หน่วยงานพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้มีการห้ามใช้หุ่นยนต์ติดอาวุธทางทหาร

ขณะที่บริษัทผลิตอาวุธเเข่งกันพัฒนาหุ่นยนต์ติดอาวุธเเต่นักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ห้ามใช้หุ่นยนต์นักสังหารอย่างเด็ดขาด

โดรน หรือยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งสำคัญของอาวุธทางการทหาร และหลายคนบอกว่าการเรียกร้องนี้สายเกินไป

ปัจจุบัน กองทัพต่างๆ ใช้โดรนเป็นยวดยานติดอาวุธทางอากาศในการโจมตีศัตรูจนกลายเป็นมาตรฐานทั่วไป และขณะนี้ บริษัทผลิตอาวุธต่างกำลังเร่งพัฒนายวดยานขับเคลื่อนอัตโนมัติ เพื่อการใช้งานทางบกเเละใต้น้ำ

Alain Tremblay แห่งบริษัท Rheinmetall Defense กล่าวว่า ทุกวันนี้มีโดรนหลายประเภท หลายรุ่น และขนาดออกมาใช้บินกันทั่วไปในทางทหารและกำลังหันมาเน้นยวดยานไร้คนขับทางบกกันอย่างจริงจัง อย่างเดียวกับที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์กึ่งอัตโนมัติ กองทัพก็ไม่ต่างกันที่กำลังเร่งพัฒนาเรื่องนี้

บริษัท Rheinmetall เเห่งเยอรมัน สร้างยวดยานหุ่นยนต์ขนาดเล็กขึ้นมาเพื่อให้สามารถพกอาวุธอันตรายได้ บริษัทผู้ผลิตเจ้านี้บอกว่า หุ่นยนต์นักรบที่สร้างขึ้นสามารถเเยกเเยะได้ว่าใครเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู เเละทำตามคำสั่งของคนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงาน

แต่บรรดากลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชน อาทิ Human Rights Watch ได้เเสดงความกังวลมานานเเล้วถึงอันตรายของหุ่นยนต์ติดอาวุธสงครามที่ทำงานโดยอัตโนมัติ

David Mepham ผู้อำนวยการเเห่ง Human Rights Watch ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ในภาวะสงคราม ความสามารถของคนเราในการแยกเเยะว่าใครเป็นนักรบและใครเป็นประชาชน เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยป้องกันคนเราจากความป่าเถื่อน

ทางหน่วยงานกังวลว่า หุ่นยนต์ติดอาวุธสงครามจะไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างเด็กที่กำลังถือไอศครีมกับคนที่กำลังถืออาวุธปืน

ในโลกปัจจุบันที่เเตกเเยกกันมากขึ้น ประเทศต่างๆ วิตกกังวลว่าชาติคู่ต่อสู้อาจจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างความได้เปรียบในภาวะขัดเเย้ง


บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และนาโนเทคโนโลยี อาจจะผลักดันให้ความขัดเเย้งในอนาคตลงไปใต้น้ำ ดังนั้นจึงมีการวิจัยด้านนี้เพิ่มมากขึ้น

Peter Pipkin เจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของกองทัพเรืออังกฤษกล่าวว่า เมื่อโลกกำลังมุ่งใช้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลกันมากขึ้น จึงมีการเร่งพัฒนาความสามารถในการทำงานใต้น้ำให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกด้วยการใช้เรือที่ควบคุมอัตโนมัติ ทางกองทัพเรืออังกฤษตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนาให้นำหน้าด้านเทคโนโลยีสาขานี้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการพิทักษ์ความมั่นคงและปกป้องประเทศให้เเข็งขันมากขึ้นไปอีก

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บรรดาผู้ก่อตั้งบริษัทและผู้อำนวยการบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์จาก 28 ชาติ ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกที่เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ออกข้อห้ามใช้หุ่นยนต์ติดอาวุธ แต่ยังไม่มีรัฐบาลใดออกมาจัดการกับเรื่องนี้

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

source; - http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=166097257701319778

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.