Posted: 20 Oct 2017 05:25 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เลขาฯ สนง.ประกันสังคมเผยเตรียมขยายเพดานเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นสูงสุด 1,000 บาท ระบุต้องการให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น เผยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง 81% เห็นด้วย


20 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการเตรียมขยายเพดานเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมว่า ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งร้อยละ 81 เห็นด้วยกับการขยายเพดานการเก็บเงินสมทบ จาก 15,000 เป็น 20,000 บาท โดยเก็บร้อยละ 5 ของค่าจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท เช่น คนที่ได้เงิน 16,000 บาท เก็บ 800 บาท เงินเดือน 17,000 บาท เก็บ 850 บาท คือสูงสุดเก็บไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนผู้ที่มีฐานเงินเดือน 20,000 บาทขึ้นไป จะเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน 1,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการ สปส. ได้ทำเป็นร่างกฎกระทรวง เสนอกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาเสนอเข้าครม. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป คาดว่าน่าใช้ได้จริงภายใน 3 เดือนนี้

“เดิมผู้ประกันตนถูกหักเดือนละ 750 บาท บนพื้นฐานเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งใช้มานาน 20 ปี เมื่อครั้งค่าแรงขั้นต่ำยัง 111 บาท ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีผู้ประกันตนได้รับเงินเดือน 15,000 บาทไม่ถึงร้อยละ 10 แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว จำเป็นต้องมีการขยับปรับเปลี่ยน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง” สุรเดช อธิบาย

ส่วนที่มีหลายฝ่ายเห็นว่าไม่เป็นธรรมเนื่องจากขยายการเก็บเงินสมทบเพิ่มแต่เรื่องเงินชราภาพกลับมีเงื่อนไขมาก ที่สำคัญ เมื่อผู้ประกันตนที่เสียชีวิตไปแล้วเงินนั้นไม่ตกแก่ทายาทนั้น สุรเดช กล่าวว่า ยืนยันว่าสปส.ไม่ได้เอาเปรียบผู้ประกันตน เรื่องการจ่ายบำนาญชราภาพให้ทายาทผู้ประกันตนนั้น คณะกรรมการได้หารือกันว่าอาจจะปรับเปลี่ยนการจ่ายให้กับทายาทได้ เช่น กรณีที่เดือดร้อน มีความจำเป็น ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นในเรื่องเหล่านี้

เลขาธิการ สปส.ส่วนที่เรียกร้องให้จ่ายให้โดยไม่มีเงื่อนไขสุดท้ายหากสังคมต้องการอย่างนั้นก็จ่ายให้ได้ แต่สิ่งอยากจะบอกคือถ้าเราคิดแต่เรื่องกำไรส่วนตัว การดูแลสังคมร่วมกันก็จะไม่เกิดขึ้น เรื่องความคิดต่อส่วนรวมตั้งช่วยกันสร้าง

สุรเดช กล่าวอีกว่า ต้องการให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องออกจากงาน ปัจจุบันประกันสังคมจะจ่ายให้จากการคำนวณที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท โดยจะได้รับเพียงครึ่งหนึ่งของฐานนี้ คือได้เพียง 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน หากปรับอัตราใหม่ คนที่ฐานเงินเดือน 20,000 บาทก็จะได้รับ 10,000 บาท คือได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น และจากการสำรวจก็พบว่า ปัจจุบันแรงงานที่อยู่ในกลไกตลาดมีอัตราเฉลี่ยของรายได้ที่ 20,000 บาทถึง 32% ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจากฐานเดิมเมื่อปี 2534 ทำให้เป็นผลดีที่จะมีการปรับปรุงอัตราเงินสมทบใหม่

"รวมทั้งการเพิ่มฐานเงินเดือนจะมีผลให้ต้องจ่ายบำนาญมากขึ้น แต่กองทุนจะมีแผนลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอกับค่าใช้จ่าย ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงิน 1.6 ล้านล้านบาท มีเงินเข้ากองทุนปีละ 180,000 ล้านบาท มีรายจ่ายที่จ่ายให้ผู้ประกันตนปีละ 80,000 ล้านบาท แต่ต่อไปรายจ่ายจะสูงขึ้น โดยเฉพาะรายจ่ายบำนาญที่จะมีจำนวนผู้รับมากขึ้นตามค่าเฉลี่ยอายุของประชากรที่สูงขึ้นเป็นสังคมผู้สูงวัย" เลขาธิการ สปส. กล่าว

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ และคมชัดลึกออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.