โสภณ พรโชคชัย แถลงหลังศาลปกครองสั่งมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เสนอย้ายชาวบ้านออกนอกพื้นที่โดยด่วน และขยายอุตสาหกรรมให้ใหญ่ขึ้น ระบุ 65.3% เห็นควรให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป มีเพียง 1 ใน 3 ที่เห็นว่าควรหยุด
20 ต.ค. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ทั้งหมด รวมทั้ง ต.เนินพระ ต.มาบข่า และต.ทับมา อำเภอเมืองระยอง ทั้งตำบล ตลอดจนท้องที่ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉางทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษนั้น
ล่าสุด วันนี้ (20 ต.ค.60) โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เผยแพร่แถลงการของ AREA ฉบับที่ 410/2560 โดยระบุว่า โสภณ ได้เคยศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุดเมื่อปลายปี 2552 โดยได้สุ่มตัวอย่างประชาชนไว้ถึง 1,107 คน (http://bit.ly/1Rfm0QH)
แถลงระบุว่า ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาในเชิงนโยบายก็คือประชากรส่วนใหญ่ (65.3% หรือสองในสาม) ในพื้นที่มาบตาพุดเห็นควรให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป มีเพียงหนี่งในสามที่เห็นว่าควรหยุดขยายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามหากนับรวมผู้ที่ยังไม่แน่ใจหรือไม่มีความเห็น 22.2% แล้ว จะพบว่า ประชากรที่เห็นว่าควรหยุดขยายตัวมีอยู่ 26.6% หรือเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรที่เห็นควรให้อุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดควรจะขยายตัวต่อไป (51.1%)
ที่ผ่านมามักมีการอ้างอิงว่ามลพิษในมาบตาพุด ทำให้เกิดการเจ็บป่วยต่าง ๆ นานา การศึกษานี้จึงได้สำรวจความเห็นของประชาชนในประเด็นนี้ โดยพบว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตตามผลกระทบจากมลพิษในเขตมาบตาพุดมีอยู่ทั้งหมด 504 ราย หรือประมาณ 12.86% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งนี้แยกเป็นสาเหตุจากการทำงานในสถานประกอบการ 92 ราย หรือ 2.35% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ที่เหลืออีก 412 รายหรือ 10.52% ป่วยหรือเสียชีวิตจากการอยู่อาศัยในพื้นที่
ในการพิจารณาผลกระทบจากมลพิษ ควรพิจารณาแยกกลุ่มผู้ป่วยและเสียชีวิตจากมลพิษในสถานประกอบการออกก็เพราะผลกระทบจากมลพิษในกรณีนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้มักเป็นผลจากความประมาทและการขาดการควบคุมอาชีวะอนามัยที่ดีในสถานประกอบการ ดังนั้นในการพิจารณาถึงมลพิษในมาบตาพุดจึงควรเน้นเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยซึ่งมีอยู่ประมาณ 10.52% ของประชากรทั้งหมดเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบการเจ็บป่วยจากทุกกลุ่มพบว่า ส่วนมาก (11.82%) มักเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด ภูมิแพ้ เป็นต้น กลุ่มที่เชื่อว่าป่วยหนักหรือเสียชีวิตเพราะมลพิษ มีเพียง 0.69% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าจำนวนผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากมลพิษมีไม่มากนัก ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อทั่วไปที่ว่ามลพิษได้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในบริเวณมาบตาพุด
แถลงของ AREA ระบุด้วยว่า จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า สาเหตุหลักของการตายของประชาชนในจังหวัดระยอง ในปี 2548 เป็นเพราะสาเหตุภายนอกการป่วยและการตาย(เช่น อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย ถูกฆ่าตาย) ถึง 15% รองลงมาคือสาเหตุจากโรคมะเร็งและเนื้องอก 12.7% และสาเหตุจากโรคติดเชื้อและปรสิต 12.6% อย่างไรก็ตามสาเหตุการตายจากโรคมะเร็งและเนื้องอกในจังหวัดระยองกลับมีสัดส่วนต่ำกว่าระดับทั่วประเทศ
ในมาบตาพุดยังไม่มีพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ (Contamination Area) จนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เช่น กรณีพื้นที่ปนเปื้อนอันเนื่องมาจากสนามบินเก่า เหมืองแร่ หรืออื่น ๆ ในการประเมินค่าทรัพย์สิน พื้นที่ปนเปื้อนเหล่านี้มักจะมีมูลค่าต่ำหรือติดลบเพราะต้องบำบัดให้พ้นจากสภาพปนเปื้อน แต่อย่างไรก็ตามปัญหาพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษยังไม่ปรากฏให้เห็น ดังนั้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะบำบัดให้พื้นที่ปลอดพ้นจากมลพิษ
อย่างไรก็ตาม ประชากรราวสองในสาม (64.2%) เชื่อว่าในมาบตาพุดน่าจะมีมลพิษมากกว่าในตัวเมืองระยอง แต่ก็มีประชากรเพียง 48.5% ที่คิดจะย้ายออกจากมาบตาพุดหากในอนาคตมีมลพิษมากกว่านี้หรือมากเกินไป การที่ประชากรยังจะอยู่ในพื้นที่ก็เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจและความเคยชินในการอยู่อาศัยเป็นสำคัญ โดยประชากรที่อยู่อาศัยเกินกว่า 10 ปี ส่วนมากจะไม่คิดย้ายออกจากพื้นที่
โดยที่มีความจำเป็นในการขยายตัวของอุตสาหกรรมในมาบตาพุดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนไทยทั่วประเทศ ในกรณีนี้อาจมีความจำเป็นต้องซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่ดิน อาคารและที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมบางส่วนจากประชาชน โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ใกล้กับทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรม เพื่อมาเป็นพื้นที่ขยายตัวของอุตสาหกรรม และอาจเป็นพื้นที่กันชนกับพื้นที่อยู่อาศัย อันจะเป็นการป้องกันการได้รับผลกระทบจากมลพิษของประชาชนด้วย อย่างไรก็ตามการซื้อหรือเวนคืนนี้ ควรจะจ่ายสูงกว่าราคาประเมินเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของทางราชการ และยังควรซื้อเท่ากับราคาตลาด หรืออาจจ่ายสูงกว่าราคาตลาดในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ได้รับผลกระทบย้ายออกโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
คณะนักวิจัยเชื่อว่าประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมยินดีที่จะย้าย ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งเป็นผู้เช่าซึ่งย้ายที่อยู่อาศัยได้ง่าย ส่วนหนึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ย้ายออกไปแล้ว จากการสังเกตยังพบว่า เจ้าของบ้าน เจ้าของที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่ดินชายหาดที่ตั้งอยู่ติดเขตอุตสาหกรรมจำนวนมาก ไม่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว ส่วนหนึ่งย้ายออกไปซื้อบ้านและที่ดินที่อยู่ห่างไกลออกไป และหากมีมลพิษมากจริงในอนาคต ประชาชนย่อมคำนึงถึงสุขภาพของตน ที่สำคัญที่สุดก็คือ หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยินดีซื้อหรือเวนคืน ณ ราคาตลาด หรือสูงกว่าราคาตลาดตามสมควร โดยไม่ใช้ราคาเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการซื้อหรือเวนคืน ประชาชนย่อมยินดีย้ายออก ดั้งนั้นโอกาสในการจัดการพื้นที่ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ย่อมสามารถดำเนินการได้
นอกจากนี้ระบบการคมนาคมขนส่งในมาบตาพุดก็สะดวก การย้ายห่างออกไปอีกประมาณ 10-20 กิโลเมตร ให้พ้นจากพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษ น่าจะมีความเป็นไปได้สูง โดยเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยังสามารถคำนวณเป็นค่าชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมได้อีกด้วย
AREA ระบุข้อเสนอในแถลงตอนท้ายว่า ควรย้ายประชาชนออกนอกพื้นที่ให้หมด น่าจะเป็นผลดีต่อประชาชนเอง และราคาอสังหาริมทรัพย์บริเวณดังกล่าวก็ไม่ค่อยขึ้นเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ประชาชนก็ยินดีที่จะย้าย และหากสามารถขยายนิคมอุตสาหกรรมให้ได้พื้นที่มากกว่านี้รวมทั้งมีการควบคุมที่ดีกว่านี้ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมไทยมีความมั่นคงเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
แสดงความคิดเห็น