กรุงฮาราเร เมืองหลวงประเทศซิมบับเว (ที่มา:วิกิพีเดีย)

Posted: 21 Oct 2017 10:32 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ซิมบับเว ประเทศที่มีการบริหารผิดพลาดจนเคยเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ล่าสุดขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคและเงินตรากำลังตั้งกระทรวงใหม่เพื่อสอดส่องโลกโซเชียล ในขณะที่การสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วยกับล่วงล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัวจากรัฐบาล

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่าเมื่อไม่นานนี้มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายคณะรัฐมนตรีซิมบับเวโดยประธานาธิบดี โรเบิร์ต มูกาเบ ซึ่งเป็นที่จับตามอง โดยมีการก่อตั้งกระทรวงใหม่คือกระทรวง "ความมั่นคงไซเบอร์กับการค้นหาและบรรเทาภัย" ซึ่งผู้ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีคืออดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แพทริก ชีนามาซา

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่าพวกเขาก่อตั้งกระทรวงนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ผิด แต่ก็มีผู้สังเกตการณ์กังวลว่าเหตุผลที่แท้จริงที่รัฐบาลจัดตั้งกระทรวงนี้คือเอาไว้ปราบปรามประชาชนที่วิจารณ์รัฐบาลผ่านทางโซเชียลมีเดียในช่วงที่เศรษฐกิจซิมบับเวกำลังสูญเสียเสถียรภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

องค์กรจัดตามมองสื่อในซิมบับเว MISA มองว่าเรื่องนี้เป็นภัยต่อเสรีภาพในการแสดงออก และอาจจะส่งผลให้เกิดความกลัวถูกปราบปรามจนมีการเซนเซอร์ตัวเองทั้งจากสื่อและจากประชาชนผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย

จอร์จ ชารัมบา โฆษกรัฐบาลซิมบับเวกล่าวปกป้องกระทรวงใหม่ว่าประธานาธิบดีต้องการจัดการกับภัยคุกคามที่มาจาก "การใช้พื้นที่ไซเบอร์สเปซอย่างผิดกฎหมาย" และอ้างว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการสร้างความแตกตื่นจนทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือการขาดแคลนเงินตราและขาดแคลนสินค้าทำให้ผู้คนพากันวิจารณ์รัฐบาลผ่านทางโซเชียลมีเดีย ปัญหาการขาดแคลนสินค้าเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาเมื่อชาวซิมบับเวพากันกักตุนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มากขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตการเงินจนทำให้ของในร้านค้าขาดตลาด ชั้นวางของว่างเปล่า ราคาสินค้าพื้นฐานเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 300 ภาวะเช่นนี้ทำให้ชาวซิมบับเวนึกถึงวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2551-2552 ที่เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักร้อยละ 89.7 พันล้านล้านล้าน

กระนั้นเมื่อมีชาวซิมบับเวพยายามเปิดเผยปัญหาการขาดแคลนสินค้ากลับถูกทางการจับกุม เมื่อวันที่ 23 ก.ย. มีการจับกุมบาทหลวงอีแวน มาวาริเร จัดประชุมที่ศาลากลางพร้อมไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องการขาดแคลนเงินตราและเครื่องอุปโภคบริโภค ทำให้มีคนจากที่อื่นนอกจากในซิมบับเวเริ่มติดตามเขา มาวาริเรยังเคยมีชื่อเสียงจากคำกล่าวสุนทรพจน์ #ThisFlag ที่เรียกให้ชาวซิมบับเวออกมาเคลื่อนไหวด้วย

รัฐบาลมูกาเบไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องการที่เขาบริหารงานได้แย่ แต่กลับโทษโซเชียลมีเดียว่าเป็นตัวทำให้ปัญหาเศรษฐกิจแย่ลง โทษว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียทำให้เกิดความแตกตื่นจนสินค้าขาดตลาด


โรเบิร์ต มูกาเบ ประธานาธิบดีของซิมบับเวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2530 (ที่มา:วิกิพีเดีย)

อย่างไรก็ตามวอชิงตันโพสต์รายงานว่ารัฐบาลซิมบับเวพยายามควมคุมโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุขาดแคลนของอุปโภคบริโภคแล้ว โดยที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และไซเบอร์ตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา และมีโอกาสที่จะผ่านร่างภายในปีนี้โดยที่กระทรวงไซเบอร์ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมีการพยายามผลักดันร่างกฎหมายตัวนี้มาแต่ตั้งปี 2559


ซุปา มันดิวันซิรา รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายนี้กล่าวว่าการตรวจตราอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญโดยอ้างเหตุการณ์ที่นางแบบรายหนึ่งถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นความจริงว่าทำให้เด็กติดเชื้อเอชไอวีจนมีชาวเน็ตจำนวนมากเข้าไปรุมด่าทอโจมตีเธอรวมถึงมีการข่มขู่เอาชีวิตเธอด้วย ทำให้รัฐบาลอ้างว่ากระทรวงใหม่นี้จะดูแลและลดกรณีการข่มเหงรังแกกันทางอินเทอร์เน็ต

จากการเก็บข้อมูลของอโฟรมารอมิเตอร์ในปี 2560 พบว่ามีชาวซิมบับเวร้อยละ 84 มีโทรศัพท์มือถือใช้ ร้อยละ 36 ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมร้อยละ 41 ของประเทศ มีชาวซิมบับเวใช้เฟซบุ๊กราว 850,000 ราย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจึงกังวลว่าการพยายามควบคุมโซเชียลมีเดียอาจจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากในช่วงขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้นมีประชาชนที่ไม่พอใจพากันใช้การส่งข้อความและแอพพลิเคชันอย่าง WhatsApp และ Twitter ในการจัดตั้งการประท้วงบนท้องถนน

โซเชียลมีเดียยังเป็นพื้นที่ที่ชาวซิมบับเวพูดคุยเรื่องการเมืองกันมาก เช่นในช่วงก่อนเลือกตั้ง 2556 มีคนใช้ชื่อ Baba Jukwa เปิดโปงเรื่องอื้อฉาวของพรรครัฐบาลโดยมีผู้ติดตามเขามากกว่า 300,000 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้นิยมชมรายการบันเทิงออนไลน์รวมถึงรายการแนวตลกเสียดสีเช่น BustopTV ที่มีหญิงวัยรุ่นสองคนเสียดสีในเรื่องต่างๆ จุดที่ดังที่สุดคือตอนที่พวกเธอล้อเลียนการเดินขบวนสนับสนุน เกรซ มูกาเบ ภรรยาของประธานาธิบดี มีผู้ชมหลายหมื่นในเฟซบุ๊กและมีการเผยแพร่ส่งต่อกันทางแชท

อะโฟรบารอมิเตอร์ซึ่งเป็นการสำรวจจัดทำโดยสถาบันความคิดเห็นของประชาชนในซิมบับเวยังได้ทำการสอบถามกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ชาวซิมบับเว 1,200 ราย ในช่วงต้นปีนี้พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบ 7 ใน 10 เห็นด้วยในเรื่องที่ประชาชนควรสื่อสารกันอย่างเป็นส่วนตัวได้โดยที่ไม่มีรัฐบาลมาสอดส่อง กลุ่มตัวอย่างที่ต่อต้านรัฐบาลหรือกลุ่มตัวอย่างที่ยิ่งมีระดับการศึกษาสูงหรืออายุน้อยกว่ายิ่งจะโน้มเอียงมาทางเน้นรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวมากกว่าจะคล้อยตามข้ออ้างด้านความมั่นคงของรัฐบาล

เรียบเรียงจาก

Zimbabwe created a new ministry to monitor social media. But most Zimbabweans don’t want government monitoring, Washington Post, October 20, 2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.