Posted: 11 Oct 2017 10:12 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คงกฤช ไตรยวงค์

สังคมไทยมี “ดราม่า” รายวัน และความคิดเห็นก็มีหลากหลาย จนชวนให้พิศวงว่าอันที่จริงแล้วเราอยู่ในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบานสุดขีด และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม (ยกเว้นบางเรื่อง) กรณีตูน บอดี้แสลม วิ่งเพื่อระดมเงินซื้ออุปกรณ์มอบให้โรงพยาบาลเช่นกัน บางคนถึงกับเปรียบว่าเป็นการแก้ปัญหาผิดทางเหมือนการรัฐประหาร เพราะไม่มีวันแก้ปัญหาได้สิ้นสุด อันที่จริงภาษาตรรกวิทยาเรียกว่าเป็นการเปรียบเทียบผิด (false analogy) การทำสาธารณกุศลอาจสะท้อนว่านโยบายสาธารณะนั้นยังไม่ดีพอ และรัฐควรจัดการให้ดีกว่านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ควรมีจิตสาธารณะ

ปัญหาคืออคติที่เราไม่รู้ตัว การมีอคติไม่ใช่ปัญหา เพราะอคติแปลว่า ข้อมูลไม่พอแล้วตัดสิน และข้อมูลที่ว่านี้อาจจะไม่มีวันพอ เช่น เราอาจจะไม่รู้ว่าเจตนาที่แท้จริงของพี่ตูนคืออะไร อาจจะหวังดีโดยแท้จริง หรือมุ่งโฆษณารองเท้าแอบแฝง รวมทั้งผลกระทบจากการกระทำของพี่ตูนว่าส่งผลไปไกลแค่ไหน อาจจะเป็นการค้ำจุนระบอบเผด็จการ หรืออาจจะช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ด้อยโอกาสได้จริง หรือเป็นการขอรับเงินบริจาคให้โรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์ครบครันอยู่แล้ว ข้อมูลต่างๆเหล่านี้หมายรวมถึงจุดยืนของผู้วิพากษ์วิจารณ์หรือให้กำลังใจพี่ตูนเอง แต่กระนั้นการถกเถียงอย่างจริงจังและแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยตระหนักถึงอคติของตัวเอง ก็อาจจะพอทำให้คุยกันได้ และมีข้อตกลงหรือข้อสรุปชั่วคราว แทนที่จะปล่อยให้ “ดราม่า” ลับหายไปกับสายลม โดยไม่มีการสรุปบทเรียนใดๆ

หากจะลองมองหา “อคติ” หรือ “จุดยืน” ที่แตกต่างกัน และส่งผลให้เกิดการตีความหรือเข้าใจกรณีพี่ตูนวิ่งเพื่อระดมทุนแตกต่างกันไป เราอาจจะสืบสาวไปถึงความเข้าใจเรื่องคุณธรรมพลมือง (civic virtue) ซึ่งเห็นได้จากการตั้งศูนย์คุณธรรมในช่วง 2548-49 ในยุคทักษิณ ที่มุ่งสร้างคุณธรรมพลเมืองที่ตอบสนองแนวคิดเสรีนิยมใหม่ แต่กลับโดนช่วงชิงไปโดยฝ่ายอนุรักษนิยมตอนรัฐประหาร ทำให้แนวคิดจิตสาธารณะกลายเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ที่มาพร้อมความพอเพียงและความซื่อตรง เพื่อจัดการกับระบอบทักษิณเอง

ความขัดแย้งในการตีความ หรือการช่วงชิงความหมาย ทำให้การวิ่งของพี่ตูนถูกตีความไป 4 ทิศทางเป็นอย่างน้อย

1. การวิ่งสาธารณกุศลส่งเสริมความเหลื่อมล้ำ ตอกย้ำความล้มเหลวของนโยบายรัฐ การตีความนี้หมายความว่าต่อให้พี่ตูนวิ่งยุคทักษิณก็ถือว่าผิด ถ้าทักษิณจัดงบสาธารณสุขน้อยกว่างบที่จัดสรรซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และหมายความด้วยว่ากิจกรรมลักษณะเดียวกันนี้สะท้อนความผิดพลาดของนโยบายของรัฐ

การตีความแบบนี้มีจุดบกพร่องคือไม่มองภาพความจริง มองจากหลักการล้วนๆ

2. การวิ่งสาธารณกุศลของพี่ตูน ทำผิดจุด เพราะไปวิ่งให้โรงพยาบาลที่มีความครบครันอยู่แล้ว การตีความนี้มองว่าสาธารณกุศลไม่ได้ผิดโดยตัวมันเอง แต่ควรทำให้ถูกจุด อันนี้เป็นการตีความที่มองโลกตามความเป็นจริงมากกว่า หรือ practical กว่าอย่างแรก เราจะเห็นได้ว่าสังคมไทยยังต้องพึ่งสาธารณกุศลอยู่ไม่น้อย โรงเรียนบางแห่งในชนบทมีอาคารหลังใหม่ใช้เพราะพระอาจารย์ชื่อดังบริจาคเงินให้ ซึ่งเงินเหล่านี้ก็มาจากศรัทธาญาติโยมนั่นเอง

3. การวิ่งของพี่ตูนส่งเสริมระบอบเผด็จการ อันนี้มองผ่านวาระทางการเมือง ไม่ได้พิจารณาตัวกิจกรรมเอง แต่ก็ฟังขึ้น ถ้าหากชี้ให้เห็นได้ว่าการวิ่งนี้มันส่งเสริมให้ทหารจัดงบประมาณซื้ออาวุธมากขึ้น แต่ก็ต้องพิสูจน์ กล่าวหาลอยๆไม่ได้

4. พี่ตูนทำถูกแล้ว คนวิจารณ์เสื้อแดงเป็นพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ การตีความนี้สะท้อนการชิงความหมายของคุณธรรมพลเมืองในช่วงปี 49 นั่นคือการหันกลับไปหาความดีแบบอนุรักษนิยม มองโลกในแง่ดี โดยปราศจากการวิพากษ์ คิดว่า เจตนาดี (good will) เพียงพอแล้ว แนวคิดแบบนี้เองที่มีส่วนเสริมให้เกิดรัฐประหาร คือ คนดีตั้งใจดีก็พอแล้ว คนดีทำพลาดไม่มีวันผิด

ถึงที่สุดแล้ว การวิ่งของพี่ตูนอาจจะเป็นงานที่ไม่มีวันสิ้นสุดในชั่วชีวิตของคนคนหนึ่ง เหมือนการวิ่งรอบวงแหวนดาวเสาร์ คำถามก็คือ เราจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือ ระหว่างจิตสาธารณะในการทำสาธารณกุศลกับนโยบายที่ดีของรัฐ มันเป็นทางสองแพร่งที่ต้องเลือกหรือเป็นทางสองแพร่งลวง (false dilemma) นั่นคือ ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราเลือกทั้งสองอย่างได้

ถึงที่สุด ถ้าเราเชื่อว่าจิตสาธารณะในการทำสาธารณกุศลไม่ได้ดีหรือเลวในตัวมันเอง หากยังประโยชน์สูงสุดและทำถูกจุดก็จะส่งผลดี สิ่งที่เราพึงกระทำคือจัดการกับระบอบที่ทำให้การจัดสรรค์งบประมาณหรือนโยบายผิดพลาดอย่างเผด็จการมากกว่าที่จะโจมตีที่ตัวกิจกรรมสาธารณกุศลอย่างเดียว ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรมากนัก อันที่จริงแล้วการอยู่เฉยๆหรือทำเท่าที่ทำได้ ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ระบอบอันไม่ชอบธรรมยังอยู่ได้เช่นกัน และเราควรจะหันกลับพิจารณาประเด็นใหญ่แบบนี้ด้วยใช่หรือไม่




เกี่ยวกับผู้เขียน: คงกฤช ไตรยวงค์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.