Posted: 17 Oct 2017 02:26 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ระบุการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาของบุคคลตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ถือเป็นสิทธิผู้ป่วยในการยอมรับสิทธิที่จะเลือกวิธีการรักษาที่ตนเองประสงค์เมื่ออยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต

17 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สช. ร่วมกับ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดงานเสวนาวิชาการ “สิทธิการตายดีตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และแนวปฏิบัติกรณีการเสียชีวิตที่บ้าน” เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ สาระสำคัญในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) รวมทั้งประเด็นการดำเนินการเมื่อเลือกวาระสุดท้าย จากไปอย่างสงบที่บ้าน ณ โรงแรมเอบีน่าเฮ้า หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมีกลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านสิทธิของประชาชน ตำรวจ ฝ่ายปกครอง นักกฎหมาย บุคลากรทางการแพทย์กว่า 200 คนเข้าร่วม

พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาของบุคคลตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ถือเป็นสิทธิผู้ป่วยอย่างหนึ่ง ซึ่งในหลายประเทศมีกฎหมายที่ให้การรับรองสิทธิในเรื่องนี้มาเป็นเวลานานกว่า 20-30 ปี โดยแนวคิดสำคัญในเรื่องนี้คือ การยอมรับสิทธิของบุคคลที่จะเลือกวิธีการรักษาที่ตนเองประสงค์เมื่ออยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งบุคคลนั้นไม่สามารถสื่อสารกับบุคคลอื่นได้แล้ว ทำให้คนในครอบครัวหรือญาติ พี่น้องสามารถทราบความต้องการของผู้ป่วย ลดความขัดแย้งหรือความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทำให้บุคลากรในระบบสุขภาพสามารถวางแผนการรักษาล่วงหน้า โดยมีการพูดคุยกับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการสาธารณสุข อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่มีความจำเป็นลงเป็นอย่างมาก และช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

“ในอีก 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์’ (complete aged society) กล่าวคือ จะมีประชากรสูงอายุสูงถึงร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของประชากรจะเป็นผู้มีอายุ 60 ปี ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจผู้ยากลำบากในชุมชนของเครือข่ายจิตอาสาประชารักษ์ที่สะท้อนสังคมสูงวัย พบว่ามีจำนวนประมาณ 7 หมื่นคน มีจำนวนผู้ยากลำบากที่เป็นประเภทติดบ้านติดเตียงมากที่สุด ดังนั้น การเตรียมพร้อมสำหรับช่วงเวลาวาระท้ายของชีวิตและการเตรียมตัวตายดีจึงเป็นเรื่องสำคัญและท้าทายมาก” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว

โดยภายในงาน มีการเสวนา “ตายที่บ้าน ต้องผ่าศพด้วยหรือ ?” ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องหลังเมื่อมีผู้แสดงเจตนาที่จะจากไปอย่างสงบและเรียบง่ายที่บ้าน แต่ในทางปฏิบัติยังพบปัญหา อาทิ เจ้าหน้าที่บางส่วนขาดความเข้าใจเรื่องการเสียชีวิตที่บ้าน มีการดำเนินการชันสูตรพลิกศพโดยการผ่าศพ แม้ว่าจะเป็นการตายจากอาการเจ็บป่วยหรือตายตามธรรมชาติก็ตาม

“ประเทศไทยใช้กฎหมายฉบับเดิมมาหลายสิบปีโดยไม่มีการแก้ไข กำหนดว่าเมื่อเกิดการตายต้องแจ้งตำรวจเป็นคนแรก ขณะที่กฎหมายเยอรมันกำหนดว่าแพทย์ต้องไปดูศพเป็นคนแรก แต่หากมีความผิดปกติหรือเกี่ยวข้องกับตำรวจค่อยให้ตำรวจเข้ามา” วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ และกรรมการกฤษฎีกา ฉายภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ดาราพร ถิระวัฒน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ย้อนถึงการจากไปของบิดาซึ่งนอนหลับไปด้วยอาการสงบอย่างเรียบง่าย แต่หลังจากนั้นกลับพบขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพราะเจ้าหน้าตำรวจต้องการนำร่างของบิดาไปผ่าพิสูจน์ โดยระบุว่าเป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ

“นี่เป็นการตายที่เป็นธรรมชาติที่สุด เรียบง่ายที่สุด คำถามคือเหตุใดการตายที่บ้านกลับต้องมีความซับซ้อนยุ่งยากและขัดกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ตาย” ดาราพร ตั้งประเด็น

พล.ต.ต.โสพรรณ ธนะโสธร รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบายถึงสาเหตุที่ตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องด้วยตำรวจและแพทย์ต้องมาร่วมกันวินิจฉัยสาเหตุการตายว่าเป็นการตายโดยธรรมชาติหรือตายผิดธรรมชาติ รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการการตายตามขั้นตอน

สมคิด ขวัญดำ สำนักงานการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า นายทะเบียนมีหน้าที่ออกใบมรณะบัตร โดยไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การตาย จึงจำเป็นต้องพิจารณาหลักฐานและพยานอื่นประกอบเพื่อออกเอกสาร ซึ่งหากเป็นการตายตามธรรมชาติจะสามารถออกใบมรณะบัตรได้ทันที แต่หากตายผิดธรรมชาติก็ต้องมีการผ่าพิสูจน์

พ.ต.อ.พัฒนา กิจไกรลาศ นายแพทย์ (สบ.ถ) กลุ่มงานพิสูจน์หลักฐานเกี่ยวกับบุคคล สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เสนอว่า หากมีผู้เสียชีวิตไม่ว่าที่บ้านหรือที่ใดก็ตาม ถ้าญาติไม่ต้องการให้มีการผ่าศพ แนวทางแรกคือ ควรให้ผู้นำชุมชนมาช่วยยืนยันกับนายทะเบียน แต่ถ้าเรื่องถึงแพทย์นิติเวชแล้ว ก็จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการชันสูตร ซึ่งต้องได้รับการยืนยันจากญาติว่าไม่ติดใจสาเหตุการตาย และหากจำเป็นต้องผ่าจริงๆ อาจขอร้องแพทย์ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นได้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.