Posted: 17 Oct 2017 09:58 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เล่าเรื่องราวต่อสู้การเมืองของคน 5 รุ่น เล่าเรื่องเดือนตุลาผ่านโลกทัศน์ ชีวิตจิตใจคนในเหตุการณ์ มรดกอุดมการณ์ เป้าหมายการเมืองกับ 30 บาทรักษาทุกโรค วอนคนไทยสู้ในระบบ ยอมรับความจริง ไม่เอาทางลัดรัฐประหารอีกแล้ว แจง 3 ปัจจัยสุกงอมสร้างพรรคการเมืองเพื่อประชาชนที่แท้จริง


(ซ้ายไปขวา): สุขุม เลาหพูนรังษี ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ณัฏฐา มหัทธนา

เมื่อ 14 ต.ค. 2560 มีเวทีเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา หัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้า มรดกคนเดือนตุลากับอนาคตสังคมไทย" ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดยพรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

การเสวนาประกอบด้วยหัวข้อย่อยดังนี้ (1) "มรดกคนเดือนตุลาด้านการเมือง" โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (2) "มรดกคนเดือนตุลาด้านแรงงาน" โดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แรงงาน (3) "มรดกคนเดือนตุลาด้านศิลปวัฒนธรรม" โดย คุณสุขุม เลาหพูนรังษี อดีตประธานชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) สำหรับการเสวนา ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา พิธีกรรายการโทรทัศน์ ครู และนักกิจกรรม

ประชาไทถอดใจความของสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หนึ่งในคนเดือนตุลาที่มาเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ในช่วงเดือนตุลาผ่านสายตาของเขาในสมัยที่เป็นนักศึกษา มรดกจากเดือนตุลาที่ทำให้เป็นหมอเลี๊ยบอย่างทุกวันนี้ ความฝัน ความหวังเกี่ยวกับการเมืองใหม่ การถีบตัวออกจากบรรยากาศของเผด็จการ ความสุกงอมของเงื่อนไขในปัจจุบันต่อการสร้างพรรคการเมืองเพื่อประชาชน และความคาดหวังสังคมไทยที่ไม่ควรอัญเชิญทหารมาทำรัฐประหารเพื่อหวังทางลัดลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป


ช่วงเปลี่ยนผ่านกับนักเคลื่อนไหว 5 รุ่น

เรารู้สึกว่าเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์สำคัญครั้งหนึ่งของการเมืองไทย การเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงวันนี้ก็ 85 ปี ผมคิดว่าคนยุคต่างๆ ที่ผ่านมาถึงวันนี้ 85 ปี อาจแบ่งได้คร่าวๆ เป็นคน 5 ยุค

ยุคแรก เป็นยุคของคนรุ่น 2480 ที่มีบทบาทสำคัญในยุคนั้นในฐานะตอนเริ่มต้นของคณะราษฎร เช่น พ.อ. สมคิด ศรีสังคมที่เพิ่งเสียชีวิตไป ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นต้น

ยุคที่สอง สมัย 2500 เปรียบเหมือนยุคแห่งความเงียบ ความมืด ความแสวงหา เรามีคนที่ผ่านยุคนั้นเป็นคนที่อายุ 15-30 ณ ตอนนั้น และจนถึงวันนี้ก็มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้จุดความคิดให้เราเสมอ อย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ จอน อึ๊งภากรณ์ หรือนักวิชาการ นักต่อสู้อย่างจิตร ภูมิศักดิ์

ยุคที่สาม ช่วง พ.ศ. 2520 ซึ่งเราพูดเสมอว่าเป็นยุคคนเดือนตุลา คนเดือนตุลามีบทบาททางการเมืองและสังคมในไทยยุคนั้น เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คุณเกรียงกมล ( เลาหไพโรจน์ ) คุณจาตุรนต์ (ฉายแสง) ธงชัย (วินิจจะกูล) สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) เกษียร (เตชะพีระ)

ยุคที่สี่ 2540 เป็นยุคที่มีการเคลื่อนไหวในช่วงพฤษภาทมิฬ มีอาจารย์ นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวได้รับคนอิทธิพล ปริญญา เทวานฤมิตรกุล วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หรือชูวัส ฤกษ์ศิริสุข เป็นต้น

ยุคที่ห้า ปัจจุบัน คือยุคที่ผมเรียกว่ายุคจุดไฟในสายลม เป็นยุคที่ต้องอาศัยความตั้งใจ ความใฝ่ฝัน พลังที่จะฝ่ากระแสลมที่พัดแรงขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้ คนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นไผ่ ดาวดิน รังสิมันต์ โรม เนติวิทย์ เพนกวินหรือแม้แต่จ่านิวก็ตาม

ที่ไล่เรียงมาให้ดูเพราะว่าคนเดือนตุลาเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งในสายธารประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่ากลุ่มอื่น เราคือคนหนุ่มสาวเมื่อ 40 ปีที่แล้ว วันนี้ยังมีความห่วงใยว่าบ้านเมืองจะขับเคลื่อนไปอย่างไร
ความพิเศษของการเมืองไทย การเมืองโลก และชีวิตจิตใจคนเดือนตุลาในทศวรรษ 2520


ทศวรรษ 2520 มีความพิเศษหลายอย่าง หนึ่ง เป็นช่วงรอยต่อของสงครามเย็นที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต การทำลายกำแพงเบอร์ลิน การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในจีน รอยต่อเช่นนี้กระทบต่อสังคมไทยอย่างมากมาย เราอยู่ในช่วงรอยต่อของประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์การเมืองของไทย

นอกจากนั้น เราอยู่ในช่วงรอยต่อของคนในสังคม จากที่เคยรับรู้ ความสนใจการเมืองในกลุ่มเล็กๆ ของปัญญาชน สื่อมวลชนก้าวหน้า แต่พอเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2519 เราเห็นความเปลี่ยนแปลงและความตื่นตัวอย่างมากมายของสังคมไทย ความคิดขยายตัวไปจนถึงขบวนการแรงงาน กลุ่มชาวนาชาวไร่ สหภาพแรงงาน และเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่เคลื่อนไหวกันเข้มแข็งมาก วิธีการสื่อสารจากหนังสือพิมพ์ ทีวีขาวดำ คอมพิวเตอร์และมือถือในรุ่น 2520 เราเห็นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ มือถือ นำไปสู่ม็อบมือถือในช่วงพฤษภาทมิฬ

คำถามคือ ผมและเราเรียนรู้อะไรบ้างจากยุคนั้น การทำงานของคนเดือนตุลาถูกสะท้อนผ่านโลกทัศน์และชีวทัศน์ เรามีโลกทัศน์ที่มองว่าสังคมมีความเหลื่อมล้ำ เอารัดเอาเปรียบ แต่การเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นก็ต้องเปลี่ยนชีวทัศน์ของตัวเองด้วย สมัยนั้นตอนเรียนคณะแพทยศาสตร์ก็เรียนไปทำกิจกรรมไป บ้านไม่ค่อยได้กลับ นอนอยู่ที่ตึกสโมสรและชมรมนักศึกษา ม.มหิดล สื่อสารการนัดชุมนุม นัดกิจกรรมด้วยการติดโปสเตอร์ตามตึกแถว ตามอาคารต่างๆ กิจกรรมอย่างหนึ่งที่แตกต่างคือมีการศึกษาพัฒนาตนเอง มีการวิจารณ์ตนเอง กิจกรรมไม่ได้ทำให้เพียงแค่งานสำเร็จ แต่เรายังหวังให้ตัวเองดีขึ้น รับผิดชอบดีขึ้น มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ชีวทัศน์เยาวชน ที่คนรุ่นนั้นถือเป็นหนังสือประจำตัวเพื่อสำรวจว่าจะต้องมีชีวทัศน์อย่างไรจึงจะช่วยเหลือคนอื่นได้ การพูดเรื่องสหายโดมก็มีพูดเรื่อง 3 ช้า คือ ถ้าไม่มีรัก ก็อย่าเพิ่งรัก ถ้ามีรักแล้วก็อย่าเพิ่งแต่งงาน ถ้าแต่งงานแล้วก็อย่าเพิ่งมีลูก มีการวิจารณ์ตนเองเสมอในนักศึกษายุคนั้น สมัยนั้นถ้ามีคู่ไหนที่จะรักกันเราก็จะทัดทานว่า ช้าหน่อยได้ไหม เพราะถ้ารักกันก็จะไม่มีเวลาช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ หรืออย่างการที่บอกว่า ถ้าหากเราจะมองเรื่องความเป็นอยู่ ให้มองคนที่ด้อยกว่าเรา ถ้ามองเรื่องการงานให้มองคนที่สูงกว่า เก่งกว่าเรา เพื่อทำตัวให้ติดดิน มองคนที่ด้อยโอกาสกว่า แต่ในแง่การกางานคือต้องมองคนที่ทุ่มเทกับการทำงาน ก็เป็นการพัฒนาตัวเอง นักศึกษามหิดลที่เป็นเพื่อนผมบางคนดรอปเรียนเพื่อไปอยู่ช่วยชาวนา 3 เดือนบ้าง 1 ปีบ้าง

มรดกอุดมการณ์ เป้าหมายทางการเมืองกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ในส่วนของผม เมื่อเรียนจบ ในช่วงหลัง 6 ตุลา 2519 เพื่อนบางคนก็หายไป บางคนกลับมาเรียนต่อหลังจากนั้น ตัวผมมีเงื่อนไขไม่สามารถไปไหนได้ ก็ถือว่ามีหน้าที่ที่ต้องทำให้บ้านเมืองของเราเดินหน้าต่อไปอย่างถูกต้อง มีประชาธิปไตย หลัง 6 ตุลาก็มีการสร้างกลุ่มนักศึกษา สโมสร 18 สถาบัน หลังจากจบการศึกษาเราก็รู้สึกว่าเราเข้าถึงอำนาจรัฐได้ยาก เราก็ทำหน้าที่ส่วนของเราให้ดีที่สุด เช่น เป็นแพทย์ท้องถิ่นอย่างนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ทุ่มเทเรื่องการดูแลผู้ป่วย คิดหาวิธีแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะกลับมาทำงานการเมือง คิดว่าเป็นแพทย์หรืออาจารย์แพทย์ให้ดีที่สุด สามารถสอนให้นักศึกษาเข้าใจระบบสาธารณสุข เข้าใจผู้ป่วย ไม่เคยคิดถึงว่าจะมาทำเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคเลย

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อ 6 ต.ค. 2539 เราจัดงานครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา ที่เป็นหมุดหมายสำคัญว่า ถึงเวลาของคนรุ่น 6 ตุลา จะออกมาพูดสิ่งที่เกิดขึ้น ผลกระทบต่อชีวิตและบ้านเมือง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล พูดที่สนามหญ้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้น ผมยืนฟังอยู่ตรงนั้น ห่างออกไป 4-5 เมตรคือจาตุรนต์ ฉายแสง ตอนนั้นยังไม่รู้จักกัน สิ่งที่เสกสรรค์พูดคือ เราเคยลุกขึ้นเพื่อทวงถามความเป็นธรรม เพื่อทำให้บ้านเมืองดีขึ้นเื่อ 20 ปีที่แล้ว มาวันนี้คนเดือนตุลา พวกเราอยู่ที่ไหน ทำอะไรกันอยู่ ออกจากมุมมืดที่พวกเรารู้สึกสบายใจ ออกมาปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ได้แล้ว เพราะช่วงนั้นมีการพูดถึงการปฏิรูปรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ ซึ่งออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ผมฟังวันนั้นแล้วก็ตัดสินใจว่าจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ วันรุ่งขึ้นผมเดินไปหาคุณสุธรรม แสงประทุม ที่ทำงานอยู่พรรคพลังธรรม ณ ขณะนั้น แล้วบอกว่าอยากมาช่วย สุธรรมบอกว่า อย่ามาเลยน้อง กระแสพรรคตอนนี้กำลังแย่มาก มาแล้วก็คงอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ผมเลยตอบไปว่า พี่ครับ ถ้าไม่มาตอนนี้แล้วจะมาตอนไหน มาตอนนี้จะได้ช่วยกันเต็มที่จะได้เดินหน้าไปด้วยกันได้ สุธรรมเลยบอกว่างั้นลุยเลย ลงสมัครรับเลือกตั้งคู่กับพงษ์เทพ เทพกาญจนา ในเขตคลองสานเมื่อปี 2539

45 วันของการเดินหาเสียงเป็นเวลาที่รู้สึกขัดแย้งกับตัวเองมากที่สุด เพราะการเดินหาเสียงคือการแจกบัตรย้ำเบอร์ แล้วไหว้ แล้วบอกว่าเลือกผมด้วยครับ เดินทั้งซอยพูดอยู่แค่นี้ เอกสารนโยบายก็ไม่มี ถามว่า พรรคพลังธรรมจะทำอะไรให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ก็ตอบไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่านโยบายพรรคคืออะไร ก็เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ทำให้รู้ว่า นี่ไม่ใช่การเมืองที่เราอยากเห็น 45 วันนั้น นับถอยหลังว่าเมื่อไหร่จะจบเสียที อยากกลับบ้าน

เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2540 มีการจัดตั้งพรรคไทยรักไทย ก็มีการติดต่อมาจากหมอพรหมมินทร์ เลิศสุริเดช เป็นรุ่นพี่ที่มหิดลติดต่อมาถามว่า สนใจทำประเด็นเรื่องนโยบายสาธารณสุขไหม ผมตอบว่าสนใจ เพราะตอนทำพรรคพลังธรรมแล้วผิดหวังกับระบบการเมืองของพรรคการเมืองยุคนั้น ถ้าตั้งใจว่าอยากทำพรรคการเมืองแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ ที่ชูนโยบายก็พร้อมจะคุยด้วย ทำไปๆ ก็รู้ว่านโยบายสาธารณสุขที่ทำมามันเล็กน้อยมาก ไม่ได้ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น เลยตัดสินใจว่าจะกลับไปคุยกับหมอสงวน ถามเขาว่า พี่หงวน ชีวิตนี้มีความฝันอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้บ้าง พี่หงวนบอกว่ามีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรก อยากทำ สสส. คือกองทุนสร้างเสริมสุขภาพที่ตอนนั้นใกล้ทำสำเร็จแล้ว และเรื่องที่สองคือเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ไม่เคยได้รับควา่มสนใจจากคนที่มีบทบาทหน้าที่ตัดสินใจ ก็เลยชวนมาคุยกันกับหัวหน้าพรรคไทยรักไทยแล้วนำเสนอเรื่องนี้ไป

หลังจากนั้นก็นำไปสู่การพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคจนได้รับการเลือกตั้ง ทุกวันนี้ผมถามตัวเองว่า การเมืองที่เราทำอยู่มันมาถึงในจุดที่เราพึงพอใจไหม ตอนที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อ 6 ม.ค. 2544 ได้เสียง 248 จาก 500 เสียง หลายคนบอกว่านี่คือปาฏิหาริย์ หลายคนยังจำการอภิปรายนโยบายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 28 ก.พ. 2544 ได้ ส่วนใหญ่ สส. บอกว่าเป็นปาฏิหาริย์ ผมก็บอกไปว่า ปาฏิหาริย์เมื่อ 6 ม.ค. 2544 จะมีประโยชน์อะไร ถ้ามันไม่สามารถสร้างปาฏิหาริย์ในชีวิตประชาชนและบ้านเมืองให้ก้าวต่อไปได้ดีขึ้น มาวันนี้ก็ต้องถามว่า เรื่องของการเมือง เรื่องของคนเดือนตุลา ถ้าคนเดือนตุลารู้สึกว่าความใฝ่ฝันในวัยหนุ่มสาวถึงโลกที่ดีกว่า ชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่ดีกว่า เราจะหยุดยั้งความฝันไว้ที่ตรงนี้ได้หรือไม่ เราจะส่งผ่านมรดกเดือนตุลาให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร คำถามคือ คนรุ่นใหม่เขาอยากได้ไหม คิดเหมือนเราหรือเปล่า ถ้าเปรียบเทียบกับธุรกิจ คนเดือนตุลาที่ทำธุรกิจทั้งใหญ่โตหรือไม่ขนาดย่อม สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้เสมอคือ บางทีลูกหลานไม่ได้อยากรับมรดกธุรกิจจากเราเลย คนที่จะมารับช่วงต่อก็จะมีเรื่องที่ต้องเถียงกันเพราะคิดไม่เหมือนกัน การเมืองก็เช่นกัน ผมเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่มีเรื่องที่ต้องคิดมากมายเพราะสังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก ความคิดความเชื่อแบบเราถ้าไม่ได้อัพเดท ไม่ทันสมัยก็อาจแนะนำเขาไม่ได้เต็มปาก มรดกของคนเดือนตุลาไม่ใช่คำชี้แนะ ไม่ใช่การมาบอกว่าให้ทำอย่าง่นั้ยอ่างนี้ มรดกคนเดือนตุลาที่สามารถส่งผ่านได้มีอย่างเดียว และเป็นสิ่งที่ถูกส่งผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ.2480 คือเจตนารมณ์ ความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาว ความรักในเสรีภาพ ความยุติธรรม และอยากเห็นความเสมอภาคของทุกคนในบ้านเมือง เจตนารมณ์นี้ถ้าเทียบเหมือนดีเอ็นเอ เราส่งผ่านไปให้ แต่คุณต้องใช้ปัญญาและเทคโนโลยีของคุณเพื่อทำให้เจตนารมณ์นี้เป็นจริง

เจตนารมณ์เดือนตุลาที่อ่านแล้วกินใจที่สุด ชอบที่สุดเป็นบทแปลจากหนังสือชื่อ เบ้าหลอมวีรชน สิ่งทีมนุษย์เราหวงแหนที่สุดคือชีวิ และเป็นสิ่งที่ให้แก่เขาเพื่อดำรงอยู่ได้เพียงครั้งเดียว เขาจะต้องดำรงชีวิตเพื่อที่ว่า จะไม่้ตองทรมานใจด้วยความโทมนัสว่า วันเดือนที่ผ่านไปนั้นปราศจากจุดหมาย แต่ต้องไม่มีความรู้สึกอับอายว่าตนมีอดีตอันต่ำต้อยด้อยคุณค่า ชีวิตเช่นนี้เมื่อตายลงก็จะพูดได้ว่า ชีวิตขอ่งฉัน พลังกาย พลังใจทั้งหมดของฉันได้อุทิศแก่อุดมการณ์ที่ดีที่สุดในโลกนี้ก็คือการต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของมนุษย์
4 ตัวอย่างการเมืองใหม่ในต่างประเทศ ย้ำคนไทยไม่มีทางลัดทางการเมือง อย่าอัญเชิญรัฐประหารอีก


ทำอย่างไรจะหลุดจากบรรยากาศเผด็จการแบบทุกวันนี้ ถ้าถือหลักอิทัปปัจยตาคือ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ ต้องย้อนดูว่าบรรยากาศเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้เกิดเอง แต่เกิดเพราะเราลืมแล้วว่าบรรยากาศเผด็จการเป็นอย่างไร เพราะมันนานมาก โดยเฉพาะคนรุ่นหลังที่ไม่เคยรู้ว่าก่อน 14 ต.ค. 2516 เป็นอย่างไร หลัง 6 ต.ค. 2519 เป็นอย่างไร คนที่ต้องออกสัญจรหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ไม่รู้ว่าบรรยากาศในมหาวิทยาลัย ณ ขณะนั้นเป็นอย่างไร ผมอยากจะเรียนว่าจริงๆ แล้วมันก็คล้ายๆ กัน ไม่ได้ต่างกันเลย ตอนนั้นอาจจะหนักกว่าขณะนี้ด้วยซ้ำ แต่บรรยากาศก็ใกล้เคียงกัน คนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นหลัง พ.ค. 2535 หรือปฏิรูปการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2540 อาจจะยังเด็กมากและไม่รู้ว่าบรรยากาศเผด็จการเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นอันนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งว่าอยากได้ข้อเสนอที่เป็นทางลัดเพื่อให้บ้านเมืองไปในทิศทางที่เราอยากได้อยากเห็น อยากจะเรียนว่าการเมืองไม่มีทางลัด ต้องเรียนรู้และยึดหลักการเบื้องต้นของประชาธิปไตย จะดีจะชั่วให้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ในบรรยากาศประชาธิปไตย เรายังพูดคุย วิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงกัน คนไหนที่เราไม่ชอบก็ไม่เลือกเขาอีก เรียนผิดเรียนถูกแบบนี้ ติดต่อกันต่อเนื่องว่าเราจะให้เราเข้าสู่ทิศทางที่มั่นคงยั่งยืนมากขึ้น เรื่องประชาสังคม เราจะต้องส่งเสริมให้มีความเข้มแข็ง ผมคิดว่าเป็นบทเรียนที่ภาคประชาชนเองต้องเรียนรู้ว่า ความไม่ได้เข้าใจถ่องแท้ของที่มาที่ไปทางการเมือง ทำให้ภาคประชาชนอยากได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม มีเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ในสายการแพทย์และสาธารณสุข ถึงขนาดเคยให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องดีๆ มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีรัฐบาลเผด็จการ ตอนนี้ผมเชื่อว่าเขาเปลี่ยนความคิดไปแล้ว อันนี้เป็นภาพสะท้อนที่อยู่ในใจภาคประชาสังคมบางส่วนว่า เราต้องปรับความคิดให้มั่นเลยว่าประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้ไทยก้าวไปอย่างยั่งยืน ทุกคนมีส่วนร่วมได้ อย่าไปคิดหาทางลัดอีก

คำถามก็คือ เราจะหลุดจากบรรยากาศเผด็จการได้อย่างไร มีปรากฏการณ์น่าสนใจหลายประการในต่างประเทศที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในรุ่นผมต้องเรียนรู้ รุ่นคนเดือนพฤษภาก็ต้องเรียนรู้ แต่คนรุ่นใหม่อาจจะค่อยๆ เข้าใจบ้าง คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3-4 ประเทศ ปรากฏการณ์แรกเกิดในสหรัฐฯ เมื่อเลือกตั้งขั้นต้นก่อนจะเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้วที่โดนัลด์ ทรัมป์ชนะ มีนักการเมืองคนหนึ่งอายุ 70 กว่า เป็นนักการเมืองสายสังคมประชาธิปไตย ไม่ได้สังกัดพรรคเดโมแครต สังกัดอิสระ มีคนเคยเอาเทปของเขาที่พูดในสภาของสหรัฐฯ ตลอด 30 ปี พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่องเรียนฟรี เรื่องประกันค่าแรงมาตลอด 30 ปี นักการเมืองคนนี้ลงแข่งขันในการเลือกตั้งขั้นต้นกับพรรคเดโมแครต ชื่อของเขาคือเบอร์นี แซนเดอร์ส เขาประกาศว่าจะลงแข่งกับฮิลลารี คลินตัน ซึ่งขณะนั้นทุกคนเชื่อว่าเป็นคู่แข่งที่ล้มไม่ได้เลย คะแนนนิยมหลังแซนเดอร์สประกาศว่าจะแข่งขันนั้นสำรวจแล้วมีเพียงร้อยละ 5 ถ้าเปรียบเทียบกันคลินตันที่มีคะแนนนิยมมากกว่าร้อยละ 50 ก็คิดว่าสู้ไม่ได้แน่ๆ แต่ด้วยความเป็นแซนเดอร์ส เขาเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับความนิยมสูงสุด คะแนนเสียงในรัฐของเขาคือรัฐเวอร์มอนต์ เลือกเขาถึงร้อยละ 80 เป็นมาตลอด เรียกว่าลงเมื่อไหร่ก็ชนะเมื่อนั้น เพราะเขาคือนักการเมืองในฝันของรัฐเวอร์มอนต์ เมื่อเขาประกาศแข่งขันก็มีผู้คนมากมายมาร่วมเป็นอาสาสมัคร มีผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย ดิจิตัลประกาศว่าจะระดมทุนให้ ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง มีคนให้เงินทุนแซนเดอร์สถึง 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทันที หลังจากนั้นก็รณรงค์มาเรื่อยๆ บรรยากาศการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะไม่เหมือนบ้านเราเท่าไหร่ เวลาออกไปหาเสียงตามที่ว่าการหรือที่เรียกว่า Town Hall Meeting ไปจับมือ พบปะกับคน 500-1,000 คน แต่ของแซนเดอร์ส มีคนมาฟังปราศรัยครั้งแรกของเขาจำนวน 5,000 คน จากนั้นขยับไปเป็นหมื่น สองหมื่น สองหมื่นกว่าซึ่งไม่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน วันเลือกตั้งก็มีคนหนุ่มสาว คนที่อยากได้ประชาธิปไตยแบบก้าวหน้า ปัญญาชนเข้ามาเข้าคิวถึง 7-8 ชั่วโมงเพื่อมาลงคะแนนเสียง แต่ที่แพ้คลินตันเพราะว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคเดโมแครตบอกว่า แซนเดอร์สจะชนะไม่ได้ จะอย่างไรฮิลลารีก็ต้องชนะ จึงพยายามให้กระบวนการลงคะแนนเสียงของแซนเดอร์สหยุดชะงักลง ตั้งแต่คนที่เข้าคิวรอลงคะแนนเสียง ให้บอกว่าบัตรหมด ลงคะแนนไม่ได้ ไม่ให้ลงคะแนนถ้าไม่ลงทะเบียนมาตั้งแต่ปีก่อนหน้านั้น เพราะ ณ วันนั้นที่มีการลงทะเบียน ไม่มีใครรู้ว่าแซนเดอร์สมีนโยบาย มีความคิดอย่างไร สุดท้ายแซนเดอร์สก็แพ้ไปแบบไม่มากนัก แล้วก็เกิดการแข่งขันกันระหว่างทรัมป์กับฮิลลารี


เบอร์นี แซนเดอร์ส (ที่มา: flickr/Gage Skidmore)

คนรีพับลิกันหลายคนก็บอกว่าไม่ชอบทรัมป์ ถ้าแซนเดอร์สได้เป็นตัวแทนก็จะเลือกแซนเดอร์ส น่าเสียดาย ถ้าการเลือกตั้งของสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้วเป็นทรัมป์กับแซนเดอร์ส เราอาจจะเห็นผู้นำสหรัฐฯ เป็นอีกคนหนึ่ง ณ วันนี้ ปรากฏการณ์แซนเดอร์สยังไม่หยุด พรรคเดโมแครตที่กำลังจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมของรัฐสภาสหรัฐฯ ประกาศตัวว่าจะเริ่มใช้แนวทางของแซนเดอร์สในการหาเสียง สิ่งที่เสนอไว้แล้วคนใหญ่โตในเดโมแครตสนใจคือเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแบบที่เหมือนไทย คือมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นสิ่งที่พรรคเดโมแครตใฝ่ทำมากจนถึงขั้นว่าปี ค.ศ. 2020 การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะใช้นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหลักในการหาเสียง บทเรียนจากสหรัฐฯ คือ มีความอึดอัดใจของคนสองขั้ว ฝั่งรีพับลิกันที่เป็นคนผิวขาวที่กดดัน คับแค้นก็หาทางระบายด้วยการเลือกทรัมป์ แต่ปัญญาชน นักศึกษาที่มีความฝันที่อยากเห็นสังคมอเมริกันดีขึ้นก็เลือกแซนเดอร์ส

บทเรียนอีกประเทศหนึ่งคืออังกฤษ อังกฤษมีการเลือกตั้งที่เทเรซา เมย์ ประกาศเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าพรรคแรงงานได้คะแนนกลับมาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อ 20-30 ปี พยายามหานักการเมืองหนุ่มหน้าตาดีมาเป็นผู้นำแข่งกับนายกฯ คาเมรอน ก็แพ้ทุกครั้ง ล่าสุดพรรคแรงงานเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นคนแก่อายุเกือบ 70 เอียงซ้าย ไม่หล่อเลย ชื่อเจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายพอสมควรแต่ไม่พอที่จะเป็นเสียงข้างมากให้จัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองในอังกฤษงงมาก

ประเทศที่สามคือฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง อายุ 38 ปี ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหลังจัดตั้งพรรคใหม่หนึ่งปีก่อนการเลือกตั้งชื่อกลุ่ม อองมาร์ช โดยมีความตั้งใจว่า ไม่เอากับการเมืองแบบเก่า ต้องการนักการเมืองใหม่ การเมืองใหม่ที่จะขับเคลื่อนฝรั่งเศสให้เดินหน้าต่อไป ภายในช่วงเวลา 1 ปี มาครงชนะการเลือกตั้ง แล้วยังสามารถชนะการเลือกตั้งในสภาฝรั่งเศสด้วย กลุ่มนักการเมืองในกลุ่มอองมาร์ชที่ชนะ หลายคนเป็นหน้าใหม่ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นศิลปิน อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ ชนะไป 300 กว่าเสียงจาก 500 กว่าเสียง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือประเทศญี่ปุ่นที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง นายกฯ ชินโซ อาเบะที่ยุบสภาและเลือกตั้งกระทันหันเพราะเชื่อว่าถ้าเลือกตั้งตอนนี้ตนจะชนะ วันที่อาเบะประกาศเลือกตั้ง นายกเทศมนตรีกรุงโตเกียวที่เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยของโจอิจิโร่ โคอิซูมิ เป็นผู้ว่าการนครโตเกียวที่ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ประกาศตั้งพรรคใหม่ชื่อ Party of Hope หรือพรรคแห่งความหวัง ระดมคนหน้าใหม่เตรียมลงสมัคร

สังคมจำนวนไม่น้อยรู้สึกเบื่อหน่ายการเมืองเก่า ผู้เล่นเก่าๆ เราต้องการคนใหม่ ผู้เล่นใหม่ กลุ่มการเมืองแบบใหม่ที่จะสามารถขับเคลื่อนประเทศนี้ต่อไปได้ ผมย้อนกลับมาถามว่า ทำไมการเมืองสำคัญ เรามีความฝันมากมายเมื่อ 44 ปีที่แล้ว อยากทำโน่นนี่ ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามฝัน เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือการบรรจบของจิ๊กซอว์ 3 ตัวที่เข้ามาพร้อมกัน หนึ่ง ความเรียกร้องต้องการจากภาคประชาสังคม เครือข่ายพัฒนาชุมชน อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ สนใจและทำเรื่องนี้และผลักดันมาตลอด ตัวที่สองคือองค์ความรู้ เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องมีความรู้เรื่องระบบบริการ ต้องมีทรัพยากร แต่จิ๊กซอว์สองตัวนี้จะทำไม่ได้ถ้าไม่มีการตัดสินใจเชิงนโยบายของผู้บริหารระดับประเทศ ถ้าไม่มีตรงนี้ก็จะได้แต่ฝันไปเรื่อยๆ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องที่เราจะบอกว่ารังเกียจ ไม่อยากยุ่ง เป็นไปไม่ได้ ถ้าอยากให้คนในประเทศนี้มีความสุข ลดความเหลื่อมล้ำ มีหลักประกันเรื่องการศึกษา สุขภาพต่างๆ จะต้องสนใจว่าการเมืองจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญที่สุด วันนี้ เราต้องหยุดฝันของเราคนเดียว หยุดโพสท์ในเฟซบุ๊กคนเดียวแล้วพอใจว่าเราได้แสดงความเห็นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทำ แล้วก็ต้องทำประเภทแบบเป็นกลุ่มก้อน คนหมู่มาก เรื่องสามประสาน นักศึกษา กรรมกร ชาวนาคือสามประสานเมื่อ 44 ปีที่แล้ว วันนี้สามประสานที่อยากเรียนเสนอคือ คนรุ่น พ.ศ. 2520 รุ่น 2540 และคนรุ่น 2560 เอาประสบการณ์ของคนเดือนตุลา เอาความสามารถของคนที่อายุ 40-50 ที่อยู่ในช่วงพฤษภา เอาพลังของนักศึกษา คนรุ่นใหม่ที่มีพลัง ต้องประสานกัน สร้างอะไรก็ได้ที่รู้สึกว่าจะเป็นทิศทางที่นำไปสู่การเมืองใหม่

ผมคิดเร็วๆ ว่า หนึ่งปีข้างหน้าที่จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่างน้อยผม หรือจะเรียนเสนอทุกท่านว่าเรามีภารกิจอยู่สามอย่าง หนึ่ง เขาบอกว่าเขากำลังจะร่างยุทธศาสตร์ 20 ปี จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ผูกพันรัฐบาลและทุกคนไปอย่างน้อย 5 ปี เราไม่รู้ว่ายุทธศาสตร์จะออกมารูปแบบไหน แต่เรารู้แน่ๆ ว่า ยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นเรื่องที่ทำนายได้ยากมาก ถ้าเรายืนอยู่ในปี 2540 ก็คงมองไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในปี 2560 ดังนั้นยุทธศาสตร์ 20 ปีเป็นอะไรที่ทำนายได้ยากมาก สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ในปัจุบันคือ ตั้งแต่เดือน พ.ย. เป็นต้นไปคือต้องร่างยุทธศาสตร์ 5 ปีขึ้นมาโดยพวกเราหลายๆ คนผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เอายุทธศาสตร์มาเปรียบเทียบกันเลยทั้งในด้านคุณภาพชีวิต ความมั่นคง โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ผมเชื่อว่ามีคนมีความรู้ความสามารถมากมายในประเทศนี้อยากมาร่วมทำยุทธศาสตร์ด้วยกัน ไม่ใช่คนราว 70 คนในคณะกรรมการร่างยุทธศาสตร์

สอง ท่านนายกฯ บอกว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในเดือน มิ.ย. 2561 และวันเลือกตั้งจะอยู่ในเดือน พ.ย. 61 เราก็หวังว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามนี้ หรือเร็วกว่านี้ สิ่งหนึ่งที่พวกเราต้องช่วยกันทำคือ ทำให้กำหนดการนี้เป็นจริงให้ได้ ท่านประกาศแล้ว เราพร้อมสนับสนุนให้เดินหน้าให้เร็วที่สุด ให้ สนช. กรธ. ทำภารกิจตามปฏิทินอย่างเร็วที่สุด ภาวนาให้สุขภาพของ กกต. กับ กรธ. มีสุขภาพแข็งแรง

สาม เป็นภารกิจที่ยกบทเรียนมาจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษหรือฝรั่งเศส คือ เราต้องการการร่วมมือร่วมใจเพื่อที่จะผลักดันองค์กรทางการเมืองให้เดินหน้า และทำงานให้ดีที่สุดไม่ว่าจะใต้กติกาใดเพื่อให้บรรลุความฝันของเราให้ได้ การผลักดันเช่นนี้ต้องการอย่างน้อย ถ้าไม่ปฏิรูปองค์กรเก่าที่มีอยู่ เช่น ให้พรรคเพื่อไทยปฏิรูปอย่างจริงจังเพื่อเป็นพรรคการเมืองของประชาชน เรียกร้องให้ นปช. ปฏิรูปแนวร่วมของ นปช. ให้ทำงานอย่างเป็นแนวร่วมอย่างแท้จริง ถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จก็คงต้องมีกลุ่มก้อนใหม่ อย่างที่เกิดขึ้นกับอองมาร์ช หรือพรรคแห่งความหวัง ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ ผมคิดว่าบรรยากาศ ณ วันนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับ 6 ตุลา ก็เป็นความรู้สึกที่หดหู่ ไม่รู้จะเดินต่อไปหรือไม่ ตอนผมเป็นนักศึกษา ช่วงหลัง 6 ตุลา เราก็นั่งประชุมกันในที่ประชุมสโมสรนักศึกษา 18 สถาบันที่ตึกจักรพงษ์ของจุฬาฯ แต่ละครั้งเราก็ท้อ ไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ วันหนึ่งก็มีคนบ่นกันว่า 18 สถาบันทำไปๆ แบบนี้จะทำให้กิจกรรมนักศึกษาเดินต่อไปได้หรือไม่ มีเพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งพูดขึ้นว่า เขาเชื่อมันในคนหนุ่มคนสาว เชื่อมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการพัฒนาประเทศนี้ ถ้าพวกเราทำงานกันจริงจัง ไม่ว่าอะไรเราก็จะทำได้ เรามีความสามารถทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียว คือยอมก้มหัวให้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมและอุปสรรคทั้งมวล
วอนสู้ในระบบ โซเชียลมีเดีย บรรยากาศเผด็จการ ความต้องการการเมืองใหม่หนุนสร้างพรรคการเมืองเพื่อประชาชน

สุรพงษ์ บอกว่า ตอบคำถามแทนพรรคเพื่อไทยไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่เพื่อนในพรรคเพื่อไทยก็มีและได้พูดคุยกันว่ามีความพยายามปฏิรูปพรรคให้เป็นของประชาชนอยู่ ส่วนมติพรรคเพื่อไทยนั้นไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในช่วงทำประชามติ ท่าทีพรรคเพื่อไทยจึงไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอยู่แล้ว แต่ท่าทีต่อไปว่าจะทำอย่างไรนั้นยังไม่รู้ แต่ขออย่าให้แสวงหาทางลัดกันอีก และไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการทำรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ 2560 และไม่เห็นด้วยที่จะใช้มาตรา 44 การอยากได้แบบไม่เลือกวิธีการจะทำให้เกิดเรื่องเดิมๆ อย่างไม่มีสิ้นสุด เมื่อวันที่ลงประชามติเราไม่สามารถรณรงค์ให้คนไทยส่วนใหญ่เชื่อได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่เหมาะสม เราก็ต้องยอมรับ แล้วจะทำอย่างไร คิดว่าวันนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ของคนอายุ 60 อาศัยความรู้ความสามารถของคนอายุ 40 อาศัยพลังของคนหนุ่มสาวอายุ 20 คงยังไม่เห็นประชาธิปไตยเบ่งบานในรุ่นของตน แต่อย่างน้อยก็ยังมีคนรุ่นต่อไปที่จะผลักดันให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ ทำให้สิ่งที่ฝันเอาไว้เป็นดังหวัง แต่ไม่ว่าอย่างไรเราต้องยืนยันว่าจะต่อสู้ด้วยสันติวิธีและยึดหลักสิทธิมนุษยชน ยึดสองหลักหนีให้มั่นแล้วค่อยปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ นักวิชาการหลายคนก็บอกว่ารัฐธรรมนูญชุดนี้อยู่ไม่นานแน่ เพราะจะมีปัญหาในการบริหารบ้านเมืองไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ ก็ตาม ผมก็เชื่อเช่นนั้น ก็จะนำไปสู่โกลาหล มีการระดมความคิดที่จะนำไปสู่การแก้ไขต่อไป ต้องสู้ในระบบ ถ้าหากบางท่านคิดว่าอยากตั้งเป็นกลุ่มก้อนเพื่อตรวจสอบ เป็นองค์กรที่คอยตรวจตรา เป็นหมาเฝ้าบ้าน ทำไปเลย เรามีบทบาทต่างกันในปัญหาบ้านเมืองก็ต้องแบ่งกันทำ ช่วยกันทำ

ถามว่าบรรยากาศแบบนี้จะเดินไปได้แค่ไหน สมัย 14 ตุลา 6 ตุลา มีคำพูดว่า สงครามมันไม่จบเร็วหรอก มันต้องยืดเยื้อ ต้องอดทน เรื่องปัญหาบ้านเมืองก็เหมือนกัน ต้องอดทน ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ยึดหลักเหตุผล อธฺบายให้คนอื่นได้ ได้ประโยชน์ ทำให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลง รู้จักประมาณว่าวันนี้ทำได้แค่ไหน เราไม่มีทางสร้างกรุงโรมได้ภายในวันเดียว เราไม่มีทางทำให้ประชาธิปไตยเบ่งบานได้ภายในหนึ่งปี ปัญหาตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันนี้ 12 ปี ส่วนหนึ่งก็เกิดจากพวกเรากันเองที่อยากได้เร็ว อยากได้ทางลัด ต้องเตือนตัวเองว่าทำให้มีการรัฐประหารรัฐธรรมนูญที่เราไม่ชอบ งั้นที่พรรคใต้เตียง ถ้าสมัยก่อนปี 2516 หรือ 2519 ผมก็นึกไม่ออกว่าจะตั้งชื่อพรรคอย่างนี้ได้อย่างไร เมื่อก่อนต้องพลังธรรม ยูงทอง นี่จึงเป็นความแตกต่างระหว่างรุ่นนั้นกับรุ่นนี้ ผมเรียนได้เลยว่า ในฐานะที่สัมผัสกับการเมืองตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา นี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะสร้างพรรคการเมืองเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เพราะสถานการณ์เป็นใจ คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยสัมผัสบรรยากาศคับข้องใจ แสดงความเห็นได้อย่างไม่เต็มที่ ไม่มีเสรีภาพ ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร ช่วงนี้โซเชียลมีเดียเฟื่องฟูมาก วันนี้ใครอยากแถลงข่าวก็แถลงเลย อยากแสดงความเห็นวันนี้เดี๋ยวนี้ข่าวก็ออกไปทั่ว เมื่อก่อนคุณจาตุรนต์ ฉายแสงอยากแถลงข่าวทีหนึ่งต้องจองโรงแรม นัดนักข่าว พูดประเด็นต่างๆ ถ้าไม่คมนักข่าวก็ไม่ลงให้ โซเชียลมีเดียเป็นผลพวงนำมาสู่ความตื่นตัวมากมาย

กระแสอยากได้คนหน้าใหม่ ต้องการความเปลี่ยนแปลงมีมานานแล้ว ในการเลือกตั้งเมื่อ 6 ม.ค. 2544 เมื่อมองย้อนกลับไปมีช้างล้มในหลายเขตเลือกตั้ง นักการเมืองที่เคยได้รับการเลือกตั้งทุกสมัยแพ้การเลือกตั้ง อย่างเขตหนึ่งในนครราชสีมา คนที่ชนะเลือกตั้งเป็นพยาบาล ตอนนั้นพรรคประเมินแล้วว่าโอกาสชนะมีน้อย ให้เงินไปติดป้ายก็พอ ค่าป้ายประมาณ 2 แสนบาท แกก็ติดของแกไป เดินไปตามบ้านชาวบ้านไป เราก็คิดว่าไม่มีโอกาสชนะ แต่ปรากฎว่าคนนี้ชนะมากมายพอสมควร ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านคิดเป็น วิเคราะห์เป็น การซื้อเสียงจะยังมีอยู่หรือไม่ผมไม่ทราบ อยู่ที่ความเข้มงวดของ กกต. แต่รับเงินแล้วไม่เลือกมีและเกิดขึ้นนานแล้ว ใครที่บอกพรรคเพื่อไทย ไทยรักไทย พลังประชาชนชนะเพราะซื้อเสียงเป็นความเชื่อในวิธีคิดแบบเดิม ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ฉะนั้นผมเรียนว่า อย่าหมดหวัง คำถามคือ เราพร้อมจะลงมือทำหรือยังแทนที่จะบ่นเฉยๆ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.