Posted: 15 Oct 2017 02:28 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ราชดำเนินเสวนา จัดเวที 'ภาษาไทย-ภาษาสื่อ' ครูลิลลี่แนะวัยรุ่นใช้ภาษาให้ตรงกาลเทศะ 'ราชบัณฑิตยสภา' หนุนสังคมรักษารากเหง้าวัฒนธรรมไทย พร้อมเปิดแอปพลิเคชัน ใช้คำราชาศัพท์ให้ถูกต้อง 'ดร.เรืองชัย' เตือนสื่อใช้คำพาดหัวข่าว ระวังผิดกฎหมาย

15 ต.ค. 2560 ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ภาษาไทย ภาษาสื่อ" โดยมี รศ.ดร.นววรรณ พันธุเมธา ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม นางสาวสุปัญญา ชมจินดา โฆษกสำนักงานราชบัณฑิตยสภา "ครูลิลลี่" กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ ครูสอนภาษาไทย โรงเรียนพินนาเคิล สยามสแควร์ และ ดร.เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นวิทยากร

ดร.โสภา ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์ นายกราชบัณฑิตยสภา กล่าวเปิดเวทีเสวนา ว่า ราชบัณฑิตยสภา มี 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.ภาคีสมาชิก 2.ราชบัณฑิต และ 3.ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งวัตถุประสงค์ของราชบัณฑิตยสภานั้น เพื่อส่งเสริม ค้นคว้าวิจัย อนุรักษ์ แลกเปลี่ยนความรู้ภาษาไทย เพื่อให้เป็นคุณประโยชน์ให้ประเทศ นอกจากนี้ยังแลกเปลี่ยนความรู้กับองค์กรปราชญ์ทั้งในและนอกประเทศ ส่วนราชบัณฑิตยสภาจะก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อไม่ให้เป็น 0.4 อย่างไรนั้น ราชบัณฑิตยสภา ต่างมีความมุ่งมั่นและตระหนักถึงความสำคัญที่จะร่วมกันนำความรู้ในศาสตร์ที่ตนมีความชำนาญ นำประสบการณ์ที่มีอยู่มารวมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ที่สำคัญจะต้องอนุรักษ์ภาษาไทยไม่ให้แปรเปลี่ยนไป โดยเฉพาะจากเยาวชน เพื่อให้เกิดความภูมิใจในภาษาของเราเอง ซึ่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ดำเนินการมาโดยตลอด

“สำหรับการปลูกฝังการใช้ภาษาไทย ที่ต้องทำแต่เด็กๆ นั้น โดยเฉพาะการใช้คำราชาศัพท์ที่ถูกต้อง อาจจะต้องใช้ช่องทางสื่อ เช่น ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่คนส่วนใหญ่ติดตามดู เพื่อให้คนดูเข้าใจได้ง่าย เพราะคนดูจะจดจำได้มากกว่าสื่อต่างๆ ส่วนวัยรุ่นหากจะใช้ละครจักรๆ วงศ์ๆ คงไม่ได้ จะต้องหาวิธีการใช้สื่อผ่านช่องทางอื่นในการเรียนรู้แทน” ดร.โสภา กล่าว

รศ.ดร.นววรรณ กล่าวว่า ภาษามีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด จำได้ว่าในช่วงที่ตนเป็นนักศึกษาต้องเขียนเรียงความเรื่องภาษาไทยวิวัฒน์หรือภาษาไทยวิบัติ ส่วนการใช้ภาษาออนไลน์ของวัยรุ่นสมัยนี้ เป็นการใช้ภาษาที่ต่างออกไป มีการตัดคำ เปลี่ยนคำ โดยใช้การเขียนแทนการพูด เช่น คำว่า"เค้า" แต่วัยรุ่นไม่ได้เขียนว่า"เขา" จะทำให้ภาษาของเราเปลี่ยนไปหรือไม่ จึงต้องให้เขาตระหนักว่าภาษาต้องใช้ตามกาลเทศะ โดยครูต้องสอนเด็กเหล่านี้ให้มากๆ แต่ถ้าใช้ภายในกลุ่มของเขาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีการนำภาษาของเขามาใช้ในโอกาสอื่นที่เป็นทางการก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ตนเป็นห่วงเรื่องการสะกดตัวการันต์ แต่วัยรุ่นคิดเพียงแค่ว่า ให้ออกเสียงได้เท่านั้น ซึ่งจะมีคนบ่นว่าภาษาไทยยาก เรื่องการสะกดการันต์ หรือมีคนให้ความเห็นว่า เขียนเหมือนการออกเสียงไปเลย แต่กลับไม่มีการแยกเรื่องคำพ้องเสียง ทั้งที่ภาษาไทยเป็นภูมิปัญญาของเรา

“อยากให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาไทย ดิฉันคิดว่าบรรพบุรุษมีภูมิปัญญาไทย ท่านได้คิดคำให้เราได้ใช้ ท่านมีวิธีการในการแปลงคำยืมมาและมีวิธีการออกเสียง ถึงแม้คำยืมทั้งหลายเขียนยาก เพราะออกเสียงแบบไทย แต่ได้พยายามรักษารูปคำเดิมเอาไว้ อยากให้เด็กรุ่นหลังเห็นถึงความสำคัญของภาษาไทย แต่ให้เขาได้เรียนรู้ภูมิปัญญาของไทย แต่ขณะนี้น่าเป็นห่วง สังคมออนไลน์ที่จะเคยชินกับภาษาง่ายๆ ส่วนการเขียนภาษาที่ยากๆ จะมีความรู้สึกว่ายากไปด้วย” รศ.ดร.นวพรรณ กล่าว

ครูลิลลี่ กล่าวว่า ตนถือเป็นครูที่อยู่สมัยกลางเก่าและกลางใหม่ ถึงจะสอนสไตล์ของตัวเองอย่างไร แต่เราต้องไม่ลืมรากเหง้าของภาษาไทย ถ้ารักภาษาไทย จะรักทุกอย่างเกี่ยวกับความเป็นไทย โดยเฉพาะเรื่องกาลเทศะ ต้องดูจังหวะในการใช้ภาษาให้ถูกต้อง ต้องพูดให้ถูกต้อง เขียนให้ถูกต้อง เช่น เขา ต้องเขียน"เขา"แต่ไม่ใช่"เค้า" เราเคยบอกเด็กว่า เราภูมิใจว่าเราไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในภาษาราชการ แต่ก็ต้องใช้ภาษาอย่างไม่พร่ำเพรื่อ ต้องคงไว้ในความเป็นไทยและใช้กฎเกณฑ์ของภาษาให้ถูกต้อง ที่ผ่านมาตนเป็นครูภาษาไทยมา 25 ปี เราต้องภูมิใจในภาษาของชาติ ถึงเราจะห้ามเด็กให้ใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องไม่ได้ แต่จะบอกเด็กๆ ว่า ถึงจะใช้ภาษาผิดหรือถูก แต่ต้องใช้ภาษาให้ถูกที่ถูกทางและกาลเทศะเท่านั้น

“ครูเข้าใจโลก เข้าใจปัจจุบัน แต่ครูก็พยายามดึงเด็กๆ เข้ามาใช้ภาษาให้ถูกต้อง จะสอนให้รุ่นต่อรุ่นใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง แต่ครูจะต้องผสมโลกปัจจุบันในการสอนภาษาไทย ให้เด็กไม่รู้สึกเป็นยาขม ซึ่งครูจะคงไว้ในกฎเกณฑ์ของภาษา โดยให้รู้สึกว่ายานี้ต้องมีสรรพคุณเหมือนเดิม แต่ต้องเจือปมความหวานเข้าไป เพื่อให้เด็กรับรู้ความเป็นภาษาของเราได้” ครูลิลลี่ กล่าว

ด้าน ดร.เรืองชัย กล่าวว่า ในการทำข่าว ทุกโต๊ะข่าวจะต้องมีพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสภาติดไว้ ซึ่งการใช้ภาษานั้นต้องขึ้นอยู่กับยุคสมัย แต่การใช้ภาษาต้องมีกฎเกณฑ์ให้ถูกต้อง ต้องมีรากศัพท์ โดยภาษาสื่อของหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะแตกต่างกับการใช้ภาษาของสื่อทีวี ซึ่งทางทีวีมีการใช้กันผิดใช้กันถูก ตนแนะนำว่าการอ่านข่าวที่ดีให้ฟังกรมประชาสัมพันธ์ ถือเป็นการใช้ที่ถูกต้อง และสิ่งสำคัญที่สุดเรามีหน่วยงานที่ดูเรื่องความถูกต้องของการใช้ภาษาไทยโดยราชบัณฑิตยสภา ที่ได้ทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพราะภาษาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้ การพาดหัวข่าวเป็นการใช้สื่ออย่างหนึ่ง ต้องสั้น ง่าย แต่มีความหมาย ซึ่งคนที่ทำหนังสือพิมพ์จะต้องร่ำรวยในการใช้คำ เพื่อให้คนเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น

“ขณะที่ภาษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย คนทำงานสื่อจะต้องทราบอย่างดี เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายที่ดูหมิ่นซึ่งหน้า เช่น คำว่ากุ๊ย หรือคำด่าที่ทำให้เสียชื่อเสียง ดังนั้นการใช้คำให้ถูกกาลเทศะ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่เช่นนั้นภาษาจะไม่มีเสน่ห์ ภาษาจะผิดเพี้ยนไป สิ่งสำคัญเราจะทำอย่างไรให้สื่อถ่ายทอดภาษาที่ถูกต้อง นำไปสู่การใช้ที่ถูกต้องให้ได้” ดร.เรืองชัย กล่าว

ขณะที่ นางสาวสุปัญญา กล่าวว่า สำหรับคำราชาศัพท์ที่มีการใช้อยู่นั้น มีการใช้ไม่ถูก เช่น เสวย ไม่ต้องมีทรงนำหน้า การใช้คำศัพท์ให้ถูกต้องเป็นเหมือนการให้เกียรติเจ้านายด้วย ส่วนเรื่องคำว่าสวรรคต ต้องออกเสียงว่า สะ-หวัน-คด ไม่ใช่ สะ-หวัน-นะ-คด หรือคำว่าถวายนั้น เป็นความหมายการให้ของ เช่น ถวายภัตตาหารพระภิกษุ ส่วนหากจะใช้คำว่าถวายกับเจ้านายให้ใช้เป็นเป็นรูปนามธรรรม ส่วนคำว่า"ถวาย"ที่ประชาชนเข้าใจว่าเป็นคำราชาศัพท์ เมื่อจะไปวางดอกไม้จันทน์ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ถ้าใช้แค่คำว่าไปวางดอกไม้จันทน์ ประชาชนจะคิดว่าเป็นการวางดอกไม้จันทน์สำหรับคนทั่วไปหรือไม่ แต่การใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมนั้น สามารถใช้คำว่าไปวางดอกไม้จันทน์เพื่อแสดงความอาลัยแด่.. หรือวางดอกไม้จันทน์เพื่อถวายแด่.. ซึ่งเราสามารถเรียบเรียงถ้อยคำเพื่อใช้ภาษาให้เหมาะสมได้

“นอกจากนี้ สำนักงานราชบิณฑิตยสภา ได้เผยแพร่คำถ้อยคำที่เหมาะสมในเว็ปไซต์ สำหรับช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ หากมีข้อสงสัยเรื่องการใช้ราชาศัพท์สามารถเปิดดูได้ที่แอปพลิเคชั่น หรือโทรศัพท์ไปสอบถามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้เช่นกัน” นางสุปัญญา กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.