วงเสวนา Thailand 4.0 EP2 : ความย้อนแย้ง และวาทกรรมกลบเกลื่อนการเมือง

Posted: 18 May 2017 03:59 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

วงเสวนา Thailand 4.0 อังกูร ชี้ 4.0 ต้องสร้างชุดความรู้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน ส่วนความคิดสร้างสรรค์ เริ่มจากยอมรับความแตกต่าง ขณะที่ ชลิตา มอง Thailand 4.0 คือความย้อนแย้ง และวาทกรรมกลบเกลื่อนการเมือง พร้อมทั้งเอาความฝันของผู้คนมาสร้างความชอบธรรม


เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ “Thailand 4.0 กับมิติทางสังคม วัฒนธรรม และผู้คน” เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้อง 501 อาคาร 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, ศุภกาญจน์ พงศ์ยี่หล้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ , สุรินทร์ อ้นพรม อาจารย์คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ และ ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนและวิพากษ์วิจารณ์ ดำเนินรายการโดย ปุรินทร์ นาคสิงห์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์

(อ่าน : วงเสวนา Thailand 4.0 EP1: ชี้ ความคิดสร้างสรรค์ไปด้วยกันไม่ได้กับประเทศเผด็จการ)


อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์
อังกูร ชี้ 4.0 ต้องสร้างชุดความรู้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน

อังกูร กล่าวถึง Thailand 4.0 กับระบบการศึกษาไทยว่า เมื่อนึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาเราอยู่ในสถานการณ์อะไรในพื้นที่ของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลมาจากอดีต ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม สงครามโลกหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมามันเปลี่ยนไป มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ใช่ผลของการเปลี่ยนแปลงแล้ว บรรยากาศของการเปลี่ยนแปลง ทำให้เรารู้สึกว่าหนีไม่พ้น จะเห็นได้ว่าจะมีคำห้อยท้ายตลอด เช่น อาเซียน ในโรงเรียนจะเห็นการแต่งชุดประจำชาติอาเซียน หรือในมหาวิทยาลัยเกษตรฯ เองระดับรายวิชาก็พ่วงท้ายคำว่าอาเซียน ทำให้เห็นได้ว่านโยบายเหล่านี้มันทำงานในระดับบรรยากาศได้ดี แต่ในเรื่องของการศึกษากลับเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าตอบสนองไปเพื่ออะไร

Thailand 4.0 ตามนโยบายปลายทางมันคือความฝันที่ดี แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้ทำอะไรไปนอกเหนือจากบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะให้เรารับรู้แล้วว่าปลายทางแบบนั้นมันจะเกิดขึ้น แต่ว่ายังไม่พอ สิ่งที่สำคัญกว่าบรรยากาศ คือการสร้างชุดความรู้ให้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันเราจริงๆ และหากมีการสร้างชุดความรู้ในระบบการศึกษาแล้ว ได้มีการปรับปรุงวิชาอื่นๆ ให้สอดคล้องด้วยหรือไม่ เช่น วิชาประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีค่านิยม ราชาชาตินิยมแบบเดิมอยู่หรือไม่ ซึ่งไม่สามารถตอบสนองความรู้ที่สอดคล้องกับการที่เราอยู่ร่วมกันในอาเซียนได้

“ไม่ใช่เชิญวิทยากรมาบรรยายว่า 4.0 คืออะไร มันไม่ใช่แค่ในระดับสิ่งแวดล้อมแต่มันจะต้องลงไปถึงระดับนิเวศของความรู้ให้ได้ ยกตัวอย่างตอนอาเซียน สื่อทำให้เราเห็นว่าเราได้ประโยชน์อย่างไรทางเศรษฐกิจ เราร้องเพลงอาเซียนร่วมใจได้ ท่องเมืองหลวง จำชุดประจำชาติได้ แต่สิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันเราคือมันไม่ได้ถูกจัดการ เราตระหนักไหมว่าเพื่อนบ้านอาเซียนอยู่ใกล้เรามากขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่รวมประชาคมลดพรมแดน แต่มีแรงงานเพื่อนบ้านมาอยู่กับเราเพิ่มขึ้นซึ่งมีส่วนสำคัญ คนที่บอกว่าไล่เพื่อนบ้านเราให้ออกนอกประเทศให้หมด เขาได้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ไหม กลับไปมองว่า ภายใต้บรรยากาศที่เราสร้างขึ้นทำให้เกิดความรู้เหล่านั้นจริงๆไหม แล้วถ้าเราจะทำอะไรที่มากกว่านั้นกับ Thailand 4.0 เพื่อพื้นฐานสำคัญที่จะไปซับพอร์ตเศรษฐกิจในอนาคตได้” อังกูร กล่าว
ความคิดสร้างสรรค์ เริ่มจากยอมรับความแตกต่าง

นอกจากนี้ อังกูร ได้ให้ความเห็นในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ว่า เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่นวัตกรรมซับพอร์ตเศรษฐกิจในอนาคตจะขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบรรยากาศที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้ไหม? การทำบรรยากาศที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างหนึ่งเช่น การยอมรับความแตกต่าง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่แบ่งออกเป็นสองฝั่ง แต่คือการเรียนรู้เพื่อสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น แต่กลายเป็นว่าระบบการสร้างความรู้ในประเทศไทยคือต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันแบบ 1:1 กฎเกณฑ์แบบ 1:1 ซึ่งมันสัมพันธ์กับอำนาจที่ต้องอยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะมาเป็น 4.0 ได้ ต้องย้อนกลับไปคิดในส่วนนี้ ในเรื่องของนโยบาย ครูไม่เคยถูกฟัง สิ่งต่างๆ ทำให้เรายุ่งอยู่กับตัวชี้วัดมากเกินไป ถูกทำให้ทำทุกอย่างตามที่ตอบสนองระบบดังกล่าวซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดความสร้างสรรค์ ความแตกต่าง ในห้องเรียนก็เช่นเดียวกัน กลายเป็นคำถามว่าแทนที่เราจะใช้เวลาเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่กลับเป็นมุ่งทำตามมาตรฐานที่ตั้งขึ้นแทน เมื่อเข้ามาสู่ในห้องเรียนครูก็ทำให้อยู่ในลักษณะเดียวกัน เมื่อทุกอย่างต้องทำตามระบบที่มีการสั่งการแบบท็อปดาว์นลงมา ก็ทำให้ตำแหน่งผู้บริหารไม่ได้เป็นการบริหารนอกจากที่ทำตามคำสั่งที่ถูกส่งมา ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วจะเกิดการตอบสนองสิ่งรัฐว่าดีและเราก็ว่าดีอย่างไร

ชลิตา บัณฑุวงศ์
ชลิตา อัด Thailand 4.0 คือความย้อนแย้ง และวาทกรรมกลบเกลื่อนการเมือง

ชลิตา กล่าวว่า Thailand 4.0 ใช้กลไกประชารัฐหมายถึงการร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เป้าหมายของ Thailand 4.0 คือเป็นประเทศที่มีรายได้ แต่มีการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใส่ซึ่งดูจะขัดกัน ซึ่งอาจทำให้เห็นความย้อนแย้ง ซึ่งทำให้หลายๆ คนงงว่าสรุปแล้วมันคืออะไร และมันอาจจะกลายเป็นอะไรก็ได้ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจจะขัดแย้งกันแต่ก็ถูกจับมาอยู่รวมกัน Thailand 4.0 เป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งมีคนบอกว่ามันถูกนำเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์มานานแล้ว ไม่ได้เป็นอะไรที่แปลกใหม่ แต่มันจะไม่แปลกถ้าถูกหยิบขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติ หรือถูกหยิบมาใช้ในขณะที่เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารอยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งถูกทำให้เป็นอุดมการณ์รัฐ ใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ของรัฐ

ความเป็นการเมืองของ Thailand 4.0 นั้น ชลิตา กล่าวว่า ในทางมานุษยวิทยาการเมืองอธิบายว่าเดิมนโยบายของรัฐย่อมเกิดจากบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในตอนนั้นที่รองรับอยู่และเกี่ยวข้องกับผู้ที่ขึ้นครองอำนาจนำ ในช่วงเวลานั้น และผู้มีอำนาจนำใช้วาทกรรมกลบเกลื่อนการเมืองนี้ เพื่อที่จะสร้างสามัญสำนึกให้ประชาชนเข้าใจว่ากลุ่มผู้มีอำนาจนำกำลังทำการเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถนำมุมมองนี้มาวิเคราะห์ได้ในหลายๆแง่
เอาความฝันของผู้คนมาสร้างความชอบธรรม

ต่อกรณี Thailand 4.0 กับความชอบธรรมของเผด็จการ ชลิตา กล่าวว่า คือการเอาความฝันของผู้คนมาสร้างความชอบธรรมให้กับตนโดยอ้างว่าการเมืองขอให้นิ่งไปกว่านี้อีกสักพักเพื่อที่จะผลักดันพัฒนาให้มีความเข้มแข้งทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการแยกโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจออกจากประชาธิปไตยในทางการเมือง หรืออีกอันคือเป็นการความชอบธรรมให้กับระบบเผด็จการ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบที่อาจจะย้อนกลับไปแย่กว่าในสมัยก่อน การทำให้คนคิดแต่เรื่องของกับดักรายได้ปานกลางเท่านั้น ทำให้เราลืมกับดักอื่นๆไป เช่นกับดักรัฐประหาร กับดักธรรมาภิบาลและอื่นๆอีกมากมาย

Thailand 4.0 ถูกยกหยิบขึ้นมาเพื่อเหมือนกับกลบเกลื่อนว่าเศรษฐกิจกำลังจะดินหน้า กลบเกลื่อนแรงกดดันจากนานาชาติที่มีมาตรฐานบางอย่างที่ไม่อาจยอมรับตามประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนหลายๆอย่างได้ ทำให้เกิดปรากฏการที่รัฐบาลมุ่งไปที่จีนมากที่สุด

หลายคนชี้ให้เห็นว่าอุดมคติของ 4.0 มันเป็นสิ่งที่ดี แต่ในทางปฏิบัติของคสช.ก็จะเห็นความย้อนแย้งมากมาย เรามักจะได้ยินคำที่ดูดี เช่นความเลื่อมล้ำที่สังคมต้องก้าวข้ามไปให้ได้ ความหลากหลาย แต่คำพูดเหล่านี้กลับย้อนแยงกับการปฏิบัติงานในท้องที่ของคสช.ไม่ว่าจะเป็นการทำลายเศรษฐกิจเช่นการขับไล่คนจำนวนมาก การไล่แม่ค้าหาบเร่แผงลอยต่างๆที่เดือดร้อนคนระดับล่าง หรืออูเบอร์ที่แสดงความไม่พร้อมของรัฐไทย การตัดสิทธิบางอย่างของบัตรทอง ตัดการสนับสนุนการศึกษาในระดับมัธยมปลายและอาชีวะ การขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้กยศ. การสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และทำลายสิ่งแวดล้อมความหลากหลายตามที่บอกไว้ในอุดมคติทั้งสิ้น
การทำลายสิทธิเสรีภาพ

ชลิตา กล่าวว่าอีกว่า 4.0 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงถ้าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มงวดเช่นในสังคมไทยในทุกวันนี้ เราจะสามารถพัฒนาแรงงานได้อย่างไร เมื่อถูกแยกออกจากเรื่องค่าแรงที่เป็นธรรม เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย เรื่องของประสิทธิภาพของรัฐกับ 4.0 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการบังคับ หรือการใช้ม.44 จะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องยอมรับความหลากหลาย ต้องอยู่บนกฎหมายที่เป็นธรรม เป็นอำนาจของประชาชนจริงๆ
Thailand 4.0 กับมหาวิทยาลัย

ชลิตา กล่าวว่าด้วยว่า มหาวิทยาลัย มีบทบาทสำคัญที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับวาทกรรม 4.0 ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว มหาวิทยาลัย ไม่ว่าครูอาจารย์หรือผู้บริหาร ควรจะมีความเข้าใจในความเป็นการเมืองของ4.0ให้ถ่องแท้ ไม่ควรแค่ทำเพียงเพราะผู้นำบอกว่าดี Thailand 4.0 มันมีข้อดีแต่มันก็มีข้อเสียอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือต้องคำถามเชิงวิภาค คิดสิ่งที่ดีกว่า ไม่เช่นนั้นก็กลายเป็นว่าสนับสนุน4.0 อย่างน้อยควรจะเริ่มถามง่ายว่าสิ่งต่างนั้นมันสามารถทำได้จริงหรือไม่ ความกล้าหาญทางจริยธรรมในการตั้งคำถาม การวิภาคแม้กระทั่งวิภาคตัวเอง จะทำให้มหาลัยที่ปวารณาตนว่าเป็นผู้ผลิตความรู้แห่งแผ่นดิน จะสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.