เอพีรายงานเมื่อวานนี้ (2 ต.ค.) ว่า การเดินทางมาเยือนทำเนียบขาวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สร้างกระแสไปทั่วหน้าสื่อโลกตะวันตก ที่ต่างรายงานไปในทิศทางว่าเป็นอีกหนึ่งที่ผู้นำเผด็จการจากต่างชาติเยือนทำเนียบขาว ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นปกติในรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ ต่างจากสมัยก่อนหน้า
ทั้งนี้ พบว่า นอกจากเอพีที่รายงานว่า “ทรัมป์เป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำรัฐบาลทหารไทย” สื่ออื่นๆ ของโลกตะวันตกต่างรายงานไปในแนวทางที่คล้ายกันเป็นต้นว่า สื่อสายโปรเกรสซีฟสายธุรกิจควอร์ตซ์ (Quartz) ที่ขึ้นหัวข่าวว่า “อีกหนึ่งสัปดาห์ อีกหนึ่งผู้นำเผด็จการต่างชาติที่เดินทางมาเยือนทรัมป์ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.” ส่วนเอบีซีนิวส์ สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า “ทรัมป์อวยความสัมพันธ์แข็งแกร่งในระหว่างการพบกับผู้นำรัฐบาลทหารไทย”
ด้านสื่อวอยซ์ออฟอเมริกา VOA รายงานการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “ทรัมป์เป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำรัฐประหารไทยที่ทำเนียบขาว” ในขณะที่นิวส์วีกรายงานว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์พบกับผู้นำกองทัพไทย เผด็จการที่โอบามาเคยปฏิเสธ”
เอพีชี้ว่า การเดินทางมาพบกับผู้นำสหรัฐฯ ในครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก แต่ทว่าหลังจากที่สหรัฐฯ เหินห่างไทยหลังสู่โหมดการรัฐประหาร วอชิงตันต้องสูญเสียความใกล้ชิดกับพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคไปให้ปักกิ่งอย่างช่วยไม่ได้
ดังนั้น ในวันจันทร์ (2 ต.ค.) ที่ผู้นำสหรัฐฯ ยอมปูพรมแดงต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ และภริยา สู่ทำเนียบขาว ถือเป็นการหันกลับทางนโยบายต่างประเทศต่อไทยครั้งใหญ่ ถึงแม้ว่า เอพีชี้รัฐบาลทรัมป์จะยังคงยืนยันในหลักการที่ไม่ต่างจากสมัยรัฐบาลโอบามา ที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ จะกลับคืนมาเป็นปกติอีกครั้งก็ต่อเมื่อ “ไทยได้กลับเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง และมีผู้นำที่มาจากพลเรือนแล้วเท่านั้น”
เอพีโจมตีว่า การที่ทรัมป์ยังคงยืนกรานในนโยบาย “ผลประโยชน์ของอเมริกาต้องการก่อน” หรือ America First ที่เจาะจงไปในด้านการค้า และผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ ทำให้ทรัมป์ไม่สนใจ และเปิดกว้างต่อการพบกับผู้นำต่างชาติ ที่ขึ้นชื่อว่าเผด็จการ และไม่เคารพสิทธิมนุษยชน โดยไม่สนใจต่อปัญหาเหล่านั้นที่เกิดขึ้นในบ้านของผู้นำชาติเหล่านั้น
ในส่วนของไทย เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมงปัญหาการจับกุมผู้ออกมาแสดงความเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาล คสช.
หรือในส่วนของฟิลิปปินส์ ปัญหาการปราบปรามยาเสพติดขั้นร้ายแรงของผู้นำฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต และแม้แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอียิปต์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี เป็นต้น
ก่อนหน้าที่ทรัมป์จะพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้เคยพบกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัค มาแล้ว ซึ่งสื่อนิวยอร์กไทม์สรายงานวันที่ 12 ก.ย.ล่าสุดว่า เป็นที่น่ากระอักกระอ่วนเมื่อพบว่า ผู้นำมาเลเซียคนปัจจุบันตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในคดีคอร์รัปชันฉาว ที่ทางผู้นำแดนเสือเหลืองออกมาปฏิเสธออกมาว่าไม่จริง
โดยในรายงานของนิวยอร์กไทม์สยังมีการชี้ว่า มีการพบเห็น “นาจิบ ราซัค” เดินหายเข้าไปภายในโรงแรมทรัมป์พร้อมกับคณะของตัวเองก่อนเดินกลับออกมาในช่วงวันจันทร์และวันอังคารในขณะอยู่ในระหว่างเยือนสหรัฐฯ
แต่อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวออกมาไม่ยืนยันในเรื่องนี้ ซึ่งดูเหมือนว่าผู้นำไทยในระหว่างการเยือน ยังไม่มีข่าวการเดินเข้าออกตึกทรัมป์ ทาวเวอร์ หรือทรัมป์โฮเตล หรือแม้แต่การเดินเข้าสนามกอล์ฟร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณแสดงชี้ถึงความใกล้ชิดขั้นลึกซึ้งกับผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ให้เห็น
รอยเตอร์รายงานว่า ในการพบปะระหว่าง 2 ชาติผู้นำที่ทำเนียบขาว ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาต้องการที่จะลดตัวเลขการขาดดุลของสหรัฐฯ กับไทยให้ได้
โดยตัวแทนการค้าสหรัฐฯชี้ว่า ตัวเลขการขาดดุลของสหรัฐฯ กับไทยในปี 2016 อยู่ที่ 18.9 พันล้านดอลลาร์ และไทยเป็นชาติลำดับที่ 11 ที่มีตัวเลขเกินดุลการค้ากับอเมริกา ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้นำจากพรรครีพับลิกันกำลังหาทางแก้ในเวลานี้
เอพีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้นำไทยที่คล้ายกับผู้นำอียิปต์ ซิซี ซึ่งเคยเป็นผู้นำสูงสุดของกองทัพมาก่อน และทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยในส่วนของซีซี เขาโค่นอำนาจประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ในปี 2013 ซึ่งมาจนถึงเวลานี้ ล่าสุดอดีตผู้นำถูกศาลอุทธรณ์อียิปต์แถลงยืนยันคำตัดสินโทษจำคุตลอดชีวิตต่อมอร์ซี ฐานบ่อนทำลายความมั่นคงชาติด้วยการเปิดเผยเอกสารลับให้กับกาตาร์ในช่วงระหว่างที่อยู่ในอำนาจ อ้างอิงจากการรายงานของสื่ออัลญะซีเราะห์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ล่าสุด
และสื่อตุรกี อนาโดลู รายงานในอีก 10 วันหลังจากนั้นว่า แหล่งข่าวรัฐบาลอียิปต์ยังเปิดเผยว่า รัฐบาลอียิปต์กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการถอดสัญชาติของอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี
ดูแล้วไม่ต่างจากกรณีของไทย เมื่อพบว่าก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์จะพบกับทรัมป์ พบว่าอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจนั้น ได้เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศไปเมื่อเดือนสิงหาคม ก่อนที่จะมีกำหนดขึ้นศาล โดยสื่อสเตรทไทม์สของสิงคโปร์รายงานในวันที่ 27 ก.ย ว่า ศาลฎีกาไทยตัดสินลงโทษจำคุก อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปีในข้อหาคดีโกงจำนำข้าวโดยไม่มีการรอลงอาญา ซึ่งในข่าวชี้ว่าเป็นการออกคำพิพากษาแบบลับหลัง
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นน้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะที่กำลังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเข้ายึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. 2014 เกิดขึ้น 1 ปีหลังซิซีเข้ายึดอำนาจจากมอร์ซี เมื่อวันที่ 3 ก.ค 201
เดลีเมล์ สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อปลายเดือนกันยายนว่า ในเวลานี้ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์อยู่ในอังกฤษ และกำลังอยู่ในระหว่างการร้องขอสถานะ “ลี้ภัยทางการเมือง” กับลอนดอน
ซึ่งตามการรายงานของสื่ออังกฤษชี้ว่า ในเบื้องต้น น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนีออกจากไทยเข้าไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ยูเออียืนยันว่า ***อดีตนายกฯ หญิงได้เดินทางออกจากดูไบเมื่อวันที่ 11 ก.ย และในขณะนี้อยู่ในกรุงลอนดอนแล้ว***
ด้านผู้อำนวยการแอมเนสตีสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที. กุมาร์ (T. Kumar) ได้เปิดเผยกับเอพีถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในไทยว่า “ภาคพลเรือนของสังคม สิทธิมนุษยชน และหลักธรรมาภิบาลของรัฐบาลนั้นตกอยู่ในความเสี่ยง” และกล่าวโจมตีต่อว่า “รัฐบาลทหารไทยจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และการรวมตัวอย่างสันติ สร้างปรากฏการณ์ที่ผู้คนอาจถูกจับกุม และดำเนินคดี จากการที่คนเหล่านั้นออกมาใช้สิทธิ์บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน” และกุมาร์ยังชี้ว่า “หากกฎหมายเหล่านี้ยังไม่ถูกยกเลิก ความกลัว และการกดขี่จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในสังคมไทย”
โฆษกสภาความมั่นคงสหรัฐฯได้ออกมายืนยันว่า วอชิงตันจะยังคงยืนยันต่อไทย ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ไทยเดินหน้ากลับเข้าสู่การเลือกตั้งตามหลักการประชาธิปไตยที่ต้องเกิดขึ้นอย่างเสรี และยุติธรรม และรวมไปถึงการทำให้สิทธิมนุษยชนกลับคืนอีกครั้งโดยเร็วที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบดีว่าการหารือระหว่าง 2 ชาติผู้นำในวันจันทร์ (2 ต.ค.) ไม่มีประเด็นอ่อนไหวเหล่านี้อยู่บนโต๊ะเจรจา ซึ่งรอยเตอร์รายงานการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์จากวอชิงตันกล่าวว่า
“ผมได้บอกกับเขา(ทรัมป์)ว่า ในปีหน้า.. ทางเราจะประกาศวันเลือกตั้งทั่วไป”
เดอะควอร์ตซ์ รายงานถึงการได้รับเชิญของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า เป็นปัญหาเพราะดูเหมือนรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังจะทิ้งแนวทางเดิมจากสมัยชุดรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา ที่แสดงความแข็งกร้าวต่อการไม่เห็นด้วยในแนวทางของไทย ด้วยการลดระดับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีลง และการระงับความร่วมมือและการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ หลังการรัฐประหาร
เดอะควอร์ตซ์ชี้ว่า ***หัวใจของปัญหา คือ เพนตากอนกำลังดำเนินนโยบายกลับเข้าหาไทย ในขณะที่ทำเนียบขาวยังคงวิตกในปัญหาการค้าที่มีอยู่ในเวลานี้ คือการขาดดุลกับประเทศคู่ค้าเช่นไทย***
ทำให้สื่อสายโปรเกรสซีฟสายธุรกิจอเมริกาชี้ว่า เป็นการมองอย่างระยะสั้นของทางวอชิงตัน และยังเป็นการที่ไม่ตระหนักในความเป็นจริงที่ว่า การเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลที่ชอบธรรมย่อมดีกว่าเป็นเพื่อนกับรัฐบาลที่ปราศจากความชอบธรรม
สื่อสายโปรเกรสซีฟธุรกิจอเมริกา ส่งเสียงไปยังสมาชิกรัฐสภาคองเกรสให้ออกมากระตุ้นวอชิงตัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลทรัมป์ และต้องการให้รับทราบว่า (1) กฎหมายสหรัฐฯ นั้นห้ามการให้ความช่วยเหลือทางการทหารต่อไทย และ (2) วางกรอบแนวปฏิบัติในแนวทางที่ไทยต้องปฏิบัติตามเพื่อที่ทั้งสองชาติจะสามารถกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ระดับปกติได้อีกครั้ง
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องความช่วยเหลือทางการทหาร รอยเตอร์รายงานอ้างคำแถลงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม ที่ได้ออกมาแสดงความเห็นวันนี้ (3 ต.ค.) ว่า ความร่วมมือทางทหารระหว่างไทยและสหรัฐฯ ระหว่างนี้ โดยเฉพาะในเรื่องการซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ
โดย พล.อ.ประวิตรยืนยันว่า “พวกเขาไม่ยอมให้ทางเราสั่งซื้อจากพวกเขาเป็นระยะเวลาหนึ่ง”
ด้านสื่อนิกเกอิ เอเชียน รีวิวของญี่ปุ่น รายงานการเดินทางเยือนทำเนียบขาวครั้งแรกของผู้นำไทยไปในแง่บวกว่า พล.อ.ประยุทธ์คาดหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ จะกลับมาสดใสในไม่ช้า
โดย รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงในเรื่องนี้ว่า “การเป็นเจ้าภาพต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำเนียบขาว เป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงการยอมรับในตัวของรัฐบาลทหารไทย แต่อยู่ภายใต้ความเข้าใจที่ว่าในไม่ช้าไทยจะหวนกลับมาสู่หนทางประชาธิปไตยอีกครั้ง”
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญไทยยังยอมรับว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเชิญไปทำเนียบขาวครั้งนี้เป็นเพราะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยปัจจุบันให้ความสำคัญทางการค้ามากกว่าปัญหาสิทธิมนุษยชน
สื่อญี่ปุ่นชี้ว่า ถึงแม้ว่าการเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งจะอยู่ในวาระปัจจุบันของรัฐบาลไทย แต่ทว่าในเวลานี้นอกเหนือจากปัญหาการค้าแล้ว ทำเนียบขาวของทรัมป์ยังมองไทยในฐานะผู้ช่วยด้านเสรีภาพใหม่ประจำภูมิภาคในปัญหาเกาหลีเหนืออีกด้วย
เกิดขึ้นหลังจากผู้นำสหรัฐฯ ได้ส่งมือขวาทางการทูตของตัวเองมาเยือนไทยถึงที่ รัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน กลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เดินทางมานับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร
โดยในขณะนั้นทิลเลอร์สันได้กดดันให้ไทยตัดช่องทางการเงินเกาหลีเหนือ แต่ทว่ามาถึงในเวลานี้ ยังไม่มีวี่แววว่าทางกรุงเทพฯ จะขยับตัวตาม เป็นต้นว่า สั่งขับเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือกลับประเทศตามอย่างชาติอื่นๆ ที่ได้รับการกดดันจากวอชิงตัน เป็นต้นว่า อิตาลี กาตาร์ เม็กซิโก
สื่อนิกเกอิ เอเชียน รีวิวยังชี้ว่า ไทยเป็นที่ตั้งของสถานทูตเกาหลีเหนือในกรุงเทพฯ และยอมให้เปียงยางสามารถใช้เปิดบริษัททำธุรกิจในไทยได้
นอกจากนี้ยังพบว่า ทั้งสองชาติมีความสัมพันธ์ทางการค้าต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม สื่อธุรกิจญี่ปุ่นชี้ว่า พบว่าในรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขการนำเข้าสินค้าจากเกาหลีเหนือตกลงเกือบ 80% ปีต่อปี ที่นำการตกลงมาอย่างหนักในส่วนของชิ้นส่วนเครื่องจักร ส่วนส่งออกจากไทยไปเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะในส่วนของยางและผลิตภัณฑ์ยาง พบว่าตกลงมากเกือบ 90% เช่นกัน
แสดงความคิดเห็น