ที่สหรัฐฯ พบผู้หญิงเสี่ยงตกงานมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่าจากการปฏิวัติหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ บ้านเรา ‘สิ่งทอ-ชิ้นส่วนยานยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์’ ที่มีสัดส่วนการจ้างงานแรงงานฝ่ายผลิตหญิงสูง ก็มีความเสี่ยงสูญเสียงาน หากมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในอนาคต
งาน 'แคชเชียร์' หรือ 'พนักงานเก็บเงิน' เป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติในปีต่อ ๆ ไป ถึงร้อยละ 97 และในสหรัฐฯ ในปี 2016 ร้อยละ73 ของพนักงานเก็บเงินคือผู้หญิง ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org
นอกจากข้อถกเถียงที่ว่า ‘ระบบอัตโนมัติ’ จะสร้างหรือทำลายตำแหน่งงานของมนุษย์ ก็ยังมีคำถามสำคัญอีกอย่างคือคนกลุ่มใดที่จะได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) นี้มากที่สุด จากรายงานของสถาบันการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์เชิงพื้นที่ (ISEA) เมื่อเดือน มิ.ย. 2560 ระบุว่าความก้าวหน้าของระบบอัตโนมัตินอกจากจะทำให้แรงงานในสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการสูญเสียงานกว่าล้านตำแหน่งแล้ว ก็ยังมีประเด็น 'ความเหลื่อมล้ำทางเพศ' แฝงอยู่ เพราะผู้หญิงเสี่ยงที่จะตกงานมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า
ผู้หญิงในสหรัฐฯ ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงที่ต้องสูญเสียงานให้กับระบบอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น งาน 'แคชเชียร์' หรือ 'พนักงานเก็บเงิน' มีการประเมินว่าเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติในปีต่อ ๆ ไป ถึงร้อยละ 97 และในสหรัฐฯ ซึ่งในปี 2559 ร้อยละ 73 ของพนักงานเก็บเงินคือผู้หญิง
ผู้หญิงไม่ได้เป็นคนกลุ่มเดียวที่ ISEA ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบด้านการจ้างงานจากการเพิ่มขึ้นของระบบอัตโนมัติ แรงงานเชื้อสายฮิปสแปนิชและเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียงานอยู่ที่ร้อยละ 13 และร้อยละ 25 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานผิวขาว ส่วนแรงงานเชื้อสายเอเชียมีความเสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 11 นอกจากนี้คนที่ไม่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายมีโอกาสเสี่ยงที่จะตกงาน 6 เท่า เมื่อเทียบกับคนจบปริญญาเอก เพราะงานใช้ทักษะน้อยก็ที่มีโอกาสถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติได้มากกว่า
ในอนาคตการจ้างงานมนุษย์ที่จะเพิ่มขึ้นก็เห็นจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหุ่นยนต์และ AI อย่างงานประเภท STEM [ย่อมาจากงานสายวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)] แต่กระนั้นก็พบว่าผู้จบการศึกษาสาย STEM นี้ทุก ๆ 4 คน จะเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียว และถึงแม้ผู้หญิงจะเข้าไปอยู่ในสายงาน STEM แล้วก็ยังพบว่าโอกาสการก้าวในอาชีพของพวกเธอนั้นมีน้อยกว่าผู้ชายมาก
ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยผลวิจัยของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม (World Economic Forum) เมื่อเดือน ม.ค. 2559 ได้คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีการเพิ่มจำนวนของแรงงานหุ่นยนต์และ AI จะส่งผลให้มีคนตกงานประมาณ 5 ล้านคนภายใน 5 ปีข้างหน้าใน 15 ประเทศที่มีสัดส่วนการจ้างงานประมาณร้อยละ 65 ของแรงงานทั่วโลก (อาทิเช่น สหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย และอิตาลี) รายงานชิ้นนี้ยังระบุว่าผู้หญิงจะเป็นกลุ่มที่สูญเสียงานมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับการจัดการเอกสารอย่างงานพนักงานออฟฟิศและพนักงานภาครัฐ ซึ่งงานทั้งสองประเภทนี้เป็นงานที่ผู้หญิงมีบทบาทมากกว่าผู้ชาย
ข้อมูลจากเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ยังได้ระบุถึงสัดส่วนผู้หญิงในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไว้ว่ามีสัดส่วนผู้หญิงทำงานในภาคออฟฟิศและพนักงานรัฐมากที่สุดคือร้อยละ 54 ตามมาด้วย บันเทิง, กีฬาและสื่อร้อยละ 48 พนักงานขาย ร้อยละ 41 บริหารจัดการร้อยละ 25 คอมพิวเตอร์และการคำนวณ ร้อยละ 23 การผลิต ร้อยละ 20 สถาปนิกและวิศวกร ร้อยละ 11 ก่อสร้าง ร้อยละ 10 และติดตั้งและซ่อมบำรุง ร้อยละ 8
ตัวอย่างประเภทงานของผู้หญิงที่มีความเสี่ยง
นอกเหนือจากพนักงานเก็บเงิน พนักงานออฟฟิศ และพนักงานภาครัฐ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ก็พบว่ายังมีงานในอีกหลายประเภทที่ผู้หญิงมีบทบาทมากกว่าผู้ชาย และพวกเธอกำลังเสี่ยงที่จะสูญเสียงานให้กับหุ่นยนต์และ AI ตัวอย่างเช่น
พนักงานทำความสะอาด
หุ่นยนต์ทำความสะอาดนอกจากงานในบ้านแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังมีให้เห็นตามโรงแรมหรือที่สาธารณะต่าง ๆ มากขึ้น (ที่มาภาพ: lgnewsroom.com)
พนักงานต้อนรับ
โรงแรมเฮนนะโฮเทล (Hen'na Hotels) ในญี่ปุ่นมีการนำหุ่นยนต์มาทำงานพนักงานต้อนรับ (ที่มาภาพประกอบ: experienceluxury.co)
พนักงานดูแลลูกค้าและให้บริการทางโทรศัพท์
อีกไม่นานนักระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่งานดูแลลูกค้าและให้บริการทางโทรศัพท์ (ที่มาภาพประกอบ: techrepublic.com)
พนักงานธนาคาร
ธนาคาร Mizuho ในญี่ปุ่นเริ่มนำหุ่นยนต์มาให้บริการลูกค้าตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีแผนการจะเพิ่มหุ่นยนต์ในอีกหลายสาขา (ที่มาภาพประกอบ thefinancialbrand.com)
สถานการณ์ในอาเซียนและไทย
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าภายในอีก 20 ปี แรงงานร้อยละ 56 ในภูมิภาคอาเซียน อย่าง ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียงานโดยเฉพาะแรงงานทักษะน้อย เนื่องจากหุ่นยนต์มีความสามารถมากขึ้น มีราคาถูกลง และมีความสามารถในการทำงานร่วมกับมนุษย์มากขึ้น อย่างในประเทศเวียดนามที่หลายโรงงานเริ่มทยอยนำหุ่นยนต์เข้ามาแทนคน และในอนาคตมีการประมาณการว่าแรงงานเวียดนามทุก 300 คน จาก 1,600 คน จะต้องสูญเสียงานให้หุ่นยนต์ (อ่านเพิ่มเติม: เวียดนาม 4.0 เลิกจ้าง ‘แรงงาน’ แล้วแทนที่ด้วย ‘หุ่นยนต์’ บ้างแล้ว)
สำหรับภูมิภาคอาเซียนข้อได้เปรียบด้านแรงงานราคาถูกจะไม่เพียงพออีกต่อไป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งมีแรงงานมากถึง 9 ล้านคน เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากแรงงานจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยีหลายประเภท เช่น เทคโนโลยีอย่างเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เทคโนโลยีการสแกนร่างกาย เทคโนโลยีช่วยในการออกแบบ เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ นาโนเทคโนโลยี และการใช้เครื่องจักรใหม่ ๆ ในการผลิต ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอนี้ก็คือผู้หญิง สำหรับประเทศไทยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะในไลน์ผลิตมีความเสี่ยงสูญเสียงานมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้แรงงานหญิงอยู่ในสายการผลิตมากกว่า และไม่ได้เป็นหัวหน้างานแบบผู้ชายมากนัก (อ่านเพิ่มเติม: ค่าแรงเราไม่เท่ากัน: อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ค่าแรงหญิงยังน้อยกว่าชาย)
ILO ยังเคยระบุว่าแม้เอกชนในภูมิภาคอาเซียนซึ่งรวมถึงไทย จะพยายามควานหาแรงงานในภาค STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) แต่คนรุ่นใหม่ในภูมิภาคกลับไม่เลือกศึกษาในภาค STEM นี้ โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งมีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่เลือกศึกษาภาคส่วนดังกล่าว
ล่าสุดในเดือน ต.ค. 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ระบุว่าภายหลังหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ECC) พบข้อมูลว่ามีโรงงานประมาณ 300-400 แห่ง มีความสนใจขยายการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาเป็นระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
ทั้งนี้ส่วนใหญ่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีสัดส่วนการจ้างงานแรงงานหญิงสูง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียงานสูงด้วยเช่นกัน หากมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในอนาคต
ข้อมูลประกอบการเขียน
Five Million Jobs by 2020: the Real Challenge of the Fourth Industrial Revolution (World Economic Forum, 18/1/2016)
ILO: Robots threaten millions of jobs in Southeast Asia (Deutsche Welle, 9/7/2016)
Women are twice as likely than men to lose their jobs to robots (Kate Taylor, Business Insider, 26/6/2017)
Without Workplace Reforms, Robots Could Replace More Women Than Men (REBECCA HENDERSON, Morning Consult, 11/5/2017)
100 Women: Who's going to lose out from automation? (BBC, 6/10/2017)
30 บริษัทในนิคมเหมราชสนใจใช้หุ่นยนต์ในสายผลิต (Money Channel, 10/10/2560)[full-post]
แสดงความคิดเห็น