ซ้ายไปขวา: อนุสรณ์ อุณโณ ศุภวิทย์ ถาวรบุตร รังสิมันต์ โรม ณัฏฐา มหัทธนา
Posted: 30 Sep 2017 09:45 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ไทยผู้นำเทรนด์ ‘ประชาธิปไตยไร้การเลือกตั้ง’ โมเดลกำปั้นเหล็กกับทุนนิยมมาแรงจากจีน สิงคโปร์ ขั้วอำนาจราชการ-องค์กรอิสระในฐานะราชการสาขา 2 ลดทอนการเมืองกับประชาชน รธน. อำนาจนิยมส่วนบนลึกลับซับซ้อนไม่ใช่แค่ระดับการเมือง กองทัพ
เสวนาประเทศไทยหันขวา: ประจันหน้าอำนาจนิยม เสวนาโดย 1. อนุสรณ์ อุณโณ 2. รังสิมันต์ โรม และ 3. ศุภวิทย์ ถาวรบุตร ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา
30 ก.ย. 2560 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาเวทีสาธารณะ “ประเทศไทยหันขวา : ประจันหน้าอำนาจนิยม” ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้นสามอาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ศุภวิทย์ ถาวรบุตร อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา
ไทยผู้นำเทรนด์ ‘ประชาธิปไตยไร้การเลือกตั้ง’ โมเดลกำปั้นเหล็กกับทุนนิยมมาแรงจากจีน สิงคโปร์
โรม กล่าวว่า อำนาจแบบอำนาจนิยมกับเสรีภาพเป็นเพียงความคิดนามธรรมและต่อสู้กันมาตลอด อยู่ที่ตัวละครในประวัติศาสตร์เป็นใคร แต่นามธรรมดังกล่าวก็มีพัฒนาการเสมอมา อำนาจนิยมคือผู้ที่นิยมในอำนาจ เอาอำนาจไปใช้กดขี่ แสวงหาประโยชน์จากคนอื่น ในประวัติศาสตร์มักเคียงคู่กับความรุนแรงทั้งต่อกายและใจ หรือในลักษณะในเชิงสังคม เพราะการใช้อำนาจกดขี่ประชาชนนานเพียงพอ ประชาชนก็จะเคยชินและง่ายต่อการปกครองในอนาคต คนที่นิยมอำนาจนิยมมีความฝันสูงสุดคือการสถาปนาอำนาจนิยมให้มีระบบระเบียบมากที่สุด ในหน้าประวัติศาตร์ก็คือระบอบเผด็จการ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นระบอบเผด็จการแบบหนึ่ง ในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะในเกาหลีเหนือหรือประเทศแถวนี้ จะพบว่าระบอบเผด็จการไม่สามารถแยกออกจากอำนาจนิยมเลย ระบบเผด็จการเอาความชอบธรรมมาจากไหน จึงต้องใช้ความรุนแรงให้ประชาชนสยบยอมต่อระเบียบ เมื่อไหร่ที่คุณหยุด ประชาชนก็จะลุกฮือต่อต้านทันที จึงมีการต่อสู้หลายครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ ถ้ามนุษย์คิดได้ เริ่มเชื่อมโยงปัญหาเฉพาะหน้ากับปัญหาระดับใหญ่ ก็จะตระหนักว่า ข้าพเจ้าจะไม่อยู๋ใต้อำนาจของท่านอีกต่อไป ถึงวันนั้นอำนาจนิยมก็สิ้นสุด
สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการต่อสู้ของฝ่ายโลกเสรี นำโดยสหรัฐฯ และฝ่ายเผด็จการ นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ลงท้ายด้วยชัชนะของฝ่ายโลกเสรี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยตัวแนวคิดคอมมิวนิสต์นั้นไม่มีความรุนแรง แต่ผู้นำไปใช้ในสมัยนั้นเชื่อว่าการเปลี่นยแปลงสังคมต้องใช้ความรุนแรง ในแง่นั้น อำนาจนิยมได้จับมือกับความเชื่อคอมมิวนิสต์และเผยแพร่แนวคิดไปยังประเทศต่างๆ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์หรือจอมพลถนอม กิตติขจร สหรัฐฯ ก็ส่งเสริมระบอบอำนาจนิยมในไทยเพื่อจะยังยั้งคอมมิวนิสต์ กลายเป็นว่าโลกเสรีก็เสียโอกาสในการจัดการอำนาจนิยมอย่างถึงรากถึงโคน บทสรุปของการต่อสู้นั้น ฝ่ายโลกเสรีชนะ สหภาพโซเวียตล่มสลาย แต่น่าเสียดายที่การชนะครั้งนี้ อุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่ได้รับเครดิตสูงสุดแต่เป็นอุดมการณ์ทุนนิยม กลายเป็นว่าวันนี้ทุกคนต้องอยู่ใต้ระเบียบโลกแบบทุนนิยมที่มีลักษณะเป็นกลาง ใครหยิบไปใช้ก็ได้ ในไทยเราเห็นความพยายามการพัฒนาระบอบเศรษฐกิจบนระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เขาก็รู้ดีว่าระเบียบโลกนั้นอยู่ใต้ระบอบอะไร อำนาจแบบอำนาจนิยมไม่สามารถปรากฏตัวอย่างชัดเจน มันต้องแอบ เช่นประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ้็นต์ ในระเบียบโลกสมัยใหม่ อำนาจนิยมไม่สามารถปรากฎกายได้อย่างชัดเจนเพียงพอ คุณต้องยอมรับชัยชนะของฝ่ายโลกเสรีบางส่วน สะท้อนจากการพยายามยอมรับในหลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน เพื่อหาความชอบธรรม
ภายใต้บริบทประเทศไทยเราไม่มีการเลือกตั้งมาหลายปี แต่ในเกาหลีเหนือมีการเลือกตั้ง แต่ต้องเลือกคิมจองอึน แต่ในไทยเราล้ำไปกว่านั้น เราพยายามอธิบายว่าเราเป็นประชาธิปไตยแต่ไม่มีการเลือกตั้ง ยังไม่มีประเทศไหนในโลกไปได้ไกลกว่านี้ ทุกประเทศที่มีการรับประหารก็พยายามเปลี่ยนตัวเองจากอำนาจเถื่อนให้เป็นระบอบปรกติมากที่สุด แต่ไทยไม่ต้องทำ ไทยจึงยังเป็นประเทศเดียวบนโลกใบนี้ที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหารหรือ Junta ภายใต้คุณค่าที่โลกสมัยใหม่มี อำนาจนิยมก็ต้องเปลี่ยนตัวเองเข้ามา พยายามนำเสนอว่าตัวเองมีคุณค่าเหล่านี้ แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ โลกสมัยใหม่กำลังเผชิญสิ่งที่น่ากลัว ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อำนาจนิยมสามารถปรากฏกายได้อย่างเปิดเผย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนระบอบให้เข้ากับคุณค่าพื้นฐานของโลก แต่มันได้หายไปหลังสงครามสิ้นสุด ในวันนี้ อำนาจนิยมค้นพบจุดอ่อนของชัยชนะในสงครามโลก ก็คือทุนนิยม เราให้ความสำคัญกับปากท้องมากๆ ทุกๆ คนบนโลกก็ทำ นี่คือจุดอ่อนของชัยชนะของฝ่ายโลกเสรีที่อำนาจนิยมรู้ว่า เมื่อตนตอบสนองปากท้องและนายทุนได้ก็จะไม่มีใครโค่นล้มตน ประเทศที่จับทางได้เช่น จีน สิงคโปร์ ก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าจนมีหลายประเทศอยากเอาอย่าง ชัยชนะของอำนาจนิยมที่คืบคลานมาเรื่อยๆ ได้ทำให้หลายประเทศเริ่มรุ้สึกว่าไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องประชาธิปไตยก็ทำให้เกิดความเจริญงอกงามได้ ผมจึงกลัวว่าต่อไปจะเกิดการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับอำนาจนิยมอีกครั้ง แต่คงจะเป็นการต่อสู้ผ่านการส่งออกอุดมการณ์ คำถามคือทำไมประยุทธ์ถึงอยู่นาน ภายในประเทศก็ต้องยอมรับว่าเพราะประชาชนแตกแยก ไม่สามารถขับไล่ประยุทธ์ออกไป แต่ในระดับระหว่างประเทศก็พบว่าอำนาจนิยมเริ่มมีพื้นที่ของมันเอง
ผมคิดว่าปัญหาของประเทศไทยคือเราเป็นส่วนผสมของหลายอย่าง เราไม่ได้ไปสุดโต่งกับทุกเรื่อง เวลาพูดถึงประชาธิปไตยก็ไปไม่สุด เป็นแบบอำนาจนิยมหน่อยๆ บางช่วงก็มากหน่อย ในขณะเดียวกันถ้าชัยชนะของอำนาจนิยมสามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต ประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นอำนาจนิยมเต็มใบแบบจีน เวลารับโมเดลแบบจีน ก็จะสามารถพัฒนาตัวเองให้มีความพัฒนาเศรษฐกิจแบบจีนได้หรือเปล่า คิดว่าในอนาคตพวกเราทุกคนจะเจอกับความท้าทายจากอิทธิพลของโมเดลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสรีประชาธิปไตยหรือแบบอำนาจนิยมจับมือกับทุนนิยม ตอนนี้คงตอบไม่ได้ว่าโมเดลแบบไหนดีต่อไทย แต่ส่วนตัวเชียร์การมีสิทธิ เสรีภาพทางความคิดและเศรษฐกิจ ถ้าคนไทยมีศักยภาพดังกล่าวก็จะทำให้ไทยพัฒนาได้ทัดเทียมประเทศตะวันตกแน่นอน
ต่อคำถามว่า ในเมืองไทยก็ท้องไม่อิ่ม อำนาจนิยมใช้ความชอบธรรมจากอะไร โรมตอบว่า เป็นเพราะว่ายังมีคนไทยที่ไม่เชื่อการเลือกตั้ง เชื่อว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกนำมาซึ่งการชุมนุม การชุมนุมหลายครั้งทำให้เศรษฐกิจเสียความเชื่อมั่น แต่เขาก็ไม่ชอบประยุทธ์ ตอนนี้ก็เลยคิดไม่ออก มันก็มีคนแบบนี้เยอะพอสมควร ไม่งั้นประยุทธ์อยู่ไม่ได้อย่างนั้นหรอก ผมเชื่อว่าการรัฐประหารจะเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยหาตัวแทนที่จะมาจัดการกับฝ่ายอำนาจนิยม
ขั้วอำนาจราชการ-องค์กรอิสระในฐานะราชการสาขา 2 ลดทอนการเมืองกับประชาชน
ศุภวิทย์กล่าวว่า มีการปะทะกันระหว่างอำนาจจากการเลือกตั้ง กับก่อนหน้านั้นที่ระบบราชการเอาจะเป็นแค่สับเซตหนึ่ง แต่สิ่ที่เป็นพลังในสังคมคือมันเป็นพลังที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในขอบเขตที่พูดได้คือจะชี้ให้เห็นว่า เท่าที่พูดได้เกดอะไรขึ้นบ้างก็โฟกัสไปที่ระบบราชการ ซึ่งสากลโลกการควบคุมให้ระบบราชการทำตามประชาชนคือใช้นโยบายจากรัฐบาลเลือกตั้งคุมระบบราชการอยู่ดี รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีเช่นนี้ ให้ฝ่ายการเมืองเหนือระบบราชการ และมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีความเชื่อมโยงจากประชาชนควบคุมระบบการเมืองอีกทีหนึ่ง แต่องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่โยงกับวุฒิสภาที่ไม่ได้อิงกับพรรคการเมืองก็มีปัญหากลายเป็นสภาผัวเมียไป จากลำดับบังคับบัญชาปรกติตามรัฐธรรมนูญก็เป็นปัญหาก็มีความพยายามทำให้ระบบราชการและองค์กรตามรัฐธรรมนูญอยู่เหนือการเมือง องค์กรตามรัฐธรรมนูญก็กลายเป็นที่ทำงานของคนเกษียณจากระบบราชการมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาในช่วง 10 ปี ก็มีลักษณะอย่างนั้น กรณีศาลรัฐธรรมนูญกับถนนลูกรัง ตุลาการท่านที่ถามก็เป็นข้าราชการเกษียณจากกระทรวงหนึ่ง หรือตุลาการอีกท่านที่ถามว่าโครงการราคา 2 ล้านล้านจะสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร นั่นคือคนที่ปลายของชีวิตราชการทำงานในช่วงที่อำนาจฝ่ายการเมืองขึ้นมาในยุคทักษิณ พอพ้นจากจุดนั้นก็ได้รับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ให้คุณให้โทษกับอำนาจทางการเมืองนั้นได้ แต่นั่นคือสิ่งที่เราเริ่มเห็น คือการสร้างสภาพอำนาจขึ้นมา ถ้าอำนาจการเมืองอยู่ตรงกลาง ระบบราชการที่เป็นต้นทาง กับปลายทางที่คุมฝ่ายการเมืองแต่มามีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ มากขึ้น ก็คือคนซึ่งพ้นจากระบบราชการไปแล้วอาศัยอำนาจตรงนั้นอยู่ได้ เราจะไม่ค่อยแปลกใจว่าทำไมในข้อเสนอรัฐธรรมนูญอันใหม่ ทำไมวุฒิสภาถึงมาจากการแต่งตั้ง นั่นคือการตัดความยึดโยงออกไป แน่นอนมันถูกปูทางว่า คนในระบบราชการจะเข้ามาคุมการเมืองได้อีกครั้ง พลังเดียวที่ยึดโยงกับประชาชนมีแต่จะถูกกดลงไป ตอนนี้ใครจะอยากเป็นรัฐบาล เข้าไปก็กระดิกตัวไม่ได้เลย โดนทั้งยุทธศาสตร์กด และมีองค์กรคอยตรวจสอบอีกเต็มไปหมด
สิ่งที่ต้องกังวลคือ ช่วงปลายของรัฐบาลทักษิณ มีหน้าปกของมติชนสุดสัปดาห์ที่ดังมาก เป็นภาพทักษิณสมัยเรียนนายร้อยคาดด้วยคำว่า Absolute power corrupt absolutely ซึ่งโดนใจกลุ่มต่อต้านทักษิณมาก แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นการทำงานของวาทกรรมบางอย่าง สิ่งซึ่งผู้มีอำนาจพยายามพูด ประยุทธ์พยายามพูดว่า มีรัฐธรรมนูญใหม่แล้วอย่าเลือกคนผิดอีกนะ หรือคำพูดที่ว่าที่มีรัฐประหารเป็นเพราะว่าพวกคุณเลือกผิด การที่ระบบราชการสู้กับระบอบทักษิณมาจนถึงจุดนี้ที่ระบบราชการพยายามควบคุมองค์กรตามรัฐธรรมนูญแล้วกดฝ่ายการเมืองก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ แต่ที่กังวลมากกว่านั้นก็คือคนกลุ่มหนึ่งยอมให้คนที่มีอำนาจทำอะไรก็ได้ที่ไม่ทำให้เขาอยู่ใต้อำนาจการเลือกตั้ง มันก็คือการคอร์รัปชั่นแบบหนึ่ง ความซับซ้อนของสถานการณ์ในไทยมันพูดได้อยาก แต่ถ้ามีอำนาจนิยมอยู่ ถ้าแบ่งคร่าวๆ 2 ระดับ ในโครงสร้างที่เราเห็นตามปรกติว่ามีสภา มีระบบราชการ มีกองทัพ เป็นโครงสร้างที่ทำงานในระบบ วัฒนธรรมอำนาจนิยมก็อยู่ แต่แน่นอนว่ามันมีโครงสร้างส่วนบนซึ่งเราจะนิยามให้กว้างมากน้อยอย่างไรก็ว่ากันอีกที มันก็มีความเป็นอำนาจนิยมที่มากขึ้น เป็นสถานการณ์ที่ยาก ถ้าเรามองกว้างเทียบกับระดับโลกแล้วมันไม่เหมือนกัน
แสดงความคิดเห็น