Posted: 11 Oct 2017 02:34 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ประชามติมอบอาณัติให้รัฐบาลท้องถิ่นแยกตัว แต่ขอเลื่อนการแยกตัวออกไปอีกไม่กี่สัปดาห์เพื่อเปิดโต๊ะเจรจา รองนายกฯ สเปนลั่น จะไม่ร่วมเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น ฝ่ายค้านประณามการแยกตัวคือรัฐประหาร ไม่มีชาติไหนในยุโรปยอมรับการแยกตัวและประชามติ

(ล่าง)การ์เลส ปุกเดมอนด์ แถลงเรื่องการประกาศตัวเป็นเอกราชในรัฐสภากาตาลัน (ที่มา: Parliament de Catalunya)

10 ต.ค. 2560 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ของสหราชอาณาจักรและยูโรนิวส์ รายงานวา การ์เลส ปุกเดมอนด์ หัวหน้ารัฐบาลท้องถิ่นแคว้นกาตาลุญญาประกาศเอกราชจากสเปนหลังตนและผู้นำในแคว้นกาตาลุญญาลงนามในเอกสารประกาศเอกราช แต่ได้ประกาศเลื่อนผลบังคับใช้ออกไปอีกเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลกลาง ณ กรุงมาดริด ร่วมโต๊ะเจรจาในวิกฤติการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี

5 เรื่องน่ารู้ เงื่อนไข ทางตันและทางออกก่อนกาตาลุญญาประกาศเอกราช

ผลโหวตร้อยละ 90 หนุนกาตาลุญญาแยกตัว หลายฝ่ายกังวลปะทะเดือดวันลงคะแนน

ปุกเดมอนด์แถลงในที่ประชุมสภาท้องถิ่นกาตาลันเมื่อคืน โดยกล่าวว่า ประชามติที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาเป็นอาณัติแก่สภาท้องถิ่นให้แยกตัวออกมาเป็นสาธารณรัฐเอกราช แต่เขาจะไม่ผลักดันให้กาตาลุญญาแยกตัวจากสเปนในตอนนี้

“เราได้มาถึงวาระอันเป็นประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ ผมขอแสดงความรับผิดชอบในฐานะของประธานรัฐบาลกาตาลุญญาและตัวแทนของพวกคุณ และพลเมืองทั้งหมด ผลประชามติและประชาชนได้ให้อาณัติแก่กาตาลุญญาให้มีเอกราชในฐานะสาธารณรัฐ” ปุกเดมอนด์ กล่าว

“เราเสนอให้เลื่อนการประกาศเอกราชออกไป เป็นอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเพื่อเปิดให้มีเวลาในการพูดคุย”

“ภายในสัปดาห์หน้า พวกเราจะเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยหาทางออก เราจะแสดงเจตจำนงที่จะเจรจา การพูดคุยกันนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราอยากจะให้ข้อมูลว่า กระบวนการที่จะนำไปสู่การพูดคุยนั้นได้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อ 2 วันหลังการลงประชามติแล้ว...เราแสดงตัวอย่างชัดเจนว่าเราต้องการการเจรจาและหลีกเลี่ยงความรุนแรง”

“ถ้าทุกคนปฏิบัติตัวอย่างมีความรับผิดชอบ ความขัดแย้งนี้สามารถแก้ไขได้อย่างสงบและสามารถตกลงกันได้” ผู้นำแคว้นกาตาลุญญากล่าว

ปุกเดมอนด์ใช้เวลาแถลงกว่า 30 นาที เล่าถึงประวัติศาสตร์อันขมขื่นของกาตาลุญญาภายใต้การรวมอยู่กับสเปน รวมถึงส่งข้อกังวลดังกล่าวถึงคนอื่นๆ ในสเปนด้วย

“ผมอยากจะส่งข้อความแห่งเจตจำนงต่อการพูดคุยและหาข้อตกลงอย่างสันติวิธีและด้วยความเคารพ” ผู้นำแคว้นกาตาลุญญากล่าว

“พวกเราไม่ใช่อาชญากร พวกเราไม่ได้บ้า พวกเราไม่ได้ออกมาทำรัฐประหาร พวกเราคือคนธรรมดาที่ต้องการจะออกเสียงและเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมกับทุกๆ การพูดคุยที่จำเป็นในการเกิดข้อตกลงร่วมกัน”

“เราไม่ได้คัดค้านสเปนหรือคนสเปน ในทางกลับกันเราต้องการที่จะเข้าใจซึ่งกันและกันให้ดีกว่านี้” ปุกเดมอนด์กล่าว

ปุกเดมอนด์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าความสัมพันธ์ระหว่างสเปนกับกาตาลุญญาไม่ลงรอยกันมาหลายปีแล้ว และไม่มีการหาหนทางแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวเลย

ถ้อยแถลงของปุกเดมอนด์ถูกประณามจากรัรฐบาลกลางสเปนและหัวหน้าฝ่ายค้านในรัฐสภากาตาลันอย่างรวดเร็ว โดยรองนายกรัฐมนตรีสเปน โซรายา เซนซ์ เด ซานตามาเรีย ได้กล่าวหาปุกเดมอนด์ว่าเขาได้นำพาภูมิภาคไปสู่ความไม่แน่ไม่นอน และระบุด้วยว่าถ้อยแถลงของปุกเดมอนด์นั้นเป็นคำพูดของคนที่ “ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนหรือไม่รู้ว่าจะไปถึงที่นั่นกับใคร”

เธอกล่าวว่าคณะรัฐมนตรีจะไม่นัดประชุมฉุกเฉินในเช้าวันพุธนี้และมีท่าทีว่าจะไม่เข้าร่วมการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น “การพูดคุยกันของผู้เป็นประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขกฎหมาย เป็นไปอย่างเคารพกติกาและไม่สร้างเรื่องขึ้นมาเพียงเพราะสถานการณ์เอื้ออำนวย”

อิเนส อาริมาดาสจากพรรคซิวดาดาโนส หรือพรรคพลเมืองซึ่งเป็นฝ่ายค้านมองว่าคำพูดของปุกเดมอนด์ที่บอกว่าตนได้รับอาณัติมาให้แยกตัวออกจากสเปนเป็นการ “รัฐประหาร” และจะไม่ได้รับแรงสนับสนุนใดๆ จากในยุโรปในการแยกตัว และไม่มีชาติไหนในยุโรปยอมรับการทำประชามติแยกตัวที่เพิ่งเกิดขึ้น


อิเนส อาริมาดาส แถลงคัดค้านการแยกตัวหลังจากการ์เลส ปุกเดมอนด์แถลงจบ(ที่มา: Parliament de Catalunya)

“ชาตินิยมคือความแตกแยก หนทางของพวกเราคือสหภาพยุโรป คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หมายถึงการเป็นมิตรกันทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ”

“ชาตินิยมของคุณมองหาการแยกตัว สหภาพยุโรปมองหาการรวมกันเป็นหนึ่ง ในขณะที่ชาตินิยมของพวกคุณมองหาความยิ่งใหญ่ สหภาพยุโรปมองหาความเท่าเทียม”

รัฐบาลท้องถิ่นกาตาลันระบุว่า มีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวน 2.26 ล้านคน ถือเป็นร้อยละ 42 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และผลประชามติครั้งนี้มีผู้ออกเสียงสนับสนุนการแยกตัวจากสเปนถึงร้อยละ 90 ถึงแม้จะถูกปิดกั้นการออกมาลงคะแนนเสียงด้วยไม้กระบองและกระสุนยาง รวมถึงการประกาศจากรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดว่าการประชามติไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญก็ตาม

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขสเปนระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 450 รายแล้ว จากการปะทะในหลายพื้นที่ทั่วแคว้นกาตาลุญญา กระทรวงกิจการภายในของสเปนระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 11 ราย ในขณะที่ทางการท้องถิ่นของกาตาลันระบุว่ามีผู้บาดเจ็บมากกว่า 800 คน

กาตาลุญญาตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน มีประชากรทั้งสิ้น 7.5 ล้านคนหรือราวร้อยละ 15 ของประชากรสเปนทั้งหมด มีผลผลิตทางเศรษฐกิจเป็นร้อยละ 20 ของทั้งประเทศ

แรงกดดันที่อยากเป็นอิสระมีตั้งแต่ศตวรรษ 15 และรุนแรงมากขึ้นทุกที การรัฐประหารโดยนายพลฟรังโก้ เมื่อ ค.ศ.1936 ตามมาด้วยการรวมสเปนกลายเป็นหนึ่งเดียว ทำให้อิสรภาพของกาตาลุญญาภายใต้การรวมกับสเปนลดลง ต่อมา รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 บัญญัติว่าสเปนต้องเป็นหนึ่งเดียว แต่ยังเปิดให้แคว้นต่างๆ มีอิสระเสรีแม้ไม่ได้ปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ แคว้นกาตาลุญญามีเสรีภาพด้านการศึกษา มีการสอนภาษากาตาลัน มีรัฐบาลและผู้นำท้องถิ่น

มีความพยายามทำให้กาตาลุญญามีอิสระมากกว่าเดิมในปี ค.ศ.2006 เมื่อมีการลงประชามติรับรองรัฐบัญญัติว่าด้วยการปกครองตนเองที่จะทำให้เสรีภาพในการปกครองตนเองของแคว้นกาตาลุญญามีมากขึ้น แต่ก็มีพรรคปาร์ติโด ปอปูลาร์ (พีพี) ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐบัญญัติขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 และใน ค.ศ. 2010 ศาลก็ตัดสินว่าขัดแย้งจริง ดังนั้นกฎหมายที่ออกมาก็ไม่ผ่าน ภาวะใกล้ได้อิสระแต่ไม่ได้ทำให้กระแสแยกตัวในกาตาลุญญายิ่งร้อนแรง นำไปสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ในเมืองบาร์เซโลนาเมื่อปี ค.ศ. 2010 ทั้งยังมีแรงผลักทางเศรษฐกิจจากวิกฤติเงินยูโรที่ส่งผลกระทบกับสเปนทั้งประเทศที่ทำให้กาตาลุญญาที่มีผลผลิตทางเศรษฐกิจเยอะรู้สึกว่าได้รับประโยชน์จากสเปนน้อยกว่าที่ให้ไป

แปลและเรียบเรียงจาก

Catalan leaders sign and suspend declaration of independence, Euronews, October 11, 2017

Catalan government suspends declaration of independence, The Guardian, October 10, 2017

LIVE: Puigdemont speaks in Catalan parliament, Youtube/RUPTLY, October 10, 2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.