันต้องนอกกรอบ แตกต่าง” โกวิทกล่าว

โกวิทเสริมว่า เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการผลิต นวัตกรรมในต่างประเทศเขาพัฒนาหุ่นยนต์และแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในอนาคตการศึกษาเป็นในลักษณะโปรเฟสชั่นนอล ต่อไปแอพพลิเคชั่นก็สามารถทำแทนได้เกือบหมด สิ่งที่เหลือสำหรับมนุษย์ที่ต้องเรียนกันคือ liberal art ซึ่งสมัยก่อนคือคนที่เป็นอิสระ ไม่ต้องทำงานมีทาสรับใช้จึงมาเรียน แต่เอาไปใช้ทำกินไม่ได้ ซึ่งมันเกี่ยวกับพวกความคิดความอ่านความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่สิ่งที่เรียนรู้ผ่านตำราได้


ศุภกาญจน์ พงศ์ยี่หล้า
ศุภกาญจน์: Thailand 4.0 เปรียบเทียบประสบการณ์จากประเทศอื่น

ศุภกาญจน์ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นเพื่อเปรียบเทียบ โดยให้พื้นหลังความเป็นมาของประเทศญี่ปุ่นว่า เป็นประเทศที่มีความเป็นอุตสาหกรรมมายาวนานตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือปลายสมัย ร.5 หลังแพ้สงครามเขาสามารถฟื้นฟูประเทศได้รวดเร็ว จุดเปลี่ยนที่สำคัญทำให้ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคเสรีนิยมประชาธิปไตย คือการเกิดชินคันเซ็น (Shinkansen) ในค.ศ. 1964 ซึ่งสร้างในสมัยที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ดังนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 70 80 อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจึงบูมมาก กระทั่งมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 90 ก็กลับตกต่ำมาเรื่อยๆ คนตกงาน หรือมีงานทำแต่ไม่มั่นคง

ศุภกาญจน์กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมายจากการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงหันมาให้ความสำคัญกับคนและชุมชน ทำให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนา การเตรียมสภาพแวดล้อมในการดูแลเด็กและคนชรา นำ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาฝึกอบรมแรงงาน คนมีงานทำมากขึ้น เรื่องการดูแลเด็กและคนชรา หุ่นยนตร์ช่วย

ICT สร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต โครงการโรงเรียนท้องถิ่นแห่งอนาคต เป้าหมายชัดเจน ขยายโรงเรียนแบบนี้ให้ได้ห้าพันแห่งในปี 2019 นอกเมืองและชนบทต่างๆ นอกจากนี้ยังมีนโยบายขยายการทำงานให้ผู้สูงอายุถึง 65 ปี ประยุกต์ใช้ ICT ให้ผู้สูงอายุทำงานทางไกลได้ สร้างอาสาสมัครสู่ชนบท

การรณรงค์ฟื้นฟูชนบท สังคมผู้สูงอายุ ประชากรลดลงมาก ไม่อยากแต่งงาน มีบุตร เพราะงานไม่มั่นคง ชนบทมีแต่คนชราอยู่ โรงเรียน โรงพยาบาล ต้องปิดตัว เพราะรัฐบาลมีภาระด้านงบประมาณ ยุบเทศบาลลง และให้ความสำคัญในการฟื้นฟูชนบท ช่วยเรื่องเศรษฐกิจ เอา ICT เข้าไปช่วย เช่น การสร้างงานในชนบท คนอยากกลับมาอยู่ชนบท รัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทผลักดันรัฐบาลกลางทำให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น สินค้าชนบท มี product branding พ่วงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ใช้มิติทางประวัติศาสตร์ทำความเข้าใจ และและส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้นการสร้างงานด้านเกษตร ประมง ป่าไม้ ภาคเกษตรเน้นคุณภาพ เป็นสินค้าส่งออก ขายได้ราคาดี

ศุภกาญจน์ให้เหตุผลว่า เหตุที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับคนและชุมชน แทนที่จะเน้นทางภาคธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะบทเรียนของญี่ปุ่นในอดีต เคยพัฒนาประเทศแบบละเลยประชาชน เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ต้นทุนค่าแรงและการผลิตต่ำไว้ สุดท้ายสิ่งแวดล้อมเป็นพิษในทศวรรษ 60 ทำให้เกิดการประท้วงและขยายลามไปทั่ว มีการปิดอ่าวโตเกียวต่างๆ ทำให้รัฐบาลหันมายอมรับ กฎหมายก็ออกมาเป็นซีรี่ส์

ผศ. ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม. เกษตรฯ เสริมอีกว่า ที่สำคัญคือมีพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์มินามาตะ ที่คิวชู ทำให้เห็นว่าเคยผ่านเรื่องเลวร้าย ประวัติศาสตร์จะต้องไม่ซ้ำรอย อีกอันคือสนามบินนาริตะ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาเพราะรัฐบาลต้องการใช้เป็นที่รองรับโอลิมปิก มีชุมชนเล็กๆ คนต่อต้าน ปัจจุบันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามแผน แม้การต่อต้านจะหยุดแล้วเพราะมีการประนีประนอมจากรัฐ นาริตะเป็นสนามบินนานาชาติที่ไม่ได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีสารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ชื่อ the wages of resistance ทำให้รัฐบาลเข้าใจว่าคน ชุมชน สังคม มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ


สุรินทร์ อ้นพรม
สุรินทร์: Thailand 4.0 กับฐานทรัพยากรและชุมชน

สุรินทร์เริ่มจากการตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้นโยบายนี้สร้างผลกระทบเชิงบวกได้ ในตอนนี้ทุกคนพยามใส่ 4.0 ต่อท้ายในทุกเรื่อง ซึ่งทุกคนไม่ได้ตระหนักว่าคืออะไร แต่เอามาใส่ไว้ในทุกเรื่อง

สุรินทร์ กล่าวว่า คำที่เกิดขึ้นมาจากแนวคิดแบบ Thailand 4.0 คือ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” หากภาคการเกษตรของไทยจำเป็นต้องขับเคลื่อนโดยเกษตรกรที่ทันสมัย รู้จักใช้การบริหารจัดการและเทคโนโลยี รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งรัฐได้แบ่งประเภทเกษตรกรออกเป็น กลุ่มแรก คือ เกษตรกรพันธุ์ใหม่ ลูกหลานของชุมชน ด้อยประสบการณ์ ขาดเงินทุน กลุ่มที่สอง คือ เกษตรกรรุ่นใหม่ นักเรียนนศ.ที่จะประกอบอาชีพเกษตรกร ส่วนกลุ่มที่สาม คือ เกษตรกรปัจจุบัน ขับเคลื่อนยาก เพราะอายุมาก ไม่มีสรรพกำลัง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ วิธีการมองแบบนี้ไม่ไปด้วยกันกับบริบทและความเป็นจริงในภาคสนาม มีปัญหาคือ ประการแรก ไม่มองหรือยอมรับว่าเกษตรกรสามารถเลือกการทำมาหากินในแบบของตัวเอง เช่น กลุ่มกระเหรี่ยงต้องการทอผ้าเพื่อรักษาวัฒนธรรม ไม่ได้อยากผลิตเป็นอุตสาหกรรม หรือที่เชียงใหม่ กลุ่มเยาวชนรวมตัวปลูกผักปลอดสาร เก็บเมล็ดพันธุ์ให้องค์กรไปจำหน่ายต่อ เขามองว่าเมล็ดพันธุ์เป็นองค์ประกอบตั้งต้นของทั้งหมด เขาอยากที่จะเลือกรูปแบบของการดำรงชีพแบบของเขาเอง

ประการที่สอง การมองว่าเกษตรกรปัจจุบัน ขับเคลื่อนยาก เพราะอายุมาก ไม่มีสรรพกำลัง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เป็นการมองแบบโทษคนอื่น ไม่ได้นำไปสู่การเห็นศักยภาพของเขา เป็นการลดทอนปัญหาทั้งหมดของเกษตรกรให้เป็นปัญหาปัจเจกแท้จริงไม่ใช่ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เขามีปัญหาเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง

สุรินทร์วิจารณ์ถึงคำจำกัดความของเกษตรกรว่า ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ว่าไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่เพราะกฎหมายกำกับการเข้าถึงทรัพยากรเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่เปิดโอกาสให้เขาเข้าถึงทรัพยากร เช่น การผลักดันพรบ ป่าชุมชน ผลักดันตั้งแต่ต้นปี 2530 จนถึงตอนนี้ยังไม่มี ปัจจุบันมีหมู่บ้านที่ยังมีใจจะอนุรักษ์ อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

สุรินทร์ยังตั้งคำถามว่า ดังนั้น อะไรกันแน่ที่ไม่เปลี่ยนแปลง 4.0 ต้องเป็น joint commitment คือ ทุกคนต้องร่วมกัน ต้องมีบรรยากาศของการมีส่วนร่วม สามารถออกเสียงของตัวเองได้ จะทำได้ต้องปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย เลิกการปฏิรูปที่ซื้อเวลา เปิดโอกาสภาคประชาชนให้มีการเข้าถึงการเป็นอนุกรรมการ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.